เกมในยุคปัจจุบันมีมากมายหลายรูปแบบ โดยเกมแต่ละประเภทจะมีการแบ่งเกณฑ์อายุไว้เพื่อจำกัดการใช้งานของเด็กที่มีอายุไม่ถึงเกณฑ์ เพราะว่าบางเกมมีเนื้อหารุนแรง หรือต้องได้รับคำแนะนำจากผู้ปกครองขณะเล่น วันนี้เราจึงได้ลองวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียของ “เกมมือถือ” ว่ามีอะไรบ้าง พร้อมเสริมวิธีการป้องกันการติดเกมของลูก ไปดูกันเลยว่ามีอะไรบ้าง
ข้อดีของเกมมือถือ มีอะไรบ้าง?
เราลองมาดูข้อดีของการที่คุณจะปล่อยให้ลูกน้อยของคุณเล่นเกมมือถือกันดีกว่าค่ะ เพราะการเล่นเกมนั้นไม่ได้มีไว้เพื่อความสนุกเพลิดเพลินเพียงอย่างเดียว โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. เกมมือถือ ช่วยเรื่องการอ่าน
การศึกษาเกี่ยวกับการเล่นเกมของเด็กพบว่า เด็กที่เล่นเกมมือถืออาจได้รับทักษะในการอ่านเพิ่มมากยิ่งขึ้นจากการเล่นเกม โดยไม่ได้เพิ่มขึ้นเฉพาะเด็กที่มีการอ่านที่ดีอยู่แล้ว แต่สำหรับเด็กที่มีทักษะในการอ่านไม่ค่อยดีนักก็สามารถช่วยให้พวกเขามีทักษะการอ่านที่ดีขึ้นได้ สืบเนื่องมาจากบางเกมนั้นจำเป็นจะต้องทราบเนื้อเรื่องหรืออุปสรรคต่าง ๆ ที่ถูกสร้างขึ้น เพื่อที่จะได้ปลดล็อกด่านหรือผ่านด่านต่อไปนั่นเอง
2. ทักษะการจินตนาการ
เกมในปัจจุบันถูกผลิตออกมามากมายหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ 2D 3D หรือมาในรูปแบบคลาสสิก 16 bits ซึ่งรูปแบบต่าง ๆ เหล่านี้จะทำให้ลูกน้อยของคุณจะต้องจินตนาการเพื่อสร้างรูปแบบจำลองขึ้น ทำให้พวกเขาไม่โฟกัสแค่เพียงจุดเดียว แต่จะมองทุกอย่างแบบกว้าง ๆ เพื่อหาหนทางในการไปต่อ หรือวิธีการในการแก้ไขปัญหา
บทความที่น่าสนใจ : เด็กช่างจินตนาการ คือเด็กฉลาด มีจินตนาการมีความคิดสร้างสรรค์
3. การแก้ไขปัญหา
ส่วนใหญ่แล้วเกมทุกเกมจะมีความท้าทายที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นเกมปริศนา เกมสร้างเมือง และเกมเสมือนจริง เป็นต้น ซึ่งด้วยรูปแบบของเกมเหล่านี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกน้อยของคุณได้เรียนรู้วิธีการจัดการกับปัญหาและมีกระบวนการคิดเป็นขั้นตอนเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้น โดยการนำวิธีการวางแผนมาใช้เพื่อการดำเนินเกมอย่างเป็นระบบ และทำให้เกิดข้อผิดพลาดน้อยที่สุด
4. การเข้าสังคม
เด็กบางคนมีปัญหาในเรื่องของการมีเพื่อนในชีวิตจริง ซึ่งการเล่นเกมออนไลน์นั้นจะเป็นที่ปลอดภัยสำหรับพวกเขา ทำให้พวกเขาได้มีเพื่อนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นต่างเพศหรือต่างวัย ซึ่งการที่พวกเขาได้พบเพื่อนในโลกออนไลน์นั้นทำให้เขาได้พบกับคนที่มีทัศนคติเหมือนกัน หรือมีความชอบเหมือนกัน โดยสิ่งเหล่านั้นจะทำให้พวกเขาได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นมากยิ่งขึ้น และสามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตจริงได้เช่นกัน
5. อาชีพเสริม
ปัจจุบันการเล่นเกมนั้นสามารถนำมาสร้างเป็นอาชีพได้ ไม่ว่าจะเป็นในด้านของการเป็นนักกีฬาอีสปอร์ต หรือผู้ถ่ายทอดสดการเล่นเกม รวมไปถึงการพากย์เกมอีกด้วย ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะต้องการสะสมประสบการณ์ ความชำนาญ และการรู้จักเกมอย่างแท้จริง ซึ่งหากลูกน้อยของคุณได้ทำการฝึกฝนตั้งอายุยังน้อย ก็อาจทำให้กลายมาเป็นอาชีพเสริมในอนาคตได้
ข้อเสียของเกมมือถือ มีอะไรบ้าง?
