หากคุณแม่ถึงกำหนดคลอด แต่ยังไม่มีอาการเจ็บท้องคลอดสักที อาจต้องใช้ วิธีการเร่งคลอด เพื่อทำให้เกิดการเจ็บครรภ์คลอดขึ้น เพราะแพทย์อาจลงความเห็นว่าการให้คุณแม่คลอดเลย อาจดีกว่าปล่อยให้ตั้งครรภ์ต่อไป ซึ่งในปัจจุบันนี้มีวิธีการเร่งคลอดอยู่หลายวิธีด้วยกัน แพทย์จะเป็นผู้ประเมินว่าควรใช้วิธีใด วันนี้เราจะพาไปดูกันว่าวิธีการเร่งคลอด คืออะไร และมีวิธีไหนบ้าง ไปติดตามกันค่ะ
การเร่งคลอด คืออะไร
การเร่งคลอด การกระตุ้นคลอด หรือการชักนำการคลอด (Induction of labor) คือ การทำให้เกิดการเจ็บครรภ์ด้วยการใช้วิธีและเทคนิคต่าง ๆ ในช่วงที่คุณแม่ยังไม่มีการเจ็บครรภ์คลอดตามธรรมชาติ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะทำไปโดยที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ การให้คนท้องคลอดหรือยุติการตั้งครรภ์นั้น จะส่งผลดีมากกว่าปล่อยให้ตั้งครรภ์ต่อไป เพราะในบางกรณีอาจมีเหตุผลที่คนท้องไม่สามารถรอเจ็บครรภ์คลอดได้ แพทย์จึงจำเป็นต้องใช้วิธีการเร่งคลอดเพื่อช่วยชีวิตคุณแม่และลูกในครรภ์
กรณีใดที่คุณแม่ควรเร่งคลอด
- ทารกเสียชีวิตในครรภ์
- คุณแม่ที่มีภาวะน้ำคร่ำน้อย
- ทารกในครรภ์มีน้ำหนักตัวน้อย
- คุณแม่ที่ตั้งครรภ์เกิน 40 สัปดาห์
- ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอด
- คุณแม่ที่เกิดการติดเชื้อในถุงน้ำคร่ำ
- การตั้งครรภ์แฝดที่มีภาวะแทรกซ้อน
- คุณแม่ที่อยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาลมาก
- คุณแม่ที่มีความดันโลหิตสูง หรือมีภาวะครรภ์เป็นพิษ
ครบกำหนดคลอดแล้ว วิธีการเร่งคลอด มีอะไรบ้าง
วิธีเร่งคลอดแบบธรรมชาติ
เมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์ครบ 40 สัปดาห์แล้ว แต่ยังไม่มีอาการเจ็บท้องแต่อย่างใด การเร่ง คลอดแบบธรรมชาติ ด้วยตัวคุณแม่เอง ก็เป็นทางเลือกหนึ่ง แต่ต้องปรึกษาคุณหมอก่อนนะคะ เพื่อความปลอดภัย วิธีการเร่งคลอดแบบธรรมชาติ สามารถทำได้ ดังนี้
1. เดินเล่นช้า ๆ การเดินเล่นจะช่วยให้คุณแม่เจ็บท้องคลอดเร็วขึ้น ทำให้ตำแหน่งของทารกเคลื่อนต่ำลงมา อยู่ในตำแหน่งการคลอดโดยมีศีรษะเป็นส่วนนำ
2. การมีเพศสัมพันธ์ ช่วยกระตุ้นการเจ็บท้องคลอดให้เร็วขึ้นได้ เพราะมีการกระตุ้นให้มดลูกบีบรัดตัว การมีเพศสัมพันธ์กับคนรัก เป็นเทคนิคเก่าแก่ที่บอกต่อกันว่า สามารถช่วยให้คุณแม่เจ็บท้องคลอดเร็วขึ้นได้ แต่ถ้าคุณแม่เริ่มมีน้ำเดินแล้ว ห้ามมีเพศสัมพันธ์เป็นอันขาด เพราะจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ ท่าที่เหมาะสมในช่วงที่คุณแม่ท้องแก่ คือ ท่าตะแคง
3. การนวดเต้านมอย่างแผ่วเบา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณหัวนม จะกระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูก และกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนออกซีโตซิน คุณแม่ควรใช้ฝ่ามือ นวดบริเวณลานนมอย่างนุ่มนวลสัก 15 – 20 นาทีทุก ๆ ชั่วโมง วันละหลาย ๆ ครั้งเพื่อให้มีการหลั่งฮอร์โมนออกซีโตซิน ซึ่งมีผลต่อการเร่งการเจ็บท้องคลอดของครรภ์ที่เกินกำหนด
4. ดื่มชาใบราสป์เบอร์รี แม้จะมีคำเล่าลือว่า การดื่มชาใบราสป์เบอรี มีส่วนช่วยกระตุ้นให้คุณแม่เจ็บท้องคลอดเร็วขึ้น และชาชนิดนี้มีความปลอดภัย จนคุณแม่สามารถจิบชาได้ตลอดระยะเวลาที่ตั้งครรภ์ แต่ก็ขอแนะนำให้คุณแม่รอจนกว่าจะถึงสัปดาห์ที่ 34 ของการตั้งครรภ์ และควรปรึกษาสูติแพทย์ก่อนดื่ม เพื่อความปลอดภัยค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : กินอะไรให้คลอดเร็ว อาหารเร่งคลอดสำหรับแม่ท้องแก่ กินเลยถ้าไม่อยากเจ็บตัว!
