ไซนัสคืออะไร?
ไซนัส คือ โพรงอากาศที่อยู่ภายในกระดูกบริเวณรอบ ๆ จมูก มีรูเปิดเชื่อมกับโพรงจมูก โดยมีอยู่ 4 ตำแหน่งคือ ไซนัสบริเวณหน้าผาก (Frontal sinus) ไซนัสบริเวณระหว่างหัวตากับโคนจมูกทั้งสองข้าง (Ethmoid sinus) ไซนัสบริเวณโหนกแก้ม (Maxillary sinus) และไซนัสบริเวณใต้ฐานกระโหลกศรีษะ (Sphenoid sinus)
ไซนัสมีหน้าที่ช่วยปรับความดันอากาศภายในโพรงจมูกและเยื่อบุที่อยู่ในไซนัสยังช่วยสร้างน้ำมูกในการดักจับเชื้อโรค
ไซนัสอักเสบในเด็กเกิดขึ้นได้อย่างไร?
ไซนัสอักเสบในเด็ก มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรีย กลุ่มเดียวกับเชื้อโรคไข้หวัด โดยมักเริ่มจากการติดเชื้อไวรัสมาก่อนแล้วมีการติดเชื้อแบคทีเรียตามมา หรือมีการติดเชื้อแบคทีเรียหลังอาการจมูกอักเสบจากภูมิแพ้
อาการไซนัสอักเสบในเด็กเป็นอย่างไร?
อาการของไซนัสอักเสบเฉียบพลันในเด็กได้แก่ มีน้ำมูก คัดจมูก มีอาการไอ ร่วมกับอาจมีอาการปวดใบหน้าหรือศรีษะ มีไข้ นอนกรน มีกลิ่นปาก อาการเป็นมากขึ้นหลังจากเป็นมา 5 วัน หรือมีอาการไม่ดีขึ้นนานกว่า 10 วัน
หากมีอาการนานกว่า 12 สัปดาห์จะเรียกว่าเป็นไซนัสอักเสบเรื้อรัง
เด็กกลุ่มใดมีโอกาสเป็นไซนัสอักเสบได้ง่าย?
เด็กเล็กวัยอนุบาลและประถมนั้นมีโอกาสเป็นไซนัสอักเสบได้ง่ายเพราะมีการติดเชื้อทางเดินหายใจบ่อย ๆ และเด็กที่เป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้จะมีเยื่อบุภายในจมูกบวมเรื้อรังทำให้เกิดการอุดตันของรูเปิดไซนัสได้ง่ายจึงมีโอกาสเป็นไซนัสอักเสบได้บ่อยเช่นกันค่ะ
การรักษาไซนัสอักเสบควรทำอย่างไร?
เนื่องจากไซนัสอักเสบเป็นโรคติดเชื้อ ไม่ใช่โรคเรื้อรังจึงสามารถรักษาหายขาดได้ด้วยยาปฏิชีวนะ (สำหรับไซนัสอักเสบจากแบคทีเรีย) ในขนาดของยาและระยะเวลาที่เหมาะสม เช่นถ้าเป็นไซนัสอักเสบเฉียบพลัน ควรรับประทานยาอย่างน้อย 10-14 วัน หรือ ทานต่ออีก 7 วันหลังอาการดีขึ้น ถ้าเป็นชนิดเรื้อรังอาจต้องรับประทานยานานมากขึ้น การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือสะอาดจะช่วยระบายน้ำมูกและทำให้น้ำมูกไม่เหนียวข้น
นอกจากนี้การควบคุมโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ให้ดีและหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ก็เป็นการดูแลรักษาไซนัสอักเสบที่สำคัญนะคะ
ไซนัสอักเสบในเด็กสามารถป้องกันได้อย่างไร?
การป้องกันไซนัสอักเสบก็ใช้หลักเดียวกับการป้องกันการติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น ล้างมือให้สะอาด ไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อทางเดินหายใจ หากเด็กเริ่มเป็นหวัดมีการติดเชื้อก็ต้องรีบรักษา อย่าปล่อยทิ้งไว้เรื้อรัง และเด็กที่เป็นภูมิแพ้ต้องควบคุมอาการให้ดีค่ะ
รักษาอาการเมื่อลูกเป็นหวัด
5 นิสัยไม่ดีของพ่อแม่ที่จะทำให้ลูกเป็นหวัด
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!