เลือดกําเดาไหล ทําไงให้หาย สาเหตุที่ทำให้เกิดเลือดกำเดาไหล วิธีปฐมพยาบาลเลือดกําเดาไหล ให้เลือดหยุดไหลได้เร็ว ลูกเลือดกำเดาไหล แม่ต้องทำไงให้หาย
สาเหตุเลือดกําเดาไหล
เลือดกําเดาไหลเกิดได้จากหลายสาเหตุ ถ้าร่างกายไม่ได้ส่งสัญญาณอันตรายอื่น ๆ ร่วมด้วย การเลือดกำเดาไหลนี้ ก็มักจะเกิดจาก
- เลือดกําเดาไหลจากการบาดเจ็บของเยื่อบุจมูก คนที่ชอบแคะขี้มูก ผู้ที่ชอบแคะจมูกจะมีน้ำมูกแห้งกรัง พอแกะ ๆ เกา ๆ ก็เกิดเป็นแผลถลอก แม้แต่การสั่งน้ำมูกแรง ๆ และแม้แต่การเปลี่ยนแปลงความกดอากาศอย่างรวดเร็ว (ขึ้นเครื่องบินหรือดำน้ำ) ก็เป็นสาเหตุให้เกิดเลือดกําเดาไหลได้เช่นกัน
- เลือดกําเดาไหลจากเส้นเลือดฝอยในโพรงจมูกแตก เพราะอากาศร้อนจัดหรือหนาวจัด
- เลือดกําเดาไหลจากการผิดรูปของผนังกั้นช่องจมูก รูปทรงของจมูกก็มีผลต่อเลือดกำเดาไหลเช่นกัน หากมีลักษณะโค้งงอหรือเป็นสันแหลม จะทำให้มีน้ำมูกแห้งกรัง แคะแล้วมีเลือดออกได้
- เลือดกําเดาไหลจากร่างกายขาดวิตามินซี
- เลือดกําเดาไหลจากอุบัติเหตุ ทำให้ศีรษะ ใบหน้า จมูก ได้รับการกระทบกระเทือน
บทความที่เกี่ยวข้อง : เด็ก ๆ ทา แซมบัค ได้จริงหรือเปล่า ? แซมบัคใช้ทาแผลแบบไหนได้บ้าง ?
สาเหตุเลือดกำเดาไหลแบบไหนอันตราย
- เลือดกำเดาไหลจากการอักเสบในช่องจมูก เช่น ภาวะติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน หรือโรคแพ้อากาศ อาการคือจะมีเลือดคั่งที่เยื่อบุจมูกและเยื่อบุโพรงอากาศข้างจมูก ถ้ามีการสั่งน้ำมูก อาจทำให้เลือดกำเดาไหล ส่วนภาวะอากาศหนาว ความชื้นต่ำ ทำให้เยื่อบุจมูกแห้ง เกิดการอักเสบ และเลือดออกได้ง่ายเช่นกัน
- เลือดกำเดาไหลจากเนื้องอกในจมูกหรือโพรงอากาศข้างจมูก เป็นได้ทั้งเนื้องอกชนิดร้ายและไม่ร้าย
- เลือดกำเดาไหลจากโรคทางระบบอื่น ๆ
- โรคเลือดที่ทำให้เลือดออกง่าย เช่น การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ภาวะเกร็ดเลือดต่ำ การได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด
- โรคทางพันธุกรรมบางชนิดที่มีความผิดปกติของหลอดเลือด หรือความดันโลหิตสูง ทำให้เส้นเลือดแตกได้
ทําไมคนท้องเลือดกําเดาไหล
รศ.นพ. ปารยะ อาศนะเสน ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เขียนบทความเรื่อง โรคจมูกและไซนัสในหญิงตั้งครรภ์ ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาระหว่างตั้งครรภ์ ทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุจมูกที่เกิดจากการตั้งครรภ์ (rhinitis of pregnancy) และยังเพิ่มอุบัติการณ์ของการเกิดภาวะเลือดกำเดาไหล และทำให้โรคจมูกและไซนัสแย่ลงได้ง่าย
- ระหว่างช่วง 6 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ (ไตรมาสที่ 1 และ 2) จะมีการเพิ่มปริมาณของเลือดในหลอดเลือดของแม่
- ปริมาณของเลือดดังกล่าว จะมีการเคลื่อนตัวออกนอกหลอดเลือดใน 3 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ (ไตรมาสที่ 3)
ทั้งนี้ เกิดจาก อิทธิพลของฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) ซึ่งมีผลในการกระตุ้นระบบประสาทที่มาเลี้ยงเยื่อบุจมูก ทำให้เส้นเลือดในเยื่อบุจมูก มีการขยายตัว และมีการกระตุ้นการทำงานของต่อมสร้างน้ำมูกในเยื่อจมูกมากขึ้น ทำให้เกิดอาการทางจมูก และ/หรือไซนัส หรืออาจทำให้โรคของจมูกและไซนัสที่มีอยู่แล้ว แย่ลงได้ ซึ่งส่วนใหญ่อาการต่างๆ ของจมูกและไซนัสจะดีขึ้นเอง 5 วันหลังคลอด
