รับมือ!!!ร่างกายเปลี่ยนแปลงเมื่อตั้งครรภ์

เมื่อตั้งครรภ์แน่นอนว่าร่างกายของคุณแม่ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง เรียกว่าเปลี่ยนแปลงแทบทุกเดือนเพราะเจ้าตัวน้อยในท้องเจริญเติบโต พุงของคุณแม่ก็ยิ่งขยายมากขึ้นตามไปด้วย มาดูกันว่านอกจากหน้าท้องที่เปลี่ยนแปลงแล้ว มีอะไรอีกบ้างที่เปลี่ยนและจะรับมืออย่างไร ติดตามอ่าน

รับมือ!!!ร่างกายเปลี่ยนแปลงเมื่อตั้งครรภ์

แม้ว่ารูปร่างของคุณแม่ในช่วงตั้งครรภ์จะเปลี่ยนแปลงไปมากก็ตาม แต่อย่ากังวลไปเลยคะเพราะมันเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เมื่อคลอดเจ้าตัวน้อยแล้ว คุณแม่เตรียมฟิตแอนด์เฟิร์ม ไม่นานก็กลับมาสวยเซี้ยะ!!! ได้เหมือนเดิมแล้วค่ะ มาดูกันว่ามีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นบ้าง เตรียมพร้อมรับมือได้เลยค่ะ

1. เส้นผมและหนังศีรษะ

ในช่วงตั้งครรภ์เส้นผมและหนังศีรษะจะมีการเปลี่ยนแปลง เกิดจากได้รับอิทธิพลของฮอร์โมนเอสโตรเจนจะอยู่ในระดับสูงติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้คุณแม่มีเส้นผม เส้นขนดกดำขึ้น หนังศีรษะมีความมัน จนบางครั้งผมจะดูลีบแบนจัดทรงยาก แต่เมื่อคลอดแล้ว ในเวลาอีกไม่เกิน 2 – 3เดือน ผมของคุณแม่จะเริ่มหลุดร่วง เพราะฮอร์โมนในร่างกายเริ่มปรับลดลงเข้าที่ ช่วงนี้ผมจะร่วงมากสักหน่อยแต่ไม่นานก็จะกลับมาเป็นปกติ

รับมืออย่างไร : ไหน ๆ ผมก็มันเยิ้ม และแถมจัดทรงยาก อย่าปล่อยให้ยาวรุงรังเลยค่ะ มาเปลี่ยนลุคส์ตัดผมให้เข้ากับใบหน้า ผมสั้นเหมาะสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ เพราะจะดูทะมัดทะแมง แถมยังดูแลง่ายอีกด้วย แต่ที่สำคัญในช่วงไตรมาสแรก ห้ามย้อมสีผมหรือแม้แต่ทำไฮไลท์ที่ผมก็ตาม เพราะสารเคมีจะถูกดูดซึมผ่านเข้าสู่ทารกน้อยได้อาจเกิดอันตรายต่อทารกน้อยได้นะคะ

บทความแนะนำ ฝันร้ายของคนท้อง เมื่อฉันผมร่วงหมดศีรษะขณะตั้งครรภ์

2. ผิวหนัง

ผิวหนังคล้ำ (hyperpigmentation)

สีผิวจะเปลี่ยนไป คือ สีจะคล้ำลง สีผิวเปลี่ยนเกิดจากเมลาโนลินในชั้นผิวหนังเพิ่มมากขึ้น จากการกระตุ้นของฮอร์โมนเอสโตรเจนในช่วงที่ท้อง ทำให้ผิวหนังคล้ำขึ้น พบบ่อยบริเวณรอบสะดือ อวัยวะเพศ และข้อพับต่าง ๆ ถ้าเป็นที่บริเวณแนวกลางหน้าท้อง (linea nigra) ถ้าสะสมบริเวณใบหน้าจะกลายเป็นฝ้าสีน้ำตาล

