โรคซึมเศร้า แม้เป็นโรคที่อาจไม่ได้แสดงอาการออกมาในทุกวัน เป็นผลให้บางวันอารมณ์คุณแม่อาจจะดีหรือบางวันอาจจะเศร้า เมื่อเกิดขึ้นกับพ่อแม่แล้ว ยังส่งผลต่อการเลี้ยงดูลูกน้อยได้ พ่อแม่เสี่ยงซึมเศร้า ที่ทำให้ตัวเองมีอารมณ์หงุดหงิดง่าย นิ่งเงียบ แยกตัวและคิดอยากอยู่คนเดียวมากขึ้น เป็นผลให้ความสามารถในการเลี้ยงดูลูกลดลง และปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกกลับเพิ่มขึ้น
พ่อแม่เสี่ยงซึมเศร้า ลูกจะเสี่ยงตามไปด้วย ?
ผลที่เกิดจากตัวคุณแม่จะตกกระทบไปยังลูกได้เมื่อคุณแม่เป็นโรคซึมเศร้าในขณะที่เลี้ยงดูลูกไปด้วย ซึ่งทำให้ลูกไม่ได้รับการตอบสนองได้อย่างทันท่วงที โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ร้องไห้แสดงความต้องการ จะส่งผลให้ลูกขาดความมั่นคงในจิตใจ รู้สึกไม่เป็นที่รัก ส่งผลไปถึงอารมณ์ที่ทำให้ลูกกลายเป็นเด็กหงุดหงิดง่าย มีปัญหาด้านพัฒนาการทางอารมณ์ เมื่อเติบโตขึ้นก็ไม่กล้าที่จะเข้าสังคม ขาดความมั่นใจในตนเอง รู้สึกไม่มีคุณค่าในตัวเอง มีความวิตกสูง อันเกิดจากแม่ที่เป็นโรคซึมเศร้า ไม่สามารถที่จะช่วยกระตุ้นและส่งเสริมพัฒนาการเลี้ยงลูกตามวัยอย่างเหมาะสม
บทความที่เกี่ยวข้อง : 7 สัญญาณความเครียด เช็กด่วน! มีอาการเหล่านี้ เครียดเกินไปแล้วหรือเปล่า!?
โรคซึมเศร้า จัดการตัวเองยังไงเมื่อต้องเลี้ยงลูกไปด้วย
เมื่อรู้สึกเหน็ดเหนื่อยเกินไปแล้ว ควรจะแตะมือใครอีกคนเพื่อทำหน้าที่เลี้ยงลูกแทน เพื่อให้ตัวเองได้ไปพัก หาเวลาทำให้ตัวเองรู้สึกผ่อนคลายขึ้น หาอะไรที่ทำแล้วมีความสุข เพื่อช่วยให้สภาพจิตใจดีขึ้น เมื่อได้พักเต็มที่ก็สามารถที่จะกลับมาเลี้ยงลูกด้วยอารมณ์ที่ดี ทำให้ลูกเติบโตและมีพัฒนาการด้านอารมณ์ จิตใจ สังคม ที่ดีต่อไป
แม้ร่างกายแข็งแรงแค่ไหนแต่หากใจป่วย ก็ส่งผลให้ร่างกายอ่อนแอลงไปด้วยได้ ดังนั้นหากคุณแม่ตระหนักถึงอาการที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เรื่องน่าอายที่จะเดินเข้าไปหาจิตแพทย์เพื่อปรึกษาปัญหา และพยายามดูแลร่างกายตัวเองให้แข็งแรงด้วยการได้ออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ ให้ทั้งสองส่วนได้แข็งแรงควบคู่กันไป ก็จะรับมือกับอาการที่เป็นโรคซึมเศร้าได้
พ่อแม่ที่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า ควรเข้าใจและพยายามรับมือกับอาการที่ตัวเองเป็น ไม่ควรไปกดดันตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องของการเลี้ยงลูก จนทำให้เกิดความเครียด หงุดหงิด ร้องไห้บ่อย และอาจเกิดความรู้สึกจนอยากทำร้ายตัวเอง ยิ่งทำให้โรคที่เป็นอยู่แย่ลง ควรพยายามคิดบวกและมองโลกในแง่ดี มองข้ามความกังวลเรื่องการเลี้ยงลูก เพราะคุณไม่ได้เลี้ยงลูกเพียงลำพังคนเดียว ไม่คนใดก็คนหนึ่งคอยช่วยกันเลี้ยงลูก และร่วมกันดูแลลูกอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้
อย่างไรก็ตาม สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องเผชิญกับโรคนี้ คนรอบข้างต้องช่วยกันสังเกต หากรู้สึกมีความคิด ความรู้สึก ที่รุนแรงจนผิดสังเกต เกิดความรู้สึกอยากทำร้ายร่างกายตัวเองหรือคิดที่ทำร้ายร่างกายของลูกน้อย ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินอาการและรับการรักษา และในบางรายอาจจำเป็นต้องรับประทานยาต้านอาการซึมเศร้าร่วมด้วย
