ฟันน้ำนม ซึ่งเป็นฟันชุดแรกที่ขึ้นในช่องปากลูกน้อยวัยทารก อาจเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่หลายบ้านรอคอย เพราะเหมือนได้เห็นการเจริญเติบโตทางด้านร่างกายอีกด้านของลูก ซึ่งฟันน้ำนมจิ๋ว ๆ ไม่เพียงน่ารักน่าเอ็นดูเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญเชื่อมโยงกับพัฒนาการของลูกน้อยอีกหลายด้าน บทความนี้จะพาไปทำความรู้จักกับฟันน้ำนมให้มากขึ้น ฟันน้ำนมมีกี่ซี่ ฟันซี่แรกขึ้นเมื่อไหร่ มีความสำคัญยังไง รวมถึงการดูแลสุขภาพฟันลูกน้อยให้แข็งแรง เพื่อสุขภาพช่องปากที่ดีด้วยค่ะ
ฟันน้ำนมมีกี่ซี่ มีความสำคัญยังไง?
ธรรมชาติสร้างฟันน้ำนมขึ้นมาเพื่อให้คนเราใช้บดเคี้ยวและกัดอาหารรวมถึงช่วยในการหัดพูดและออกเสียงในวัยเด็กค่ะ โดยฟันน้ำนมไม่โตตามอายุ กระทั่งขากรรไกรเจริญเติบโตมากขึ้นฟันน้ำนมจะหลุดไปเอง แล้วฟันแท้จะขึ้นมาแทน ซึ่งการบดเคี้ยวของฟันน้ำนมยังช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของขากรรไกรอีกด้วย ถ้าฟันน้ำนมของลูกหลุดไปก่อนกำหนด ฟันแท้ที่อยู่ข้างล่างก็จะไม่มีพื้นที่พอให้ขึ้น หรือขึ้นมาไม่ถูกตำแหน่ง เกิดปัญหาฟันแท้ซ้อน และฟันเก ตามมา ซึ่งความสำคัญ บทบาทหน้าที่ และประโยชน์ของฟันน้ำนมมีดังนี้
- ช่วยในการบดเคี้ยวอาหาร ทำให้ลูกน้อยกินอาหารที่ต้องบดเคี้ยวได้ตามวัย หากไม่มีฟันน้ำนม หรือฟันน้ำนมผุ ปวด ลูกจะกินอาหารไม่ได้ ร้องไห้งอแงเพราะความทรมาน ทำให้น้ำหนักน้อย ขาดสารอาหาร สุขภาพทรุดโทรม และป่วยง่าย
- ใช้ในการพูดและการออกเสียง การออกเสียงพยัญชนะต่าง ๆ หรือการพูดเป็นให้ชัดเจนนั้น ต้องอาศัยการเปล่งเสียงผ่านอวัยวะต่าง ๆ ในช่องปาก เช่น ฟัน ลิ้น ริมฝีปาก
- รักษาช่องว่างสำหรับฟันแท้ ช่วยให้ฟันแท้ขึ้นมาในตำแหน่งที่ถูกต้อง โดยฟันน้ำนมแต่ละซี่จะช่วยกำหนดช่องว่างที่เหมาะสมไว้ให้ฟันแท้ตรงตำแหน่งนั้นขึ้นมาได้อย่างถูกต้อง เรียงตัวสวยงาม
- ส่งผลต่อการพัฒนาใบหน้า ช่วยให้ขากรรไกรและใบหน้ามีรูปร่างที่สมส่วน
ฟันน้ำนมมีกี่ซี่ ฟันซี่แรกของลูกน้อยขึ้นเมื่อไหร่
ฟันน้ำนมของลูกน้อยนั้นมีทั้งหมด 20 ซี่ค่ะ ประกอบด้วยฟันในตำแหน่งต่าง ๆ คือ
- ฟันหน้าซี่กลาง (Central incisors) จำนวน 4 ซี่
- ฟันหน้าซี่ข้าง (Lateral incisors) จำนวน 4 ซี่
- ฟันเขี้ยว (Canines) จำนวน 4 ซี่
- ฟันกรามซี่ที่ 1 (First molars) จำนวน 4 ซี่
