อาการบวมตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะ “เท้า” เป็นอาการที่คุณแม่ตั้งครรภ์แทบทุกคนต้องพบเจอ โดยเฉพาะช่วงไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป จึงไม่แปลกที่คุณแม่ส่วนใหญ่จะมองข้ามอาการนี้ว่าผิดปกติ แต่รู้ไหมว่าบางครั้งอาการเล็กๆ อย่าง “เท้าบวม” อาจจะเป็นอาการตั้งต้นของอาการป่วยที่อาจส่งผลให้คุณแม่คลอดก่อนกำหนด หรือแท้งได้ เราจึงชวนคุณแม่มาทำความเข้าใจว่าอาการ คนท้องเท้าบวม ขาบวมแบบไหน เป็นเรื่องปกติ หรือผิดปกติกันแน่
คนท้องบวม ตอนกี่เดือน
อาการบวมตอนตั้งครรภ์สามารถเกิดได้ตลอดช่วงตั้งครรภ์ แต่มักพบในคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 5 เดือน (20 สัปดาห์) ขึ้นไป โดยบางรายอาจมีอาการบวมที่นิ้ว ใบหน้า และลำคอร่วมด้วย ส่วนคุณแม่ที่มีน้ำหนักเกินอยู่แล้วก่อนตั้งครรภ์ อาจจะเกิดอาการเท้าบวมได้ก่อนหน้านั้น
คนท้องเท้าบวม ขาบวมเกิดจากอะไร
อาการเท้าบวมในคุณแม่ตั้งครรภ์ เกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
-
เกิดจากขนาดของมดลูกที่ขยายตัวขึ้นในขณะตั้งครรภ์
สิ่งนี้ส่งผลให้ไปกดทับหลอดเลือด ทำให้การไหลเวียนของเลือดและน้ำเหลือง ทำหน้าที่ได้ไม่ดีพอ ทำให้เลือดเกิดการคั่งอยู่บริเวณส่วนล่างของร่างกาย โดยเฉพาะ “เท้า” ที่จะเห็นได้ชัดเจนได้มากที่สุด
ฮอร์โมนที่เพิ่มสูงขึ้นขณะตั้งครรภ์ ส่งผลให้เนื้อเยื่อต่างๆ มีการดูดซึมและกักเก็บน้ำมากกว่าปกติ ทำให้มีของเหลวสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อของร่างกายมากเกินไป จนทำให้ส่วนต่างๆ ในร่างกายบวมขึ้น โดยเฉพาะบริเวณข้อเท้า
การยืนนานๆ การทำกิจกรรมตลอดวันก็ทำให้ คนท้องเท้าบวมได้ เนื่องจากการไหลเวียนของเลือดและน้ำเหลืองทำได้ไม่ดี และในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีน้ำหนักมากขึ้นก็ยิ่งทำให้เท้าบวมง่ายขึ้น นอกจากนั้น การยืนนาน นั่งนานยังทำให้ปวดหลังมากขึ้นอีกด้วย เพราะในคุณแม่ตั้งครรภ์มดลูกจะยื่นขยายไปด้านหน้า ทำให้กล้ามเนื้อหลังทำงานหนักมากกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการปวดหลังได้นั่นเอง
การขาดสารอาหารบางอย่าง หรือได้รับสารอาหารบางชนิดมากเกินไปก็ทำให้เกิดอาการ “เท้าบวม” ได้เช่นกัน เช่น การขาดโพแทสเซียม หรือการได้รับคาเฟอีนมากเกินไป และการบริโภคโซเดียมมากเกินไป ก็สามารถทำให้เกิดอาการบวมตอนท้องได้เช่นกัน
คนท้องเท้าบวม มีวิธีแก้ยังไง
เรามีวิธีช่วยบรรเทาอาการเท้าบวมหลากหลายวิธีมาบอกกัน
- ควรพยายามนอนตะแคงและยกปลายเท้าให้สูงขึ้นในเวลานอน เพื่อให้ระบบไหลเวียนเลือดในร่างกายเป็นไปโดยสะดวก
- หากไม่สามารถนอนได้ก็ควรเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ เพื่อให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวมากขึ้น
- ลดการบริโภคโซเดียม น้ำตาล ไขมันทรานส์ และคาร์โบไฮเดรต เพราะจะทำให้ของเหลวส่วนเกินคั่งค้างอยู่ในร่างกายได้
- คุณแม่ตั้งครรภ์มักเข้าใจผิดว่าการดื่มน้ำมากๆ ทำให้เท้าบวมขึ้นมากกว่าเดิม แท้จริงแล้วการดื่มน้ำเปล่าให้มากๆ จะทำให้ร่างกายมีน้ำเพียงพอ ช่วยลดอาการบวมน้ำและภาวะขาดน้ำระหว่างตั้งครรภ์ได้ด้วย
- หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งในช่วงที่อากาศร้อนจัด เพราะอากาศร้อนก็ทำให้เกิดภาวะเท้าบวมได้เช่นกัน
