“นมแม่” คืออาหารอย่างเดียว และโภชนาการที่ดีที่สุดของทารกวัยแรกเกิดนะคะ โดยองค์การอนามัยโลกแนะนำว่า คุณแม่ควรให้ลูกน้อยได้กินนมแม่อย่างเดียวจนถึง 6 เดือน และควรกินต่อเนื่องไปจนลูกอายุ 2 ปี หรือนานกว่านั้น ควบคู่กับอาหารตามวัยอย่างเหมาะสม ซึ่งในแต่ละครั้งคุณแม่ควรให้ลูกน้อยดูดนมนานเฉลี่ยครั้งละประมาณ 10-15 นาที หรือในเด็กบางคนอาจกินนมแม่ได้นานถึงครั้งละ 20-30 นาที แต่เมื่อลูกน้อยเติบโตขึ้น คุณแม่อาจพบว่า ลูกกินนมน้อย จนคิดไปว่า ผิดปกติไหม จะกระทบต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโตหรือเปล่า มาคลายความกังขาและความกังวลใจนี้กันค่ะ
——————————————
คุณประโยชน์และโภชนาการในน้ำนมแม่
- ในน้ำนมแม่มีสารที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรคบนผิวหนังของลูกน้อยได้ (Microbial colonization)
- มีโพรไบโอติกส์ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของแบคทีเรียตัวดีที่ช่วยย่อยในลำไส้ของทารก
- มีสารนิวคลีโอไทด์ ช่วยทำให้เยื่อบุลำไส้ในลำไส้ทารกเจริญเติบโตเร็ว พร้อมรับมือกับเชื้อต่าง ๆ ได้
- มีสารภูมิคุ้มกันเชื้อโรคต่างให้กับระบบต่าง ๆ ของร่างกายลูกน้อย เช่น ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร
- มีกรดไขมันไม่อิ่มตัว สายโมเลกุลยาว ซึ่งมีความสำคัญกับการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อประสาทและจอประสาทตาเมื่ออายุ 6 เดือน
- หากลูกกินนมแม่อย่างเดียวตลอดแรกเกิด – 3 เดือน จะช่วยลดการเกิดโรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง และลดโอกาสการเกิดเป็นเบาหวานในอนาคตได้
——————————————
เด็กแต่ละวัยควรกินนมปริมาณเท่าไร จะรู้ได้ไงว่า ลูกกินนมน้อย หรือเปล่า?
ลูกน้อยแต่ละช่วงวันนั้นมีความต้องการ “นมแม่” ในปริมาณที่ต่างกันค่ะ วัยทารกตัวเล็ก ๆ ก็จะมีกระเพาะอาหารขนาดเล็กตามไปด้วย สามารถจุน้ำนมแม่ได้เพียงครั้งละน้อย ๆ เท่านั้น ทำให้คุณแม่ต้องให้นมลูกวัยทารกบ่อยขึ้น อย่างไรก็ตาม คุณแม่ควรให้นมลูกในปริมาณที่พอดีนะคะ อย่าพยายามยัดเยียดให้ลูกกินนมมากเกินไป ไม่อย่างนั้นอาจเสี่ยงต่อการที่ลูกจะมีภาวะ Over feeding ซึ่งอาจทำให้ลูกน้อยไม่สบายตัว อาเจียน แหวะนมบ่อย ๆ จนไม่ยอมดูดนมได้ค่ะ
ปริมาณนมแม่ที่ลูกแต่ละช่วงวัยควรได้รับ
- ลูกน้อยวัยแรกเกิด โดยวันแรกที่ลูกคลอดคุณแม่ควรให้ลูกเข้าเต้าทันที และให้ลูกน้อยกินนมวันละ 8-10 ครั้ง หรือทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง ครั้งละประมาณ 1 ช้อนชา กระทั่งวันที่ 3 ขึ้นไปจึงให้นมลูกเฉลี่ยประมาณ 1-1.5 ออนซ์ วันละ 8-10 ครั้ง หรือทุก ๆ 2-3 ชั่วโมงเช่นกัน ส่วนกรณีที่ลูกน้อยอายุ 2 สัปดาห์ขึ้นไป ควรให้กินนมแม่ 2-3 ออนซ์ ทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง
- ทารกวัย 1-4 เดือน เป็นช่วงที่กระเพาะอาหารของลูกเริ่มใหญ่ขึ้นแล้ว จึงสามารถกินนมแม่ได้มากขึ้น โดยปริมาณน้ำนมที่ลูกน้อยควรได้รับต่อวัน คือ วัย 1 เดือน ควรได้รับน้ำนมเฉลี่ยวันละ 7-8 ครั้งต่อวัน ในปริมาณ 2-4 ออนซ์ต่อครั้ง พอเข้าสู่ วัย 2-4 เดือน ลูกควรได้รับน้ำนมเฉลี่ยวันละ 6-8 ครั้งต่อวัน หรือทุก 3-4 ชั่วโมง ในปริมาณครั้งละ 4-6 ออนซ์
- ลูกวัย 5-6 เดือน ทารกโตขึ้นอีกขึ้นแล้วค่ะ คุณแม่จึงสามารถให้นมลูกมากขึ้นได้ โดยเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ยครั้งละ 6-8 ออนซ์ วันละ 5-6 ครั้งต่อวัน หรือทุก 4-5 ชั่วโมง
- ช่วงวัย 6-12 เดือน เป็นช่วงที่ลูกน้อยสามารถเริ่มอาหารตามวัยได้แล้ว แต่ยังคงต้องการสารอาหารจากน้ำนมอยู่ ทำให้ความถี่ในการให้นมลูกอาจลดลงเหลือเพียงวันละ 4-5 ครั้ง เฉลี่ยครั้งละ 6-8 ออนซ์ เพียงให้ได้รับสารอาหารที่เพียงพอต่อร่างกาย
ทำไมรู้สึกว่า ลูกกินนมน้อย ?
เมื่อเจ้าตัวเล็กเติบโตขึ้น กระเพาะอาหารขยายขนาดขึ้น ก็ควรจะกินนมแม่ในปริมาณที่มากขึ้นด้วย แต่ทำไมคุณแม่จึงรู้สึกว่า ลูกกินนมน้อยลง จนเกิดความกังวลใจ ต้องขออธิบายว่าในช่วงที่คุณแม่สังเกตเห็นหรือรู้สึกว่าลูกน้อยกินนมได้มากนั้นจะเป็นช่วงที่เขามีอายุประมาณ 3 เดือนค่ะ
เนื่องจากช่วงวัย 3 เดือน เป็นช่วงที่ลูกน้อยยังทำอะไรไม่ค่อยได้ การกินเป็นเพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่เขาสามารถทำได้ คุณแม่จึงอาจพบว่าลูกน้อยหิวนมและขอกินนมตลอดเวลา ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าช่วง 3 เดือนนี้ ลูกอาจมีน้ำหนักเกินค่าเฉลี่ยคือ 600 กรัม/เดือนเลยค่ะ
แต่เมื่อย่างเข้าเดือนที่ 4-6 พัฒนาการของลูกจะดีมากขึ้น ทำให้เขาห่วงเล่นมากขึ้น และสนใจการกินน้อยลงด้วย ลองสังเกตดูนะคะว่าในช่วงที่กำลังดูดนมคุณแม่อยู่ แล้วมีเสียงดังขึ้น มีคนเดินผ่าน หรือแวะเวียนมาเล่นด้วย ลูกน้อยจะหยุดดูดนมทันที เพื่อผละออกมาเล่น เขาจึงไม่กินจนกระทั่งอิ่มเป็นมื้อ แต่จะดูดแค่ช่วงสั้น ๆ พอหายหิว ไม่สนใจที่จะดูดต่อจนหมด ไม่ยอมกินจนอิ่ม เพราะกลัวว่าถ้าอิ่มมากเกินไป จะง่วงจนหลับแล้วไม่ได้เล่น
ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่าช่วงวัย 4-6 เดือนนี้ น้ำหนักของลูกน้อยจะขึ้นช้าลง คือประมาณ 15-25 กรัม/วัน ไม่เหมือนช่วงวัย 3 เดือนที่น้ำหนักขึ้นมากถึง 20-30 กรัม/วันนั่นเอง ซึ่งด้วยเหตุเหล่านี้จึงเป็นไปได้ค่ะว่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณแม่รู้สึกว่า ลูกกินนมน้อย
ลูกกินนมน้อยลง ผิดปกติไหม เกิดจากอะไรได้บ้าง ต้องแก้ไขอย่างไร ?
