เมื่อลูกน้อยเข้าสู่ช่วงวัย 6 เดือน พัฒนาการทั้งด้านร่างกายและจิตใจเริ่มเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ก็ถึงเวลาแล้วที่คุณแม่จะต้องเตรียมพร้อมสำหรับการเริ่มต้น “อาหารตามวัย” พร้อมติดตามพัฒนาการการลิ้มรสอาหารต่างๆ นอกเหนือจากนมแม่ที่เป็นอาหารหลักมาตั้งแต่แรกเกิด แต่การเริ่มต้นอาหารตามวัยนั้นต้องคำนึงถึงความปลอดภัย และโภชนาการที่เหมาะสม เพื่อให้ลูกน้อยได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต เสริมสร้างพัฒนาการที่สมดุลและครบถ้วน บทความนี้จะพาคุณแม่มือใหม่ไปเรียนรู้ว่า ทารก 6 เดือน กินอะไรได้บ้าง ? รวมถึงควรเริ่มต้นอาหารตามวัยยังไงให้ปลอดภัย ลูกน้อยได้ประโยชน์ครบ!

ความสำคัญของ อาหารตามวัย
การให้ลูกน้อยได้กินอาหารที่เหมาะสมในช่วงวัยแรกเกิดถึง 1 ปี มีส่วนสำคัญต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโตของลูกอย่างมากนะคะ เพราะหากลูกได้รับอาหารไม่เหมาะสมอาจทำให้ขาดธาตุเหล็ก น้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ ส่งผลต่อพัฒนาการแทบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น พัฒนาการกล้ามเนื้อมัดใหญ่ กล้ามเนื้อมัดเล็ก สังคม และอารมณ์ โดยคุณแม่ควรทำความเข้าใจในเบื้องต้นว่าลูกแต่ละวัยควรกินอาหารแบบไหน ดังนี้ค่ะ
- ตั้งแต่แรกเกิดจนอายุ 6 เดือน ทารกไม่ต้องการอะไรนอกจากนมแม่ แม้กระทั่ง “น้ำ” ซึ่งน้ำนมแม่เพียงอย่างเดียวก็เพียงพอต่อความต้องการของลูกน้อยทั้งด้านพลังงานและโภชนาการแล้ว การให้ลูกกินอาหารหรือของเหลวอื่นที่ไม่ใช่นมแม่ก่อนอายุ 6 เดือน จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยต่างๆ ได้ อาทิ ท้องเสีย อาหารไม่ย่อย ท้องผูก ท้องเสีย แพ้อาหาร เสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากลำไส้อุดตัน และทำให้คุณแม่ให้นมลูกได้น้อยลง ปริมาณน้ำนมซึ่งเป็นอาหารสำคัญที่สุดของลูกก็จะลดลงตามไปด้วย
- ช่วงวัย 6 เดือน เริ่มให้ลูกกินอาหารอ่อนได้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ลูกน้อยต้องการพลังงาน โปรตีน และสารอาหารมากกว่าที่นมแม่เพียงอย่างเดียวจะให้ได้ รวมทั้งระบบย่อยและดูดซึมอาหารพัฒนาได้ค่อนข้างสมบูรณ์แล้วจึงต้องมีการปรับให้ลูกเริ่มกินอาหารตามวัยเป็นอาหารหลัก ควบคู่กับการกินนมแม่ เช่น ข้าวต้ม ผักหรือผลไม้บด
|
ทารก 6 เดือน กินอะไรได้บ้าง : พลังงานและโปรตีนที่ลูกน้อยควรได้รับ
|
อายุ 0-6 เดือน (น้ำหนัก 5-6 กิโลกรัม)
|
กินนมอย่างเดียวก็เพียงพอ เพราะไม่ได้ทำกิจกรรมอื่นนอกจากการนอน กินนม ยิ้ม ร้องไห้ ขับถ่าย |
อายุ 6-12 เดือน (น้ำหนัก 8-10 กิโลกรัม)
|
ลูกน้อยควรได้รับพลังงาน 800-1,000 กิโลแคลอรี่ต่อวัน |
- เพิ่มจำนวนมื้ออาหารตามวัย เมื่ออายุลูกเพิ่มขึ้นจนครบ 3 มื้อ เมื่ออายุ 10-12 เดือน รวมทั้งค่อยๆ เพิ่มปริมาณ และความหยาบของอาหารขึ้นตามอายุ
- ให้อาหารรสธรรมชาติ อาหารตามวัยของลูกน้อยต้องสะอาดและปลอดภัย เน้นรสธรรมชาติ หลีกเลี่ยงการปรุงแต่งรส
- ให้ดื่มน้ำสะอาด หลีกเลี่ยงการให้ลูกน้อยดื่มเครื่องดื่มรสหวาน และน้ำอัดลม
ทั้งนี้ ในช่วงให้นมลูก แนะนำว่าคุณแม่ต้องกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นความหลากหลาย เพราะการกินแบบเดิมซ้ำๆ อาจทำให้ลูกแพ้อาหารชนิดนั้นไปด้วย แต่ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีความเสี่ยง เช่น ของหมักดอง อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