ผิวหนังลาย (striae gravidarum)

อาการผิวหนังลาย พบได้บ่อยเฉลี่ยร้อยละ 50 ของแม่ท้อง มักเกิดในบริเวณท้อง ต้นขา เต้านม และก้น ลักษณะเป็นแนวเส้นสีแดง และจะเปลี่ยนเป็นสีเงินจาง ๆ ตอนหลังคลอด เป็นลักษณะที่เรียกว่า ท้องลาย (stretch mark) นอกจากนี้ ยังมีผิวที่นูนขึ้นคล้ายใยแมงมุม สีแดง มักเกิดขึ้นบ่อยที่ใบหน้าและแขนขา ผิวลายนั้นเป็นเพราะฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ คุณแม่บางคนจะพบว่า มีเส้นเลือดขอดและริดสีดวงทวารได้ง่าย และมีสิวเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากมีต่อมเหงื่อและต่อมไขมันบริเวณใบหน้าเพิ่มขึ้น

บทความแนะนำ แม่ตั้งครรภ์ท้องลายVSท้องไม่ลาย เกิดจากอะไร

รับมืออย่างไร : ให้ความชุ่มชื้นกับผิวหนังสม่ำเสมอด้วยการทาโลชั่น แต่ควรหลีกเลี่ยงชนิดที่เป็นไวเทนนิ่ง เพราะจะส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์ได้ นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงแสงแดดจ้า จะยิ่งทำให้ผิวคล้ำง่ายขึ้น สำหรับเรื่องท้องลาย สิ่งสำคัญ คุณแม่ต้องควบคุมน้ำหนักไม่ให้ขึ้นมากเกินไป เพื่อให้ผิวหนังบริเวณท้อง ต้น ขา และก้น ขยายตัวไม่ทันกับน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น จึงเกิดผิวแตกลาย เมื่อเริ่มตั้งครรภ์ก็ควรทาโลชั่นบำรุงผิวได้เลยคะ อาจจะใช้เป็นน้ำมันมะพร้าวก็ดีนะคะปลอดภัยด้วย หรือจะเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับทาในช่วงตั้งครรภ์โดยเฉพาะก็ได้

3. ตกขาว

คนท้องโดยทั่วไปมักมีอาการตกขาวเป็นปกติ เนื่องจากร่างกายจะมีการสร้างของเหลวออกมา เพื่อหล่อลื่นปากช่องคลอดตลอดเวลา และเมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์แล้ว ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนมากขึ้น จึงทำให้เกิดตกขาวในปริมาณมากขึ้นตามไปด้วย ลักษณะของตกขาวปกติจะมีสีขาวขุ่นหรือครีม แต่หากตกขาวมีการเปลี่ยนสีเป็นสีเขียว เหลือง ควรรีบปรึกษาคุณหมอเพราะอาจเกิดการติดเชื้อได้

บทความแนะนำ ส่องสุขภาพ ตกขาวบอกโรคได้

รับมืออย่างไร : ในช่วงตั้งครรภ์คุณแม่ต้องดูแลความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศไม่ควรให้อับชื้น ที่สำคัญกางเกงชั้นในควรใส่ชนิดที่เนื้อผ้าระบายอากาศได้ดี มีความยืดหยุ่นของเนื้อผ้า หมั่นสังเกตด้วยว่า ตกขาวที่ออกมานั้นมีลักษณะผิดปกติหรือไม่ หรือมีเลือดสด ๆ ติดออกมาด้วยหรือไม่ หากเกิดความผิดปกติใด ๆ ควรปรึกษาคุณหมอโดยด่วนนะคะ

4. เต้านมคัดตึง

 