- ฟันกรามซี่ที่ 2 (Second molars) จำนวน 4 ซี่
โดยการขึ้นของฟันน้ำนมในเด็กแต่ละคนอาจมีความช้าเร็วแตกต่างกันบ้างเป็นเรื่องปกติเช่นเดียวกับพัฒนาการและการเจริญเติบโตทั่วไปในด้านอื่น ๆ ซึ่งฟันน้ำนมจะเริ่มขึ้นเมื่อลูกน้อยอายุได้ประมาณ 6-8 เดือน และจะขึ้นครบ 20 ซี่ เมื่ออายุประมาณ 2-3 ปี เป็นการทยอยขึ้นตามลำดับโดยประมาณดังนี้
|
ลำดับการขึ้นของฟันน้ำนมลูกน้อย |
ช่วงอายุที่ฟันขึ้น |
ตำแหน่งที่ฟันน้ำนมขึ้น |
หมายเหตุ |
6-8 เดือน |
ฟันหน้าล่าง |
ฟันหน้าล่าง ซี่กลาง มักขึ้นเป็นซี่แรก |
8-10 เดือน |
ฟันหน้าบน |
ฟันหน้า ซี่กลาง ด้านบน จะขึ้นตามฟันหน้าล่างมาติด ๆ |
9-13 เดือน |
ฟันข้าง |
ด้านบนจะขึ้นก่อน ด้านล่างจะขึ้นตามมาทีหลังประมาณ 1 เดือน |
13-19 เดือน |
ฟันกราม และฟันเขี้ยว |
ฟันกรามซี่แรกของด้านบนจะขึ้นประมาณเดือนที่ 13 ส่วนด้านล่างจะขึ้นตามมาในเดือนที่ 14 โดยช่วงดือนที่ 16-17 ฟันเขี้ยวด้านบ้านและฟันเขี้ยวด้านล่างจะขึ้นตามมา ส่วนฟันกรามด้านล่างซี่ที่ 2 และฟันกรามด้านบนซี่ที่ 2 จะขึ้นเป็นลำดับสุดท้าย |
ฟันซี่แรกขึ้นเมื่อไหร่ รู้ได้ไงว่าฟันน้ำนมของลูกจะขึ้น
การสังเกตว่า ฟันน้ำนมซี่แรกของลูกน้อยกำลังจะขึ้น คุณแม่อาจจะพบว่าลูกมีอาการคันเหงือก น้ำลายเยอะ ชอบกัดสิ่งของ อาจปวดเหงือก ร้องไห้กลางคืน มีเหงือกบวมเล็กน้อยหรือไข้ขึ้นเล็กน้อยค่ะ โดยหากมั่นใจว่าเป็นสัญญาณของฟันจะขึ้นก็วางใจได้และสามารถให้ยาลดไข้ได้ แต่ถ้าไม่มั่นใจว่าเกิดจากฟันขึ้นหรือจากสาเหตุอื่น เหงือกบวมมากผิดปกติ หรือมีไข้ขึ้นสูง ควรปรึกษาแพทย์นะคะ
วิธีดูแลสุขภาพฟันน้ำนมลูกน้อยให้แข็งแรง
การดูแลฟันน้ำนมลูกน้อยให้สะอาดเป็นสิ่งสำคัญมากค่ะ เพราะจะช่วยป้องกันปัญหาฟันผุและปัญหาสุขภาพช่องปากอื่น ๆ ได้ โดยวิธีการดูแลฟันน้ำนมที่ถูกต้อง ได้แก่
- การแปรงฟันอย่างถูกวิธี หลังจากฟันน้ำนมซี่แรกขึ้น ควรแปรงฟันให้ลูกน้อยด้วยแปรงสีฟันที่มีขนนิ่ม และใช้ยาสีฟันในปริมาณน้อย ซึ่งหากฟันลูกขึ้นในช่วงวัยที่ยังบ้วนปากเองไม่ได้ หลังแปรงฟันคุณแม่ควรใช้ผ้าก๊อซสะอาด เช็ดคราบยาสีฟันออกให้ลูกค่ะ
- พบทันตแพทย์สม่ำเสมอ คุณแม่ควรพาลูกน้อยไปพบหมอฟันเป็นประจำทุก 6 เดือน เพื่อตรวจสุขภาพช่องปาก รวมถึงปฏิบัติตามคำแนะนำต่าง ๆ ที่จะช่วยป้องกันฟันผุ และให้ลูกมีสุขภาพฟันที่แข็งแรงตั้งแต่แรกเริ่ม
