ลดการเล่นโทรศัพท์ เรื่องที่ต้องทำทั้งครอบครัว
ลดการเล่นโทรศัพท์ แบ่งเวลาเล่นมือถือมาเล่นกับลูกบ้าง การใช้มือถือของคนในครอบครัวมากไปหรือไม่ เช็คด้วยการตอบคำถาม 4 ข้อ! ไม่ใช่แค่ลูกที่ต้องลด เลิกจ้องจอ แต่พ่อแม่ก็ต้องแบ่งเวลามาให้ครอบครัวบ้าง มาลดการเล่นโทรศัพท์ร่วมกันทั้งครอบครัว
ร่วมกันลดการเล่นโทรศัพท์
กรมสุขภาพจิต แนะครอบครัวสร้างกติกาการใช้หน้าจอร่วมกัน ผ่านการตอบคำถาม 4 ข้อ 1. ครอบครัวมีการควบคุมเวลาหน้าจอหรือไม่? 2. การใช้หน้าจอส่งผลต่อกิจกรรมครอบครัวหรือไม่? 3. การใช้หน้าจอรบกวนการนอนหรือไม่? และ 4. สามารถควบคุมการกินระหว่างการใช้หน้าจอได้หรือไม่?
ผลกระทบต่อตัวเด็กที่ติดมือถือ ชอบเล่นโทรศัพท์
นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การใช้เวลาอยู่หน้าจอของเด็กโดยปราศจากการควบคุมที่ดีของพ่อแม่นั้น ทำให้เกิดผลกระทบได้หลายประการ เช่น
- ทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ช้าลง
- ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพกาย เช่น สายตา หรือโรคอ้วน
- ทำให้อาการด้านสุขภาพจิตรุนแรงมากขึ้น เช่น สมาธิสั้น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า
นอกจากนี้ ถ้าไม่ลดการเล่นโทรศัพท์ จะทำให้สูญเสียโอกาสในการใช้เวลาเพื่อทำกิจกรรมทางสังคมอื่น ๆ และการใช้เวลากับหน้าจอเป็นเวลานานย่อมทำให้มีโอกาสได้รับเนื้อหาที่รุนแรงง่ายขึ้น เช่น การถูกกลั่นแกล้งทางออนไลน์ ภาพความรุนแรง ภาพลามกอนาจาร ความเชื่อผิด ๆ ทางสังคม
เลิกจ้องจอร่วมกันทั้งครอบครัว ต้องแบ่งเวลาเล่นโทรศัพท์
เรื่องการใช้เวลาหน้าจอ ทั้งการใช้โทรศัพท์มือถือ การดูโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ หรือแท็บเล็ต พ่อแม่ควรทำข้อตกลงร่วมกันในครอบครัวอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นแง่ระยะเวลาของการใช้งาน เนื้อหาที่เหมาะสม และการกำกับดูแล โดยครอบครัวควรปรึกษาหารือร่วมกันเพื่อตอบคำถาม 4 ข้อ ดังต่อไปนี้
- ครอบครัวมีการควบคุมเวลาหน้าจอหรือไม่? โดยในเด็กเล็กควรมีการควบคุมเวลา โดยผู้ปกครองอย่างใกล้ชิดเป็นหลัก ไม่ควรใช้ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ขวบ ส่วนเด็กวัยรุ่นควรมีการสอนให้ฝึกควบคุมด้วยตนเองและมีผู้ปกครองคอยแนะนำ และผู้ใหญ่ในบ้านเองก็ควรต้องมีการควบคุมด้วย เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีกับเด็กในบ้าน
- การใช้หน้าจอส่งผลต่อกิจกรรมครอบครัวหรือไม่? เวลาที่มีคุณภาพของครอบครัวเป็นปัจจัยที่สำคัญมากในการส่งเสริมสุขภาพกายและสุขภาพจิตของสมาชิกในบ้าน เราจึงควรงดการใช้หน้าจอรูปแบบต่าง ๆ ในขณะที่ทำกิจกรรมของครอบครัว เช่น ระหว่างรับประทานอาหารร่วมกัน ควรงดการหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาใช้งาน เพื่อให้เป็นเวลาที่ครอบครัวได้มีปฏิสัมพันธ์กันอย่างมีคุณภาพที่สุด
- การใช้หน้าจอรบกวนการนอนหรือไม่? มีงานวิจัยจำนวนมากในเด็กและผู้ใหญ่ที่กล่าวถึงผลกระทบของการใช้หน้าจอในช่วงก่อนนอน ว่าสามารถส่งผลต่อคุณภาพก่อนนอนและส่งผลต่อปัญหาการเรียน การทำงาน และสุขภาพจิตอย่างมากมาย ครอบครัวจึงควรกำหนดช่วงเวลา 1 ชั่วโมงก่อนนอนเป็นช่วงเวลาปลอดหน้าจอสำหรับทุกคนในบ้าน
- สามารถควบคุมการกินระหว่างการใช้หน้าจอได้หรือไม่?ปัจจุบันนี้หลายครอบครัวมักรับประทานอาหารหน้าหน้าจอ ซึ่งก่อให้เกิดการรับประทานอาหารที่นานและปริมาณมากเกินจำเป็น รวมไปถึงการรับประทานขนมขบเคี้ยวที่มากขึ้นด้วย ครอบครัวจึงควรแยกการใช้หน้าจอ กับการรับประทานอาหารออกจากกัน เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดภาวะอ้วนในสมาชิกครอบครัว