เป็นอาการปกติของผู้หญิงส่วนใหญ่ มักจะมีอาการคัดตึงเต้านมได้ในช่วงก่อนมีประจำเดือน แต่อาการคัดตึงเต้านมในแม่ตั้งครรภ์นั้นจะมีอาการมากกว่า และระยะเวลานานกว่า เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน นอกจากมีการคัดตึงแล้ว บริเวณหัวนมและลานหัวนมจะมีสีคล้ำขึ้น ลานหัวนมมีขนาดกว้างขึ้น อาการนี้จะสังเกตได้หลังประจำเดือนขาดไปประมาณ 1 เดือน

รับมืออย่างไร : เต้านมจะขยายเรื่อย ๆ เพื่อรองรับการสร้างน้ำนมในช่วงตั้งครรภ์ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับทารกน้อยหลังคลอด ควรเปลี่ยนไซส์ของชุดชั้นในตามความเหมาะสม ทำให้การสวมใส่สบายขึ้นและรักษาทรวดทรงของคุณแม่อีกด้วย

5. เลือดออกทางช่องคลอด

มักมีอาการเลือดออกกะปริดกะปรอยทางช่องคลอด ในช่วง 11-12 วันหลังจากมีการปฏิสนธิ เนื่องจากตัวอ่อนมีการฝั่งตัวบริเวณเยื้อบุโพรงมดลูก ลักษณะของเลือดที่ออกมาจะมีสีแดงจางและจะหยุดไหลไปเองใน 1-2 วัน โดยจะต้องไม่มีอาการปวดเกร็งท้องร่วมด้วย หากพบว่าเลือดไหลไม่หยุดร่วมกับอาการปวดเกร็งท้องควรรีบปรึกษาคุณหมอ

รับมืออย่างไร : ควรนอนพักผ่อนให้มาก ควรพักนิ่ง ๆ ไม่ควรใช้กำลังมาก เช่น เดิน วิ่ง หรือออกกำลังกายใด ๆ ทั้งสิ้น และห้ามยกของหนักเด็ดขาด หากอาการไม่ดีขึ้น เช่น ปวดท้องมากกว่าเดิม หรือเลือดไหลนานเกินกว่า 3 – 4 วัน ควรปรึกษาคุณหมอโดยด่วนค่ะ

บทความแนะนำ วิธีออกกำลังกายง่าย ๆ ได้ตอนตั้งครรภ์

6. อาการปวดท้องน้อยบริเวณเหนือหัวหน่าว

อาการปวดหน่วงบริเวณท้องน้อย มักจะเกิดขึ้นในช่วง เดือนที่ 4-5 เพราะมดลูกมีขนาดโตขึ้น ทารกน้อยมีขนาดศีรษะที่ใหญ่ขึ้น ตัวโตขึ้น จึงไปกดทับบริเวณกระดูกเชิงกราน อาการปวดจะเป็นเล็กน้อยพอรำคาญ อาจจะมีอาการตึงบริเวณขาหนีบร่วมด้วย

รับมืออย่างไร : นอนเอนหลังพิงในท่าที่สบาย ยกขาสูงขึ้นเล็กน้อย ลดการยืนหรือเดิมนาน ๆ ก็จะดีขึ้น

บทความแนะนำ การปฏิบัติตัวของคนท้อง : ยืน เดิน นั่ง นอน อย่างไรให้ถูกต้อง
อ่าน รับมือ!!!ร่างกายเปลี่ยนแปลงเมื่อตั้งครรภ์ ข้อ 7 – 12 คลิกหน้าถัดไป

7. จมูก

คงแปลกใจนะคะว่า การตั้งครรภ์ทำไมเกี่ยวข้องกับจมูกด้วย มาดูกันค่ะว่าเกี่ยวข้องกันอย่างไร