- หลีกเลี่ยงความหวาน คุณแม่ต้องเลือกอาหารที่เหมาะสมให้ลูกน้อยแต่ละช่วงวัย ซึ่งสำหรับลูกที่ฟันน้ำนมกำลังจะขึ้นวัยประมาณ 6 เดือนนั้นยังเป็นช่วงวัยที่ยังควรต้องกินนมแม่ 100% แต่หากมีกรณีที่คุณแม่จำเป็นต้องเปลี่ยนนมให้ลูกหลัง 6 เดือน ควรเลือกนมผงที่ไม่มีรสหวาน อันเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ฟันผุ รวมถึงไม่ว่าจะเป็นการดูดเต้า หรือขวดนม ไม่ควรให้ลูกน้อยหลับคานม เพราะจะทำให้เกิดฟันผุได้ง่าย
- ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ เพราะการดื่มน้ำสะอาดจะช่วยชะล้างคราบน้ำนม หรือเศษอาหาร และแบคทีเรียในช่องปากให้ลูกน้อยได้
ฟันน้ำนมซี่แรก จะเริ่มหลุดเมื่อไหร่
เมื่อฟันน้ำนมของลูกน้อยขึ้นครบทั้ง 20 ซี่แล้ว ฟันน้ำนมซี่แรก จะเริ่มหลุดเมื่ออายุลูกมีประมาณ 6-7 ปี โดยฟันแท้จะค่อย ๆ ขึ้นมาแทนที่ฟันน้ำนมที่หลุดไป และฟันน้ำนมจะหลุดจนครบทั้งหมดเมื่อลูกมีอายุประมาณ 12-13 ปี ซึ่งลำดับการหลุดอาจแตกต่างกันไปแต่โดยรวมจะเป็นไปดังนี้
|
ลำดับการหลุดของฟันน้ำนม |
อายุ |
ตำแหน่งฟันน้ำนมที่หลุด |
6 ปี |
ฟันหน้าซี่กลาง ด้านล่าง |
7 ปี |
ฟันหน้าซี่ข้าง ด้านล่าง |
8 ปี |
ฟันหน้าซี่กลาง ด้านบน |
9 ปี |
ฟันหน้าซี่ข้าง ด้านบน และ ฟันเขี้ยว ด้านล่าง |
10 ปี |
ฟันกรามซี่ที่ 1 ด้านบน และ ฟันกรามซี่ที่ 1 ด้านล่าง |
11 ปี |
ฟันเขี้ยว ด้านบน และ ฟันกรามซี่ที่ 2 ด้านล่าง |
12 ปี |
ฟันกรามซี่ที่ 2 ด้านบน |
เมื่อทราบกันแล้วว่า ฟันน้ำนมมีกี่ซี่ ? ฟันซี่แรกขึ้นเมื่อไหร่ ฟันน้ำนมมีความสำคัญอย่างไร ก็อย่าลืมให้ความใส่ใจในการดูแลฟันน้ำนมของลูกให้สะอาดและแข็งแรงตั้งแต่แรกเริ่มนะคะ เพราะนอกจากจะสร้างพื้นฐานและวินัยการดูแลฟันของตัวเองไปจนกระทั่งฟันแท้ขึ้นครบแล้ว การมีสุขภาพฟันที่ดี มีรอยยิ้มที่สดใส ยังช่วยสร้างความมั่นใจให้ลูกน้อยได้ด้วยค่ะ
ที่มา : chulalongkornhospital.go.th , www.sktdental.com , www.medparkhospital.com , www.thaihealth.or.th , hd.co.th
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ทารกนอนนาน ต้องปลุกไหม ทารกนอนนานเกินไป เสี่ยงปัญญาอ่อนจริงหรือเปล่า
สาเหตุ ทารก ไม่ยอมนอนตอนกลางคืน อันตรายไหม แก้ไขอย่างไร
วิธีแก้ทารกไม่ถ่าย ทำยังไงให้ลูกน้อยถ่ายง่าย ท้องไม่ผูก
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!