ในกรณีที่เลือดออกปริมาณน้อย อาจใช้ยาหดหลอดเลือดเฉพาะที่ (topical decongestants) หยอด หรือพ่นจมูก ซึ่งออกฤทธิ์โดยทำให้เส้นเลือดในเยื่อบุจมูกหดตัว หรือแพทย์อาจใช้สำลีชุบยาหดหลอดเลือดดังกล่าวใส่เข้าไปในจมูกแล้วให้ผู้ป่วยบีบไว้ ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ 1–3% ephedrine หรือ 0.025–0.05% oxymetazoline เป็นต้น ซึ่งสามารถใช้ในหญิงตั้งครรภ์ เพื่อลดภาวะเลือดกำเดาไหลได้ (ระดับ C) แต่ไม่ควรใช้ต่อเนื่องเกิน 3–5 วัน และไม่ควรใช้ในระยะใกล้คลอด
บทความที่เกี่ยวข้อง : แผลฟกช้ำ ตามร่างกายเด็ก ทำยังไงให้หาย ต้องไปหาหมอหรือเปล่า
เลือดกําเดาไหล แม่ต้องทําไงให้หาย
วิธีหยุดเลือดกำเดาไหล การปฐมพยาบาลเลือดกําเดาไหล
- อย่าตกใจถ้าเลือดกำเดาไหล ให้นั่งลงแล้วก้มหัวมาข้างหน้าเล็กน้อยไม่ต้องต่ำมาก (อย่าแหงนหน้าไปข้างหลัง) ที่แนะนำไม่ให้เงยหน้าไปข้างหลังเพื่อป้องกันไม่ให้เลือดไหลย้อนลงไปในโพรงจมูกทำให้สำลักเวียนหัวและอาเจียนได้ รักษาระดับศีรษะให้อยู่สูงกว่าระดับหัวใจ วิธีนี้จะช่วยให้เลือดกำเดาค่อย ๆ หยุดไหลในที่สุด
- บีบตรงเหนือปลายจมูกไม่ให้อากาศเข้าแล้วหายใจทางปากแทน
- ประคบจมูกด้วยถุงน้ำแข็ง หรือถ้าไม่มีก็ใช้อะไรที่เย็นจัด ๆ ห่อไว้ด้วยผ้าขนหนูประคบไว้ที่จมูกและแก้ม ความเย็นที่แผ่กระจายไปทั่วบริเวณใบหน้าจะทำให้เลือดที่หมุนเวียนไปอุดคั่งที่จมูกลดจำนวนลง จนเลือดกำเดาหยุดไหลไปเอง แต่ต้องประคบไว้สักพักอย่าใจร้อน
เลือดกำเดาไหลแบบไหนอันตราย
สำหรับเด็ก ๆ ที่มีเลือดกำเดาไหลมาก พ่อแม่ต้องสังเกตอาการอื่น ๆ เพิ่มเติม ดังนี้
- เมื่อเลือดกำเดาไหลไม่หยุดนานเกิน 30 นาที ทั้งที่ใช้วิธีห้ามเลือดเบื้องต้นโดยการบีบจมูกแต่เลือดไม่หยุดไหล
- เมื่อมีเลือดกำเดาไหลนาน ร่วมกับที่ผิวหนังมีรอยเลือดออก เช่น มีพรายย้ำ จ้ำเขียว หรือ มีจุดแดงหรือจุดเลือดออกตามตัวร่วมด้วย
- เมื่อมีเลือดออกตามไรฟัน หรือลิ้นร่วมด้วย
- มีปัสสาวะสีน้ำล้างเนื้อ หรืออุจจาระสีดำคล้ายยางมะตอยหรือปนเลือดร่วมด้วย
- เมื่อเด็กมีไข้สูงร่วมด้วย
- เมื่อเด็กมีอาการเวียนศีรษะ เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ไม่กระฉับกระเฉง หรือซีดลง
รู้กันไปแล้วว่าเลือดกําเดาไหล ทําไงให้หาย พ่อแม่ต้องสังเกต หากลูกมีเลือดกำเดาไหลไม่หยุด หรือมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ให้ระวังจะเป็นโรคที่ร้ายแรง เช่น โรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งทำให้เกล็ดเลือดทำงานผิดปกติ เช่น โรควอนวิลล์แบรนด์ (von Willebrand disease – VWD) หรือโรคที่เกิดขึ้นภายหลังซึ่งทำให้เกล็ดเลือดมีปริมาณต่ำลง เช่น โรคเกล็ดเลือดต่ำจากภูมิต้านทานตนเอง (immune thrombocytopenia – ITP)
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
คนท้องเดินทางไกลได้ไหม ต้องทำอย่างไร คนท้องกี่เดือนห้ามเดินทางไกล
วิธีป้องกันอุบัติเหตุตอนท้อง เกิดอุบัติเหตุระหว่างตั้งครรภ์ อันตรายแค่ไหน วิธีปฐมพยาบาลคนท้องตกเลือด
ท้องนี้ฝากครรภ์ ทำคลอดที่ไหนดีนะ? รวม 10 สูติ-นรีแพทย์ฝีมือดี ที่คนไข้ต่างก็ยกนิ้วให้
การตรวจร่างกายหญิงตั้งครรภ์ การนัดตรวจครรภ์ หมอตรวจอะไรบ้างระหว่างตั้งครรภ์ ทุกไตรมาส
ที่มา : https://www.dailynews.co.th/
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!