หลังคลอด คุณแม่หลายคนอาจเผชิญกับปัญหาเต้านมคัดตึง น้ำนมน้อย ท่อน้ำนมอุดตัน หรือรู้สึกไม่สบายตัว ซึ่งพบได้บ่อยและอาจส่งผลกระทบต่อการให้นมลูกน้อยได้ การนวดเต้าอย่างถูกวิธี จึงเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของน้ำนม ลดอาการคัดตึง และทำให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลาย สบายตัวมากขึ้น บทความนี้จะมาแนะนำ วิธีนวดเต้าหลังคลอด เพื่อกระตุ้นน้ำนม ลดอาการคัดตึง เพื่อให้คุณแม่มีน้ำนมเพียงพอสำหรับลูกน้อย และมีความสุขกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ค่ะ

ทำความเข้าใจ ลักษณะเต้านมแม่หลังคลอด
ตั้งแต่ช่วงใกล้คลอด ฮอร์โมนโปรแลคติน (Prolactin) ในร่างกายคุณแม่ จะกระตุ้นให้เลือดมาหล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อเต้านมมากขึ้น ทำให้มีเลือด น้ำนม และของเหลวอื่นๆ สะสมอยู่ภายในเต้า เพื่อเป็นแหล่งอาหารหลักให้กับทารก โดยคุณแม่บางคนอาจสังเกตเห็นน้ำนมเหลือง (Colostrum) ไหลซึมออกมาจากหัวนม
ซึ่งร่างกายคุณแม่จะเริ่มสร้างน้ำนมตั้งแต่ช่วง 2-5 วันแรกหลังคลอด ต่อมน้ำนมจะผลิตน้ำนมจนเต็มเต้า เมื่อลูกดูดนมจากเต้า ฮอร์โมนออกซิโตซิน (Oxytocin) จะกระตุ้นให้กล้ามเนื้อเต้านมคลายตัว ส่งผลให้น้ำนมไหลออกมาเรื่อยๆ ยิ่งให้นมเยอะและบ่อยเท่าไร ร่างกายก็จะยิ่งผลิตน้ำนมออกมามากเท่านั้น ซึ่งอาจทำให้หน้าอกของคุณแม่แข็งและบวม ขยายใหญ่ขึ้น มีอาการคัดตึง และปวดเต้านมได้
นอกจากนี้ คุณแม่หลังคลอดบางคนอาจมีน้ำนมน้อย หรือน้ำนมไหลออกไม่ค่อยดีนัก และหัวนมถูกรั้งให้หดสั้น ทำให้ลูกอมหัวนมได้ลำบาก บางครั้งคุณแม่อาจมีไข้ แต่ไม่เกิน 24 ชั่วโมง โดยอาการเต้านมคัดมักจะเป็นทั้ง 2 ข้าง และหากมีน้ำนมค้างอยู่ในเต้านมนานจะส่งผลให้หยุดการสร้างน้ำนมชั่วคราว จนกว่าจะมีการระบายน้ำนมออกไป
แต่ไม่ว่าอย่างไร คุณแม่ก็ควรให้นมลูกทุก 2-4 ชั่วโมง หากลูกหลับควรปลุกให้กินนมตามเวลาเพื่อให้ได้รับสารอาหารเพียงพอ และขับน้ำนมออกจากเต้าได้ไวขึ้น เมื่อน้ำนมระบายออกจากเต้าได้คล่องขึ้น อาการคัดเต้าอาจบรรเทาลงภายใน 12-48 ชั่วโมง
|
เปิดสาเหตุเต้านมคัดหลังคลอด
|
- ร่างกายคุณแม่สร้างน้ำนมได้มากกว่าปริมาณที่ลูกต้องการ
|
- คุณแม่เว้นระยะการให้นมลูกนานเกินไป ลูกดูดนมแม่ไม่บ่อยพอ
|
- จำกัดเวลาดูดนมของลูก หรือไม่ได้ระบายน้ำนมออกในช่วงที่ไม่ได้ให้นม จึงมีปริมาณน้ำนมสะสมในเต้ามาก
|
- ให้ลูกดูดนมไม่ถูกวิธี การระบายน้ำนมจึงไม่ดีเท่าที่ควร
|

วิธีนวดเต้าหลังคลอด ประโยชน์ของการนวดเต้าแม่หลังคลอด
การนวดเต้าหลังคลอด ถือเป็นตัวช่วยบรรเทาปัญหาเกี่ยวกับเต้านมที่เกิดขึ้นได้ โดยคุณแม่ควรศึกษา วิธีนวดเต้าหลังคลอด ที่ถูกต้อง ควบคู่กับการให้นมลูกบ่อยๆ เพื่อให้น้ำนมระบายออกจากเต้าได้อย่างสะดวก และรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้นด้วยค่ะ ซึ่งประโยชน์ของการ นวดเต้าหลังคลอด มีดังนี้
1. กระตุ้นการผลิตน้ำนม
คุณแม่หลายคนที่ประสบปัญหาน้ำนมไหลไม่ดีนัก การนวดเต้าหลังคลอดจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดโดยส่งสัญญาณไปยังสมองให้ผลิตน้ำนมมากขึ้น เป็นการกระตุ้นต่อมผลิตน้ำนมให้ทำงานได้ดีขึ้น
2. ลดอาการเต้าคัดให้แม่หลังคลอด
