เมื่อเราหกล้มในตอนที่ยังเป็นเด็ก หลาย ๆ คนคงจะเคยชินกับภาพคุณพ่อคุณแม่นั่งทาแผลให้เราด้วยแซมบัคตลับสีเขียวอันเล็ก ที่มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ของสมุนไพร และเมื่อเราโตมามีลูก ก็เลยอยากจะทำแบบเดียวกันกับพ่อแม่บ้าง ว่าแต่ว่า แซมบัค เหมาะกับเด็กอายุกี่ปี เด็ก ๆ สามารถทาแซมบัคได้จริงหรือเปล่า theAsianparent Thailand ได้รวบรวมคำตอบมาให้คุณแม่แล้วที่นี่
แซมบัค คืออะไร
แซมบัค (Zambuk) เป็นยาทาแผลชนิดขี้ผึ้ง ประกอบไปด้วยน้ำมันยูคาลิปตัส น้ำมันไธม์ สารสกัดจากสน และการบูร โดยแซมบัคมีสรรพคุณช่วยลดการอักเสบของแผลที่เกิดจากอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง ลดการติดเชื้อ บรรเทาแผลที่เกิดจากแมลงกัดต่อย ยุงกัด แผลถลอกฟกช้ำ แผลมีดบาด แผลไฟไหม้ แผลน้ำร้อนลวก รวมทั้งยังช่วยลดอาการปวดและรอยห้อเลือดตามร่างกาย นอกจากนี้ ยังช่วยบรรเทาอาการคัดจมูกได้อีกด้วย ส่วนวิธีใช้ก็ทำได้ง่าย ๆ เพียงแค่ทาแซมบัคที่บริเวณแผลเบา ๆ จะปิดแผลด้วยผ้าก็อซหรือไม่ปิดก็ได้ ซึ่งแซมบัคที่คนนิยมใช้กัน จะเป็นแซมบัคตลับเล็กที่มีขนาด 18 กรัม
บทความที่เกี่ยวข้อง : แผลฟกช้ำ ตามร่างกายเด็ก ทำยังไงให้หาย ต้องไปหาหมอหรือเปล่า
เด็กทาแซมบัคได้ไหม มีวิธีใช้ยังไง
ความจริงแล้ว แซมบัคเป็นผลิตภัณฑ์สมานแผลที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ใช้ได้ เพราะไม่ผสมสารกันบูด แถมยังมีกลิ่นหอม และไม่ทำให้แสบร้อนผิวหนัง แต่ก็มีข้อห้ามว่าเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี ยังไม่ควรใช้แซมบัค เพราะส่วนผสมในแซมบัค อาจทำให้ผิวหนังของเด็กเกิดการระคายเคือง ซึ่งหากเด็ก ๆ อยู่ในช่วงอายุที่สามารถใช้แซมบัคได้แล้ว คุณแม่ควรคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ทุกครั้งเมื่อต้องการใช้แซมบัคทาแผลให้เด็ก ๆ
ใช้แซมบัคได้บ่อยแค่ไหน
คุณแม่สามารถทาแซมบัคให้น้อง ๆ ได้บ่อยตามที่ต้องการ เพราะส่วนผสมในแซมบัคไม่ทำอันตรายต่อเด็ก ๆ ส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม หากเด็ก ๆ ทาแซมบัคแล้วรู้สึกระคายเคืองที่ผิวหนัง ให้หยุดใช้และควรเข้าพบแพทย์ทันทีเพื่อรับคำแนะนำ
ทาตรงไหนได้บ้าง
คุณแม่สามารถใช้แซมบัคทาบริเวณแผลตามร่างกายของเด็กได้ ยกเว้นบริเวณดวงตา และรูจมูกของเด็ก เพราะแซมบัคอาจทำให้ตาหรือรูจมูกเด็กแสบและเกิดการระคายเคือง หากคุณแม่มีข้อสงสัยและไม่มั่นใจ ให้ปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะให้เด็กทาแซมบัค
ทาป้องกันยุงได้หรือเปล่า