รศ.นพ. ปารยะ อาศนะเสน ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ในช่วงตั้งครรภ์อาจเกิดการอักเสบของเยื่อบุจมูกที่เกิดจากการตั้งครรภ์ได้ง่ายขึ้น การเพิ่มปริมาณของเลือดในหลอดเลือดของแม่ รวมถึงอิทธิพลของฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) ซึ่งมีผลในการกระตุ้นระบบประสาทที่มาเลี้ยงเยื่อบุจมูก ทำให้เส้นเลือดในเยื่อบุจมูก มีการขยายตัว และมีการกระตุ้นการทำงานของต่อมสร้างน้ำมูกในเยื่อจมูกมากขึ้น ทำให้เกิดอาการทางจมูก หรือเกิดไซนัสอักเสบได้ง่าย หรืออาจทำให้โรคของจมูกและไซนัสที่มีอยู่แล้วแย่ลงได้ ซึ่งส่วนใหญ่อาการต่าง ๆ ของจมูกและไซนัสจะดีขึ้นเอง 5 วันหลังคลอด

รับมืออย่างไร : ดูแลรักษาสุขภาพให้ดี ไม่ควรอยู่ในที่ร้อนอบอ้าวหรือเย็นจัด อาจทำให้ไม่สบายหรือโรคที่เป็นอยู่กำเริบได้ง่าย อย่างไรก็ตามควรปรึกษาคุณหมอหากเกิดโรคไซนัสหรือภูมิแพ้ต่าง ๆ ไม่ควรซื้อยามารับประทานเองเด็ดขาดเพราะยาอาจจะส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์ได้

8. ช่องปาก

มีช่วงตั้งครรภ์การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนมาก ส่งผลให้น้ำลายในปากมีมากขึ้น อาจก่อให้เกิดกลิ่นปากได้ง่าย บางคนในช่วงตั้งครรภ์จะมีการงอกของเหงือกมากกว่าปกติ เมื่อเคี้ยวอาหารบางครั้งไปโดนกระทบกระเทือนทำให้มีเลือดออกได้ สำหรับคุณแม่ที่สุขภาพเหงือกและฟันไม่ดี เช่น มีเลือดออกตามไรฟัน หรือการอักเสบเหงือกอยู่ก่อนแล้วจากมีหินปูนเกาะก็ทำให้เลือดออกง่ายขึ้นด้วย

บทความแนะนำ แม่ท้องมีเลือดออกตามไรฟันจะเป็นอันตรายหรือไม่

รับมืออย่างไร : รักษาความสะอาดของช่องปากอยู่เสมอ แปรงฟันหลังรับประทานอาหารหรือบ้วนปากทุกครั้ง หากมีอาการเสียวฟัน ฟันผุ คราบหินปูน ควรให้คุณหมอตรวจดู ถ้าไม่มีการอักเสบก็ไม่มีปัญหาใด ๆ ถ้ามีหินปูนเกาะหรือเหงือกอักเสบก็สามารถทำฟันได้ขณะตั้งครรภ์

9. อารมณ์ทางเพศ

ในช่วงตั้งครรภ์คุณแม่บางคนอาจจะมีอารมณ์ทางเพศมากกว่าปกติเสียด้วยซ้ำ ไม่ใช่เรื่องน่าอายนะคะ นั่นเป็นเพราะผลพวงมาจากเลือดที่ไหลไปเลี้ยงอวัยวะเพศมากขึ้น ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้เกิดการหลั่งของเหลวมากขึ้น และหน้าอกที่ใหญ่และไวต่อสัมผัสมากขึ้น ซึ่งจะทำให้คุณแม่จะมีอารมณ์ทางเพศมากขึ้นตามไปด้วย

รับมืออย่างไร : ควรใช้ท่าในการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยในช่วงตั้งครรภ์ ทั้งคู่ควรหลีกเลี่ยงการลงน้ำหนักไปที่มดลูกหรือลงน้ำหนักทั้งตัวไปที่ท้องของหญิงตั้งครรภ์ แม่ตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการนอนหงายหรือนอนตะแคงขวาเป็นเวลานาน เป็นต้น

บทความแนะนำ คำแนะนำการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างการตั้งท้องสำหรับคุณพ่อ

