ปัญหา “ทารกไม่ถ่าย” เป็นอีกหนึ่งเรื่องน่ากังวลใจที่คุณพ่อคุณแม่หลายบ้านต้องเผชิญ ซึ่งสาเหตุที่ทารกไม่ถ่ายอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งทางกายภาพและพฤติกรรม นอกจากนี้ปัญหาลูกน้อยท้องผูก ถ่ายยาก ไม่ยอมถ่าย ยังอาจส่งผลต่อเนื่องไปถึงระบบการทำงานของร่างกายและพัฒนาการของลูกด้วย ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องมี วิธีแก้ทารกไม่ถ่าย รวมถึงเรียนรู้สาเหตุและสังเกตอาการหนัก-เบาของลูกเพื่อแก้ไขในเบื้องต้นด้วย
ลูกถ่ายแบบไหนเรียกว่า “ปกติ”
สำหรับ ทารกแรกเกิดจนถึงอายุ 3 เดือน โดยปกติแล้วจะถ่ายวันละประมาณ 2–3 ครั้ง หรือสัปดาห์ละ 5–40 ครั้งค่ะ กระทั่งเข้าสู่ช่วงวัย 3–6 เดือน จึงจะถ่ายวันละ 2–4 ครั้ง
ส่วน ทารกอายุ 6 เดือนขึ้นไป อาจถ่ายวันละประมาณ 1–2 ครั้ง หรือสัปดาห์ละ 5–28 ครั้ง โดยอาจไม่ได้ถ่ายทุกวัน ซึ่งกรณีนี้ไม่ได้บ่งบอกว่ามีอาการท้องผูกเสมอไปนะคะ คุณแม่ควรสังเกตอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย อาทิ ลักษณะอุจจาระมีความแข็งหรือมีเลือดปนออกมาหรือเปล่า เป็นต้น
สาเหตุทารกไม่ถ่าย
การที่ทารกไม่ถ่ายหรือมีภาวะท้องผูกนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุค่ะ โดยสามารถแบ่งสาเหตุตามช่วงอายุของทารกได้เป็น 2 ช่วงวัย คือ
ความเสี่ยงของลูกน้อยวัยแรกเกิดถึง 6 เดือน ที่จะเกิดอาการท้องผูก หรือทารกไม่ถ่าย เกิดได้จากทั้งปัญหาสุขภาพของทารกเอง จากน้ำนมที่กิน รวมถึงการคลอดก่อนกำหนดค่ะ
- สุขภาพของทารก กรณีลูกอายุน้อยกว่า 1 เดือนมีอาการไม่ยอมถ่าย ถ่ายยาก ท้องผูก ควรได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจเป็นอาการของภาวะลำไส้ใหญ่โป่งพองแต่กำเนิด (Hirschsprung’s Disease: HD) ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทารกประมาณ 1 ใน 5,000 คน
- น้ำนม ส่วนใหญ่ลูกน้อยที่กินนมแม่มักไม่เกิดปัญหาทารกไม่ถ่าย หรือปัญหาท้องผูก เนื่องจากน้ำนมแม่มีแบคทีเรียชนิดดี รวมถึงไขมันและโปรตีนที่ช่วยให้อุจจาระไม่แข็งตัว ช่วยให้ลูกถ่ายง่าย แต่ก็มีบางกรณีเช่นกันที่ลูกน้อยอาจถ่ายไม่ออก เนื่องจากแพ้โปรตีนในน้ำนม หรือจากอาหารบางอย่างที่คุณแม่กินเข้าไป
- คลอดก่อนกำหนด เด็กที่คลอดก่อนกำหนดแล้วมีปัญหาไม่ยอมถ่าย ถ่ายยาก ท้องผูก จะมีอาการแย่กว่าเด็กทั่วไปค่ะเนื่องจากระบบย่อยอาหารยังเจริญไม่เต็มที่ สิ่งที่กินเข้าไปเคลื่อนผ่านทางเดินอาหารช้าและย่อยได้ไม่สมบูรณ์ ทำให้อุจจาระของทารกมีลักษณะแห้งและแข็ง
-
ทารกที่มีอายุ 6 เดือนขึ้นไป
ในช่วงวัย 6 เดือนขึ้นไป สภาพร่างกายของทารกรวมถึงอาหารการกินอาจมีการเปลี่ยนแปลง เช่น มีการเพิ่มนมผงเข้ามาเป็นอาหารเสริม หรือเริ่มให้ลูกกินอาหารชนิดอื่นนอกเหนือจากนมแม่ อาจทำให้มีปัจจัยที่ทำให้ทารกไม่ถ่ายเพิ่มเข้ามาได้ค่ะ