แม้ว่าแซมบัคจะช่วยบรรเทาอาการแมลงกัดต่อย หรือลดรอยแผลหรืออาการคันที่เกิดจากยุงกัด แต่ไม่สามารถช่วยไล่ยุง หรือใช้ทากันยุงได้
แซมบัค ใช้ทาแผลยุงกัด แมลงกัดต่อย และแผลที่เกิดจากอุบัติเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ (ภาพจาก shutterstock.com)
ทำไมแซมบัคถึงช่วยลดอาการคัน และอาการปวดได้
แซมบัค ช่วยบรรเทาอาการคันและอาการปวดที่เกิดจากแผล เพราะมีน้ำมันยูคาลิปตัสและการบูรเป็นส่วนผสมหลัก ซึ่งส่วนผสม 2 ชนิดนี้ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ช่วยบรรเทาอาการปวดและอาการคันที่เกิดจากบาดแผลต่าง ๆ
แซมบัคทำให้ผิวหนังแสบร้อนไหม
ส่วนผสมที่อยู่ในแซมบัค ไม่ทำให้ผิวหนังแสบร้อน แต่ว่าแซมบัคจะมีกลิ่นหอมของสมุนไพร ที่ช่วยให้รู้สึกสดชื่น เมื่อสูดดมหรือทาลงบนผิวหนัง
เก็บรักษายังไงดี
คุณแม่ควรปิดฝาแซมบัคให้แน่นสนิททุกครั้งหลังใช้งาน และควรเก็บไว้ให้ห่างจากความร้อน และเก็บไว้ให้พ้นจากมือของเด็ก หรือในที่ที่เด็กเอื้อมไม่ถึง นอกจากนี้ ควรหมั่นเช็คดูวันหมดอายุของแซมบัคบนตลับด้วย หากแซมบัคหมดอายุเเล้ว ไม่ควรนำมาใช้ต่อโดยเด็ดขาด
บทความที่เกี่ยวข้อง : การห้ามเลือดหากลูกบาดเจ็บ หรือเป็นแผลต้องทำอย่างไร
แผลแบบไหน ที่ไม่รุนแรง ทาแซมบัคได้
เนื่องจากว่าแซมบัค จะใช้บรรเทาแผลที่เกิดจากอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง ดังนั้น คุณแม่ควรพิจารณาทุกครั้งเมื่อเด็กเป็นแผล ว่าแผลนั้นรุนแรงหรือไม่ สามารถทาแซมบัคหรือสมุนไพรอื่น ๆ เพื่อบรรเทาแผลได้หรือเปล่า หรือแผลแบบไหน ที่รุนแรงจนต้องพาเด็กไปหาหมอ ซึ่งแผลที่ถือว่าไม่มีความรุนแรง มักมีลักษณะดังต่อไปนี้
- รอยถลอก รอยถลอกส่วนใหญ่ มักเกิดขึ้นตอนที่เด็ก ๆ วิ่งเล่นจนหกล้ม หรืออาจจะเกิดขึ้นตอนที่เด็กปั่นจักรยานอยู่ ซึ่งรอยแผลที่เกิดจากอุบัติเหตุเหล่านี้ มักไม่รุนแรง คุณแม่สามารถทาแซมบัคให้เด็ก เพื่อช่วยลดความเจ็บปวดได้
- รอยบาด รอยบาดที่ถือว่าไม่รุนแรง คือรอยบาดที่เกิดจากกระดาษ หรือเกิดจากการที่โดนมีดบาดเล็กน้อย แต่ไม่ถึงกับเลือดออกจนไหลไม่หยุด
- แผลพุพอง เป็นแผลที่เกิดจากการที่ใต้ผิวหนังมีของเหลวสะสมอยู่ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากน้ำร้อนลวก หรือผิวหนังโดนไฟไหม้ หากแผลไม่ได้ใหญ่ หรือไม่ได้มีแผลเปิดเหวอะหวะ ก็สามารถทาแซมบัคบรรเทาอาการอักเสบได้
- แผลเจาะ แผลเจาะที่ไม่ถือว่ารุนแรง มักทำให้ผิวหนังเป็นรูเล็ก ๆ และไม่มีเลือดไหลออกมา ซึ่งอาจเกิดจากการที่เด็กโดนยุงกัด หรือโดนแมลงกัดต่อย
บทความที่เกี่ยวข้อง : โรคเฮอร์แปงไจน่า ตุ่มแผลในปากเด็ก ติดง่าย ระบาดหนักในฤดูฝน พ่อแม่ต้องระวัง!
