อีกหนึ่งปัญหาที่แม่ให้นมลูกหลายคนต้องพบเจอ นั่นก็คือปัญหาน้ำนมหด ซึ่งทำให้คุณแม่มีน้ำนมน้อย ไม่พอจะให้เจ้าตัวเล็กกินในแต่ละวัน และปัญหาน้ำนมไม่พอนี้ก็เสี่ยงที่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพของทารก ทำให้ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตที่สมวัย แล้วจะมีวิธีใดบ้างที่จะช่วยคุณแม่ให้นมสามารถ กู้น้ำนม และสามารถกลับไปให้นมลูกน้อยได้อีกครั้ง
ปัญหาการน้ำนมหด หรือน้ำนมน้อย บางครั้งอาจจะเกิดในคุณแม่ที่ต้องกลับไปทำงาน แต่ยังต้องการให้นมลูกอยู่ ซึ่งอาจจะจนทำให้คุณแม่ยอมถอดใจ คิดที่จะเลิกล้มความตั้งใจที่จะให้นมแม่ ขอบอกว่าอย่าเพิ่งถอดใจค่ะ วันนี้ theAsianparent จะพาไปดูพร้อม ๆ กัน กับวิธีที่คุณแม่สามารถกู้น้ำนมคืนกลับคืนมาได้ที่เรานำมาฝากค่ะ
กู้น้ำนม คืออะไร ?
การกู้น้ำนม หรือ การเรียกน้ำนมแม่กลับคืน (Relactation) เป็นการเปิดโอกาสให้กับคุณแม่หลายคนที่เคยให้นมแม่มาก่อน แล้วหยุดให้นมไปช่วงหนึ่ง ได้สามารถกลับมามีน้ำนมให้ลูกอีกครั้ง เพื่อประโยชน์ที่ลูกน้อยจะได้รับ โดยอาศัยการกระตุ้นเต้านม เพื่อเพิ่มการผลิตฮอร์โมนโปรแลคติน ซึ่งเป็นฮอร์โมนสำคัญในการกระตุ้นการสร้างน้ำนม
น้ำนมหด นมน้อย เกิดจากอะไร?
- น้ำนมหด น้ำนมน้อย น้ำนมไม่พอ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
- คุณแม่เริ่มให้น้ำนมลูกช้าเกินไป
- คุณแม่ให้นมลูกไม่สม่ำเสมอ หรือไม่ค่อยให้นมลูก ให้ ๆ หยุด ๆ
- กินยาหรืออาหารเสริมบางชนิดที่อาจมีผลต่อการให้นมลูก
- มีประวัติการผ่าตัดเกี่ยวกับเต้านมมาหลายครั้ง
- การคลอดก่อนกำหนด
- คุณแม่มีน้ำหนักตัวมากเกินไป หรือมีภาวะโรคอ้วน
- ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์
- โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
- ความเครียด ภาวะซึมเศร้า
- การสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์
บทความที่เกี่ยวข้อง : การให้นมลูก ปริมาณน้ำนม และความถี่ในการให้นม ฉบับคู่มือแม่มือใหม่
น้ำนมน้อย ส่งผลเสียอย่างไร?