- การกินนมชง หรือนมผง ในเด็กทารกที่กินนมผงเพียงอย่างเดียวนั้นมีความเสี่ยงในการที่ทารกไม่ถ่ายได้มากค่ะ เนื่องจากนมชง หรือนมผงมีส่วนผสมที่อาจทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานมากขึ้น อุจจาระเป็นก้อน อีกทั้งหากลูกแพ้โปรตีนในน้ำนมก็จะยิ่งทำให้ถ่ายยาก หรือท้องผูก
- อาหารที่เปลี่ยน หลังเปลี่ยนจากการดื่มนมแม่มาเป็นการกินอาหารอื่น ๆ อาจทำให้ลูกไม่ถ่ายได้เช่นกัน เนื่องจากร่างกายไม่ได้รับของเหลวในปริมาณเท่าเดิม รวมถึงอาหารบางประเภทอาจมีเส้นใยต่ำ ทำให้ท้องผูกได้ง่าย
- เกิดภาวะขาดน้ำ บางครั้งทารกอาจประสบภาวะขาดน้ำ หรือได้รับน้ำไม่เพียงพอ ทำให้ร่างกายดูดซึมน้ำจากอาหารที่กินเข้าไป และน้ำจากกากของเสียในร่างกาย จนอุจจาระแห้งและแข็ง
- อาการป่วยและยา สาเหตุจากปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่นไฮโปไทรอยด์โบทูลิซึม (Botulism) การแพ้อาหารบางชนิด โรคเกี่ยวกับระบบการเผาผลาญอาหาร รวมถึงอาการป่วยอื่น ๆ ที่อาจส่งผลให้ทารกกินอาหารหรือน้ำน้อยลง ทำให้ระบบการทำงานของร่างกายผิดปกติ ทารกไม่ถ่าย นอกจากนี้ การใช้ยาระงับปวดบางชนิดหรือธาตุเหล็กในปริมาณสูงก็เป็นสาเหตุได้
วิธีแก้ทารกไม่ถ่าย ทำยังไงให้ลูกน้อยถ่ายง่าย
สำหรับ ทารกอายุน้อยกว่า 6 เดือน ที่ส่วนใหญ่ดื่มนมแม่เพียงอย่างเดียว มักค่อยมีปัญหาถ่ายยาก ไม่ถ่าย หรือท้องผูก เพราะในน้ำนมแม่มีส่วนประกอบของโพรไบโอติก (Probiotics) ซึ่งเป็นแบคทีเรียในลำไส้ชนิดดี และพรีไบโอติก (Prebiotics) อันเป็นอาหารกระตุ้นการเติบโตและเสริมความแข็งแรงให้กับโพรไบโอติก ทำให้กระบวนการย่อยอาหารและปรับสมดุลของลำไส้ดี ไม่ค่อยมีปัญหาท้องผูกนั่นเอง แต่ภาวะท้องผูกของทารกอาจเกิดจากการแพ้อาหารที่แม่กินได้ ดังนั้น แม่ให้นมจึงควรเลี่ยงอาหารที่ส่งผลต่อการขับถ่ายของลูกค่ะ
แต่หากทารกวัยแรกเกิดถึง 6 เดือน ไม่ได้กินนมแม่ แต่กินนมผง นมชง คุณแม่ควรสังเกตว่าลูกไม่ถ่ายเพราะภาวะแพ้โปรตีน หรือแพ้ส่วนผสมใดในนมผงที่กินหรือไม่ จากนั้นควรปรึกษาแพทย์เพื่อเปลี่ยนนมผงที่เหมาะสมสำหรับช่วงวัยและภาวะสุขภาพของลูก ก็จะมีส่วนช่วยคลี่คลายปัญหาทารกไม่ถ่ายได้
วิธีแก้ทารกไม่ถ่าย สำหรับวัย 6 เดือนขึ้นไป สำหรับลูกน้อยอายุ 6 เดือนขึ้นไปที่สามารถกินอาหารอย่างอื่นนอกเหนือจากนมแม่ได้บ้างแล้ว คือคุณพ่อคุณแม่ควรปรับการกินอาหารของลูกเพื่อป้องกันปัญหาท้องผูกค่ะ
