ลูกชอบเล่นน้ำลาย ผิดปกติไหม ทำยังไงดี ? คุณพ่อคุณแม่อาจสงสัยว่า ลูกชอบเล่นน้ำลาย โดยเฉพาะในวัยทารกชอบเล่นน้ำลายบ่อย ๆ ควรจะต้องทำอย่างไร แล้วจะต้องให้ลูกเลิกเล่นน้ำลายหรือไม่ และเมื่อใดจึงจะต้องควรระวังการเกิดอันตราย จากการพฤติกรรมการเล่นน้ำลายของทารก เรามาดูกันค่ะ
การเล่นน้ำลายของทารก ถือเป็นพัฒนาการอย่างหนึ่ง ซึ่งพบได้ตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป
ทารกช่วงวัยใดที่เริ่มเล่นน้ำลาย?
การเล่นน้ำลายจัดว่าเป็นหนึ่งในพัฒนาการปกติของทารกที่พบได้ตั้งแต่อายุ 4 เดือนขึ้นไป และพบพฤติกรรมนี้ได้ชัดเจน ในช่วงวัยประมาณ 6 – 8 เดือน ซึ่งมักเป็นช่วงที่ทารกเริ่มจะมีฟันน้ำนมขึ้น
การเล่นน้ำลายมีประโยชน์อย่างไร?
โดยการเล่นน้ำลายอาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ทารก เรียนรู้ที่จะควบคุมการออกเสียงคำพูดด้วยการใช้ปาก อันเป็นรากฐานสำคัญของการหัดพูดในเวลาต่อมา ในบางครั้ง ลูกอาจเล่นน้ำลาย แล้วส่งเสียงต่าง ๆ ออกมาด้วย เพื่อสื่อสารกับคุณพ่อคุณแม่ และผู้เลี้ยงดู ซึ่งผู้ใหญ่ ก็ควรที่จะสื่อสารด้วยการส่งเสียงโต้ตอบกับทารก เพื่อเป็นการกระตุ้นพัฒนาการ และยังช่วยเสริมสร้างความรักความผูกพันด้วยนะคะ
เทคนิคชวนลูกเล่นน้ำลาย กระตุ้นพัฒนาการ
- ชวนลูกเล่นน้ำลาย เป่าปากเป็นเสียงต่าง ๆ โดยทำตัวอย่างให้ลูกดู ในตอนแรกเจ้าตัวน้อยอาจแค่หัวเราะคิกคักตอบกลับมา แต่หลังจากนั้น เจ้าตัวน้อยก็จะเริ่มเป่าปากตอบคุณ ซึ่งการเป่าปากโต้ตอบกันนี้เป็นพื้นฐานในช่วงต้นของการสื่อสารของเจ้าตัวน้อยค่ะ
- พยายามทำเลียนเสียงเจ้าตัวน้อย จากนั้นรอดูการตอบสนองของเขา และทำโต้ตอบสลับกันไปมา เป็นการสอนให้เจ้าตัวน้อยรู้จักที่จะสื่อสารระหว่างกัน
- ที่สำคัญควรใช้การสื่อสารด้วยแววตาและอารมณ์ให้มาก ทำให้ลูกเห็นว่าการเป่าปาก เล่นน้ำลายนี่สนุกมากเลยนะ
- นอกจากนี้คุณอาจชักชวนให้พี่เล่นเป่าปากปู้ด ๆ กับกับน้องด้วย รอยยิ้มและเสียงหัวเราะจากกิจกรรมนี้เป็นการกระชับความสัมพันธ์ของพี่น้องได้เป็นอย่างดีเชียวล่ะค่ะ
เมื่อไหร่ที่ต้องกังวล กับการที่ลูกเล่นน้ำลาย
หากลูกอายุ 8 เดือนแล้ว ยังไม่สามารถทำเสียงใด ๆ ได้ คุณแม่ควรพาลูกไปพบคุณหมอค่ะ แม้ว่าเด็กบางคนอาจข้ามพัฒนาการขั้นนี้ไป แต่เด็กก็ควรมีการทำเสียงอย่างใด อย่างหนึ่ง โดยการเล่นกับปาก และริมฝีปากตัวเอง ถ้าลูกไม่ทำอะไรแบบนี้เลย อาจเป็นไปได้ว่า ลูกมีพัฒนาการด้านการพูดที่ล่าช้า หรือมีปัญหาทางการได้ยินค่ะ
การเล่นน้ำลายอาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ทารก เรียนรู้ที่จะควบคุมการออกเสียงคำพูดด้วยการใช้ปาก อันเป็นรากฐาน ของการหัดพูด
ข้อควรระวังจากการเล่นน้ำลายมีอะไรบ้าง?