ปัญหาน้ำนมน้อย แม้จะฟังดูน่าวิตกกังวล แต่ปัญหาดังกล่าวก็เป็นปัญหาชั่วคราวที่สามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้ ด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต พฤติกรรมการกิน หมั่นดูแลตัวเองให้ดีอยู่เสมอ ก็จะช่วยให้น้ำนมกลับมาเป็นปกติได้ สิ่งสำคัญคือเมื่อรู้ตัวว่ามีน้ำนมน้อยจะต้องปรับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตทันที และควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษา โดยการที่น้ำนมน้อยอาจจะส่งผลให้ทารกมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์ที่ควรจะเป็น ที่สำคัญทารกจะได้รับสารอาหารจากนมแม่ไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต อาจเสี่ยงที่จะไม่สบายบ่อย หรือติดเชื้อได้ง่าย เพราะน้ำนมแม่มีสารภูมิคุ้มกัน หากได้รับนมแม่น้อย ก็เสี่ยงที่ระบบภูมิคุ้มกันของทารกจะไม่แข็งแรง ส่งผลให้ทารกมีอาการเจ็บไข้ได้ป่วยง่าย
สัญญาณที่บ่งบอกว่าลูกน้อยได้รับน้ำนมไม่เพียงพอ
- ทารกไม่ค่อยร่าเริง ง่วงนอนมากผิดปกติ
- ทารกใช้เวลาดูดเต้านมน้อยกว่าปกติ เนื่องจากน้ำนมน้อย และอาจเผลอหลับคาเต้านมเร็วกว่าปกติ หรือบางกรณีอาจพบว่าทารกดูดนมคาเต้านานกว่าปกติก็ได้เช่นกัน
- ทารกกัดหัวนมแรงและบ่อยขึ้น
- น้ำหนักแรกเกิดของทารกไม่เพิ่มขึ้น หรือน้ำหนักขึ้นช้ากว่าเกณฑ์
- อุจจาระน้อยลง ปัสสาวะมีสีเข้ม หรือปัสสาวะเป็นสีสนิม
เตรียมตัวก่อนกู้น้ำนม
เมื่อคุณแม่ตั้งใจแน่วแน่ที่จะกู้น้ำนม คุณแม่ต้องดูแลโภชนาการให้ได้รับอาหารอย่างเพียงพอและครบถ้วน เพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อม ดื่มน้ำให้มาก พักผ่อนให้เพียงพอ และมีเวลาใกล้ชิดลูก ตามปกติแม่ที่ทำงานนอกบ้านจะมีความเสี่ยงต่อการมีน้ำนมไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกอยู่แล้วหากมาหมั่นปั๊มในที่ทำงานด้วย หากคุณแม่ไม่มีเวลาอาจต้องใช้ความพยายามมากกว่าปกติที่จะพยายามเรียกน้ำนมแม่กลับคืน ทั้งนี้ระยะเวลาในการเรียกน้ำนมอาจจะ 2-3 วันไปจนถึง 2-3 สัปดาห์ก็มี ขึ้นอยู่กับความพร้อมของร่างกายและระยะเวลาที่คุณแม่หยุดให้นมไป ถ้าหยุดให้นมไปนานก็จะใช้เวลามากกว่า
วิธีการกู้น้ำนมคืน
1. มีวินัยในการปั๊มนม
คุณแม่ทำงานนั้นไม่สามารถให้ลูกดูดนมบ่อยได้ เพราะไม่ได้อยู่กับลูกตลอดเวลา ต้องมาปั๊มนมในที่ทำงาน และการกู้น้ำนมสำหรับแม่ทำงานนั้นหัวใจอยู่ที่วินัยและความสม่ำเสมอในการปั๊ม คุณแม่ต้องปั๊มนมให้ถี่ขึ้นทุก 2 ชั่วโมง ครั้งละ 20-30 นาที โดยปั๊มให้ครบ 10 ครั้งภายใน 24 ชั่วโมง โดยช่วงสัปดาห์แรกที่กู้น้ำนมจะออกมาน้อยมากหรือบางคนไม่ออกมาเลย คล้ายกับช่วงแรกที่เริ่มปั๊มนมใหม่ ๆ หลังคลอด ซึ่งขึ้นอยู่กับคุณแม่ว่าหยุดให้นมนานแค่ไหน เข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 น้ำนมจะเริ่มมาเองโดยที่คุณแม่ต้องรักษาความถี่ของการปั๊มอย่างต่อเนื่อง
2. เลือกใช้เครื่องปั๊มแบบปั๊มคู่