10. ริดสีดวงทวารหนัก

แม่ท้องมีโอกาสที่จะเป็น โรคริดสีดวงทวารหนักมากกว่าคนปกติ ทั้งนี้เนื่องจากฮอร์โมนของคุณแม่ในขณะท้อง จะทำให้มีขยายของเส้นเลือดดำบริเวณลำไส้ใหญ่ เป็นผลทำให้ลำไส้เคลื่อนตัวช้า และเมื่ออายุครรภ์มากขึ้น มดลูกก็ใหญ่ขึ้น จึงทำให้ไปกดบนเส้นเลือดดำ เกิดการไหลเวียนไม่ดี ทำให้เลือดคั่งบริเวณปลายลำไส้ใหญ่ หากเกิดอาการท้องผูกบ่อย ๆ อาจจะถ่ายเป็นเลือดและปวดทวารหนัก

รับมืออย่างไร : ควรกินอาหารที่มีกากใยอาหารมาก ๆ เช่น ผักตำลึง มะรุม ผลไม้ เช่น ส้ม มะละกอ ลูกพรุน ชมพู่ มะม่วงสุก เป็นต้น อาการริดสีดวงจะหายไปแน่นอนเมื่อคุณแม่คลอดลูกแล้ว

11. อาการปัสสาวะบ่อย

ร่างกายในช่วงตั้งครรภ์มีการปรับตัวเพื่อเตรียมพร้อมของมดลูกให้เหมาะกับการเติบโตของทารกในครรภ์ มดลูกที่ขยายขนาดใหญ่ขึ้น จึงมีความจำเป็นที่ต้องมีเลือดไปเลี้ยงมากขึ้น มีเลือดไหลผ่านไตมากขึ้นทำให้ไตมีการกรองปัสสาวะมากขึ้น ในขณะเดียวกันมดลูกที่อยู่ติดกับกระเพาะปัสสาวะก็มีขนาดใหญ่ขึ้นทำให้ไปกดเบียดกระเพาะปัสสาวะ ทำให้พื้นที่ในการเก็บปัสสาวะมีน้อยลงส่งผลให้ปัสสาวะบ่อยขึ้นด้วย

รับมืออย่างไร : ดื่มน้ำตามปกติ ไม่ต้องกังวลว่าดื่มน้ำมาก ๆ จะยิ่งปวดปัสสาวะบ่อย และควรรักษาความสะอาดให้ดี หลังจากที่ขับถ่ายเรียบร้อยแล้ว ป้องกันการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ และไม่ควรอั้นปัสสาวะอีกด้วยอาจเกิดอันตรายได้

12. ปวดหลัง

อาการปวดหลังของคนท้อง สาเหตุเกิดจากการที่ท้องใหญ่ขึ้น มีการแอ่นตัวและมีน้ำหนักของท้องถ่วงด้านหน้า จึงเกิดอาการปวด ยอกหลัง บริเวณเอว และก้นกบ

รับมืออย่างไร : ลดการยืนเดินนาน ๆ ใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบ และใส่รองเท้าส้นแบน

บทความแนะนำ วิธีป้องกันและรักษาอาการปวดหลังระหว่างตั้งครรภ์

อ่าน รับมือ!!!ร่างกายเปลี่ยนแปลงเมื่อตั้งครรภ์ ข้อ 13 – 17 คลิกหน้าถัดไป

13. มีกลิ่นตัว

กลิ่นตัวเกี่ยวเนื่องกับฮอร์โมนในช่วงตั้งครรภ์ ระดับของเหลวในร่างกาย และอัตราการเผาผลาญที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับความเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ซึ่งทำให้คุณแม่เหงื่อออกมากขึ้น เพราะร่างกายอุณหภูมิสูงมากขึ้นกว่าเดิม มีความรู้สึกร้อนง่ายกว่าปกติ จากที่ไม่ชอบพัดลมก็ต้องมานั่งอยู่หน้าพัดลม นั่นเป็นเพราะมีการเปลี่ยนของร่างกายและมีการใช้พลังงานมากขึ้นนั่นเอง

