เคยไหมที่ลูกน้อยของคุณร้องไห้งอแง โวยวาย เพียงเพราะทำอะไรไม่สำเร็จ หรือทำอะไรได้ไม่ดีในแบบที่เขาหวังไว้ จนไม่อยากทำต่อ? พฤติกรรมเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าลูกของคุณกำลังเผชิญกับ ความกลัวที่จะล้มเหลว ซึ่งความรู้สึกแบบนี้อาจส่งผลต่ออารมณ์และพฤติกรรมของพวกเขาในระยะยาวได้ คุณพ่อคุณแม่จึงมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้เด็ก ๆ ก้าวข้ามความกลัวความผิดพลาด เปลี่ยนมุมมองต่อความล้มเหลว และเสริมสร้างความมั่นใจให้เด็ก ๆ กล้าที่จะลอง กล้าที่จะเผชิญหน้า และกล้าที่จะก้าวต่อไป วันนี้ทาง theAsianparent ได้รวบรวมคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงดู เพื่อช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ปลูกฝังพลังบวกในลูกน้อย ก้าวข้าม ความล้มเหลว เปลี่ยนความผิดพลาดเป็นบทเรียน และนำไปสู่ความสำเร็จในชีวิตกันค่ะ
สังคมหล่อหลอมเด็กอย่างไร? : เปลี่ยนมุมมองต่อ ความล้มเหลว
ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า เพราะในยุคปัจจุบันนี้เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลง การแข่งขัน และความท้าทาย สังคมหล่อหลอมให้เราโฟกัสไปที่ “ความสำเร็จ” หลาย ๆ ครอบครัวต่างใฝ่ฝันให้ลูก ๆ ของตนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุข ประสบความสำเร็จและพร้อมรับมือกับโลกกว้าง แนวโน้มนี้ส่งผลให้เด็ก ๆ เผชิญกับ “ความกดดัน” มากมาย
เด็ก ๆ ถูกคาดหวังให้ประสบความสำเร็จในทุกด้าน สิ่งนี้สร้างความเครียด ความวิตกกังวล และความกลัวความล้มเหลว เด็ก ๆ บางคนอาจสูญเสียความมั่นใจ ไม่กล้าที่จะลองสิ่งใหม่ ๆ และอาจประสบปัญหาในการปรับตัวเข้ากับสังคมใหม่ ๆ
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ลูกก้าวข้ามผ่านความกลัว ความกังวล เหล่านี้ไปได้ สิ่งที่สำคัญคือพ่อแม่เข้าใจ และสอนให้ลูกรู้จักเรียนรู้ที่จะรับมือกับอุปสรรคเหล่านี้ ได้ตั้งแต่ยังเด็ก “การล้มและลุก” เป็นบทเรียนชีวิตที่มีค่า พ่อแม่ควรสอนให้ลูกเข้าใจและยอมรับความผิดพลาด มองความล้มเหลวเป็นโอกาสในการเรียนรู้ ช่วยให้เด็กเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่กล้าคิด กล้าลอง ไม่กลัวความล้มเหลว และเป็นกุญแจสำคัญที่จะผลักดันให้ลูกประสบความสำเร็จในชีวิต
5 แนวทาง “เลี้ยงลูกยุคใหม่”: สอนลูกก้าวข้ามความกลัว ความล้มเหลว
1) มองความผิดพลาดเป็นบทเรียน
เมื่อเราเผชิญกับความผิดพลาด เป็นเรื่องปกติที่เราจะรู้สึกหงุดหงิด ไม่พอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่รู้หรือไม่ว่า “การแสดงออก” ของเราต่อความผิดพลาดเหล่านั้น ล้วนเป็น “แบบอย่าง” สำคัญที่ส่งผลต่อลูก ๆ ของเรา
Carol Dweck และ Kyla Haimovitz นักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้เผยว่า เด็ก ๆ มักเรียนรู้และซึมซับพฤติกรรมหรือการแสดงออกต่อความล้มเหลวมาจากผู้ใหญ่ ส่งผลต่อความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมของพวกเขา หากพ่อแม่แสดงความรู้สึกเชิงลบ หงุดหงิด หรือท้อแท้ ต่อความล้มเหลว ลูก ๆ ก็อาจซึมซับพฤติกรรมเหล่านั้น และมองความผิดพลาดเป็นจุดจบ ส่งผลต่อความมั่นใจและความกล้าที่จะเผชิญหน้ากับความท้าทาย
ในทางกลับกัน หากพ่อแม่มองความล้มเหลวเป็นจุดเปลี่ยน เป็นโอกาสในการเรียนรู้ และก้าวต่อไป ลูก ๆ ก็มีแนวโน้มที่จะมองความผิดพลาดในแง่เดียวกัน
2) ชื่นชมความพยายาม มากกว่าความสมบูรณ์แบบ
การที่ลูกพยายามอย่างเต็มที่แล้ว แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ พ่อแม่ไม่ควรแค่บอกว่า “พยายามอีกหน่อยสิ” แต่เราควร พูดคุยถึงเทคนิคหรือวิธีการใหม่ ๆ ที่อาจจะช่วยลูกได้ในครั้งต่อไป แทนที่จะพูดประโยคที่เน้นไปที่ความสามารถ เช่น “ไม่เป็นไรหรอก สิ่งนี้อาจจะไม่ใช่จุดแข็งของหนู” เราควรสอนให้ลูกรู้ว่า ผลลัพธ์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสามารถเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับ ความพยายาม การฝึกฝน การเรียนรู้เทคนิค และ ความมุ่งมั่น
บทความที่เกี่ยวข้อง: ลูกเรียนรู้ด้วยตนเอง ได้ผลดีกว่าการไปบังคับกดดัน หรือไม่?