รู้ได้ยังไงว่าลูกพร้อมกินอาหารตามวัย
วิธีสังเกตว่าลูกน้อยวัย 6 เดือนพร้อมสำหรับการกินอาหารตามวัยหรือยัง คุณแม่สามารถดูได้จากสัญญาณต่อไปนี้ค่ะ
- ลูกนั่งได้ ทรงตัวไม่ล้ม
- สามารถใช้มือน้อยๆ นั้นคว้าของเข้าปากได้
- คอของลูกชันตั้งได้แล้ว
- ลูกน้อยไม่เอาลิ้นดุนอาหารออกมา หรือ extrusion reflex ซึ่งมักพบอาการนี้ในช่วงวัยก่อน 4-6 เดือน และจะค่อยๆ หายไป

ทารก 6 เดือน กินอะไรได้บ้าง ?
เมื่อลูกมีสัญญาณความพร้อม คุณแม่ก็สามารถลงมือเลือกวัตถุดิบทำอาหารตามวัยให้ลูกกินได้เลยค่ะ ส่วนคำถามว่า ทารก 6 เดือน กินอะไรได้บ้าง ? ต้องตามมาดูคำตอบต่อไปนี้ค่ะ
-
นมแม่
สำหรับลูกน้อยวัย 6 เดือน นมแม่ยังคงเป็นอาหารหลักที่จำเป็นและมีประโยชน์ค่ะ จึงควรให้นมแม่ต่อไป ควบคู่กับการเริ่มอาหารตามวัยเพื่อเสริมสร้างโภชนาการให้ลูกอย่างครบถ้วน อย่างไรก็ตาม หากลูกน้อยเป็นเด็กที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคภูมิแพ้ “องค์การอนามัยโลก” จะแนะนำให้เริ่มกินอาหารตามวัยเร็วขึ้น คือประมาณตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไปค่ะ
-
อาหารบดละเอียด
อาหารตามวัยของทารก 6 เดือน ควรมีลักษณะบดละเอียด หรือบดเหลว เพื่อให้ลูกน้อยกลืนได้ง่าย ปลอดภัย โดยควรเริ่มจากอาหารที่มีรสชาติอ่อนและย่อยง่าย เช่น
- ผักและผลไม้: กล้วย อะโวคาโด มันเทศ ฟักทอง แครอท (ต้มหรือนึ่งจนนิ่ม)
- ธัญพืช: ข้าวบด ข้าวโอ๊ตบด
- เนื้อสัตว์: เนื้อไก่บด ปลาบด (ปรุงสุกและบดละเอียด)
โดยแนะนำให้คุณแม่ทำอาหารเองด้วยเมนูง่ายๆ ที่สามารถกินกับลูกน้อยได้ เช่น ต้มจืดตำลึงกระดูกหมูกับข้าวต้มหอมมะลิ เป็นต้น

