แม้ว่าคุณแม่จะดูแลครรภ์เป็นอย่างดี รับประทานอาหารหลากหลายครบ 5 หมู่ เพื่อให้ลูกน้อยในท้องคุณแม่ได้รับสารอาหารครบถ้วนเพียงพอ แต่เมื่อคุณหมออัลตราซาวนด์กลับพบว่า ลูกในครรภ์ตัวเล็ก เป็นเพราะอะไร? มาไขข้อข้องใจไปพร้อมกันว่า ลูกในครรภ์ตัวเล็ก เกิดจากอะไร ท้องเล็ก ลูกในครรภ์จะตัวเล็กไปด้วยไหม และในแต่ละไตรมาสของการตั้งครรภ์ คุณแม่ควรกินอะไร เพื่อบำรุงให้ลูกน้อยแข็งแรงสมบูรณ์ มีน้ำหนักแรกคลอดที่เหมาะสม
ท้องเล็ก ลูกในครรภ์จะตัวเล็กไหม
คุณแม่ตั้งครรภ์แต่ละคนมีรูปร่างที่เปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนกัน แม้ว่าจะตั้งครรภ์อายุเท่ากันก็ตาม บางคนอาจมีท้องที่ดูเล็กกว่าคนอื่น แต่ไม่ได้หมายความว่าผิดปกติ ตราบใดที่คุณหมอตรวจแล้วพบว่าลูกน้อยแข็งแรงดี และน้ำหนักของคุณแม่เพิ่มขึ้นตามเกณฑ์ที่กำหนด ก็ไม่ต้องกังวลใจค่ะ เพราะขนาดของท้องไม่ได้เป็นตัวบ่งบอกถึงสุขภาพของลูกน้อยเสมอไป
ลูกในครรภ์ตัวเล็ก จะรู้ได้อย่างไร
ลูกในครรภ์ตัวเล็ก หรือ ภาวะทารกเติบโตช้าในครรภ์ IUGR ย่อมาจาก Intrauterine Growth Retardation หมายความว่าลูกน้อยในท้องของคุณแม่โตช้ากว่าเด็กทั่วไปในช่วงอายุครรภ์เดียวกัน โดยน้ำหนักของลูกน้อยจะน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ โดยปกติจะถือว่าน้ำหนักของทารกที่มีภาวะนี้จะมีน้ำหนักน้อยกว่า เปอร์เซนไทล์ที่ 10
วิธีอ่านตารางน้ำหนักทารกในครรภ์
ตารางน้ำหนักทารกในครรภ์ ใช้ประเมินการเจริญเติบโตของลูกน้อยในครรภ์ โดยเปรียบเทียบน้ำหนักจริงของทารกกับน้ำหนักเฉลี่ยของทารกในอายุครรภ์เดียวกัน
วิธีอ่านตาราง
- อายุครรภ์ คือระยะเวลาที่ตั้งครรภ์ นับอายุครรภ์จากวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย
- ช่วงน้ำหนัก แต่ละอายุครรภ์จะมีช่วงน้ำหนักที่ถือว่าเป็นปกติอยู่ 2 ค่า คือ ค่าต่ำสุดและค่าสูงสุด
- เปรียบเทียบน้ำหนัก นำน้ำหนักจริงของทารกที่ได้จากการอัลตราซาวนด์มาเปรียบเทียบกับช่วงน้ำหนักมาตรฐานในอายุครรภ์นั้นๆ
ตัวอย่าง
- อายุครรภ์ 28 สัปดาห์ หากผลอัลตราซาวนด์ระบุว่าทารกมีน้ำหนัก 800 กรัม ถือว่าอยู่ในช่วงปกติ เพราะอยู่ในช่วง 770-1,660 กรัม
- อายุครรภ์ 36 สัปดาห์ หากผลอัลตราซาวนด์ระบุว่าทารกมีน้ำหนัก 1,900 กรัม อาจต้องเฝ้าสังเกตเพิ่มเติม เพราะต่ำกว่าช่วงน้ำหนักปกติที่ 2,190-3,290 กรัม
ทั้งนี้สำหรับทารกที่เกิดครบกำหนด ควรมีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติที่ ไม่ต่ำกว่า 2,500 กรัม
ลูกในครรภ์ตัวเล็ก เกิดจากอะไร
ลูกในครรภ์ตัวเล็ก หรือภาวะทารกโตช้าในครรภ์ เกิดจากการที่ทารกไม่ได้รับสารอาหารและออกซิเจนเพียงพอขณะอยู่ในครรภ์ สาเหตุหลักๆ มาจากปัญหาที่เกี่ยวข้องกับ รก และ สายสะดือ
- รก รกทำหน้าที่เป็นอวัยวะที่เชื่อมต่อระหว่างแม่และลูก ช่วยในการแลกเปลี่ยนสารอาหารและออกซิเจน หากรกมีปัญหา เช่น รกเล็ก รกเกาะต่ำ หรือการไหลเวียนเลือดในรกไม่ดี ก็จะส่งผลให้ทารกได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ
- สายสะดือ สายสะดือเป็นเส้นใยที่เชื่อมต่อระหว่างทารกกับรก หากสายสะดือพันคอทารก หรือมีปัญหาในการไหลเวียนเลือด ก็อาจทำให้ทารกได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะ IUGR ที่เกิดจากคุณแม่