โรคซึมเศร้าคืออะไร
สำหรับคนส่วนใหญ่แล้วคำว่าโรคซึมเศร้าฟังดูไม่คุ้นหู ถ้าพูดถึงเรื่องซึมเศร้าเรามักจะนึกกันว่าเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดจากความผิดหวัง หรือการสูญเสียมากกว่าที่จะเป็นโรค ซึ่งตามจริงแล้ว ที่เราพบกันในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกธรรมดา ๆ ที่มีกันในชีวิตประจำวัน มากบ้างน้อยบ้าง อย่างไรก็ตามในบางครั้ง ถ้าอารมณ์เศร้าที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอยู่นานโดยไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น หรือเป็นรุนแรง มีอาการต่าง ๆ ติดตามมา เช่น นอนหลับ ๆ ตื่น ๆ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงมาก หมดความสนใจต่อโลกภายนอก ไม่คิดอยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไป ก็อาจจะเข้าข่ายของโรคซึมเศร้าแล้ว
คำว่า “โรค” บ่งว่าเป็นความผิดปกติทางการแพทย์ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาเพื่อให้อาการทุเลา ต่างจากภาวะอารมณ์เศร้าตามปกติธรรมดาที่ถ้าเหตุการณ์ต่าง ๆ รอบตัวคลี่คลายลง หรือมีคนเข้าใจเห็นใจ อารมณ์เศร้านี้ก็อาจหายได้ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้านอกจากมีอารมณ์ซึมเศร้าร่วมกับอาการต่าง ๆ แล้ว การทำงานหรือการประกอบกิจวัตรประจำวันก็แย่ลงด้วย คนที่เป็นแม่บ้านก็
ทำงานบ้านน้อยลงหรือมีงานบ้านคั่งค้าง คนที่ทำงานนอกบ้านก็อาจขาดงานบ่อย ๆ จนถูกเพ่งเล็ง เรียกว่าตัวโรคทำให้การประกอบกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ บกพร่องลง หากจะเปรียบกับโรคทางร่างกายก็คงคล้าย ๆ กัน เช่น ในโรคหัวใจ ผู้ที่เป็นก็จะมีอาการต่าง ๆ ร่วมกับการทำอะไรต่าง ๆ ได้น้อยหรือไม่ดีเท่าเดิม
ดังนั้น การเป็นโรคซึมเศร้าไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่เป็นคนอ่อนแอ คิดมาก หรือเป็นคนไม่สู้ปัญหา เอาแต่ท้อแท้ ซึมเซา แต่ที่เขาเป็นนั้นเป็นเพราะตัวโรค กล่าวได้ว่าถ้าได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม โรคก็จะทุเลาลง เขาก็จะกลับมาเป็นผู้ที่จิตใจแจ่มใส พร้อมจะทำกิจวัตรต่าง ๆ ดังเดิม
ผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมค่อนข้างมาก การเปลี่ยนแปลงหลัก ๆ จะเป็นในด้านอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด พฤติกรรม ร่วมกับอาการทางร่างกายต่าง ๆ ดังจะได้กล่าวต่อไป
กลับไปต้นฉบับ
การเปลี่ยนแปลงในผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า ซึมเศร้าหลังคลอด
การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าดังที่จะกล่าวต่อไปนี้ อาจเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปเป็นเดือน ๆ หรือเป็นเร็วภายใน 1-2 สัปดาห์เลยก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัย เช่น มีเหตุการณ์มากระทบรุนแรงมากน้อยเพียงใด บุคลิกเดิมของเจ้าตัวเป็นอย่างไร มีการช่วยเหลือจากคนรอบข้างมากน้อยเพียงใด เป็นต้น และผู้ที่เป็นอาจไม่มีอาการตามนี้ไปทั้งหมด แต่อย่างน้อยอาการหลัก ๆ จะมีคล้าย ๆ กัน เช่น รู้สึกเบื่อเศร้า ท้อแท้ รู้สึกตนเองไร้ค่า นอนหลับไม่ดี เป็นต้น
