5 โรคแทรกซ้อนอันตรายสำหรับคนท้อง
1. ครรภ์เป็นพิษ
ครรภ์เป็นพิษ คือ โรคแทรกซ้อนที่เป็นภาวะผิดปกติชนิดหนึ่งที่เกิดกับคนท้องที่ตั้งครรภ์ประมาณ 5 – 6 เดือน และอาการจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ตามอายุครรภ์ เป็นภาวะที่ความดันโลหิตสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึงระดับที่อันตรายจนเลือดออกในสมองและทำให้ชักได้ หากไม่สามารถควบคุมอาการได้จะรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ทั้งแม่และลูก
อาการ แบ่งออกเป็น 2 ระดับ
ระยะแรก ความดันโลหิตยังไม่สูงมากนัก ไม่เกิน 160 / 110 มิลลิเมตรปรอท มักจะมีอาการมึนงง ตาลาย ระบบภายในร่างกายทำงานได้ไม่เต็มที่ไตกรองของเสียขับออกมาเป็นปัสสาวะได้น้อย ทำให้เกิดอาการบวมน้ำและมีนำ้หนักตัวเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วผิดปกติทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ทานอาหารเพิ่มแต่อย่างใด
ระยะสอง ความดันโลหิตสูงกว่า 160 / 110 มิลลิเมตรปรอท เป็นระยะที่อันตราย คุณแม่จะมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง ตาพร่า คลื่นไส้ อาเจียน เพราะความดันสูงจนกระทบสมอง พบว่า มีเลือดออกในเยื่อหุ้มตับ มีน้ำคั่งในถุงลมปอด หายใจหอบเหนื่อยไตวายจนขับปัสสาวะออกได้น้อยมากในแต่ละวัน ทารกในครรภ์จะดิ้นน้อยลงและหยุดการเจริญเติบโตหากสังเกตจากอัลตราซาวด์ กรณีนี้หากปล่อยให้ตั้งครรภ์ต่อไป จนทำให้คุณแม่มีอาการชักหรือหมดสติ หรือเลือดออกในสมองทำให้เลือดคั่งถึงแก่ชีวิต ส่วนทารกในครรภ์อาจจะเสียชีวิตหรือต้องผ่าตัดคลอดทันที เพื่อช่วยชีวิตของคุณแม่ไว้
การรักษา
การรักษาอาการครรภ์เป็นพิษ คือ การทำให้การตั้งครรภ์สิ้นสุดลง ไม่ว่าจะเป็นการคลอดแบบธรรมชาติ หรือผ่าตัดคลอด หากกรณีที่อายุครรภ์ยังไม่ถึงกำหนดคลอด อาจมีความจำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์ (ทำแท้ง) เพื่อรักษาชีวิตของแม่ไว้ เพราะหากปล่อยให้มีการตั้งครรภ์มีโอกาสสูงที่จะเสียชีวิตทั้งแม่และลูก
2. โรคซึมเศร้าระหว่างตั้งครรภ์
โรคซึมเศร้าในคนท้อง พบได้ประมาณร้อยละ 14 – 23 แต่โรคนี้มักจะถูกมองข้ามหรือละเลยเพราะคิดว่าเป็นอาการอารมณ์แปรปรวนของคนท้องที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย แต่แท้ที่จริงแล้วโรคซึมเศร้ามักเกิดจากความเครียด ความกดดันในชีวิต มาจากสาเหตุใหญ่ ๆ เช่น ขาดการดูแลเอาใจใส่จากคนใกล้ชิดในครอบครัว มีปัญหารุนแรงภายในครอบครัว มีโรคหรือภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้วิตกกังวลหนัก อายุน้อยไม่พร้อมจะตั้งครรภ์
ผลกระทบของโรคซึมเศร้าระหว่างตั้งครรภ์
1. ทำให้เกิดการเบื่ออาหาร ส่งผลให้น้ำหนักตัวลดลง ร่างกายไม่ได้รับสารอาหารเต็มที่หรือเพียงพอต่อแม่ท้องและทารกในครรภ์
2. ทำให้คิดหรือตัดสินใจได้ยากลำบากขึ้น และบางครั้งอาจทำให้เกิดความผิดพลาดได้
3. อาจหาทางออกด้วยการสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือซื้อยามารับประทานเอง