วิธีเร่งคลอดโดยแพทย์
1. การกวาดปากมดลูก (Membrane sweep)
วิธีการนี้จะคล้าย ๆ กับการตรวจภายใน เพราะคุณหมอจะใช้นิ้วกวาดบริเวณปากมดลูก เพื่อค่อย ๆ ขยายปากมดลูกและกระตุ้นให้มีเจ็บท้องคลอด หากทำสำเร็จ จะเริ่มเจ็บท้องภายใน 24 – 48 ชั่วโมง แต่วิธีการนี้อาจจะใช้ไม่ได้ผลเสมอไปนะคะ
2. การเจาะถุงน้ำคร่ำ
วิธีการนี้ คุณหมอจะใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่มีหน้าตาคล้ายกับเข็มถักโครเช เพื่อเจาะถุงน้ำคร่ำให้แตกเป็นการกระตุ้นคลอดทำให้มดลูกหดรัดตัว แต่วิธีนี้ก็ไม่ยืนยันว่าจะได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์
3. การใช้ฮอร์โมนพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandin)
วิธีการนี้ คุณหมอจะใช้ฮอร์โมนในรูปของเจลหรือยา เป็นฮอร์โมนที่กระตุ้นให้เกิดการเจ็บครรภ์ โดยเหน็บช่องคลอดโดยสอดเข้าไปที่บริเวณคอมดลูก เพื่อกระตุ้นการเจ็บครรภ์
4. ยาเร่งคลอด (Syntocinon)
วิธีการใช้ยาเร่งคลอด จะให้ผ่านสายน้ำเกลือ อาจกระตุ้นให้มีการหดรัดตัวของมดลูกค่อนข้างแรง ดังนั้น คุณแม่จึงอาจต้องใช้การฉีดยาเข้าช่องเหนือช่องน้ำไขสันหลังเพื่อระงับความเจ็บปวดด้วย วิธีนี้มักจะใช้ร่วมกับการเจาะถุงน้ำคร่ำ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ท่านั่งเร่งคลอด นั่งท่าไหนช่วย มดลูกเปิดเร็ว ลดอาการเจ็บคลอด
ความแตกต่างระหว่างการคลอดธรรมชาติและวิธีเร่งคลอด
ความรู้สึกเจ็บครรภ์คลอดจากการเร่งคลอด จะไม่ได้แตกต่างจากการคลอดเองตามธรรมชาติเท่าใดนัก เนื่องจากเหตุผลดังต่อไปนี้
1. คุณแม่ยังสามารถควบคุม และกำหนดลมหายใจตามจังหวะการเบ่งคลอดได้ ทั้งยังเบ่งคลอดได้เต็มที่ แต่ถ้าคุณแม่เจ็บปวดมาก คุณหมออาจให้ฉีดยาชาที่ไขสันหลังหรือให้ยาแก้ปวดอื่น ๆ เพื่อบรรเทาอาการปวด
2. สำหรับการเจ็บครรภ์คลอดตามธรรมชาติ ส่วนใหญ่คุณแม่จะสามารถคลอดได้เอง เนื่องจากปากมดลูกมีความพร้อมอย่างเต็มที่ โดยจะมีลักษณะนุ่มมาก เมื่อมดลูกบีบรัดตัว ปากมดลูกก็จะเปิดขยายออกอย่างรวดเร็ว
3. ในขณะที่การเร่งคลอด ถึงแม้จะกระตุ้นให้มดลูกมีการบีบตัวได้สม่ำเสมอก็จริง แต่บางครั้ง ปากมดลูกยังนุ่มไม่พอ ก็ไม่สามารถขยายตัวเปิดได้ตามปกติ จึงทำให้ไม่สามารถคลอดเองได้ โอกาสที่จะถูกผ่าคลอดตามมาจึงมีสูงกว่า คุณแม่ที่เจ็บครรภ์คลอดเองตามธรรมชาติ
ได้ทราบกันแล้วนะคะว่า การเร่งคลอดคืออะไร มีวิธีการเร่งคลอดทั้งแบบธรรมชาติ และเร่งคลอดโดยแพทย์ แตกต่างกันอย่างไร แต่คุณแม่ไม่ต้องกังวลไปนะคะ เพราะหากช่วงระยะเวลาที่ใกล้คลอดแล้ว คุณหมอจะนัดตรวจถี่ขึ้นเพื่อตรวจเช็กอาการ ซึ่งคุณหมอจะเป็นผู้แนะนำค่ะว่าต้องทำอย่างไร ตอนนี้คือดูแลสุขภาพของคุณแม่ให้ดีที่สุด เพื่ออีกไม่นานจะได้พบหน้าลูกน้อยแล้วนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
11 สิ่งที่แม่ท้องต้องรู้ น้ำหนักตอนท้อง แท้งคุกคาม วิธีเร่งคลอด โดยคุณหมอสูติ
ยาเร่งคลอด ส่งผลต่อทารกอย่างไร ฉีดยาเร่งคลอด อันตรายกับแม่ท้องมากไหม
ฉีดยาเร่งคลอด ส่งผลต่อทารกอย่างไร ฉีดยาเร่งคลอด อันตรายกับแม่ท้องมากไหม
ที่มา : 1, 2, 3, medthai
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!