รกลอกตัวก่อนกำหนด เป็นภาวการณ์ที่ผู้หญิงตั้งครรภ์ไม่อยากให้เกิดขึ้นกับตนเอง เพราะส่วนใหญ่จะเกิดอาการนี้ในช่วงตั้งครรภ์ได้ 20 สัปดาห์ นั่นหมายความว่า ท้องของคุณแม่ตั้งครรภ์เริ่มใหญ่และพร้อมกับการต้อนรับลูกตัวน้อยๆ ในเร็ววัน
ภาวะ รกลอกตัวก่อนกำหนด คืออะไร
รกลอกตัวก่อนกำหนด (Abruption Placental ) หมายถึง ภาวะที่มีการลอกตัวของรกบางส่วนหรือทั้งหมดลอกตัวออกจากมดลูกของสตรีมีครรภ์ก่อนทารกคลอด ทำให้ผู้ป่วยมีเลือดออกจากช่องคลอดและมีอาการเจ็บครรภ์ ส่วนทารกในครรภ์ก็อาจขาดออกซิเจนและสารอาหารได้ มีการคลอดตัวก่อนการคลอด หลังอายุครรภ์ 20 สัปดาห์จนถึงก่อนทารกคลอด รกอาจลอกตัวเพียงบางส่วนหรือลอกตัวทั้งหมดก็ได้ ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด พบได้ 1 ใน 200 คน มักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน และอาจเป็นอันตรายต่อทั้งมารดาและทารกในครรภ์หากไม่ได้รับการรักษาทันที
รกลอกตัวก่อนกําหนด มี 3 แบบคือ
1. ภาวะรกลอกตัวแบบไม่เปิดเผย (Concealed type หรือ Internal hemorrhage)
อาการนี้คือ เลือดออกมาแล้วคั่งอยู่หลังรก ไม่ไหลออกมาทางช่องคลอดให้เห็นอย่างชัดเจน ซึ่งจะพบได้น้อยกว่าชนิดแบบเปิดเผย ประมาณ 20-35%
2. ภาวะรกลอกตัวแบบเปิดเผย (Revealed type หรือ external hemorrhage)
อาการที่ปรากฏอย่างชัดเจน โดยภาวะที่รกลอกตัวแล้วเลือดไหลเซาะระหว่างเยื่อถุงน้ำคร่ำกับผนังมดลูก ออกมาทางปากมดลูกและช่องคลอด คุณแม่ตั้งครรภ์จะเห็นเลือดออก ทำให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้ง่ายขึ้น และพบได้บ่อยที่สุดประมาณ 65-80% ของผู้ป่วย
3. ภาวะรกลอกตัวแบบผสม (Mixed type หรือ Combined hemorrhage)
ภาวะนี้แบ่งเป็น 2 ระยะ และเป็นชนิดที่พบได้มากที่สุดในผู้ป่วยอาการรกลอกตัว โดยเริ่มแรกเป็นชนิดภาวะรกลอกตัวแบบไม่เปิดเผย เพราะเลือดที่ออกจะแทรกอยู่ระหว่างรกกับผนังมดลูก ครั้งพอเลือดออกมากขึ้นจึงสามารถเซาะแทรกถุงน้ำคร่ำกับผนังมดลูกแล้วผ่านออกมาทางปากมดลูก กลายเป็นภาวะแบบเปิดเผยได้
สาเหตุของภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนดมีอะไรบ้าง
- ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ เป็นสาเหตุที่ชัดเจนและพบบ่อยที่สุด
- ขาดสารอาหาร อย่างการขาดกรดโฟลิก
- มดลูกมีขนาดเล็กลงอย่างฉับพลัน เช่น ในแม่ที่เป็นครรภ์แฝดน้ำ ที่ถุงน้ำคร่ำแตกแล้วน้ำคร่ำไหลออกมาอย่างรวดเร็ว
- ถุงน้ำคร่ำแตกในครรภ์ก่อนครบกำหนด หรือในครรภ์แฝดที่คลอดแฝดพี่อย่างรวดเร็ว
- มีอาการน้ำเดินก่อนกำหนดจะเพิ่มความเสี่ยงของรกลอกตัวก่อนกำหนดถึง 3 เท่า
- สายสะดือสั้น เมื่อทารกเคลื่อนต่ำลงมาตามกลไกของการคลอดอาจดึงรกจนลอกตัวได้
- สำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์ลูกมากกว่า 5 คน จะมีโอกาสรกลอกตัวก่อนกำหนดได้ถึง ร้อยละ 10-17
- มีเนื้องอกในมดลูก (Myoma uteri) โดยเฉพาะในกรณีที่รกเกาะบริเวณเนื้องอกมดลูกทำให้เกิดภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนดได้
- การหมุนกลับตัวเด็กทางหน้าท้อง (External Cephalic Version) อาจทำให้สายสะดือพันคอหรือแขนขาได้ จนสายสะดือสั้นลงหรือถูกดึงรั้งไว้จนเกิดการลอกตัว
- การเจาะเลือดสายสะดือทารก อาจทำให้เกิดรกลอกตัวก่อนกำหนดได้เช่นกัน โดยมักจะเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง และส่วนใหญ่จะมีอาการรุนแรง