- เปลี่ยนการให้นม โดยทารกที่กินนมแม่ควรเพิ่มปริมาณน้ำนมให้มากขึ้น ให้นมบ่อยขึ้น หรือปั๊มนมเก็บไว้ให้ลูกกินเพิ่มเติม ส่วนกรณีทารกกินนมผง นมชง คุณแม่อาจลองปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมเพื่อเปลี่ยนยี่ห้อสูตรนมผงที่เหมาะสมกับลูกน้อย เนื่องจากลูกอาจแพ้ส่วนผสมบางอย่างในนมผงที่กิน
- เติมน้ำผลไม้ในนม อาทิ ผสมน้ำแอปเปิ้ล น้ำลูกแพร์ หรือน้ำลูกพรุนลงไปในนมชง หรือน้ำนมแม่ อาจบรรเทาอาการท้องผูกได้ แต่ไม่ควรกินในปริมาณมากเกินไป ไม่ควรเกินวันละประมาณ 30-60 มิลลิลิตร
- เพิ่มใยอาหาร ในช่วงวัย 6 เดือนที่ลูกน้อยเพิ่งเริ่มกินอาหารอื่น คุณแม่ควรเลี่ยงอาหารที่อาจส่งผลให้ลูกท้องผูกได้ โดยควรลดข้าว กล้วยและแครอทสุก หรือเลี่ยงการกินข้าวกับกล้วย เนื่องจากจับตัวเหนียวเป็นก้อนได้ง่าย ย่อยยาก และควรให้ลูกน้อยกินอาหารที่มีเส้นใยมากขึ้น เช่น บร็อคโคลี่ ลูกพรุน ลูกแพร์ ลูกพีช แอปเปิ้ล ธัญพืชปรุงสุก ขนมปังธัญพืช ซึ่งหากทารกยังไม่ได้เปลี่ยนมากินอาหารอื่น อาจนำผักผลไม้มาบดละเอียดให้กินแทนได้
- ดื่มน้ำมากขึ้น น้ำเปล่าและนมจะช่วยให้ร่างกายของทารกชุ่มชื้นและขับถ่ายได้สม่ำเสมอ จึงควรให้ลูกน้อยดื่มน้ำอย่างเพียงพอนะคะ
- นวดท้อง การนวดท้องลูกน้อยเบา ๆ บริเวณท้องส่วนล่างด้านซ้ายซึ่งอยู่ใต้สะดือประมาณ 3 นิ้วมือ ตามเข็มนาฬิกา ประมาณ 3 นาที จะช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้และเป็น วิธีแก้ทารกไม่ถ่าย ให้ถ่ายได้ง่ายขึ้นค่ะ
- ตำแหน่งการอุ้มลูก การอุ้มลูกในท่าที่ให้เข่าสูงกว่าสะโพก ซึ่งแรงโน้มถ่วงจะมีส่วนช่วยในการขับถ่ายของลูกได้
วิธีแก้ทารกไม่ถ่าย อาการแบบไหนควรพาลูกไปพบแพทย์
แม้จะมีวิธีแก้ทารกไม่ถ่าย ในเบื้องต้น แต่หากสังเกตอาการลูกน้อยแล้ว ไม่ดีขึ้น หรือทารกมีอาการต่อไปนี้ คุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันทีนะคะ
- ท้องอืด ท้องป่องและแข็ง
- ลูกร้องไห้มาก ร้องไห้บ่อยและเสียงร้องแหลม
- เบ่งแรง เบ่งขณะถ่ายอุจจาระแต่ถ่ายไม่ออก
- มีเลือดออก ปนออกมาในอุจจาระ
- น้ำหนักตัวไม่ขึ้น ตามเกณฑ์มาตรฐาน
วิธีแก้ทารกไม่ถ่าย สามารถดูแลได้ด้วยการใส่ใจพฤติกรรมการกินและการเคลื่อนไหวของลูกน้อย แต่หากยังไม่ได้ผล หรืออาการลูกไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการใช้ที่ถูกต้องและปลอดภัยนะคะ ไม่ควรซื้อยามาใช้เองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ค่ะ
ที่มา : www.pobpad.com , www.punnita.com
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
สาเหตุ ทารก ไม่ยอมนอนตอนกลางคืน อันตรายไหม แก้ไขอย่างไร
จุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร ทารกไม่สมดุล ระวังลูกเป็นโรค!
ลูกก้นแดง เกิดจากอะไร รุนแรงไหม ต้องทำอย่างไรถึงหาย ?
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!