เพราะสภาพอากาศร้อนจัดในช่วงนี้ ส่งผลกระทบต่อผู้ใหญ่และเด็กไม่น้อย โดยเฉพาะเด็กเล็กที่มีภูมิต้านทานร่างกายต่ำ ย่อมมีโอกาสป่วยได้ง่ายยิ่งขึ้น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ จึงได้ออกมาเตือนภัย โรค ไข้หวัดแดด ในเด็ก ภัยร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้จากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในช่วงหน้าร้อน
ไข้หวัดแดด คืออะไร?
เข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการ อากาศร้อนจัดและแสงแดดที่รุนแรง ส่งผลต่อสุขภาพเด็ก ๆ โดยเฉพาะในช่วงปิดเทอมที่เด็ก ๆ ออกไปเล่นกลางแจ้ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ หรือเดินทางท่องเที่ยวกับครอบครัว นพ.สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ จึงได้ออกมาเตือนผู้ปกครองให้ระวังโรคต่าง ๆ ที่เด็ก ๆ มีความเสี่ยงสูงในการป่วย เนื่องจากเด็กมีภูมิต้านทานที่น้อยกว่าผู้ใหญ่
ซึ่งหนึ่งในโรคเหล่านั้นก็คือไข้หวัดแดด โรคติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจที่มักพบในช่วงหน้าร้อน โดยเฉพาะเดือนเมษายน ถึง มิถุนายน ทำให้ร่างกายระบายความร้อนได้ยาก ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง
รู้ไว้ก่อน! ไข้หวัดแดด ไม่ได้เกิดจากแดดอย่างเดียว หมอเผยสาเหตุจากไข้หวัดใหญ่
ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2567 นพ.อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ ได้ออกมาเตือนภัย ถึงโรค ไข้หวัดแดด ที่มีสาเหตุเกิดมาจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ ในช่วงหน้าร้อน ซึ่งอุณหภูมิภายนอกสูง อาการแสดงของโรคถูกกระตุ้นจากอากาศร้อน ร่วมกับการรับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่เข้าสู่ร่างกาย
โดยจะมีอาการดังนี้:
- ไข้สูง
- อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
- ปวดศีรษะ
- คลื่นไส้
- อาเจียน
- เบื่ออาหาร
- ครั่นเนื้อครั่นตัว
- ผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการตาแดง ถึงขั้นมีอาการปวดแสบที่กระบอกตา ซึ่งกรณีนี้ต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะแสดงถึงอาการที่ร่างกายสะสมความร้อนไว้มาก ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที
บทความที่เกี่ยวข้อง : โรคที่มากับหน้าร้อน โรคฮิตสำหรับเด็ก พ่อแม่ต้องระวังอย่าให้ลูกป่วย
7 กลุ่มเสี่ยง ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่
เพื่อเป็นการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่และโรคไข้หวัดแดด นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาประกาศถึงความห่วงใยที่มีต่อประชาชน ให้บริการ ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฟรี ซึ่งจากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ โรคไข้หวัดใหญ่ มักเกิดการแพร่ระบาดบ่อยในฤดูฝน ส่งผลให้ประชาชนเกิดอาการป่วยเป็นไข้หวัดได้ง่าย รัฐบาลโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จึงได้เสนอแก้ไขปัญหานี้ ด้วยการเปิดให้บริการ ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ฟรี โดยจะเริ่มตั้งแต่ วันที่ 1 พฤษภาคม – 31 สิงหาคม 2567 หรือจนกว่าวัคซีนหมดแก่กลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่ม ดังนี้
1) เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี
กลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้
2) หญิงตั้งครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป
หญิงตั้งครรภ์มีภูมิต้านทานต่อโรคไข้หวัดใหญ่ลดลง ส่งผลต่อทั้งตนเองและทารกในครรภ์
3) ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง
ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคไต โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน
4) ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
กลุ่มนี้มีภูมิต้านทานต่ำและดูแลตนเองลำบาก เสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่
5) ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย
ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการ
6) ผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
ผู้สูงอายุมีภูมิต้านทานต่อโรคไข้หวัดใหญ่ลดลง เสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่รุนแรง
7) ผู้ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 100 กิโลกรัม หรือดัชนีมวลกายตั้งแต่ 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร
โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่นี้ ควรฉีด ปีละ 1 ครั้ง และสามารถฉีดได้ตั้งแต่ทุกเพศและทุกวัย นอกจากนี้ นายคารม ยังได้กล่าวอีกด้วยว่า หากใครพบว่าตนเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงป่วยรุนแรง และสงสัยว่ามีอาการไข้หวัดใหญ่ โดยมีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว มีน้ำมูก ควรรีบพบแพทย์และเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ อย่าปล่อยไว้นานค่ะ
วิธีการดูแลป้องกันโรค ไข้หวัดแดด
นอกจากนี้ คุณหมอยังได้แนะนำถึงวิธีการดูแลป้องกันโรคไข้หวัดแดด ดังนี้
1) การพักผ่อนและโภชนาการ
- เด็ก ๆ ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ประมาณ 8-10 ชั่วโมงต่อวัน
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นผักผลไม้
- ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ เพื่อชดเชยเหงื่อที่เสียไปในฤดูร้อน
2) สุขอนามัย
- ล้างมือบ่อย ๆ หรือพกเจลล้างมือติดตัวไว้
- ออกกำลังกายเป็นประจำ
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยเป็นหวัด
- ผู้ปกครองควรทำความสะอาดบ้าน ของเล่นที่เด็กใช้อยู่เป็นประจำ
- หลีกเลี่ยงการพาเด็กไปในสถานที่ที่มีคนแออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก เช่น ตลาดนัด โรงภาพยนตร์
3) การฉีดวัคซีน
- เด็กควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ เริ่มฉีดได้ตั้งแต่เด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป และฉีดกระตุ้นซ้ำทุกปี
4) ข้อควรระวัง
- เด็ก ๆ ควรหลีกเลี่ยงการเผชิญกับแสงแดดจัด หรืออยู่ในสถานที่อากาศร้อนจัด
- สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี
- หมั่นเช็ดตัวเพื่อระบายความร้อนภายใน
การดูแลสุขภาพลูกน้อยให้แข็งแรง ปลอดภัยจากโรคไข้หวัดแดด เป็นสิ่งที่สำคัญ ผู้ปกครองควรใส่ใจดูแลลูกน้อยอย่างใกล้ชิด เพียงเท่านี้ คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถมั่นใจได้ว่าลูกน้อยของคุณจะแข็งแรง ปลอดภัย ไร้กังวล และสนุกสนานกับช่วงหน้าร้อนได้อย่างเต็มที่ค่ะ
ที่มา: Thaipbs, Spring news, Bangpakok Hospital
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
5 โรคหน้าร้อนที่เด็กต้องระวัง
อากาศร้อนจัด! พบผู้ป่วย โรคฮีทสโตรก ในแพร่ 5 ราย ส่ง รพ. ด่วน เสียชีวิต 2 ราย
ลูกชักจากไข้สูง อาการชักจากไข้สูงในเด็กอันตรายแค่ไหน? พ่อแม่ควรรับมืออย่างไร
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!