แคลเซียมและยาบำรุงเลือด เป็นวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการตั้งครรภ์ ซึ่งยาทั้งสองประเภทนี้คุณแม่อาจสงสัยว่าสามารถรับประทานพร้อมกันได้หรือไม่ และกินเวลาใดบ้างที่จะช่วยบำรุงลูกในท้องให้ได้ประโยชน์ โดยทั้งแคลเซียมและยาบำรุงเลือดนั้น เป็นยาบำรุงครรภ์ที่จะไม่ตีกันจนเกิดอันตรายต่อแม่และลูก หากคุณแม่กำลังสงสัยว่าควรกินแคลเซียมตอนไหนดี เรามีคำตอบมาบอกค่ะ
แคลเซียมและยาบำรุงเลือด สำคัญต่อคุณแม่ท้องอย่างไร
นอกจากการรับประทานอาหารที่ดีแล้ว ในระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่ยังสามารถรับประทานวิตามินเสริมเพื่อบำรุงครรภ์ได้อีกด้วยค่ะ ซึ่งวิตามินที่สำคัญนั้นประกอบไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด เช่น กรดโฟลิก ธาตุเหล็ก ไอโอดีน และแคลเซียม ในบางครั้งทางโรงพยาบาลที่คุณแม่ไปฝากครรภ์อาจพิจารณาจ่ายเป็นวิตามินรวมในเม็ดเดียว ยกตัวอย่างเช่น วิตามินยี่ห้อ Obimin-AZ หรือ Nataral หรือคุณแม่บางท่านอาจได้วิตามินอื่นเพิ่มด้วย เช่น แคลเซียมและยาบำรุงเลือด เป็นต้น
แคลเซียมสำคัญอย่างไรต่อคุณแม่ตั้งครรภ์
“แคลเซียม” (Calcium) มีความจำเป็นต่อการสร้างกระดูกและฟัน โดยเฉพาะว่าที่คุณแม่ที่อายุระหว่าง 19 – 50 ปี ควรได้รับปริมาณแคลเซียม 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน แต่หากคุณแม่ท่านใดได้รับปริมาณแคลเซียมจากอาหารเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องประทานแคลเซียมแบบเม็ดเพิ่มค่ะ เราลองมาดูเวลารับประทานที่เหมาะสม
-
แคลเซียม คาร์บอเนต (Calcium Carbonate)
คุณแม่ควรรับประทานก่อนอาหารเช้า หรือ พร้อมอาหารเย็น เนื่องจากต้องการสภาพกรดของกระเพาะอาหารในการแตกตัวและดูดซึมดีกว่า
-
แคลเซียม ซิเตรท (Calcium Citrate)
แคลเซียมชนิดนี้ดูดซึมง่ายกว่าและไม่ต้องการภาวะกรดในกระเพาะอาหารในการแตกตัวเพื่อการดูดซึม เพราะเป็นแคลเซียมในรูปแบบของเกลือซิเตรท ซึ่งสามารถรับประทานได้หลังอาหาร หรือไม่ต้องรับประทานอาหารตามได้ค่ะ
ยาบำรุงเลือด วิตามินที่จำเป็นสำหรับว่าที่คุณแม่
วิตามินบำรุงเลือดหรือ “ธาตุเหล็ก” (Ferrous) ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่ช่วยเพิ่มปริมาณเม็ดเลือดแดง เสริมธาตุเหล็กระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาของตัวอ่อน และรก รวมถึงการเพิ่มปริมาณเม็ดเลือดแดงของมารดา ปริมาณของธาตุเหล็กที่ต้องสูญเสียไปในระหว่างการตั้งครรภ์และการให้นมบุตรนั้นอยู่ที่ประมาณ 1,000 มิลลิกรัม ซึ่งการได้รับยาบำรุงเลือดหรือธาตุเหล็กที่เพียงพอสามารถลดการเกิดภาวะซีดช่วงคลอดได้
ในบางรายที่มีผลข้างเคียงจากยาบำรุงเลือดก็สามารถที่จะให้ทานเพียงอาทิตย์ละ 1 – 3 ครั้งก็ได้โดยที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันภาวะซีดได้เท่ากัน สำหรับคุณแม่ที่มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ควรที่จะได้รับการเสริมธาตุเหล็ก 30 – 120 มิลลิกรัมต่อวัน จนกระทั่งความเข้มข้นของเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ จึงควรรับประทานในปริมาณดังนี้
- คุณแม่ที่ไม่มีภาวะซีดคือ 15 – 30 มิลลิกรัมต่อวัน