แผลที่ไม่รุนแรง คือ แผลที่ไม่ลึกและมีเลือดออกไม่มาก (ภาพจาก shutterstock.com)
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อเป็นแผลไม่รุนแรง
แผลที่เกิดจากสาเหตุที่ไม่ร้ายแรง สามารถรักษาให้หายได้ภายใน 2-3 วัน ซึ่งเมื่อเด็ก ๆ เป็นแผลบาดเจ็บเล็ก ๆ น้อย ๆ คุณแม่สามารถปฐมพยาบาลให้เด็กได้ตามขั้นตอนต่อไปนี้
ห้ามเลือด
หากน้อง ๆ มีเลือดออก ให้หาผ้าขนหนู หรือผ้าเช็ดหน้า มากดห้ามเลือดที่แผลของเด็ก กดแผลไว้จนกว่าเลือดจะหยุดไหล วิธีนี้จะช่วยให้เลือดเด็กจับตัวกันเป็นก้อน และช่วยลดการไหลเวียนของเลือดบริเวณแผล ทั้งนี้ หากเด็กเป็นแผลที่แขนหรือขา ให้เด็กยกแขนหรือขาให้อยู่สูง ๆ เพื่อช่วยห้ามเลือดอีกวิธีหนึ่ง
ล้างแผลให้สะอาด
เมื่อเลือดเด็กหยุดไหล ให้ใช้น้ำเย็นหรือน้ำอุ่นล้างแผลเด็ก โดยอาจจะใช้สบู่ที่อ่อนโยนต่อผิวล้างทำความสะอาดแผลเด็กด้วยก็ได้ เพื่อช่วยกำจัดเศษดิน หรือสิ่งสกปรกที่อยู่ในแผล
ทายาที่แผล
หลังจากล้างทำความสะอาดแผลของเด็ก ๆ เรียบร้อยแล้ว ให้ทำการทายา หรือทาแซมบัคที่แผลของเด็กเบา ๆ และลองพิจารณาว่าควรปิดแผลเด็กด้วยผ้าก็อซหรือไม่ หากเด็กมีแผลเปิด ก็ควรปิดแผลของเด็กเอาไว้ เพื่อไม่ให้ฝุ่นหรือดินเข้าแผลเด็ก หากเด็กรู้สึกปวดแผล ก็ควรให้เด็กทานยาแก้ปวด
3 กลุ่มแมลงยอดฮิตใกล้ตัวลูก
ยุงหรือมด
สัตว์หรือแมลงที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองคนไทยมานานนับสิบปีคงหนีไม่พ้นยุงและมดที่มีหลายสายพันธุ์ ดีกรีความร้ายกาจมากน้อยแตกต่างกันไป แต่จะเป็นชนิดไหนก็อันตรายสำหรับลูกทั้งนั้น แถมยังมีโอกาสถูกกัดโดยไม่รู้ตัวบ่อยๆ เมื่อไรที่โดนกัดขึ้นมาก็มักเกิดอาการคัน และปวดร่วมด้วย
วิธีการปฐมพยาบาลมีหลากหลายวิธี ยกตัวอย่างเช่น ทันทีที่โดนยุงหรือมดกัด ให้ลูบหรือล้างผิวบริเวณนั้นด้วยน้ำสะอาด เพื่อกำจัดน้ำลายยุงออกไป จากนั้นใช้สำลีชุบแอมโมเนียหอม หรือใช้ผลิตภัณฑ์ยา หรือยาหม่อง ทาบางๆ เพื่อบรรเทาอาการคันหรือปวดบวมจากแมลงสัตว์กัดต่อย โดยผลิตภัณฑ์นั้นต้องไม่ทำให้แสบร้อน ต้องอ่อนโยน ไม่เป็นอันตรายกับผิวที่บอบบางของลูก
แต่ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นสังเกตอาการของลูกด้วยนะว่า มีไข้หรือไม่ บริเวณที่โดนกัดเป็นตุ่มมีน้ำ พอง มีลมพิษขึ้นบริเวณใบหน้า ดวงตาบวมหรือเปล่า หากมีอาการดังกล่าวให้รีบพาลูกไปพบแพทย์ทันที
ผึ้ง ต่อ หรือแตนต่อย
เมื่อไรก็ตามที่ลูกน้อยถูกสัตว์มีพิษ อย่างผึ้ง ต่อ หรือแตนต่อย คุณพ่อคุณแม่อย่ารอช้าค่ะ รีบเอาเหล็กในออกให้เร็วที่สุด โดยใช้ลูกกุญแจที่มีรูวางบริเวณที่ถูกต่อย โดยกะให้บริเวณจุดของเหล็กในอยู่ตรงกลางรู จากนั้นค่อยๆ กดกุญแจลงจนเหล็กในโผล่ออกมา แล้วใช้แหนบคีบออกอย่างเบามือ ห้ามออกแรงบีบเค้นโดยเด็ดขาดนะคะ ไม่อย่างนั้นถุงน้ำพิษในเหล็กในอาจจะแตก ส่งผลให้ลูกได้รับพิษเพิ่มมากขึ้นอีก