- คุณแม่ได้รับการกระทบกระเทือนบริเวณหน้าท้องแม้จะไม่รุนแรงนัก แต่อาจมีผลทำให้รกลอกตัวก่อนกำหนดได้
บทความที่เกี่ยวข้อง: ภาวะรกเกาะต่ำขณะตั้งครรภ์ คืออะไร อันตรายแค่ไหน
อาการทั่วไปเป็นอย่างไร
- เลือดออกทางช่องคลอด หรือน้ำคร่ำมีเลือดปนออกมา แต่ขณะที่มดลูกหดรัดตัวเลือดจะไม่ค่อยออก
- มีอาการของภาวะครรภ์เป็นพิษระยะแรกร่วมด้วย
- มดลูกหดรัดตัวมากขึ้น หรือแข็งตัวตลอดเวลา กดเจ็บ อาจจะเจ็บจุดใดจุดหนึ่งหรือกดเจ็บโดยทั่วไป และมักจะมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง
- ทารกในครรภ์อยู่ในท่าปกติ อาจคลำได้ศีรษะที่ขอบเชิงกราน หรือมีบางส่วนเข้าไปในอุ้งเชิงกรานแล้ว แต่การเต้นของหัวใจผิดปกติ หรืออาจฟังเสียงหัวใจทารกไม่ได้
- มีอาการซีด ความดันโลหิตต่ำ ชีพจรเต้นเร็ว กระสับกระส่าย หมดสติและช็อกได้
บทความที่เกี่ยวข้อง: ครรภ์เป็นพิษ ภัยร้ายใกล้ตัวแม่ท้อง
ระดับความรุนแรงของอาการ
- ระดับที่ไม่แสดงอาการ ไม่มีอาการปวด หรือเจ็บท้อง ไม่มีเลือดออก
- รกลอกตัวเล็กน้อย มีอาการปวดท้องเล็กน้อย มีเลือดออกจากช่องคลอดร่วมด้วย การรักษาคือการพักผ่อนให้มาก ๆ การตรวจอัลตราซาวด์จะบ่งบอกความรุนแรงได้
- รกลอกตัวปานกลาง มีเลือดออกประมาณ 0.5 – 1 ลิตร มีอาการปวดท้องรุนแรงมากขึ้น กดแล้วเจ็บ ทารกมีจังหวะการเต้นของหัวใจที่เร็วผิดปกติ
- รกลอกตัวรุนแรง ฉุกเฉินรุนแรง อันตรายทั้งแม่และลูก เลือดออกได้มากถึง 2 ลิตร มีอาการปวดท้องรุนแรงมาก เสียเลือดมากจนมีอาการหมดสติ ช็อก ต้องได้รับการผ่าตัดเร่งด่วน
รกลอกตัวก่อนกำหนด มีการรักษาอย่างไร
การรักษาภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด
การรักษาจะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น ปริมาณเลือดที่ไหลออกมาจากช่องคลอด อายุครรภ์ รวมถึงสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์และทารก
- หากอายุครรภ์ยังน้อย ประกอบกับทารกในครรภ์ยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ แพทย์อาจตรวจอัตราการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์ก่อน
- หากอัตราการเต้นของหัวใจยังเป็นปกติและการลอกตัวของรกไม่รุนแรงนัก อาจไม่จำเป็นต้องทำคลอดก่อนกำหนด
- ควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ จนกว่าอาการเลือดออกรุนแรงจะหยุดลง
- หากทารกมีอาการคงที่และไม่มีเลือดออกแล้ว แพทย์สามารถอนุญาตให้ผู้ป่วยกลับไปพักฟื้นที่บ้านได้
- การรักษาทั่วไป แพทย์อาจใช้ยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ เพื่อช่วยเร่งให้ปอดของทารกเจริญเต็มที่ หากจำเป็นต้องคลอดก่อนกำหนด
- หากอาการไม่รุนแรง แพทย์อาจให้ใช้วิธีคลอดธรรมชาติ โดยดูแลให้เด็กคลอดผ่านทางช่องคลอดอย่างระมัดระวัง
- ในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอาการค่อนข้างรุนแรงและเสี่ยงต่อสุขภาพของมารดาหรือทารก อาจต้องผ่าคลอดทันที
- เพื่อป้องกันมารดาเสียเลือดมาก แพทย์อาจจำเป็นต้องทำการให้เลือดด้วย
- หากรกลอกตัวจากมดลูกจนหมดทุกส่วนหรือใกล้หมดทุกส่วน คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องเข้ารับการผ่าคลอดทางหน้าท้องทันที เพื่อปกป้องชีวิตคุณแม่และทารกในครรภ์
บทความที่เกี่ยวข้อง: จำเป็นหรือไม่? คนท้องต้องอัลตราซาวด์
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
