คุณภาพการนอนหลับเท่ากับคุณภาพชีวิตที่ดี ยิ่งในวัยทารกด้วยแล้วการนอนถือเป็นอาหารสมองของลูกน้อยค่ะ เพราะไม่เพียงร่างกายได้พักผ่อนเท่านั้น หากยังช่วยให้ลูกสดชื่นแจ่มใส อารมณ์ดี พร้อมเรียนรู้และจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างแม่นยำ แต่คุณแม่หลายคนอาจเคยได้ยินคำกล่าวหรือความเชื่อที่ว่า “ทารกควรตื่นมาเล่นบ้าง ไม่อย่างนั้นอาจจะปัญญาอ่อน” แน่นอน… ว่าน่าจะเป็นสิ่งที่สร้างความกังวลให้คุณพ่อคุณแม่ ดังนั้น เราจะมาค้นหาความจริงกันว่า ทารกนอนนาน ต้องปลุกไหม ทารกนอนนานเกินไป เสี่ยงปัญญาอ่อนจริงหรือเปล่า
การนอนของลูกสำคัญอย่างไร
วัยทารก สมองกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว การนอนหลับเป็นช่วงเวลาที่สมองได้พักผ่อนและสร้างเซลล์ประสาทใหม่ ๆ มีการหลั่งของฮอร์โมนการเจริญเติบโต (Growth Hormone) ที่ส่งผลต่อการความสูง ระบบประสาทและสมองได้พัก การนอนหลับมีส่วนช่วยในการประมวลผลข้อมูลที่ได้รับในระหว่างวัน และช่วยให้ทารกจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้นเมื่อได้นอนเต็มอิ่ม ตื่นขึ้นมาก็พร้อมจะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา
การนอนหลับยังช่วยร่างกายในการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และสร้างฮอร์โมนที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต การนอนของทารกจึงมีความสำคัญมาก โดยทารกจะมีภาวะหลับตื่นสลับกันไปตลอดทั้งวัน แต่เมื่ออายุได้ประมาณ 4 เดือนจะเริ่มหลับกลางคืนได้ยาวประมาณ 6 ชั่วโมง และจะสามารถหลับได้นานถึง 10 ชั่วโมงเมื่ออายุ 6 เดือน
ทารกแต่ละวัยควรนอนนานเท่าไร
ทารกแต่ละช่วงอายุนั้นต้องการพักผ่อนมากน้อยต่างกัน แต่ระยะเวลาในการนอนโดยเฉลี่ยของทารกควรเป็นดังนี้
- ทารกแรกเกิด – 2 เดือน มักมีช่วงหลับมากกว่าตื่น ซึ่งร่างกายลูกน้อยวัยนี้ต้องการพักผ่อนประมาณ 11-18 ชั่วโมงต่อวัน คือ จะนอนกลางวันประมาณ 8-9 ชั่วโมง และนอนกลางคืนประมาณ 8 ชั่วโมง โดยอาจนอนหลับครั้งละไม่เกิน 1-2 ชั่วโมง หรือนานกว่านั้นถ้ากินอิ่ม บางคนตื่นกลางดึกเพราะหิว หรือหลับได้ยาวนานติดต่อกันเพราะกินอิ่มมาก ๆ และหลังจากวัย 2 เดือนขึ้นไปลูกจะต้องการนอนน้อยลง คือ 11-15 ชั่วโมงต่อวัน
- วัยอายุ 3-6 เดือน ลูกน้อยวัยนี้มักหิวตอนกลางคืนน้อยลง ทำให้หลับได้นานขึ้น ซึ่งอาจนานถึง 8 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น และเวลานอนกลางวันก็อาจลดลงตามไปด้วย
- ทารกวัย 6-12 เดือน ทารกวัยนี้บางคนอาจไม่รู้สึกหิวตอนกลางคืนเลย มักนอนหลับได้ตลอดทั้งคืนจนถึงเช้า โดยสามารถนอนหลับในตอนกลางคืนได้นานถึง 12 ชั่วโมง
- วัย 12 เดือน – 2 ปี เป็นช่วงวัยที่เริ่มนอนหลับได้อย่างต่อเนื่องและยาวนานขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ลูกน้อยวัยนี้จะนอนหลับประมาณ 12-15 ชั่วโมง
ทารกนอนนาน ต้องปลุกไหม
ทารกนอนนาน ต้องปลุกไหม ส่วนใหญ่คุณแม่มักอิ่มอกอิ่มใจที่เห็นลูกนอนหลับได้นาน โดยเฉพาะคุณแม่มือใหม่มักคิดว่าเป็นเรื่องดีที่ลูกจะได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเต็มที่ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เด็กนอนมากจนเกินไป หรือนอนน้อยเกินไป ถือว่าผิดปกติ ยิ่งการนอนนานและกินนมน้อยด้วยอาจถือได้ว่าผิดปกติค่ะ
ซึ่งปกติทารกแรกเกิด – 3 เดือน จะร้องไห้และตื่นบ่อย เพราะหิวบ่อย โดยเฉพาะทารกที่กินนมแม่เนื่องจากระบบการทำงานของกระเพาะอาหารดี ย่อยง่าย จึงหิวบ่อยและตื่นบ่อยทุก ๆ 2-3 ชั่วโมงเพื่อกินนม ทั้งในตอนกลางวันและกลางคืน