- พฤติกรรมเสี่ยง การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือการใช้สารเสพติดต่างๆ จะส่งผลต่อการไหลเวียนเลือดไปยังรก ทำให้ทารกได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ
- การติดเชื้อ การติดเชื้อบางชนิด เช่น หัดเยอรมัน เอดส์ เริม หรือซิฟิลิส สามารถส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์
- การใช้ยา ยาบางชนิด เช่น ยากันชัก อาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารก
- โรคประจำตัว โรคเรื้อรังบางชนิด เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไต หรือโรคโลหิตจาง สามารถส่งผลต่อการตั้งครรภ์และการเจริญเติบโตของทารก
- ความผิดปกติทางพันธุกรรม หรือความพิการแต่กำเนิดของทารกก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะ IUGR
- การตั้งครรภ์แฝด การตั้งครรภ์แฝดจะทำให้ทารกต้องแบ่งปันสารอาหารกับพี่น้อง ทำให้แต่ละคนอาจได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ
ทารกในครรภ์ตัวเล็ก อันตรายไหม
ทารกในครรภ์ตัวเล็ก มักมีความเสี่ยงที่จะประสบปัญหาสุขภาพบางอย่างมากกว่าทารกปกติทั่วไป เนื่องจากการได้รับสารอาหารไม่เพียงพอขณะอยู่ในครรภ์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย
ปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในทารกที่มีภาวะ IUGR
- ปัญหาในการดูแลทั่วไป ทารกตัวเล็กอาจต้องนอนโรงพยาบาลนานขึ้นและได้รับการดูแลเป็นพิเศษในหอผู้ป่วยทารกแรกเกิดวิกฤต (NICU) เนื่องจากร่างกายยังไม่แข็งแรงพอ
- ปัญหาเกี่ยวกับระบบหายใจและการกิน ทารกอาจมีปัญหาในการหายใจ หรือมีปัญหาในการกินนม เนื่องจากกล้ามเนื้อยังไม่แข็งแรงพอ หรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
- ปัญหาในการควบคุมอุณหภูมิร่างกาย ทารกอาจมีปัญหาในการรักษาอุณหภูมิร่างกายให้คงที่ เนื่องจากไขมันสะสมในร่างกายน้อย
- ปัญหาเกี่ยวกับเลือด ทารกอาจมีจำนวนเม็ดเลือดผิดปกติ หรือมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ
- ภูมิคุ้มกันต่ำ ทารกอาจมีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย
- ปัญหาทางระบบประสาท ในบางกรณี ภาวะ IUGR อาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาระบบประสาทของทารก ทำให้มีปัญหาทางด้านพัฒนาการในระยะยาว
- ปัญหาสุขภาพระยะยาว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หรือปัญหาในการเรียนรู้
การป้องกันและรักษา
การป้องกันภาวะ IUGR ที่ดีที่สุดคือการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงก่อนการตั้งครรภ์ และไปฝากครรภ์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ หากพบว่าทารกมีภาวะ IUGR แพทย์จะทำการวินิจฉัยและให้การรักษาที่เหมาะสม ซึ่งอาจรวมถึงการติดตามการเจริญเติบโตของทารกอย่างใกล้ชิด การให้ยา หรือการส่งตัวไปพบแพทย์เฉพาะทาง
ลูกในครรภ์ตัวเล็ก บำรุงยังไงให้ลูกแข็งแรง
ลูกในครรภ์ตัวเล็ก กินอะไรดี? การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เป็นพื้นฐานที่คุณแม่ทุกคนรู้ดี แต่การเน้นสารอาหารบางชนิดเป็นพิเศษในแต่ละช่วงอายุครรภ์ก็สำคัญไม่แพ้กัน เพื่อให้ลูกน้อยได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตอย่างเต็มที่
-
ไตรมาสแรก เน้นสารอาหารที่สำคัญสำหรับการสร้างอวัยวะของลูกน้อย