- คุณแม่ที่มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ควรที่จะได้รับการเสริมธาตุเหล็ก 30 – 120 มิลลิกรัมต่อวัน
- ควรรับประทานตอนท้องว่าง หรืออาจรับประทานก่อนอาหารพร้อมกับดื่มน้ำส้มเพราะวิตามินซีจากน้ำส้มจะช่วยเพิ่มการดูดซึมของเหล็กได้
- ไม่ควรรับประทานพร้อมเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนผสมอยู่ เช่น ชาหรือกาแฟ เนื่องจากจะไปลดการดูดซึมของเหล็ก
บทความที่เกี่ยวข้อง : 100 สิ่งแม่ท้องต้องรู้ ตอนที่ 41 การทานยาบำรุงเลือด สำหรับแม่ท้อง
แคลเซียมและยาบำรุงเลือด สามารถรับประทานพร้อมกันได้หรือไม่
การรับประทานวิตามินเสริมอย่าง แคลเซียมและยาบำรุงเลือด หรือธาตุเหล็กนั้น มีอันตรกิริยา หรือภาษาทั่ว ๆ ไปเรียกว่าตีกันนั่นเอง โดยยาเสริมแคลเซียมในรูปของ Calcium Carbonate จะไปเพิ่มความเป็นด่างในกระเพาะอาหารทำให้เกลือ Carbonate ของแคลเซียมไปจับกับ Ferrous หรือธาตุเหล็กได้เป็นสารประกอบที่ไม่ละลายน้ำ ส่งผลให้การดูดซึมของธาตุเหล็กลดลง ซึ่งคุณแม่สามารถเลี่ยงปฏิกิริยาระหว่างยาทั้งสองได้โดย
1. รับประทานยาห่างกัน 2 ชั่วโมง
คุณแม่สามารถรับประทานยาทั้งสองชนิดนี้ ห่างกัน 2 ชั่วโมงหรือรับประทานแยกมื้อไปเลยก็ได้ เช่น แบ่งเป็นมื้อเช้าและมื้อเย็น
2. สังเกตอาการตนเอง
ถ้าคุณแม่รับประทานยาบำรุงเลือดก่อนอาหารประมาณครึ่งชั่วโมงแล้วไม่คลื่นไส้ ก็ให้กินก่อนอาหารมื้อเช้าไปเลยค่ะ เพราะธาตุเหล็กจะดูดซึมดีที่สุดตอนท้องว่าง แต่ถ้าคลื่นไส้ก็เปลี่ยนไปกินหลังอาหารจะช่วยได้เช่นกัน
3. รับประทานผลไม้ตาม
วิตามินที่ช่วยเสริมธาตุเหล็กคือ วิตามินซี หากคุณแม่รับประทานยาบำรุงเลือดแล้วตามด้วยผลไม้ เช่น ส้มนั้นยิ่งดี เพราะวิตามินซีช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็ก จากนั้นคุณแม่ก็ค่อยกินแคลเซียมพร้อมหรือหลังอาหารมื้อกลางวันหรือเย็น
4. ดื่มน้ำมาก ๆ
ในการที่จะรับประทานวิตามินเสริมทุกชนิด คุณแม่อย่าลืมดื่มน้ำตามมาก ๆ เพราะจะช่วยลดอาการท้องอืด ท้องผูก จากแคลเซียม และทำให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารทุกอย่างได้ดียิ่งขึ้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : เสริมแคลเซียมของแม่ท้อง แหล่งแคลเซียมสำหรับคนท้อง เสริมแม่ท้อง!
ปริมาณแคลเซียมและยาบำรุงเลือด หากมากไปหรือน้อยไป
1. เมื่อคุณแม่รับแคลเซียมน้อยไปก็ไม่ดี
หากคุณแม่ตั้งครรภ์ได้รับแคลเซียมน้อย หรือไม่ได้รับแคลเซียมบำรุงเลย นั้นยังจะยังมีแคลเซียมเพียงพอต่อการสร้างกระดูกของลูกในท้อง เนื่องจาก 90% ของร่างกายคนเราจะมีแคลเซียมสะสมในกระดูก ส่งผลให้ทารกสามารถดึงแคลเซียมจากแม่ไปใช้ได้ทันที โดยทารกจะดึงไปใช้ราว 30 กรัม หรือ 2.5% ของแคลเซียมในตัวแม่
ส่วนผลเสียต่อตัวคุณแม่ในระยะยาว คือ จะทำให้คุณแม่มีปัญหากระดูกผุง่ายกว่าปกติ ฟันผุง่าย ซึ่งอาจจะส่งผลในช่วงวัยทอง ซึ่งถ้าคุณแม่ขาดแคลเซียมขั้นรุนแรง อาจเกิดอาการชักเกร็งแม้ว่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก แต่ควรป้องกันไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ค่ะ
2. ถ้าคุณแม่รับแคลเซียมมากก็อันตราย