เมื่อคุณแม่ให้นมบ่อยๆ อาจทำให้เต้านมคัดตึงจนรู้สึกไม่สบาย การนวดสามารถช่วยบรรเทาอาการนี้ได้ เนื่องจากช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้นและลดการคั่งของน้ำนม การนวดช่วยบรรเทาอาการปวด บวม และตึงของเต้านม ทำให้รู้สึกสบายตัวมากขึ้น
3. ป้องกันท่อน้ำนมอุดตัน
การนวดเต้าหลังคลอดช่วยลดการเกิดไวท์ดอท (White dot) หรือจุดขาวบนหัวนม รวมไปถึงลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะท่อน้ำนมอุดตัน (Blocked duct) ที่เกิดจากน้ำนมไม่สามารถระบายออกมาจากเต้านมได้ตามปกติ จนมีน้ำนมคั่งค้างอยู่ในเต้านม และเกิดก้อนแข็งเป็นไต ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้อาจนำไปสู่ภาวะเต้านมอักเสบ (Mastitis) ตามมาได้
4. ทำให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลาย
การนวดเต้าหลังคลอดช่วยให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลาย ลดความเครียดและความวิตกกังวล ที่เกิดขึ้นจากการเลี้ยงลูกและการฟื้นตัวหลังคลอด ช่วยให้คุณแม่ฟื้นตัวเร็วขึ้น มีพลังในการดูแลลูกน้อย เมื่อคุณแม่ผ่อนคลาย ฮอร์โมนความเครียดลดลง จะช่วยให้น้ำนมไหลออกจากเต้าได้สะดวก ผลิตน้ำนมได้ดีมากขึ้น
5. ลูกน้อยได้รับน้ำนมที่มีคุณภาพ
การนวดเต้าช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำนมได้ดี ส่งผลให้ลูกได้รับน้ำนมที่มีคุณภาพและมีปริมาณเพียงพอในการเจริญเติบโต เป็นช่วงเวลาที่ได้สร้างความใกล้ชิดและความผูกพันระหว่างแม่ลูกไปพร้อมกันด้วย

วิธีนวดเต้าหลังคลอด นวดยังไง? กระตุ้นน้ำนม ลดเต้าคัด
วิธีนวดเต้าหลังคลอด เพื่อกระตุ้นน้ำนม และลดเต้าคัดให้คุณแม่ สามารถทำได้ตามขั้นตอนต่อไปนี้ค่ะ
- ล้างมือให้สะอาด
- ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบเต้านมก่อนประมาณ 1-3 นาที เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด
- ใช้ครีมหรือออยล์ทา เพื่อลดการเสียดสี โดนต้องไม่มีสารเคมีอันตรายเพื่อไม่ให้ระคายเคืองต่อผิวหน้าเต้า และปลอดภัยต่อลูกน้อย
ภาพ : โรงพยาบาลวัฒนแพทย์ ตรัง
- นวดเป็นรูปก้นหอย ไล่ตั้งแต่ฐานนมออกมารอบๆ เต้า
- ใช้มือทั้ง 2 ข้าง นาบเต้านม มือข้างหนึ่งอยู่ใต้ฐานนม และมืออีกข้างหนึ่งอยู่บนเนินอก จากนั้นใช้มือลูบไล้จากเต้าลงไปที่หัวนม
- ใช้นิ้วโป้งลูบไล้จากเต้าไปหัวนม โดยมีมือประคองเต้าอยู่
- นำนิ้วโป้ง และนิ้วชี้ ลูบไล้ ไล่จากเต้าลงมาบรรจบกันที่หัวนม
-
ความถี่ในการนวดเต้าหลังคลอด
- นวดเต้านมวันละ 2-3 ครั้ง หรือเมื่อรู้สึกคัดตึงเต้านม
- นวดครั้งละ 10-15 นาที เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและการผลิตน้ำนม
- หมั่นนวดบ่อยๆ โดยควรนวดเต้าหลังคลอดทุกวันในช่วงแรกๆ โดยเฉพาะช่วงที่มีอาการคัดตึง เพื่อช่วยให้การผลิตน้ำนมเป็นไปได้ดี
-
เรื่องควรระวังในการนวดเต้าหลังคลอด
- หลีกเลี่ยงการนวดเต้านมแรงเกินไป เพราะอาจทำให้เต้าช้ำ หรือหากคุณแม่รู้สึกเจ็บ มีอาการระคายเคืองขณะนวด ควรหยุดการนวดและปรึกษาแพทย์
- ไม่นวดเต้านมหากมีแผลหรือการติดเชื้อที่เต้านม
- หากมีอาการปวด บวม แดง มีไข้ มีอาการคัดตึงที่ไม่หาย หรือมีอาการผิดปกติ เช่น เต้านมบวมแดง ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อหาสาเหตุ

เต้านมหลังคลอด ดูแลด้วยวิธีไหนได้อีกบ้าง ?