ช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เป็นช่วงที่สำคัญมาก เพราะเป็นช่วงที่อวัยวะต่างๆ ของลูกน้อยกำลังก่อตัว ดังนั้น คุณแม่ควรเน้นอาหารที่มี กรดโฟลิกสูง เพื่อช่วยป้องกันความพิการของทารกแรกเกิด อาหารที่มีกรดโฟลิกสูง ได้แก่ ผักใบเขียวเข้ม เช่น ผักโขม บรอกโคลี และผลไม้รสเปรี้ยว เช่น ส้ม มะนาว
นอกจากกรดโฟลิกแล้ว การรับประทานอาหารที่มีโปรตีนและแป้งในปริมาณที่เพียงพอ ก็ช่วยในการสร้างเซลล์และพัฒนาการของทารกในช่วงแรกได้เป็นอย่างดี
-
ไตรมาสสอง เน้นอาหารที่ช่วยให้ลูกน้อยเติบโตสมวัย
เข้าสู่ไตรมาสที่ 2 ลูกน้อยเริ่มขยายขนาดและพัฒนาสมองอย่างรวดเร็ว คุณแม่จึงต้องเพิ่มปริมาณอาหารและให้ความสำคัญกับธาตุเหล็กและไอโอดีน
- ธาตุเหล็ก ช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดง เพื่อนำพาออกซิเจนไปเลี้ยงทารกในครรภ์ พบมากในเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ และผักใบเขียว
- ไอโอดีน สำคัญต่อการพัฒนาสมองของทารก พบมากในอาหารทะเล
-
ไตรมาสสาม เน้นอาหารที่ช่วยเตรียมความพร้อมให้ลูกน้อยก่อนคลอด
ในไตรมาสสุดท้าย ลูกน้อยจะเติบโตอย่างรวดเร็ว และเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด คุณแม่ควรเพิ่มปริมาณอาหาร โดยเฉพาะโปรตีน เพื่อช่วยในการเจริญเติบโตของกล้ามเนื้อและอวัยวะต่างๆ ของทารก นอกจากนี้ ควรควบคุมปริมาณน้ำตาล เพื่อป้องกันโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทั้งคุณแม่และลูกน้อย
คุณแม่ตั้งครรภ์น้ำหนักควรเพิ่มเท่าไหร่
น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ สะท้อนถึงสุขภาพของคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ด้วยน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นอย่างเหมาะสมจะช่วยให้ลูกน้อยได้รับสารอาหารเพียงพอและเติบโตอย่างแข็งแรง
น้ำหนักที่ควรเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวก่อนตั้งครรภ์ ดังนี้
- คุณแม่ที่น้ำหนักปกติ (BMI 19.8-24.9) ควรเพิ่มน้ำหนัก 8-12 กิโลกรัม
- คุณแม่ที่น้ำหนักน้อยเกินไป (BMI < 19.8) ควรเพิ่มน้ำหนักมากกว่าปกติ เพื่อให้ทารกได้รับสารอาหารเพียงพอ
- คุณแม่ที่น้ำหนักเกินหรืออ้วน (BMI ≥ 25) ควรควบคุมน้ำหนักไม่ให้เพิ่มมากเกินไป แต่ก็ยังจำเป็นต้องเพิ่มให้ได้ไม่ต่ำกว่า 6 – 7 กิโลกรัม
จะเห็นได้ว่า ในระหว่างตั้งครรภ์คุณแม่ต้องใส่ใจดูแลตัวเองเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน เพราะอาหารที่คุณแม่รับประทานเข้าไป จะส่งผลโดยตรงต่อการเจริญเติบโตของลูกน้อยในครรภ์ การเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสมในแต่ละไตรมาส และควบคุมน้ำหนักคุณแม่ให้อยู่ในเกณฑ์จะทำให้ลูกน้อยในครรภ์มีน้ำหนักตามเกณฑ์และไม่เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่จะตามมาค่ะ
ที่มา: โรงพยาบาลพญาไท , โรงพญาบาลเปาโล , babycenter , healthsmile
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
รวมลิงก์ ลงทะเบียนคนท้องรับของฟรี 2568 ชี้เป้าของฟรี! สำหรับแม่ท้อง
ของใช้เตรียมคลอด มีอะไรบ้าง เตรียมของก่อนคลอด จะเป็นลางไม่ดี จริงไหม
4 บทสวดมนต์สำหรับคนท้อง คาถาคลอดลูกง่าย ปลอดภัย สวดเป็นประจำ
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!