รับมืออย่างไร : อาบน้ำบ่อย ๆ ขึ้นหากกลัวผิวแห้งผสม Baby Oil ลงในน้ำที่อาบสัก 1-2 หยดก็ได้ค่ะ หมั่นเปลี่ยนเสื้อผ้า ชุดชั้นใน ที่อับชื้นเหงื่อ เพราะอาจทำให้เกิดระคายเคืองผิวหนังได้ จะช่วยลดกลิ่นกายด้วย

บทความแนะนำ 5 วิธีแก้ปัญหามีกลิ่นตัวได้ผลชัวร์

14. ท้องแข็ง

อาการท้องแข็ง ในขณะตั้งครรภ์ มดลูกจะมีอาการบีบตัวเป็นครั้งคราว ประมาณ 7-8 ครั้งต่อวัน ขณะที่บีบรัดนี้ คุณแม่จะรู้สึกว่ามดลูกแข็งกว่าปกติ คุณแม่อาจจะมีอาการปวดท้อง แน่นท้อง ปวดหัวหน่าว ปวดหลังร่วมด้วย อาการปวดนี้จะอยู่ไม่นานเกิน 1 นาที แล้วจะหายซึ่งเป็นอาการปกติ

บทความแนะนำ 4 พฤติกรรมควรหยุด!!! เมื่อรู้สึกท้องแข็ง

รับมืออย่างไร : ในกรณีที่อาการท้องแข็งเกิดขึ้นทุก 10 นาที ในขณะที่อายุครรภ์ก็ยังไม่ครบกำหนด กรณีนี้ต้องไปพบคุณหมอโดยด่วน อาจเป็นอาการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดได้

15. มือ/เท้า บวม

อิทธิพลของฮอร์โมนขณะตั้งครรภ์ทำให้มีการอมน้ำในอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายมากขึ้น ที่ปลายมือ หน้าแข้ง และเท้า มักเป็นส่วนที่ห้อยลงต่ำทำให้น้ำไหลลงมากองบริเวณนั้น ทำให้รู้สึกบวมกว่าอวัยวะอื่น ๆ ยิ่งอายุครรภ์แก่มากขึ้นเท่าไร อาการบวมจะมากขึ้น

รับมืออย่างไร : การออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่ควรนั่งหรือ ยืนนาน ๆ หากเกิดอาการบวมมากผิดปกติ เช่น หน้าบวม มือ เท้า บวมเป่งผิดปกติ อาจเกิดครรภ์เป็นพิษร่วมด้วยควรปรึกษาคุณหมอค่ะ

บทความแนะนำ 5 อาการยอดฮิตช่วงท้องไตรมาส 3

16. แพ้ท้อง

คนท้องส่วนใหญ่เมื่ออายุครรภ์ได้ประมาณ 1-2 เดือน มักจะเจอกับปัญหาคลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ หน้ามืดได้ กินอาหารแล้วอาเจียน เหม็นกลิ่นอาหารบางชนิด ชอบกินของเปรี้ยว บางรายแพ้จนใกล้คลอด แต่บางรายก็ไม่แพ้เลยก็มี ซึ่งอาการเหล่านี้มักถูกเรียกว่า “การแพ้ท้อง” อาการแพ้ท้องนั้นเป็นผลจากร่างกายมีการผลิตฮอร์โมน Human Chorionic Gonadotropin (HCG) มากขึ้นร่วมกับมีการเปลี่ยนแปลงของระบบเผาพลาญในร่างกายที่ทำงานมากขึ้น ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลต่ำจึงเกิดอาการเวียนศีรษะหน้ามืดได้