หากครอบครัวสามารถควบคุมและลดเวลาที่ใช้ไปกับหน้าจอประเภทต่าง ๆ ได้ ย่อมส่งผลดีต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของทุกคนในครอบครัว โดยสมาชิกทุกคนควรดูแลซึ่งกันและกัน พยายามใช้เหตุผลในการพูดคุยถึงความจำเป็นของกฏระเบียบการใช้หน้าจอในบ้าน ไม่ต่อว่ารุนแรง พยายามให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และพยายามแสดงให้เห็นถึงความสุขจากการที่ได้ใช้เวลาคุณภาพร่วมกันโดยปราศจากหน้าจอ
ลดการเล่นโทรศัพท์ทั้งครอบครัว
ให้ลูกได้เคลื่อนไหว ไม่ใช่อยู่นิ่ง ๆ แล้วจ้องจอ
- ในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี ควรมีกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวหลายครั้งต่อวัน โดยเฉพาะการเล่นบนพื้น หากยังเคลื่อนไหวได้ไม่ดี ควรมีการนอนคว่ำแบบตะแคงหน้าอย่างน้อยครั้งละ 30 นาทีหลายครั้งต่อวัน ในช่วงเวลาที่ตื่น ไม่ควรให้นั่งนิ่ง ๆ หรือล็อคติดกับรถเข็นเด็กนานเกิน 1 ชั่วโมง นอนหลับรวม 14-17 ชั่วโมง ในเด็ก 0-3 เดือน และ 12-16 ชั่วโมง ในเด็ก 4-11 เดือน ไม่ควรใช้หน้าจออย่างเด็ดขาดทั้งโทรทัศน์และเครื่องมืออิเล็คโทรนิกประเภทต่าง ๆ
- สำหรับในเด็กอายุ 1-2 ปี ควรมีกิจกรรมทางกายอย่างน้อย 180 นาทีต่อวันหรือมากกว่า ไม่ควรให้นั่งนิ่ง ๆ หรือล็อคติดกับเก้าอี้หรือรถเข็นเด็กนานเกิน 1 ชั่วโมง ควรนอนหลับรวม 11-14 ชั่วโมงต่อวัน ไม่ควรใช้หน้าจออย่างเด็ดขาดในเด็กอายุ 1 ปี
- สำหรับในเด็กอายุ 2 ปี ควรจำกัดเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน โดยยิ่งใช้เวลาหน้าจอน้อยยิ่งส่งผลดีต่อเด็ก และในเด็กอายุ 3-4 ปี ควรมีกิจกรรมทางกายอย่างน้อย 180 นาทีต่อวันหรือมากกว่า โดยเป็นกิจกรรมที่ใช้พลังงานอย่างมากนานไม่ต่ำกว่า 60 นาที ไม่ควรให้นั่งนิ่งๆ หรือล็อคติดกับเก้าอี้หรือรถเข็นเด็กนานเกิน 1 ชั่วโมง ควรนอนหลับรวม 10-13 ชั่วโมงต่อวัน ตลอดจนควรจำกัดเวลาหน้าจอไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน โดยยิ่งใช้เวลาหน้าจอน้อยยิ่งส่งผลดีต่อเด็ก
- พ่อแม่จึงควรชักชวนให้ลูกเล่นมากขึ้นแทนการอยู่หน้าจอ การเล่นของเด็กจะเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาความฉลาดทางปัญญา อารมณ์ และสังคมไปพร้อม ๆ เน้นการส่งเสริมกระตุ้นให้เด็กได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ เช่น
- อ่านหนังสือหรือเล่านิทานให้เด็กฟังในเด็กเล็ก
- เล่นบทบาทสมมติโดยใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีอยู่รอบตัว
- เล่นต่อเพลงหรือต่อนิทานคนละประโยค
- เล่นของเล่นอย่างอิสระ
- ออกไปสัมผัสธรรมชาติภายนอก
นอกจากนั้น ควรฝึกให้ลูกรู้จักการสังเกต รู้จักตั้งคำถาม และคอยตอบคำถามของลูกด้วยความรักและความใส่ใจ ภายใต้บรรยากาศอันอบอุ่นและปลอดภัยของครอบครัว
ทั้งครอบครัวควรลดการเล่นโทรศัพท์ หรือแบ่งเวลาเล่นโทรศัพท์ เพื่อมาเล่นกับลูกให้มาก ๆ หมั่นทำกิจกรรมร่วมกันทั้งครอบครัวตั้งแต่วัยทารก ลูกก็จะเติบโตอย่างแข็งแรง และมีพัฒนาการสมวัย
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ลูกติดเกม ติดมือถือ อันตราย! วิธีเลี้ยงดูลูกอย่างไร ไม่ให้ลูกเสพติดจอ อย่าทำร้ายสุขภาพลูก
ลาออกมาเลี้ยงลูกดีไหม หรือว่าให้ปู่ย่าตายายเลี้ยงให้ดี เลือกแบบไหนดีกว่ากัน
แบบคัดกรองพัฒนาการเด็ก แต่ละช่วงอายุ ตั้งแต่แรกเกิด – 6 ปี [ออนไลน์] เช็กเลย!
ทารกชอบถูหน้า หมายความว่าอะไร ผิดปกติไหม ทารกอยากบอกอะไรกับพ่อแม่
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!