4. ทำให้เกิดความเครียด ความวิตกกังวลมากขึ้น และอาจรุนแรงถึงขั้นคิดอยากฆ่าตัวตายในบางราย
5. ส่งผลให้มีอารมณ์เศร้าหลังคลอดตามมาด้วย
3. โรคธาลัสซีเมีย
โรคธาลัสซีเมีย หรือที่รู้จักกันว่าโรคเลือดจางหรือโรคซีด คือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติทางระบบเลือดโรคหนึ่งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากพ่อแม่สู่ลูก ทำให้ไขกระดูกของผู้ที่เป็นโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียผลิตเม็ดเลือดแดงออกมามากผิดปกติ และทำงานได้ไม่สมบูรณ์ คือ เม็ดเลือดเหล่านี้มีความสามารถในการนำพาออกซิเจนและสารอาหารไปหล่อเลี้ยงเซลล์ได้น้อย อายุของเม็ดเลือดแดงสั้นแตกสลายเร็วกว่าที่ควรจะเป็น ส่งผลข้างเคียงให้มีปริมาณธาตุเหล็กในร่างกายสูงกว่าปกติจนถึงระดับที่เป็นพิษ
อาการ
แบ่งออกเป็น 3 ระดับ
– แสดงอาการเล็กน้อย มีอาการซีดเหลือง แต่เห็นไม่ชัด หากร่างกายอ่อนแออาการจะแสดงมากขึ้น
– อาการปานกลาง มีร่องรอยของโรคเลือดจางให้เห็นภายนอกผิวซีดเซียว ตาเหลือง คล้ายภาวะตับหรือม้ามโต เพราะอวัยวะทั้งสองต้องทำงานหนักขึ้น
– อาการรุนแรง จะพบว่า ร่างกายซีดเหลือง ตาเหลือง ตับ ม้ามโต
การรักษา
หากคุณแม่ตั้งครรภ์มาก่อนแล้ว ต้องตรวจเลือดจากคุณพ่อว่ามีความเสี่ยงมากแค่ไหน โดยการเจาะตรวจหาเชื้อด้วยเข็มเจาะพิเศษผ่านทางช่องคลอดหรือทางหน้าท้องเข้าไปถึงถุงน้ำคร่ำหรือเนื้อเยื่อรกไปวิเคราะห์ ซึ่งทำได้ตั้งแต่อายุครรภ์เพียง 6 – 18 สัปดาห์เท่านั้น และนำไปวางแผนการรักษาต่อไป
หากผลตรวจออกมาและคุณหมอมั่นใจว่า ลูกที่เกิดมาต้องกลายเป็นโรคธาลัสซีเมียที่แสดงอาการ คุณหมอจะเสนอให้คุณแม่ยุติการตั้งครรภ์เพื่อเป็นหนทางที่ดีที่สุดต่ออนาคตของครอบครัว เพราะการรักษาเด็กที่ป่วยเป็นธาลัสซีเมียให้หายขาดนั้นต้องใช้เวลานานหลายปี บวกความอดทนของคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องทนเห็นความเจ็บปวดจากอาการป่วยของลูกอีกด้วย
4. ภาวะตับผิดปกติ
ภาวะตับผิดปกติในระหว่างตั้งครรภ์เป็นอาการที่พบได้ไม่บ่อยนัก เกิดจากน้ำดีมีปริมาณมากจนก่อตัวทำให้เกิดภาวะเป็นพิษได้ น้ำดีจะเข้าสู่กระแสเลือดของคุณแม่ และก่อให้เกิดอาการ ดังนี้
อาการ
1. คนท้องจะมีอาการคันอย่างรุนแรง โดยเฉพาะบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า และอาจลามไปทั่วร่างกายส่วนใหย๋จะรุนแรงขึ้นในเวลากลางคืน
2. ปัสสาวะมีสีเข้ม ในขณะที่อุจจาระมีสีซีด
การรักษา
ในบางกรณีคุณแม่อาจได้รับการกระตุ้นคลอดเมื่อตั้งครรภ์ได้ 36 – 38 สัปดาห์ เพื่อให้มีโอกาสคลอดอย่างปลอดภัยมากที่สุด และหลังการคลอดอาการจะหายไปเองอย่างรวดเร็ว และการทำงานของตับจะเข้าสู่ภาวะผิดปกติ อย่างไรก็ตาม คุณแม่ควรได้รับการตรวจเลือดหลังคลอด เพื่อยืนยันว่าหายเป็นปกติดีแล้ว
5. โรคไทรอยด์
ต่อมไทรอยด์ ทำหน้าที่สร้างสารไทรอกซิน ซึ่งกระตุ้นให้ร่างกายทำงาน ร่างกายอบอุ่น ทำให้กระฉับกระเฉง แต่ในบางคนต่อมนี้ผลิตสารออกมามากกว่าปกติ ทำให้มือสั่น ใจสั่น ร่างกายสูญเสียพลังงานมาก เหงื่อออกมาก หงุดหงิด ก่อนท้องอาจจะเป็นหรือไม่เป็นก็ได้ แต่ว่าการตั้งครรภ์ไม่ได้กระตุ้นให้เป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษ
หากเป็นโรคไทรอยด์ขณะตั้งครรภ์ และไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม อาจส่งผลกระทบทั้งตัวคุณแม่ และลูกน้อยได้ ได้แก่ การแท้ง คลอดก่อนกำหนด ครรภ์เป็นพิษ รกลอกตัวก่อนกำหนด ทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อย การตายเมื่อคลอด รวมทั้งภาวะผิดปกติของพัฒนาการทางร่างกาย และสมองของทารก
การรักษา
หมอจะให้ยาที่ไปกดการทำงานของไทรอกซิน ทำให้คุณแม่มีอาการปกติ การตั้งครรภ์ก็จะเป็นดำเนินไปตามปกติจนคลอด โดยยาที่ให้ไม่มีผลกับเด็กในครรภ์
อ่าน การป้องกันโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ คลิกหน้าถัดไป
การป้องกันโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์
การดูแลตนเองของคุณแม่ที่อาจมีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคระหว่างตั้งครรภ์ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของตัวคุณแม่เองและทารกในครรภ์ ควรปฏิบัติดังนี้ค่ะ
1. เตรียมความพร้อมก่อนการตั้งครรภ์ด้วยการตรวจสุขภาพทั้งคุณแม่และคุณพ่อ หากมีปัญหาสุขภาพให้ทำการรักษาหรือควบคุมโรคก่อนที่จะวางแผนตั้งครรภ์ต่อไป
2. หากวางแผนที่จะตั้งครรภ์ ควรรับประทานกรดโฟลิกล่วงหน้า 2-3 เดือน เพื่อป้องกันความผิดปกติในทารก เช่น โรคปากแหว่งเพดานโหว่ และกระดูกสันหลังแหว่งหรือเปิดในเด็ก
บทความแนะนำ ปากแหว่งเพดานโหว่เกิดจากอะไร
3. ฝากครรภ์ทันทีเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ ควรแจ้งประวัติส่วนตัว ประวัติโรคที่เป็นให้แพทย์ทราบอย่างละเอียดเพื่อวางแผนการดูแลรักษา และมาพบแพทย์เป็นระยะตามนัดอย่างสม่ำเสมอ
4. งดสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ และใช้สารเสพติด
5. คุณแม่ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ควรควบคุมอาหารและออกกำลังกาย โดยปรึกษาแพทย์ถึงการออกกำลังกายที่ไม่มีผลต่อการตั้งครรภ์ และหมั่นตรวจติดตามระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง และควบคุมน้ำหนักตัว อย่าให้มีน้ำหนักตัวมากหรือน้อยจนเกินไป
6. ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย และพักผ่อนให้เพียงพอ
การป้องกันที่ดีที่สุดคือ การตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ทั้งว่าที่คุณพ่อและว่าคุณแม่เลยนะคะ เพื่อคุณหมอจะได้ให้คำแนะนำในการดูแลตนเองและการวางแผนในการมีลูกอย่างปลอดภัยต่อไป
ร่วมบอกเล่าและแชร์ประสบการณ์ในช่วงตั้งครรภ์ คลอดบุตร รวมถึงการเลี้ยงดูทารกน้อย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวอื่น ๆ กันนะคะ หากมีคำถามหรือข้อสงสัย ทางทีมงานจะหาคำตอบมาให้คุณ
อ้างอิงข้อมูลจาก
si.mahidol
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
โรคเลือดที่ควรรู้จักก่อนตั้งครรภ์
ครรภ์คุณภาพของแม่ท้อง ต้องดูแลแบบนี้
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!