1. อารมณ์เปลี่ยนแปลงไป
ที่พบบ่อยคือจะกลายเป็นคนเศร้าสร้อย หดหู่ สะเทือนใจง่าย
ร้องไห้บ่อย เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ดูเหมือนจะอ่อนไหวไปหมด บางคนอาจไม่มีอารมณ์เศร้าชัดเจนแต่จะบอกว่าจิตใจหม่นหมอง ไม่แจ่มใส ไม่สดชื่นเหมือนเดิม บางคนอาจมีความรู้สึกเบื่อหน่ายไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง สิ่งที่เดิมตนเคยทำแล้วเพลินใจหรือสบายใจ เช่น ฟังเพลง พบปะเพื่อนฝูง เข้าวัด ก็ไม่อยากทำหรือทำแล้วก็ไม่ทำให้สบายใจขึ้น บ้างก็รู้สึกเบื่อไปหมดตั้งแต่ตื่นเช้ามา บางคนอาจมีอารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย อะไรก็ดูขวางหูขวางตาไปหมด กลายเป็นคนอารมณ์ร้าย ไม่ใจเย็นเหมือนก่อน
2. ความคิดเปลี่ยนไป
มองอะไรก็รู้สึกว่าแย่ไปหมด มองชีวิตที่ผ่านมาในอดีตก็เห็นแต่ความผิดพลาดความล้มเหลวของตนเอง ชีวิตตอนนี้ก็รู้สึกว่าอะไร ๆ ก็ดูแย่ไปหมด ไม่มีใครช่วยอะไรได้ ไม่เห็นทางออก มองอนาคตไม่เห็น รู้สึกท้อแท้หมดหวังกับชีวิต บางคนกลายเป็นคนไม่มั่นใจตนเองไป จะตัดสินใจอะไรก็ลังเลไปหมด รู้สึกว่าตนเองไร้ความสามารถ ไร้คุณค่า เป็นภาระแก่คนอื่น ทั้ง ๆ ที่ญาติหรือเพื่อน ๆ ก็ยืนยันว่ายินดีช่วยเหลือ เขาไม่เป็นภาระอะไรแต่ก็ยังคงคิดเช่นนั้นอยู่ ความรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า ความคับข้องใจ ทรมานจิตใจ เหล่านี้อาจทำให้เจ้าตัวคิดถึงเรื่องการตายอยู่บ่อย ๆ แรก ๆ ก็อาจคิดเพียงแค่อยากไปให้พ้น ๆ จากสภาพตอนนี้ ต่อมาเริ่มคิดอยากตายแต่ก็ไม่ได้คิดถึงแผนการอะไรที่แน่นอน เมื่ออารมณ์เศร้าหรือความรู้สึกหมดหวังมีมากขึ้น ก็จะเริ่มคิดเป็นเรื่องเป็นราวว่าจะทำอย่างไร ในช่วงนี้หากมีเหตุการณ์มากระทบกระเทือนจิตใจก็อาจเกิดการทำร้ายตนเองขึ้นได้จากอารมณ์ชั่ววูบ
3. สมาธิความจำแย่ลง
จะหลงลืมง่าย โดยเฉพาะกับเรื่องใหม่ ๆ วางของไว้ที่ไหนก็นึกไม่ออก ญาติเพิ่งพูดด้วยเมื่อเช้าก็นึกไม่ออกว่าเขาสั่งว่าอะไร จิตใจเหม่อลอยบ่อย ทำอะไรไม่ได้นานเนื่องจากสมาธิไม่มี ดูโทรทัศน์นาน ๆ จะไม่รู้เรื่อง อ่านหนังสือก็ได้ไม่ถึงหน้า ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ทำงานผิด ๆ ถูก ๆ
4. มีอาการทางร่างกายต่าง ๆ ร่วม
ที่พบบ่อยคือจะรู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง ซึ่งเมื่อพบร่วมกับอารมณ์รู้สึกเบื่อหน่ายไม่อยากทำอะไร ก็จะทำให้คนอื่นดูว่าเป็นคนขี้เกียจ ปัญหาด้านการนอนก็พบบ่อยเช่นกัน มักจะหลับยาก นอนไม่เต็มอิ่ม หลับ ๆ ตื่น ๆ บางคนตื่นแต่เช้ามืดแล้วนอนต่อไม่ได้ ส่วนใหญ่จะรู้สึกเบื่ออาหาร ไม่เจริญอาหารเหมือนเดิม น้ำหนักลดลงมาก บางคนลดลงหลายกิโลกรัมภายใน 1 เดือน นอกจากนี้ยังอาจมีอาการท้องผูก อืดแน่นท้อง ปากคอแห้ง บางคนอาจมีอาการ
ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว
5. ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างเปลี่ยนไป