กรณีลูกน้อยวัยแรกเกิด – 3 เดือน หลับยาวทั้งกลางวันและกลางคืน 3 ชั่วโมงติดต่อกันโดยไม่ตื่น ไม่ร้องกินนม คุณแม่ควรปลุกลูกให้ตื่นขึ้นมากินนมค่ะ เพื่อเสริมพัฒนาการที่ดีให้ลูก ทำให้ร่างกายของทารกได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ มีการเจริญเติบโตตามวัย ทั้งยังช่วยกระตุ้นให้น้ำนมแม่ไหลดีขึ้นด้วย
สัญญาณที่บอกว่า ทารกนอนนานเกินไป
อย่างที่บอกค่ะว่ากรณีที่ลูกน้อยนานเกินเวลาที่ควรจะตื่นมากินนม ควรแม่ต้องปลุก เพื่อให้ลูกได้นอนและกินอย่างเพียงพอตามพัฒนาการ อย่างไรก็ตาม หากทารกนอนนานและมีอาการต่อไปนี้
- นอนแบบไม่ยอมตื่น แม้คุณแม่จะพยายามปลุกแล้วก็ตาม
- ลูกน้อยดูมีอาการซึม ไม่ค่อยร่าเริง ไม่สนใจสิ่งรอบข้าง
- ทารกมีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
อันเป็นอาการที่เป็นสัญญาณบอกว่า ทารกนอนนานเกินไป คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจสอบสาเหตุและรับคำแนะนำที่เหมาะสมนะคะ
ทารกนอนนานเกินไป เสี่ยงปัญญาอ่อนจริงหรือเปล่า
หากทารกนอนยาวต่อเนื่องเกิน 5 ชั่วโมง อาจเป็นสัญญาณที่บอกว่าลูกน้อยกำลังป่วยอยู่ แต่ ทารกนอนนานเกินไป อาจไม่ถึงขั้นที่จะมีความเสี่ยงปัญญาอ่อน และไม่ได้หมายความว่าทารกจะมีพัฒนาการทางด้านสติปัญญาที่ล่าช้าเสมอไป ซึ่งการที่ทารกนอนหลับนานอาจเกิดจากหลายสาเหตุ อาทิ ลูกน้อยได้รับอาหารครบถ้วนและอิ่มท้อง สภาพแวดล้อมภายในบ้านที่เอื้อต่อการนอนหลับ ห้องนอนที่เงียบสงบ อุณหภูมิเหมาะสม และแสงสว่างน้อย
อย่างไรก็ตาม การนอนของลูกน้อยสามารถเป็นสัญญาณเตือนถึงปัญหาสุขภาพ หรือบ่งบอกถึงความผิดปกติอื่น ๆ ได้เช่นกัน โดยเมื่อทารกอายุได้ประมาณ 6 เดือน การนอนหลับจะเริ่มยาวนานขึ้น ขณะที่บางคนอาจมีปัญหาในการนอนซึ่งอาจสังเกตได้จากอาการหรือพฤติกรรม เช่น นอนหลับยาก นอนกรน หายใจไม่สม่ำเสมอขณะหลับ อาจเกิดจากความเหนื่อยล้า อากาศที่ร้อนหรือเย็นเกินไป
นอกจากนี้ ทารกบางคนอาจตื่นกลางดึกมากขึ้นเนื่องจากมีภาวะวิตกกังวลหรือกลัวการแยกจาก เช่น การแยกที่นอน การแยกห้องนอน โดยคุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตได้จากการที่ลูกตื่นและร้องไห้ในตอนกลางคืนอย่างน้อย 1 ครั้ง ร้องไห้หนัก หรือโวยวายเมื่อพ่อแม่ไม่อยู่ด้วยตอนจะนอน และไม่ยอมนอนหากพ่อแม่ไม่อยู่ใกล้ ๆ หรือนอนด้วยกัน
หากสังเกตเห็นว่าทารกมีปัญหาในการนอนหลับ หรือมีรูปแบบการนอนหลับผิดปกติ ควรปรึกษาคุณหมอ เพราะอาจเป็นสัญญาณว่าทารกเป็นโรคเกี่ยวกับการนอน เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการนอนหลับ เช่น กรดไหลย้อน การติดเชื้อที่หู โรคระบบทางเดินปัสสาวะ โรคระบบทางเดินหายใจ การแพ้นมวัว ซึ่งควรได้รับการรักษาทันที
เพื่อคุณภาพการนอนหลับของลูกน้อย คุณแม่ควรพยายามกำหนดตารางหรือสร้างวินัยการนอนที่สม่ำเสมอให้กับลูก รวมถึงสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการนอนหลับของลูก และหมั่นสังเกตว่าลูกมีพัฒนาการตามวัยหรือไม่ เมื่อมีข้อสงสัยหรือความกังวลใจใด ๆ เกี่ยวกับการนอนของลูก เป็นต้นว่า ทารกนอนนาน ต้องปลุกไหม ทารกนอนนานเกินไป เสี่ยงปัญญาอ่อนจริงหรือเปล่า แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อความสบายใจและเพื่อได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องเหมาะสมที่สุดสำหรับลูกน้อยนะคะ
ที่มา : www.rama.mahidol.ac.th , www.drugsquare.co.th , th.rajanukul.go.th , sriphat.med.cmu.ac.th , hellokhunmor.com
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ทารก 6 เดือน หลับเร็วผิดปกติ ก่อนหมอเผยว่าเป็น โรคทารกถูกเขย่า
วิธีแก้ทารกไม่ถ่าย ทำยังไงให้ลูกน้อยถ่ายง่าย ท้องไม่ผูก
ลูกกินนมน้อย ผิดปกติไหม ต้องแก้ไขอย่างไร
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!