- เหยียดแข้งเหยียดขา หรือเปลี่ยนท่าบ้าง เมื่อต้องยืน หรือนั่งนานๆ
- บริการร่างกายง่ายๆ เช่น ยืดเหยียดเท้าแล้วยกขึ้นลง 30 ครั้ง หมุนเท้าเป็นวงกลม สลับกันตามเข็มนาฬิกาและทวนเข็มนาฬิกาอย่างละ 8 ครั้ง
- งดนั่งไขว่ห้าง นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ หรือนั่งทับข้อเท้า
- สวมรองเท้าที่สบายเท้า งดสวมรองเท้าส้นสูง หรือรองเท้าที่มีสายรัดแน่นเกินไป
- นวดผ่อนคลาย หรือประคบเย็นบริเวณที่บวมได้ แต่ห้ามนวดท้องโดยเด็ดขาด
คนท้องเท้าบวม แช่น้ำอุ่นได้ไหม
การแช่เท้าในน้ำอุ่นมีประโยชน์ในแง่ของการผ่อนคลาย นอกจากจะช่วยลดเท้าบวมแล้ว ยังช่วยให้นอนหลับง่าย เพราะน้ำอุ่นช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิตให้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม น้ำที่แช่นั้นนั้นต้องไม่ร้อนเกินไป เพราะจะทำให้หัวใจเต้นเร็ว เลือดลมไหลเวียนมากเกินไป ทำให้เกิดอาการเวียนหัวหน้ามืดได้
ควรแช่เท้าในน้ำอุ่นราว 36-38 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 10-15 นาที เช็ดเท้าให้แห้ง หรืออาจจะทาครีมบำรุงสำหรับเท้าด้วย จะช่วยให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น
คนท้องขาบวม กี่วันคลอด
อาการขาบวมนั้นไม่เกี่ยวข้องกับสัญญาณของการใกล้คลอดแต่อย่างใด แต่อาการเท้าบวมนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ ตั้งแต่ช่วงอายุครรภ์ 5 เดือน (20 สัปดาห์) ขึ้นไป จนถึงใกล้คลอด ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของคุณแม่ช่วงตั้งครรภ์ หากน้ำหนักเยอะมากจนเกิดการกดทับหลอดเลือด ก็จะส่งผลให้ระบบทางเดินเลือดและน้ำเหลืองนั้นไหลเวียนไม่สะดวก ส่งผลให้คุณแม่บางคนเท้าบวมได้ในช่วงใกล้คลอดเช่นกัน
คนท้องเท้าบวม ขาบวม มือบวม แบบไหนต้องระวัง
อย่างที่เราได้กล่าวไปแล้วว่าส่วนใหญ่ ภาวะ “เท้าบวม” เป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าเมื่อไหร่มีอาการต่อไปนี้ร่วมด้วย ควรรีบปรึกษาแพทย์
- ใบหน้าบวม ข้อเท้า มือ ขาทั้งสองข้างบวมร่วมด้วย กดผิวเนื้อและเกิดการบุ๋มคงสภาพไว้ไม่คืนตัวอย่างรวดเร็ว โดยมักมีอาการร่วมกับความดันโลหิตสูง โปรตีนรั่วในปัสสาวะ โดยอาการนี้อาจเป็นสัญญาณอันตรายจากภาวะครรภ์เป็นพิษ หรือ “ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์
- ขาข้างหนึ่งบวมกว่าอีกข้าง โดยเฉพาะหากมีอาการปวด หรือกดเจ็บบริเวณน่องและต้นขา เพราะอาจจะเป็นสัญญาณของภาวะหลอดเลือดมีลิ่มเลือด (thrombosis) ได้
- มีอาการปวดศีรษะ ตาพร่ามัว และปวดจุดแน่นลิ้นปี่ อาการเหล่านี้อันตรายมาก
อาการเท้าบวมในคนท้องนั้นมีทั้งที่เป็นปกติ และผิดปกติ เพราะฉะนั้นคุณแม่จึงอย่านิ่งนอนใจ หากมีอาการผิดปกติใดๆ ร่วมกับอาการเท้าบวมและร่างกายส่วนต่างๆ ที่บวม ต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วน เพราะอาการเล็กๆ ที่เราไม่ได้ใส่ใจ อาจเป็นสาเหตุของโรคร้ายได้
ที่มา : โรงพยาบาลเปาโล , โรงพยาบาลเวชธานี , โรงพยาบาลพญาไท , Hello คุณหมอ
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ของใช้เตรียมคลอด มีอะไรบ้าง เตรียมของก่อนคลอด จะเป็นลางไม่ดี จริงไหม
คนท้อง กินอะไรให้ลูกผมดก อาหารบำรุงผมลูกน้อยตั้งแต่ในครรภ์
ตรวจเบาหวานคนท้อง น้ำตาลห้ามเกินเท่าไหร่?
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!