เครื่องปั๊มนมแบบปั๊มคู่จะให้ผลดีที่สุด เพราะเมื่อเรานำน้ำนมออกมาจากทั้งสองเต้าพร้อมกันจะได้ปริมาณน้ำนมมากกว่า และช่วยประหยัดเวลา จะได้ไม่กินเวลางานมากนัก และช่วยกระตุ้นน้ำนมด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง : เครื่องปั๊มนม แนะนำเครื่องปั๊มน้ำนม มาดูกันว่ายี่ห้อไหน ประเภทไหนเหมาะกับเรา
3. ใช้ยาช่วย
ในกรณีที่กระตุ้นด้วยวิธีต่าง ๆ ผ่านไป 2 สัปดาห์แล้ว แต่น้ำนมยังไม่มา คุณแม่สามารถใช้ยาแลคโตกัส (Lactogogues) เป็นตัวช่วยในการเพิ่มปริมาณน้ำนมร่วมกับการกระตุ้นเต้านมได้ และให้หยุดใช้ยาเมื่อน้ำนมมีมากขึ้น การปั๊มกระตุ้นเต้านมอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้มีการสร้างน้ำนมต่อไป
4. ลดความถี่การปั๊มลงเมื่อน้ำนมมาแล้ว
คุณแม่อาจใช้เวลาในการกู้น้ำนมอยู่ประมาณหนึ่งเดือนปริมาณน้ำนมจะค่อย ๆ กลับมาเท่าเดิม จนในที่สุดสามารถมีน้ำนมให้ลูกกินอย่างเพียงพอ เมื่อคุณแม่กู้จนได้ปริมาณน้ำนมตามที่ต้องการแล้ว ก็สามารถลดจำนวนการปั๊มให้เหลือ 7-8 ครั้งต่อ 24 ชั่วโมงได้ โดยที่ยังคงรักษาปริมาณน้ำนมเอาไว้ได้
5. ให้ทารกกินนมแม่โดยเร็วที่สุด
หลังคลอดควรให้ทารกได้ดื่มนมทันที ไม่ควรปล่อยไว้นานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน เพราะยิ่งรอนาน ยิ่งเสี่ยงที่จะเกิดภาวะน้ำนมน้อย และทารกก็จะต้องใช้เวลาในการทำความคุ้นชินกับนมแม่นานกว่าปกติ ที่สำคัญควรให้นมลูกบ่อย ๆ โดยในหนึ่ง วันแม่ควรให้นม 8-12 ครั้งต่อวัน ครั้งละ 2-3 ชั่วโมง
6. ไม่กินยาสุ่มสี่สุ่มห้า
แม่ให้นมลูก ไม่ควรซื้อยาทานเอง หรือหลีกเลี่ยงการซื้อยากินสุ่มสี่สุ่มห้า หาไม่สบายหรือต้องการรับยา ควรกินยาตามที่แพทย์เห็นชอบเท่านั้น ไม่ควรซื้อยามากินเองโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์หรือเภสัชกร
7. เลี่ยงการสูบบุหรี่และแอลกอฮอล์
ในช่วงที่แม่กำลังให้นมลูก หรือยังอยู่ในช่วงปั๊มนม ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ เพราะสารนิโคตินในบุหรี่ และแอลกอฮอล์มีผลทำให้ปริมาณน้ำนมลดลงได้
8. ใส่ใจกับมื้ออาหารเพิ่มขึ้น
หลังคลอดและช่วงเวลาให้นมบุตร คุณแม่ต้องใส่ใจกับอาหารการกินให้มากยิ่งขึ้น เพราะครั้งนี้อาหารที่กินเข้าไปจะถูกส่งต่อสารอาหารผ่านทางน้ำนม หากกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ทารกก็อาจจะได้รับผลข้างเคียงทางสุขภาพด้วย หรือหากกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ก็จะทำให้การฟื้นตัวหลังคลอดของคุณแม่ไม่ดีเท่าที่ควรด้วย
เพราะปริมาณน้ำนมของแม่แต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนน้ำนมมาก บางคนน้ำนมน้อย ในส่วนของแม่ที่น้ำนมน้อยก็ยังแตกต่างกันไปอีก บางคนอาจจะกลับมามีน้ำนมปกติภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์หรือไม่กี่เดือน ขณะที่บางคนอาจใช้เวลาหลายเดือน ควรปรึกษากับแพทย์ถึงวิธีกู้น้ำนม ในกรณีที่ได้ลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินและพฤติกรรมการใช้ชีวิตแล้วยังไม่เห็นผล
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
วิธีการเพิ่มน้ำนม
น้ำนมแม่ดีเพราะโภชนาการดี
เทคนิคเพิ่มน้ำนมสำหรับคุณแม่น้ำนมน้อย
ที่มา : enfababy
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!