นอกจากเกมมือถือจะมีข้อดีมากมายที่น่าสนใจแล้ว แต่ก็อย่าลืมว่าทุกอย่างก็มักจะข้อเสียเสมอ เรามาดูกันดีกว่าการเล่นเกมมือถือสำหรับเด็กประถมนั้นมีข้อเสียอย่างไรบ้าง เผื่อว่ารู้แล้วจะได้หาวิธีป้องกันและแก้ไขทัน โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. ปัญหาเรื่องสุขภาพ
การที่ลูกน้อยของคุณใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการอยู่หน้าจอมือถือ แทนการทำกิจกรรมเสริมสร้างพัฒนาการที่เหมาะสมกับวัยของพวกเขานั้นจะส่งผลเสียของสุขภาพได้ การพัฒนาการด้านสติปัญญาของเด็กอาจได้รับผลกระทบ หากพวกเขาไม่ออกไปพบปะกับคนในโลกแห่งความเป็นจริง อีกทั้งการนั่งเล่นเกมมือถือทั้งวันจะส่งผลทำให้เสี่ยงต่อโรคอ้วน เพราะว่าพวกเขาไม่ได้ขยับร่างกาย ทำให้กล้ามเนื้อและข้อต่ออ่อนแอลง อีกทั้งยังทำให้มือและนิ้วชาร่วมด้วย และที่เป็นปัญหาใหญ่สุดคือการทำให้สายตานั้นสั้นลง หรือเสื่อมสภาพได้ไวมากยิ่งขึ้น
2. การเรียนมีประสิทธิภาพลดลง
สำหรับเด็กในวัยประถมที่ยังต้องเรียนรู้ในด้านของวิชาการ หรือการเรียนที่โรงเรียน การทำการบ้านเป็นอีกหนึ่งวิธีที่เป็นการทบทวนบทเรียนที่ได้เรียนมาตลอดทั้งวัน หรือการเสริมสร้างกระบวนการคิดแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง แต่การที่ลูกน้อยของคุณเล่นเกมมือถือทั้งวัน จะทำให้พวกเขาไม่สนใจเรื่องของการเรียน หรือการทบทวนการสอบ ซึ่งจะส่งผลต่อการเรียนและทำให้ประสิทธิภาพในการเรียนรู้ของพวกเขาลดลง รวมถึงการจะส่งผลต่ออารมณ์ของพวกเขาอีกด้วย
3. เรียนรู้สิ่งที่ไม่เหมาะสมกับวัย
เกมในปัจจุบันมีออกมาในรูปแบบมากมายหลากหลาย ซึ่งบางเกมอาจมีเนื้อหาที่รุนแรงจนเกินไป เรื่องเพศที่ไม่เหมาะสม คำพูดที่หยาบคาย การเหยียดเชื้อชาติ และอีกต่าง ๆ มากมาย ซึ่งเด็กในวัยประถมนั้นเป็นวัยแห่งการเรียนรู้ การที่พวกเขาได้รับข้อมูลที่เหมาะสมกับวัยอาจทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบขึ้นได้ เพราะว่ากระบวนการคิดวิเคราะห์ของพวกเขายังไม่สามารถแยกแยะระหว่างความเป็นจริงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในเกมได้ว่าสิ่งไหนที่สามารถทำได้และสิ่งไหนที่ไม่ควรทำ
บทความที่น่าสนใจ : เด็กแก่แดด ลูกแก่แดด ดีหรือไม่ คุณแม่จะแก้ปัญหานี้ยังไงดี
4. พฤติกรรมก้าวร้าว
เกมส่วนใหญ่ที่ถูกผลิตออกมานั้นจะมักจะมีการจัดเรทอายุไว้ เพื่อป้องกันเนื้อหาของเกมที่อาจมีความรุนแรงเกินสำหรับเด็ก เพราะพวกเขายังอยู่ในวัยที่ยังไม่สามารถแยกแยะได้ว่าเรื่องไหนที่เป็นเรื่องจริง หรือเรื่องไหนที่เป็นเรื่องที่สมมุติขึ้น ทั้งนี้การเล่นเกมของลูกน้อยของคุณอาจทำให้เกิดพฤติกรรมที่ก้าวร้าวขึ้นได้ เนื่องจากการเล่นเกมอาจส่งผลทำให้พวกเขาอยากชนะ หรือต้องการบางสิ่งบางอย่าง เมื่อพวกเขาไม่ได้ตามที่ต้องการอาจส่งผลทำให้ลูกน้อยของคุณมีอารมณ์ร้าย หงุดหงิดง่าย หรือมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าว
5. เกมมือถือ ทำให้ลูกตัดขาดจากสังคม