ดังกล่าวบ้างแล้วข้างต้น ผู้ที่เป็นโรคนี้มักจะดูซึมลง ไม่ร่าเริง แจ่มใส เหมือนก่อน จะเก็บตัวมากขึ้น ไม่ค่อยพูดจากับใคร บางคนอาจกลายเป็นคนใจน้อย อ่อนไหวง่าย ซึ่งคนรอบข้างก็มักจะไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงเปลี่ยนไป บางคนอาจหงุดหงิดบ่อยกว่าเดิม แม่บ้านอาจทนที่ลูก ๆ ซนไม่ได้ หรือมีปากเสียงระหว่างคู่ครองบ่อย ๆ
6. การงานแย่ลง
ความรับผิดชอบต่อการงานก็ลดลง ถ้าเป็นแม่บ้านงานบ้านก็ไม่ได้ทำ หรือทำลวก ๆ เพียงให้ผ่าน ๆ ไป คนที่ทำงานสำนักงานก็จะทำงานที่ละเอียดไม่ได้เพราะสมาธิไม่มี ในช่วงแรก ๆ ผู้ที่เป็นอาจจะพอฝืนใจตัวเองให้ทำได้ แต่พอเป็นมาก ๆ ขึ้นก็จะหมดพลังที่จะต่อสู้ เริ่มลางานขาดงานบ่อย ๆ ซึ่งหากไม่มีผู้เข้าใจหรือให้การช่วยเหลือก็มักจะถูกให้ออกจากงาน
7. อาการโรคจิต
จะพบในรายที่เป็นรุนแรงซึ่งนอกจากผู้ที่เป็นจะมีอาการซึมเศร้ามากแล้ว จะยังพบว่ามีอาการของโรคจิตได้แก่ อาการหลงผิดหรือประสาทหลอนร่วมด้วย ที่พบบ่อยคือ จะเชื่อว่ามีคนคอยกลั่นแกล้ง หรือประสงค์ร้ายต่อตนเอง อาจมีหูแว่วเสียงคนมาพูดคุยด้วย อย่างไรก็ตามอาการเหล่านี้มักจะเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อได้รับการรักษา อารมณ์เศร้าดีขึ้น อาการโรคจิตก็มักทุเลาตาม
จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคนี้หรือเปล่า
บางคนที่อ่านถึงตอนนี้อาจรู้สึกว่าตนเองก็มีอะไรหลาย ๆ อย่างเข้ากันได้กับโรคซึมเศร้าที่ว่า แต่ก็มีหลาย ๆ อย่างที่ไม่เหมือนทีเดียวนัก ทำให้อาจสงสัยว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าตนเองเป็นหรือเปล่า
อาการซึมเศร้านั้นมีด้วยกันหลายระดับตั้งแต่น้อย ๆ ที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน ไปจนเริ่มมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวัน และบางคนอาจเป็นถึงระดับของโรคซึมเศร้า อาการที่พบร่วมอาจเริ่มตั้งแต่รู้สึกเบื่อหน่าย ไปจนพบอาการต่าง ๆ มากมาย ดังได้กล่าวในบทต้น ๆ
แบบสอบถามภาวะอารมณ์เศร้า (Patient Health Questionnaire; PHQ9) เป็นแบบสอบถามที่ใช้เพื่อช่วยในการประเมินว่าผู้ตอบมีภาวะซึมเศร้าหรือไม่ รุนแรงมากน้อยเพียงใด เป็นมากจนถึงระดับที่ไม่ควรจะปล่อยทิ้งไว้หรือไม่ แบบสอบถามนี้ไม่ได้บอกว่าเป็นโรคอะไร เพียงแต่ช่วยบอกว่าภาวะซึมเศร้าที่มีอยู่ในระดับไหนเท่านั้น ในการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่นั้น ผู้ที่มีอารมณ์ซึมเศร้ายังต้องมีอาการที่เข้าตามเกณฑ์การวินิจฉัยด้านล่าง
ข้อดีอย่างหนึ่งของแบบสอบถามนี้คือสามารถใช้ช่วยในการประเมินระดับความรุนแรงของอาการได้ ว่าแต่ละขณะเป็นอย่างไร อาการดีขึ้นหรือเลวลง การรักษาได้ผลหรือไม่ ผู้ป่วยอาจทำและจดบันทึกไว้ทุก 1-2 สัปดาห์ โดยถ้าการรักษาได้ผลดีก็จะมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นโดยมีค่าคะแนนลดลงตามลำดับ
อ่านประสบการณ์จริงของคุณแม่ที่เป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอด
บทความอื่น ๆ น่าสนใจ :
โรคซึมเศร้า คืออะไร เป็นโรคซึมเศร้าสามารถรักษาหายได้ หรือไม่? แล้วมีอาการเป็นอย่างไร!!
7 กิจกรรมต้านซึมเศร้า ในเด็ก เติมสุข พัฒนาความสัมพันธ์ในครอบครัว
ภาวะซึมเศร้าจากการทำงาน วิธีดูแลสุขภาพจิตในช่วงทำงานที่บ้าน
ที่มา : thaihealth
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!