ต้องบอกว่า หากคุณแม่ได้รับแคลเซียมมากเกินไปจะส่งผลอันตรายต่อทั้งคุณแม่และคุณลูกเลยค่ะ ถ้าขาดแคลเซียม ลำไส้เล็กจะมีการดูดซึมแคลเซียมเพิ่มขึ้น แต่ถ้าร่างกายได้รับแคลเซียมเพียงพอแล้วลำไส้จะดูดซึมแคลเซียมน้อยลง คุณแม่ที่มีแคลเซียมมากอยู่แล้ว ลำไส้เล็กจะไม่ยอมดูดซึมแคลเซียมเลย ส่วนใหญ่คุณแม่ที่มีอาการนี้เกิดจากที่มีเนื้องอกที่ต่อมพาราไทรอยด์ ซึ่งเป็นต่อมที่ช่วยปรับระดับแคลเซียมให้สมดุล เมื่อเป็นเนื้องอก ระบบการเพิ่มแคลเซียมจึงผิดปกติ ซึ่งถ้าตรวจพบแต่เนิ่น ๆ คุณหมอจะผ่าตัดออก
หากคุณแม่ได้รับแคลเซียมมากเกินไปคือการเสริมวิตามินดีมากกว่าความต้องการในแต่ละวัน ซึ่งวิตามินดีจะช่วยให้ลำไส้เล็กดูดซึมแคลเซียมและจากนั้นก็จะช่วยลำเลียงแคลเซียมในกระแสเลือดเข้าสู่กระดูก ซึ่งการได้รับวิตามินดีมากเกินไปก็อาจทำให้คุณแม่ได้รับแคลเซียมมากเกินไป ทำให้เกิดแคลเซียมเกาะตามกระดูกได้ค่ะ
นอกจากนี้หากได้รับปริมาณของแคลเซียมที่มากเกินความจำเป็น ก็จะส่งผลไม่ให้ร่างกายดูดซึมสังกะสีและธาตุเหล็กมาใช้งานได้ตามปกติ และอาจเพิ่มความเสี่ยงของการขาดธาตุเหล็กได้ อีกทั้งยังอาจส่งผลให้เกิดอาการทางสุขภาพต่าง ๆ ได้อีกด้วย อาทิ
- คลื่นไส้
- อาเจียน
- เบื่ออาหาร
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง อ่อนเพลีย
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ใจสั่น
- กระดูกบาง กระดูกเปราะ เสี่ยงที่จะแตกหักได้ง่าย
บทความที่เกี่ยวข้อง : แคลเซียมสำหรับคนท้อง อาหารชนิดไหนที่มีแคลเซียมสูง? บำรุงทารกในครรภ์ได้ดี
3. เมื่อคุณแม่เสริมธาตุเหล็กมากเกินไป
ในการรับประทานอาหารเสริมธาตุเหล็กหรือยาบำรุงเลือดนั้น อาจส่งผลให้อุจจาระมีสีคล้ำ แต่ก็มีผลข้างเคียงหากได้รับยามากเกินไปซึ่งมีอาหารที่ไม่ต้องวิตกกังวลมาก อย่าง อาการเบื่ออาหาร มีไข้ เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ลำไส้ปั่นป่วน ซึ่งอาการประเภทนี้จะเกิดขึ้นกับคนปกติ ที่ได้รับผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรง แต่ในกรณีที่มีอาการแทรกซ้อนคือ การรับธาตุเหล็กมากเกินไปจะมีอาการแพ้ เช่น มีผดผื่นคัน หายใจลำบาก แน่นหน้าอก หน้าบวม ปากบวม ร่วมกับ เวียนหัวอย่างรุนแรง ปวดท้อง อุจจาระมีเลือดปน อาเจียนเป็นเลือด แม้จะพบน้อยมาก แต่หากมีอาการเช่นนี้ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที ยิ่งกับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ หากมีปฏิกิริยาเพียงเล็กน้อย แค่อาเจียน ก็ต้องรีบพบแพทย์ด่วนเลยค่ะ
คุณแม่คงทราบกันดีแล้วว่าภาวะโภชนาการนั้น มีผลต่อสุขภาพของมารดาและลูกน้อยที่สมบูรณ์ ซึ่งควรปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมตั้งแต่ก่อนการตั้งท้องต่อเนื่องไปจนกระทั่งช่วงตั้งท้อง และช่วงให้นมลูก ดังนั้น นอกจากทานอาหารให้ครบ 5 หมู่แล้ว คุณแม่อย่าลืมรับประทาน แคลเซียมและยาบำรุงเลือด ด้วยนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
แคลเซียมคนท้อง แหล่งแคลเซียมสำหรับคนท้อง มีอะไรบ้าง?
สารอาหารที่จำเป็นสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรทานสิ่งนี้
อาหารเสริมแคลเซียมสำหรับคนท้อง อาหารเสริมสำหรับแม่ท้องเพิ่มแคลเซียม
ที่มา : livewithdrug, pobpad, Enfababy
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!