บทความแนะนำ เคล็ดลับบรรเทาอาการแพ้ท้องให้อยู่หมัด

รับมืออย่างไร : การแพ้ท้องเป็นกลไกของธรรมชาติ เหตุผลเพื่อเป็นการปกป้องไม่ให้มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปส่งผลต่อตัวอ่อน ของทารก การแพ้ท้องบางคนมีอาการรุนแรงมาก จนกินอาหารไม่ได้ แต่คุณแม่ไม่ต้องกังวล เพราะอาการแพ้ท้องเหล่านั้นจะค่อย ๆ ลดลงภายใน 3 เดือน

17. ตะคริว

การเกิดตะคริวขณะตั้งครรภ์นั้นเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ เนื่องจากร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก ระหว่างการตั้งครรภ์แต่ละช่วงกล้ามเนื้อฝืดไม่ยืดหยุ่น เมื่อน้ำหนักตัวคุณแม่เพิ่มขึ้น ขาทั้งสองข้างก็ต้องแบกรับน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้ระบบหมุนเวียนโลหิตที่ตึงแน่นเกินไปบริเวณขาจนเกิดตะคริวจากกล้ามเนื้อที่หดตัวขึ้นมาทันทีทันใด โดยมากมักจะเป็นกล้ามเนื้อบริเวณน่องหรือบริเวณปลายเท้า ไม่เฉพาะแต่การยืนหรือเดินเท่านั้น ท่านั่งก็อาจเกิดตะคริวได้ โดยเฉพาะคุณแม่ที่นั่งทำงานนาน ๆ ทำให้เลือดเดินไม่สะดวกเกิดของเสียบริเวณน่อง ทำให้กล้ามเนื้อหดตัวจนเกิดตะคริวขึ้นได้

บทความแนะนำ การเกิดตะคริวบริเวณท้องระหว่างตั้งครรภ์เป็นเรื่องปกติหรือไม่?

รับมืออย่างไร :

1. พยายามอย่ายืนหรือนั่งเป็นเวลานาน ๆ เพราะจะทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก หากเลือดไหลเวียนไม่สะดวกอาจจะเกิดของเสียอยู่ตามกล้ามเนื้อทำให้เป็นตะคริวได้ง่ายเช่นกัน

2. ฝึกยืดและผ่อนคลายกล้ามเนื้อบ่อย ๆ เช่น การนั่งเหยียดเท้าให้สุด แล้วสลับเหยียดกับกระดกปลายเท้าเข้าหาตัว

3. เลือกทานอาหารให้ครบถ้วน 5 หมู่ เน้นแคลเซียมให้มากหน่อยพักผ่อนให้เพียงพอ

4. เลือกรองเท้าให้เหมาะสมเพื่อป้องกันการเกร็งของเท้าและกล้ามเนื้อ รองเท้าควรจะมีส้นหนาเล็กน้อยเพื่อรับน้ำหนักตัวได้ดี

 

ได้ทราบกันแล้วนะคะว่า คุณแม่จะมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างไปอย่างไรบ้างหรือมีการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในช่วงตั้งครรภ์ที่มักจะได้พบเจอ ไม่ต้องกังวลไปนะคะ เพราะอาการเหล่านี้จะเป็นเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เมื่อคลอดแล้วเรามาฟิตแอนด์เฟิร์ม รูปร่างก็จะกลับมาสวยได้ดังเดิมค่ะ เป็นกำลังใจให้คุณแม่ทุกคน

ร่วมบอกเล่าและแชร์ประสบการณ์ในช่วงตั้งครรภ์ คลอดบุตร รวมถึงการเลี้ยงดูทารกน้อย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวอื่น ๆ กันนะคะ หากมีคำถามหรือข้อสงสัย ทางทีมงานจะหาคำตอบมาให้คุณ

อ้างอิง

https://www.parenting.com

https://www.ppat.or.th

https://www.thailovehealth.com

https://www.si.mahidol.ac.th

https://www.babytrick.com

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์เลี่ยงโรคทางพันธุกรรม

7 คำพูดที่แม่ท้องจะโดนทักตอนตั้งครรภ์