ทารก 6 เดือน กินอาหารตามวัยยังไง ให้ปลอดภัย และได้ประโยชน์ครบ!
ทารก 6 เดือน มีความพร้อมในการรับอาหารอื่นนอกจากนมแม่ได้แล้ว เนื่องจากสามารถควบคุมการทรงตัวและศีรษะได้ดี ทำให้กลืนอาหารกึ่งแข็งกึ่งเหลวได้ อีกทั้งระบบทางเดินทางอาหาร ไต ระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ก็พัฒนาจนสามารถทำหน้าที่พร้อมสำหรับการเริ่มให้อาหารตามวัยของลูกน้อยได้ ซึ่งหลักในการให้อาหารตามวัยสำหรับทารก 6 เดือน มีดังนี้
- ลักษณะอาหาร ควรเป็นอาหารบด หรืออาจใช้วิธีครูดผ่านกระชอน หากอาหารมีความหนืดเกินไป สามารถเติมน้ำซุปหรือน้ำต้มผักที่ไม่ปรุงรส เพื่อให้ลูกสามารถกลืนได้ง่ายขึ้น
- ลูกควรได้กินอาหาร 1 มื้อ ควบคู่กับการกินนมแม่ ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วปริมาณนมและอาหารตามวัยที่ลูกควรได้รับมีดังนี้
- ลูกน้อยวัย 6-8 เดือน ควรป้อนอาหารตามวัย 1 มื้อ บดให้ละเอียดคล้ายโจ๊ก มื้อละ 3-4 ช้อนโต๊ะ และให้นมแม่ควบคู่ โดยดูดเต้า 3-4 ครั้งต่อวัน หรือ 24-32 ออนซ์ต่อวัน
- ลูกอายุ 8-10 เดือน ป้อนอาหารตามวัย 2 มื้อ บดให้หยาบคล้ายข้าวต้ม มื้อละ 5-6 ช้อนโต๊ะ และให้ดูดนมแม่ 3-4 ครั้งต่อวัน หรือ 16-32 ออนซ์ต่อวัน
- ลูกวัย 10-12 เดือน ควรกินอาหารตามวัย 3 มื้อ บดให้หยาบคล้ายข้าวต้ม มื้อละ 6-8 ช้อนโต๊ะ ควบคู่การการกินนมแม่ 3-4 ครั้งต่อวัน หรือ 16-32 ออนซ์ต่อวัน
- อาหารควรมีความหลากหลาย ในแต่ละวันคุณแม่สามารถเปลี่ยนชนิดของอาหารให้มีความหลากหลาย เพื่อให้ลูกได้รับสารอาหารเพียงพอ และสร้างความคุ้นเคยกับอาหารใหม่ๆ
- ให้เวลาลูกทำความคุ้นเคย โดยช่วงแรกลูกอาจใช้ลิ้นดุนอาหารเข้าออกหรือกินน้อย ไม่ให้ความร่วมมือในการกิน คุณแม่ควรให้เวลาลูกได้ทำความคุ้นเคย และฝึกใช้ลิ้นตวัดอาหาร
- ไม่ต้องทดลองอาหาร แต่ให้เริ่มทีละอย่าง หมายถึง ให้ลูกกินเมนูนั้นๆ ประมาณ 3 วัน จึงเปลี่ยนเมนู เพื่อดูการยอมรับอาหารและสังเกตอาการแพ้อาหารของลูก หากพบว่าลูกมีอาการน่าสงสัยว่าจะแพ้อาหารนั้นๆ เช่น อาเจียนทันทีหลังมื้ออาหาร ปากบวม ผื่นขึ้น หายใจเหนื่อย หายใจมีเสียงวี้ด ให้รีบพาไปพบแพทย์เพื่อประเมินการแพ้อาหาร
|
ตัวอย่างอาหารตามวัย ทารก 6 เดือน
|
ตัวอย่างที่ 1 |
- ข้าวต้มสุกบดละเอียด 2 ช้อนกินข้าว
- ไข่แดงสุก ครึ่งฟอง
- ตำลึงต้มเปื่อยบดละเอียด ½ ช้อนกินข้าว
- น้ำมันพืช ½ ช้อนชา
- อาหารว่าง เป็นกล้วยน้ำว้าสุกครูด ½ ลูก
|
ตัวอย่างที่ 2 |
- ข้าวต้มสุกบดละเอียด 2 ช้อนกินข้าว
- ปลาสุกบด ½ ช้อนกินข้าว
- ฟักทองต้มเปื่อยบดละเอียด ½ ช้อนกินข้าว
- น้ำมันพืช ½ ช้อนชา
- อาหารว่าง เป็นมะละกอสุก 1 ชิ้นเล็ก
|

อาหารที่ ทารก 6 เดือน ควรหลีกเลี่ยง!
- อาหารแปรรูป อาหารสำเร็จรูปสำหรับเด็กทารกส่วนใหญ่มักมีปริมาณน้ำตาลและโซเดียมสูง คุณแม่จึงควรหลีกเลี่ยง และเลือกอาหารสดใหม่สำหรับลูกน้อย
- อาหารที่มีรสจัด ไม่ปรุงรสอาหารสำหรับทารก 6 เดือน ควรให้ลูกน้อยได้ลิ้มรสธรรมชาติของอาหาร
- อาหารที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ ควรระวังอาหารที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้กับลูก เช่น ไข่ ถั่ว นมวัว อาหารทะเล หากมีประวัติครอบครัวเคยแพ้อาหาร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มอาหารชนิดนั้นๆ
- อาหารแข็ง ไม่ควรให้ทารกกินอาหารแข็งหรืออาหารที่มีชิ้นใหญ่เกินไป เพราะอาจทำให้ลูกน้อยสำลักได้
- น้ำผึ้ง ไม่ควรให้ทารกอายุต่ำกว่า 1 ขวบกินน้ำผึ้ง เนื่องจากอาจมีเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคโบทูลิซึมในทารกได้ค่ะ
การเริ่มต้นอาหารตามวัยเป็นช่วงเวลาที่สำคัญในการพัฒนาของลูกน้อย การเลือกอาหารที่เหมาะสมและปลอดภัยจะช่วยให้ลูกน้อยได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตและมีสุขภาพแข็งแรง ดังนั้น ก่อนคุณแม่จะเริ่มอาหารตามวัย ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ เพื่อขอคำแนะนำที่เหมาะสมกับลูกน้อยนะคะ และหลังเริ่มอาหารตามวัย ควรสังเกตอาการของลูกน้อยอย่างใกล้ชิด หากมีอาการแพ้หรือผิดปกติ ควรหยุดอาหารนั้นทันทีและปรึกษาแพทย์ค่ะ
ที่มา : กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข , www.unicef.org , www.phyathai.com , www.paolohospital.com , www.thaipbskids.com
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
น้ำหนักทารกในแต่ละเดือน พ่อแม่รู้ไหมว่าลูกควรหนักและสูงแค่ไหน?
ลูกไม่ยอมนอนกลางวัน ทำไงดี? จะส่งผลเสียต่อพัฒนาการไหม?
ดูดจุกหลอก ท้องอืดไหม ลูกดูดนิ้ว ต่างกับดูดจุกยังไง แบบไหนดีกว่ากัน
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!