เนื่องจากรกลอกก่อนกำหนดเป็นภาวะที่มักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน จึงอาจส่งผลต่อทั้งมารดาและทารกในครรภ์ได้ ดังนี้
- คุณแม่ตั้งครรภ์ จะส่งผลให้การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ หากถุงน้ำคร่ำที่ห่อหุ้มตัวทารกแตกหรือรั่ว จะทำให้เกิดภาวะน้ำเดินร่วมด้วย แต่บางกรณีอาจมีเลือดออกจากมดลูกจนต้องผ่าตัดมดลูกออก ที่น่ากลัวคือเสี่ยงเกิดภาวะตกเลือด ภาวะไตวาย หรืออวัยวะอื่นๆ ทำงานล้มเหลว จนเกิดาวะช็อกเนื่องจากเสียเลือดมากจนเสี่ยงเสียชีวิตได้
- ทารกในครรภ์ อาจมีการเจริญเติบโตไม่เต็มที่ เนื่องจากได้รับสารอาหารและออกซิเจนไม่เพียงพอ หากทารกคลอดก่อนกำหนดอาจมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติและมีสุขภาพไม่แข็งแรง ในบางกรณีทารกสามารถเสียชีวิตตั้งแต่ในครรภ์
คุณแม่ตั้งครรภ์ที่เสี่ยงต่อภาวะรกลอกก่อนกำหนด
- คุณแม่ได้รับอุบัติเหตุ หรือกระทบกระเทือนบริเวณท้องขณะตั้งครรภ์
- มีภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์
- แม่ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี
- เคยมีภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนดในครรภ์ก่อน
- แม่ที่สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า
- การตั้งครรภ์แฝด
- ภาวะถุงน้ำคร่ำแตก
- สายสะดือสั้น เมื่อทารกเคลื่อนต่ำลงมาตามกลไกของการคลอด สายสะดืออาจไปดึงรกจนเกิดการลอกตัวได้
การป้องกันภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด
แม้ในปัจจุบันจะยังไม่มีวิธีป้องกันอาการดังกล่าว แต่อาจลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะนี้ได้ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้ในขณะตั้งครรภ์
- คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ และไม่ใช้สารเสพติดต่างๆ
- หมั่นดูแลสุขภาพตนเองและครรภ์ให้แข็งแรง พยายามตรวจเช็คและควบคุมระดับความดันโลหิตให้เป็นปกติอยู่เสมอ
- หากพบว่าตนเองนั้นมีระดับความดันโลหิตสูงก็ควรได้รับการดูแลจากแพทย์และทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- คุณแม่ต้องคอยระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุ ที่อาจทำให้บาดเจ็บหรือเป็นอันตรายต่อครรภ์ หากเมื่อใดเกิดอุบัติเหตุกระทบกระเทือน ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
- คุณแม่ที่เคยเกิดภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนดมาก่อน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนตั้งครรภ์ครั้งต่อไป เพื่อหาวิธีลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้อีกครั้ง
การตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยตลอด 9 เดือน คุณแม่ต้องระมัดระวังอย่าให้เกิดอุบัติเหตุใด ๆ โดยเฉพาะการกระทบกระเทือนบริเวณท้องเพราะอาจเกิดอันตรายได้ หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น เช่น มีเลือดออกทางช่องคลอด มีอาการปวดท้องรุนแรง ควรรีบปรึกษาคุณหมอโดยด่วนนะคะ เพื่อความปลอดภัยของแม่และทารกน้อยในครรภ์
บทความที่น่าสนใจ
ข้อเท็จจริงและอันตรายจากภาวะรกค้างในมดลูก
ใจสลาย หมอบอกว่าลูกเสียเพราะเกินกำหนดคลอด สายรกเสื่อม
สัญญาณเตือนการเป็น มะเร็งปากมดลูก
ที่มา: 1, si.mahidol, dek-d, haamor
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!