- ห่วงเล่น การที่ลูกกินนมน้อยลงตามเหตุผล “ห่วงเล่น” ตามที่อธิบายข้างต้นนั้น ไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติจนคุณแม่ต้องกังวลใจนะคะ เพราะหากลูกยังกินนมได้ และขับได้ปกติ คือ ถ่ายอุจจาระครบ 2 ครั้งต่อวัน หรือปัสสาวะได้เฉลี่ย 6 ครั้งต่อวัน ก็ยังถือว่าเป็นไปตามพัฒนาการค่ะ ซึ่งหากลูกไม่กินนม คุณแม่อย่าเพิ่งบังคับนะคะ น้ำหนักขึ้นน้อยลงก็ไม่เป็นไรค่ะ ให้คุณแม่ปั๊มนมที่ลูกกินเหลือเก็บเป็นสต๊อกได้เลย เพราะการบังคับโดยที่ลูกไม่อยากกินจะทำให้เขาต่อต้านการกินนมค่ะ
แก้ไขอย่างไร แต่หากอยากให้เขากินนมเยอะตามปกติ แนะนำว่าให้ลองอุ้มลูกเข้าห้องมืด หรือหามุมสงบ ที่จะไม่มีอะไรมารบลูกน้อยกินนม เขาจะได้ไม่วอกแวกและตั้งใจดูดนมแม่มากขึ้นค่ะ
- ฟันขึ้น มีความเป็นไปได้เช่นกันว่าในช่วงวัยที่โตขึ้น ลูกกินนมน้อยลงเนื่องจากฟันกำลังจะขึ้น ทำให้เวลาดูดนมแม่มาก ๆ จะมีอาการเหงือกบวมจนปวด ทำให้เด็กกินนมแม่ได้ไม่กี่นาทีแล้วก็ผลักออก
การแก้ไข การแก้ไขคืออาจเปลี่ยนให้ลูกกินนมแม่จากถ้วย ดูดหลอด หรือให้ผสมนมแม่ลงในอาหารเสริมแทนสักพัก พอหายปวดแล้วลูกจะกลับมาดูดเต้านมแม่ได้ตามเดิม ทั้งนี้ การนวดเหงือกลูกน้อยด้วยนิ้วมือที่สะอาดบ่อย ๆ หรือหาของแข็ง ๆ เย็น ๆ ให้ลูกกัด จะช่วยลดอาการปวดระบมเหงือกได้ค่ะ
- ติดเชื้อ อีกสาเหตุหนึ่งที่อาจทำให้ลูกกินนมน้อย คือ มีความเป็นไปได้ว่าเกิดจากมีการติดเชื้อหูอักเสบ ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนจากการเป็นหวัด ทำให้ลูกมีอาการปวดร้าวที่ขากรรไกรเวลาดูดนม ซึ่งช่วงที่ลูกกินนมน้อย
วิธีแก้ไข คุณแม่อาจปั๊มนมออกเพื่อไม่ให้คัดเต้า และเพื่อรักษาปริมาณน้ำนมไม่ให้ลดลง และควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยว่ามีการติดเชื้อหูอักเสบจริงหรือไม่ เพื่อทำการรักษาอย่างถูกต้อง ให้ลูกน้อยกลับมากินนมแม่อย่างเต็มอิ่มได้ตามเดิมค่ะ
อย่างไรก็ตาม การให้นมแม่แก่ลูกน้อยนั้น คุณแม่อาจปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำเกี่ยวกับหลักการให้นมที่ถูกต้อง รวมถึงปริมาณที่เหมาะสมกับลูกด้วย เพราะเด็กแต่ละคนมีความต้องการไม่เท่ากัน เพื่อให้เขาได้รับสารอาหารรและคุณประโยชน์จากนมแม่เต็มที่ เติมเต็มพัฒนาการที่ดีตามช่วงวัย และป้องกันการกินนมมากเกินไปจนอาจเกิดปัญหาสุขภาพด้านอื่น ๆ ตามมาด้วยค่ะ
ที่มา : facebook page สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ , www.nakornthon.com , www.phyathai.com , www.s-momclub.com
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ให้นมลูกกินมะม่วงได้ไหม ส่งผลอะไรต่อลูกหรือเปล่า
ให้นมลูกกินขนมปังได้ไหม ขนมปังที่แม่ให้นมกินได้ อาหารแบบไหนเหมาะกับ “แม่ให้นม”
5 ผลไม้บำรุงน้ำนม เพิ่มน้ำนมให้กับคุณแม่น้ำนมน้อย
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!