นอกจาก วิธีนวดเต้าหลังคลอด แล้ว ยังมีตัวช่วยอื่นๆ ที่น่าสนใจเหมาะให้คุณแม่เลือกมาใช้ในการดูและเต้านมหลังคลอดได้ ดังนี้ค่ะ
- พยายามให้นมบ่อยๆ อย่างน้อย 8-12 ครั้งต่อวัน หรือทุกๆ 2-4 ชั่วโมง เพราะการให้นมบ่อยๆ ช่วยกระตุ้นให้ต่อมน้ำนมผลิตน้ำนมมากขึ้นได้
- ควรให้นมทุกครั้งที่ลูกน้อยมีอาการงอแง หรือร้องขอกินนม เพื่อให้ลูกได้รับสารอาหารเพียงพอ และช่วยให้ระบายน้ำนมออกจากเต้าได้อย่างเต็มที่
- ในช่วง 2-5 วันแรกหลังคลอด ร่างกายอาจผลิตน้ำนมเยอะจนทำให้หน้าอกคัดตึง ให้คุณแม่ใช้ผ้าสะอาดพันรอบหน้าอกเพื่อหยุดการผลิตน้ำนม และหลีกเลี่ยงการสัมผัสหัวนม เพราะอาจไปกระตุ้นให้มีการผลิตน้ำนมเพิ่มขึ้นได้
- ประคบเต้านมด้วยผ้าชุบน้ำอุ่น ประมาณ 5 -10 นาที หรืออาบน้ำอุ่นก่อนให้ลูกกินนมหรือปั๊มนม จะช่วยให้คุณแม่รู้สึกสบายตัว และอาจกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดบริเวณเต้านม ทำให้เต้านมคัดตึงน้อยลง
- กรณีมีอาการปวดและบวมของเต้านม ให้ประคบเย็นด้วยถุงเจล ประมาณ 10 นาที เพื่อช่วยบรรเทาอาการและทำให้เต้านมอ่อนนุ่มลงได้ หากปวดมากคุณแม่สามารถกินยาแก้ปวดได้ เช่น พาราเซตามอล
- ถ้ารู้สึกว่าเต้านมยังคัดหลังให้นมหรือปั๊มนมเสร็จ ควรบีบนวดเต้านม เพื่อให้น้ำนมที่อาจเหลืออยู่ไหลออกมาจนเกลี้ยงเต้า
- เมื่อคุณแม่มีอาการเจ็บเต้านมและหัวนมในช่วงให้นม ควรเลือกใส่ชุดชั้นในผ้าฝ้ายที่ระบายอากาศได้สะดวก ไม่ระคายเคือง ช่วยพยุงเต้านม หลีกเลี่ยงการสวมยกทรงที่มีขอบลวดหรือคับแน่นเกินไป และอาจใช้แผ่นซับน้ำนมรองไว้เพื่อป้องกันน้ำนมไหลซึม โดยควรเปลี่ยนแผ่นซับน้ำนมทุกครั้งที่ป้อนนมลูก
- หากลานหัวนมตึงแข็งจะทำให้ลูกดูดนมได้ยากขึ้น ควรบีบน้ำนมออกจากบริเวณลานหัวนม จะทำให้ลานหัวนมนิ่ม ลูกน้อยดูดนมได้ดีขึ้น
- ถ้าแม่เจ็บมากจนทนให้ลูกดูดนมไม่ไหว อาจงดให้ลูกดูดนมชั่วคราวและระบายน้ำนมออกเรื่อยๆ เพื่อคลายความเจ็บจนกว่าอาการเต้านมคัดจะดีขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการให้นมเสริมจากขวด หรือการใช้จุกหลอกบ่อยเกินไป
การนวดเต้าหลังคลอดเป็นวิธีที่ช่วยบรรเทาอาการต่างๆ ของคุณแม่หลังคลอดได้อย่างดีนะคะ ทั้งในด้านการกระตุ้นน้ำนมและลดอาการคัดตึง นอกจากนี้ยังช่วยให้คุณแม่รู้สึกสบายตัวมากขึ้น ได้สัมผัสช่วงเวลาที่ดีร่วมกันกับลูกน้อย สร้างประสบการณ์การให้นมที่มีคุณภาพได้ค่ะ
ที่มา : www.bumrungrad.com , www.vibhavadi.com , hellokhunmor.com , wattanapat.co.th
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
แม่ลูกอ่อนกินอะไรได้บ้าง ไม่ต้องงด หลังคลอดกินยังไงช่วยบำรุงน้ำนม
ไอเท็มบำรุงน้ำนม หาได้ใน 7-11 น้ำนมไหลง่ายด้วยเมนูสะดวกซื้อ
ช็อก! วิจัยล่าสุด พบไมโครพลาสติก ในน้ำนมแม่ ของคนไทย
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!