ลูกพลับเป็นผลไม้แสนอร่อยที่คุณแม่หลายๆ คนชื่นชอบ และถึงแม้ว่าเราจะรู้ดีว่าลูกพลับนั้นมีประโยชน์ แต่ก็เป็นผลไม้ที่มีน้ำตาลมาก และไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคน สำหรับคุณแม่ที่มีปัญหาคาใจว่าลูกพลับนั้นดีหรือไม่ คนท้องกินลูกพลับได้ไหม มีประโยชน์หรือโทษมากกว่ากัน รวมถึงข้อควรระวังในการรับประทานลูกพลับมีอะไรบ้าง เราจะมาไขข้อสงสัยของคุณแม่กัน
คนท้องกินลูกพลับได้ไหม
หากถามว่า คนท้องกินลูกพลับได้ไหม คุณแม่ท้องสามารถรับประทานลูกพลับได้ แต่ต้องจำกัดปริมาณในการรับประทาน เช่นเดียวกับผลไม้ที่มีน้ำตาลสูงอื่นๆ เพื่อเลี่ยงการมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง หรือกินแบบสดดีกว่าแบบแห้ง เนื่องจากในลูกพลับแห้งส่วนที่เป็นน้ำได้ระเหยออกไปมาก จึงทำให้มีน้ำหนักเบาลง ซึ่งอาจทำให้คุณแม่ทานเพลินเป็นปริมาณที่มากกว่าแบบลูกพลับสด เพราะอิ่มช้ากว่า ในขณะที่ปริมาณน้ำตาลมีเท่าๆ กัน
ประโยชน์ของลูกพลับกับคนท้อง
นอกจากลูกพลับจะเป็นผลไม้ที่มีรสชาติอร่อย หอม หวานแล้ว ยังมีประโยชน์ต่อคุณแม่ท้องมาก เพราะแคลอรีน้อยและไขมันต่ำ อีกทั้งยังอุดมไปด้วยเส้นใยอาหาร มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด ซึ่งช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคต่าง ๆ
สารอาหารสำคัญในลูกพลับ และประโยชน์ต่อคุณแม่ตั้งครรภ์
- วิตามินซี ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันการติดเชื้อต่างๆ ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น และยังมีส่วนช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็ก ซึ่งจำเป็นต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง
- เบต้าแคโรทีน ร่างกายจะเปลี่ยนเบต้าแคโรทีนเป็นวิตามินเอ ซึ่งช่วยบำรุงสายตา เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน และมีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตของเซลล์
- โพแทสเซียม ช่วยควบคุมความดันโลหิต ลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ ช่วยให้กล้ามเนื้อและระบบประสาททำงานได้เป็นปกติ
- ไฟเบอร์ ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดี ลดอาการท้องผูก ซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในคุณแม่ตั้งครรภ์
- แคลเซียม จำเป็นต่อการสร้างกระดูกและฟันของทั้งแม่และลูก
- ฟอสฟอรัส ทำงานร่วมกับแคลเซียมในการสร้างกระดูกและฟัน
- โฟเลต มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเจริญเติบโตของทารกในระยะเริ่มแรก ช่วยป้องกันภาวะทารกสมองพิการ
ลูกพลับ 1 ผล (หรือประมาณ 168 กรัม) คุณแม่จะได้รับคุณค่าทางสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ* ดังนี้
- พลังงาน 70 กิโลแคลอรี (293 กิโลจูล)
- คาร์โบไฮเดรต 18.59 กรัม
- น้ำตาล 12.53 กรัม
- เส้นใย 3.6 กรัม
- ไขมัน 0.19 กรัม
- โปรตีน 0.58 กรัม
- วิตามินเอ 81 ไมโครกรัม, 1627 IU
- เบตาแคโรทีน 253 ไมโครกรัม
- ลูทีนและซีแซนทีน 834 ไมโครกรัม
- วิตามินบี 1 0.03 มิลลิกรัม, วิตามินบี 2 0.02 มิลลิกรัม, วิตามินบี 3 0.1 มิลลิกรัม, วิตามินบี 6 0.1 มิลลิกรัม,วิตามินบี 9 8 ไมโครกรัม
- โคลีน 7.6 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 7.5 มิลลิกรัม
- วิตามินอี 7.5 มิลลิกรัม
- วิตามินเค 2.6 ไมโครกรัม
- แคลเซียม 8 มิลลิกรัม
- เหล็ก 0.15 มิลลิกรัม
- แมกนีเซียม 9 มิลลิกรัม
- แมงกานีส 0.355 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 17 มิลลิกรัม
- โพแทสเซียม 161 มิลลิกรัม
- โซเดียม 1 มิลลิกรัม
- สังกะสี 0.11 มิลลิกรัม
* เทียบจาก % ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)
ประโยชน์โดยรวมของลูกพลับต่อคุณแม่ท้อง
- ป้องกันภาวะโลหิตจาง ด้วยปริมาณธาตุเหล็กที่สูง ทำให้ลูกพลับช่วยเพิ่มจำนวนเม็ดเลือดแดง ซึ่งจำเป็นสำหรับการขนส่งออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกาย
- ลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อน สารต้านอนุมูลอิสระในลูกพลับช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน
- บำรุงผิวพรรณ วิตามินซีและเบต้าแคโรทีนช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง ช่วยลดรอยด่างดำ และชะลอการเกิดริ้วรอย
- เพิ่มพลังงาน คาร์โบไฮเดรตในลูกพลับให้พลังงานแก่ร่างกาย ช่วยให้คุณแม่รู้สึกกระปรี้กระเปร่า
- ดีต่อระบบย่อยอาหาร ไฟเบอร์ในลูกพลับช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ ลดอาการท้องผูก และช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดี
ลูกพลับ มีน้ำตาลมากไหม
ในลูกพลับ 1 ผล (น้ำหนักประมาณ น้ำหนัก 168 กรัม) นั้นจะมีน้ำตาลประมาณ 12.53 กรัม จึงจัดเป็นผลไม้น้ำตาลสูงพอสมควร และยิ่งผลสุกงอมเท่าไรก็จะยิ่งมีปริมาณน้ำตาลสูงขึ้นด้วย ดังนั้นคุณแม่ที่มีภาวะเบาหวานในระหว่างตั้งครรภ์ หรือมีภาวะเบาหวานก่อนตั้งครรภ์นั้นไม่ควรรับประทานลูกพลับสุกปริมาณมาก เพราะอาจส่งผลต่อน้ำตาลในเลือดด้วยเช่นกัน
ลูกพลับไม่ควรกินตอนไหน
ในลูกพลับมีไฟเบอร์สูง จึงไม่ควรทานลูกพลับตอนท้องว่าง โดยเฉพาะในคุณแม่ที่มีปัญหาระบบทางเดินอาหารหรือท้องเสียง่ายอยู่แล้ว ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการทานลูกพลับมากขึ้นกว่าเดิม และไม่ควรรับประทานลูกพลับพร้อมกับอาหารที่มีน้ำตาลสูงชนิดอื่นๆ เพื่อไม่ให้ได้รับน้ำตาลมากเกินไป
ข้อควรระวังเมื่อคนท้องกินลูกพลับ
นอกจากความหวานของลูกพลับที่จัดเป็นผลไม้ที่มีน้ำตาลสูงแล้ว คุณแม่ที่มีปัญหาสุขภาพ มีอาการไข้ หรือเป็นหวัด ถ่ายบ่อย หรือม้ามและกระเพาะไม่ค่อยแข็งแรง ก็ควรระวังการรับประทานลูกพลับแห้งเป็นจำนวนมาก เนื่องจากในลูกพลับแห้งอาจจะเจือปนสารสารโซเดียมไซคลาเมต (Sodium Cyclamate) และสารซัคคาริน (Saccharin) ที่เป็นสารให้ความหวานอาจจะส่งผลเสียต่อคุณแม่ได้
และในคุณแม่ที่มีปัญหาเรื่องไตอยู่ก่อนตั้งครรภ์ก็ควรระมัดระวังการรับประทานลูกพลับ เพราะเป็นผลไม้ที่มีโพแทสเซียมค่อนข้างสูง กินเข้าไปอาจเพิ่มภาระให้ไตได้
เคล็ดลับในการรับประทานผลไม้คนท้อง
การกินผลไม้ในระหว่างตั้งครรภ์เป็นเรื่องดี เพราะในผลไม้เป้นสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อคุณแม่ แต่สำหรับคุณแม่ที่รับประทานผลไม้ยาก เรามีเคล็ดลับในการกินผลไม้มาฝากกันด้วย
- รับประทานผลไม้ให้หลากหลาย เพื่อคุณค่าทางโภชนาการที่ครบถ้วน ไม่ควรรับประทานผลไม้ชนิดเดิมซ้ำๆ แต่ควรเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพื่อไม่ให้รู้สึกจำเจ
- ทำเป็นเครื่องดื่ม เพื่อให้สะดวกในการรับประทาน อาจทำเป็นเมนูสมูทตี้หรือน้ำผลไม้แทนก็ได้
- นำมาปรุงเป็นเมนูใหม่ๆ ใส่สลัด หรือยำผลไม้ก็ช่วยให้รับประทานผลไม้ได้ง่ายและมากขึ้น
วางผลไม้ไว้ใกล้ตัว คุณแม่สามารถล้างผลไม้และวางในชามใกล้ตัวเพื่อรับประทานเป็นของว่างได้ง่ายขึ้น
หาเครื่องจิ้มเพื่อเพิ่มรสชาติ เราแนะนำเป็น โยเกิร์ตหรือน้ำสลัด เพื่อเพิ่มรสชาติและคุณประโยชน์ที่หลากหลายขึ้น การนำผลไม้ที่ชอบไปจิ้มกับโยเกิร์ตก่อนรับประทานก็จะช่วยให้ได้โปรตีนจากโยเกิร์ตเพิ่มขึ้น หรืออาจนำผลไม้ไปจิ้มกับน้ำสลัดเพื่อให้ได้รสชาติแปลกใหม่
จะเห็นได้ว่า ลูกพลับเป็นผลไม้ที่มีทั้งประโยชน์และโทษ เช่นเดียวกับผลไม้ทุกชนิด คุณแม่จึงควรเลือกกินอย่างเหมาะสมเพื่อไม่ให้กระทบต่อสุขภาพทั้งของคุณแม่เองและลูกน้อย
ที่มา: POPPAD , Kapook , สสส , TrueID
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
คนท้องกินพาราได้ไหม กินอย่างไรให้ปลอดภัยกับลูกในท้อง
คนท้องกินอะไรลูกฉลาด อาหารเสริมสมองลูก ที่แม่ตั้งครรภ์ห้ามพลาด !
อยากกินแต่สงสัย! คนท้องกินน้ำมะพร้าว ดีหรือไม่? ท้องอ่อนกินน้ำมะพร้าวได้ไหม
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!