หลังจากคีบเหล็กในออกแล้วให้รีบทำความสะอาดแผลด้วยน้ำและสบู่ หรือจะเป็นน้ำปูนใสก็ได้นะคะ เสร็จแล้วนำน้ำแข็งหรือเจลแผ่นเย็นมาประคบบริเวณแผล ทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที เพื่อลดอาการปวดบวม รวมถึงลดการซึมซาบของพิษที่จะเข้าสู่ร่างกาย
แต่ในกรณีที่ลูกน้อยถูกต่อยบริเวณปาก หลังจากเอาเหล็กในออกแล้วให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที ไม่จำเป็นต้องรอดูอาการ เพราะพิษของแมลง อาจส่งผลให้เยื่อบุผิวหนังในช่องปากบวมมากจนไปปิดกั้นทางเดินหายใจของลูกได้
อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่อย่าลืมสังเกตอาการของลูกเป็นระยะด้วยนะคะ หากลูกมีอาการคลื่นไส้ มีไข้ แผลที่โดนกัดหรือร่างกายดูบวมแดงผิดปกติ ให้รีบพาลูกไปพบแพทย์ทันที ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจเกิดอันตรายจนถึงแก่ชีวิตได้ค่ะ
เห็บ หมัด ริ้น ไร (แมลงดูดเลือด) กัด
บ้านไหนที่มีสัตว์เลี้ยงจำพวกสุนัข แมว กระต่าย ต้องระวังเรื่องเห็บหมัดเป็นพิเศษนะคะ เพราะน้ำลายของเจ้าสัตว์ดูดเลือดเหล่านี้ ส่งผลให้ลูกมีอาการคัน พอเกามากๆ เข้า ก็อาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อได้
วิธีการปฐมพยาบาลสามารถทำได้โดย ใช้น้ำสบู่อุ่นๆ ล้างบริเวณที่ถูกกัด หลังจากนั้นใช้ถุงน้ำแข็ง หรือแผ่นเจลเย็นประคบซ้ำ เพื่อลดอาการบวม ต่อด้วยใช้แอลกอฮอลล์เช็ดทำความสะอาด และปิดท้ายด้วยการนำผลิตภัณฑ์ยาที่มีสรรพคุณในการบรรเทาอาการ ทาบางๆ บริเวณที่ถูกกัด แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ห้ามนิ่งนอนใจนะคะ ต้องคอยหมั่นสังเกตอาการของลูก หากพบสิ่งผิดปกติละก็ ให้รีบพาลูกไปพบแพทย์ทันที
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแซมบัคจะมีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการอักเสบ ลดอาการคัน และช่วยให้แผลหายได้ไวมากยิ่งขึ้น คุณแม่ก็ต้องหมั่นสังเกตแผลของเด็ก ๆ อยู่สม่ำเสมอ ว่าแผลอักเสบหรือมีความรุนแรงมากขึ้นหรือไม่ เพราะบางครั้ง แผลเล็ก ๆ ก็อาจทำให้เด็กมีภาวะแทรกซ้อนและเป็นโรคที่ร้ายแรงได้ หากเด็กเป็นแผลแล้วคุณแม่ไม่สบายใจ หรือกลัวว่าเด็กจะเป็นอันตราย ก็ควรพาเด็กไปหาหมอเพื่อรับการรักษาจะดีที่สุดนะคะ
บทความที่เกี่ยวข้อง :
เด็กชายวัย 3 ขวบ เสียชีวิตปริศนา พ่อลั่นไม่เชื่อหกล้ม เพราะบาดแผลผิดธรรมชาติ
แผลบาดทะยัก เป็นแบบไหน จะรู้ได้ยังไงว่าลูกเป็นโรคบาดทะยัก
แผล ลูกมีแผลทำไงดี วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นง่าย ๆ ที่คุณแม่ก็ทำได้
ที่มา : goodchoiz , guardian , zambuk , zambuk
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!