1. ผื่นผิวหนังอักเสบ
หากทารกเล่นน้ำลาย แล้วมีการเปื้อนเปรอะที่บริเวณรอบปาก แก้ม และลำคอ อาจนำมาซึ่ง ผื่นผิวหนังอักเสบเฉพาะที่ จากการระคายเคืองได้ ดังนั้น ในช่วงที่ลูกเล่นน้ำลายคุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นเช็ดน้ำลายลูก โดยพกผ้าอ้อมติดไว้เสมอ ถ้าสามารถเช็ดด้วยการใช้ ผ้าอ้อม ชุบน้ำสะอาดก่อน และจึงเช็ดด้วยผ้าอ้อมแห้งตาม ทำได้ทุกครั้งจะดีมาก การเช็ดให้ทำเบา ๆ ไม่ต้องถูแรง เพื่อลดการระคายเคือง แต่หากลูกเป็นผื่นผิวหนังอักเสบจากการระคายเคืองเฉพาะที่ ด้วยน้ำลายแล้ว ก็สามารถดูแลได้ด้วยการทาครีม หรือโลชั่นลดการอักเสบที่บริเวณรอบปาก หากการอักเสบเป็นรุนแรงปานกลาง ถึงรุนแรงมากอาจทายาลดการอักเสบกลุ่มสเตียรอยด์อย่างอ่อน ที่บริเวณผื่นแดง เช่น 1%hydrocortidone หรือ 0.02%TA โดยใช้เพียงระยะสั้น ๆ จนผื่นหายไป ก็หยุดยาได้ หากภายใน 5 – 7 วัน ผื่นยังไม่ดีขึ้น ควรไปพบคุณหมอ เพื่อหาสาเหตุของผื่น
2. เกิดจากความผิดปกติ
หากทารกมีน้ำลายไหลมากผิดปกติ หรือดูมีอาการป่วย กลืนลําบาก อาจเกิดจากความผิดปกติของโรคบางอย่าง เช่น การติดเชื้อไวรัสในกลุ่มที่ทำให้เกิดแผลในปาก เข่น โรค herpangina ก็ควรไปพบคุณหมอ เพื่อหาสาเหตุ
3. มีปัญหาทางเดินหายใจ
หากทารกมีน้ำลายไหลมากผิดปกติ ร่วมกับ หายใจลำบาก ไม่สามารถพูดออกเสียงได้ อาจเกิดจากภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจ ด้วยสาเหตุต่าง ๆ ถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรีบให้การช่วยเหลือ และพาไปพบแพทย์โดยทันที เพราะอาจเกิดอันตรายร้ายแรงถึงแก่ชีวิตได้
หากทารกมีน้ำลายไหลมากผิดปกติ ร่วมกับ หายใจลำบาก ไม่สามารถพูดออกเสียงได้ ต้องพาไปพบแพทย์ทันที
จะเห็นได้ว่าการเล่นน้ำลาย เป็นสิ่งปกติของทารก ที่พบได้ตามวัย ฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรจะกังวลกับพฤติกรรมนี้ของลูก แต่ควรจะคอยสังเกต และสื่อสารพูดคุยกับลูกระหว่างการเล่นน้ำลาย เพื่อช่วยกระตุ้นพัฒนาการ รวมทั้งสังเกตอาการผื่น หรืออาการน้ำลายไหลมากผิดปกติร่วมกับอาการผิดปกติต่าง ๆ ของลูก ทั้งนี้เมื่อทารกอายุเกินวัยที่จะเล่นน้ำลายแล้ว พฤติกรรมนี้ก็จะเกิดลดลง โดยไม่เป็นที่น่าหนักใจแต่ประการใดค่ะ
อ้างอิง : parenting.firstcry.com
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
ลูกนอนหายใจทางปาก ทารกชอบนอนอ้าปาก หายใจทางปากอันตรายไหม ลูกป่วยหรือเปล่า
ทำความรู้จัก 6 โรคอันตรายในเด็ก ที่ป้องกันได้ด้วย วัคซีนรวม เพียงเข็มเดียว
6 วิธีแต่งห้องเด็ก จัดยังไงแต่งแบบไหนเด็กถึงจะว้าว
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!