เด็กบางคนที่นำตัวเองเข้าไปสู่ในเกมมากจนเกินไปนั้นจะส่งผลทำให้พวกเขาขาดปฏิสัมพันธ์กับคนในชีวิตจริง ไม่แม้แต่จะเพื่อนที่โรงเรียน แต่รวมถึงครอบครัวอีกด้วย ซึ่งการเล่นเกมมือถือเป็นเวลานาน ลูกน้อยของคุณจะกลายเป็นคนเก็บตัว ไม่เข้าสังคม และไม่เริ่มที่จะตั้งคำถาม หรือเริ่มพูดคุยกับคนอื่นก่อน รวมถึงจะรู้สึกเบื่อหน่ายกับกิจกรรมที่ต้องทำร่วมกับคนอื่น หรือต้องเข้ามาอยู่ในวงสังคมที่มีคนจำนวนมาก ทั้งนี้จะส่งผลทำให้เกิดโอกาสเสี่ยงพัฒนาการช้า โรคซึมเศร้า วิตกกังวล และภาวะความเครียด เป็นต้น
วิธีหลีกเลี่ยงลูกจาก “เกมมือถือ” ทำได้อย่างไรบ้าง
จากที่ข้างต้นได้กล่าวข้อดีและข้อเสียมากมายของการเล่นเกมมือถือสำหรับเด็กประถม หรือเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 13 ปี นั้นทำให้เห็นได้ว่าการเล่นเกมมือถือนั้นไม่ได้อันตรายอย่างที่คิด แต่จะต้องมีวิธีการจัดการที่ดี ดังนั้นเราจึงได้นำวิธีที่จะหลีกเลี่ยงลูกจากเกมมือถือมาให้คุณพ่อคุณแม่ได้ลองทำดูค่ะ ไปดูกันเลยว่ามีวิธีใดบ้าง
- อย่าให้ลูกน้อยของคุณเล่นเกมมือถือตั้งแต่วัยอนุบาล
- ก่อนที่จะให้ลูกน้อยของคุณเล่นเกม โปรดตรวจสอบการให้คะแนน เรทอายุที่เกมกำหนด และเนื้อหาของเกม
- คุณควรลองเล่นเกมนั้นก่อนที่จะให้ลูกของคุณเล่น เพื่อเรียนรู้และจำกัดเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมออกก่อน
- กำหนดระยะเวลาในการเล่น รวมถึงสถานที่ที่ลูกน้อยของคุณจะไปเล่นด้วย ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านหรือนอกบ้าน โดยจะต้องมีผู้ปกครอง หรือคุณครูคอยอยู่ใกล้ ๆ
- ตรวจสอบเพื่อนที่ลูกของคุณพบในโลกออนไลน์ เพราะพวกเขาคือบุคคลแปลกหน้าที่อาจจะมาหลอกลวงเอาทรัพย์สิน หรืออาจนำไปสู่การลักพาตัวได้
- เก็บอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ออกจากห้องนอนของลูกในเวลากลางคืน
- ให้บุตรหลานของคุณสามารถเล่นเกมได้เฉพาะหลังจากที่พวกเขาทำหน้าที่ของตัวเองเสร็จเรียบร้อยแล้ว อาทิ ทำงานบ้าน ทำการบ้าน หรือเรียนหนังสือ
- แบ่งเวลาให้พวกเขาได้ทำกิจกรรมกลางแจ้ง เล่นดนตรี หรือพบปะเพื่อนและทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่น
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ วันนี้เราได้เรียนรู้ข้อดีข้อเสียของ “เกมมือถือ” กันไปแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับว่าเราสามารถจัดการตัวเองและเวลาของเราได้มากแค่ไหน แต่ถึงอย่างไรก็ตาม พยายามอย่างให้ลูกน้อยของคุณอยู่กับหน้าจอมากจนเกินไป เพราะว่าจะส่งผลต่อดวงตาของพวกเขาโดยตรง รวมถึงสุขภาพและการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างด้วย แบ่งเวลาให้ลูกอย่างเหมาะสม อย่างเข้มงวดหรือผ่อนปรนจนเกินไป
บทความที่น่าสนใจ :
เด็กติดอินเทอร์เน็ต สื่อออนไลน์ ติดมือถือ ติดคอม แก้ไขและป้องกันได้อย่างไร?
ลูกติดเกม ติดมือถือ อันตราย! วิธีเลี้ยงดูลูกอย่างไร ไม่ให้ลูกเสพติดจอ อย่าทำร้ายสุขภาพลูก
ลดการเล่นโทรศัพท์ แบ่งเวลาเล่นโทรศัพท์ มาเล่นกับลูก ลดการใช้มือถือต้องทำทั้งครอบครัว
ที่มา : Understood, Understood, paremting.firstcry
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!