3) รักและสนับสนุนลูกในแบบที่ลูกเป็น
ศาสตราจารย์ Matt Covington จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ เคยกล่าวไว้ว่า “ความกลัวการผิดพลาด” หรือ “ความกลัวที่จะล้มเหลว” ส่งผลต่อความรู้สึก คุณค่าในตัวเองของเด็ก เด็ก ๆ มักเชื่อมโยงคุณค่าของตัวเองเข้ากับสิ่งที่พ่อแม่คิดเห็นเกี่ยวกับพวกเขา ตัวอย่างเช่น เด็กอาจรู้สึกว่า พ่อแม่จะไม่รัก หรือ ชมเชยหากเขาทำได้ไม่ดีพอ ซึ่งความเชื่อเหล่านี้ส่งผลโดยตรงต่อความกลัวการผิดพลาดหรือล้มเหลวของเด็ก
วิธีที่จะช่วยให้ลูกน้อยหลุดพ้นจากความคิดนี้ คือการที่คุณพ่อคุณแม่ปลูกฝังความรักที่ไม่เงื่อนไขให้กับลูก เช่น
บอกรักลูก ๆ กอด หอม และใช้เวลากับพวกเขา แม้ว่าจะไม่ได้ทำอะไรพิเศษ
อยู่เคียงข้างลูก ๆ ให้กำลังใจเมื่อพวกเขาเผชิญกับอุปสรรค สอนให้พวกเขามองโลกในแง่ดี คิดบวก และไม่ท้อถอย
แม้ว่าลูกจะไม่ประสบความสำเร็จ ชื่นชมความพยายาม ความตั้งใจ และความอดทนของพวกเขา
- สร้างบรรยากาศในครอบครัวที่อบอุ่น ปลอดภัย และสนับสนุน
ช่วยให้ลูก ๆ รู้สึกมั่นใจ กล้าที่จะลองสิ่งใหม่ ๆ และกล้าที่จะแสดงออก
การปลูกฝังความคิดแบบนี้ ก็จะช่วยให้ลูกลดความเชื่อที่ว่าเขาจะเป็นที่รักก็ต่อเมื่อทำอะไรบางอย่างสำเร็จ
4) วางแผนรับมือกับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด
Tim Ferriss นักธุรกิจ นักเขียน และวิทยากรชื่อดัง มีเทคนิคการรับมือกับความกลัวที่เรียกว่า ฝึกคิดถึงสถานการณ์เลวร้ายที่สุด (Worst-Case Scenario) โดยใช้การระดมความคิดแบบ 3 คอลัมน์
- ช่องที่ 1: ลิสต์สถานการณ์เลวร้ายที่สุดที่คิดว่าจะเกิดขึ้น
- ช่องที่ 2: ลิสต์วิธีการป้องกันไม่ให้สถานการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้น
- ช่องที่ 3: ลิสต์วิธีการรับมือฟื้นฟูตัวเองหากสถานการณ์เลวร้ายเกิดขึ้นจริง
Tim Ferriss กล่าวว่า หลังจากทำแบบฝึกหัดนี้แล้ว คุณจะรู้สึกโล่งใจและเข้าใจว่า สิ่งที่คุณกังวลอยู่นั้น อาจจะป้องกันได้ แก้ไขได้ หรือจริง ๆ แล้วมันอาจจะไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิดเลยก็ว่าได้
ในทำนองเดียวกัน คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้เทคนิค “ฝึกคิดถึงสถานการณ์เลวร้ายที่สุด” กับลูกน้อยของคุณได้เช่นกัน วิธีนี้ช่วยให้ลูกน้อยเข้าใจว่า “ความกลัวความล้มเหลว” ส่วนใหญ่มักไม่มีเหตุผล เราสามารถชี้ให้ลูกเห็นว่า ในหลาย ๆ สถานการณ์ พวกเขาสามารถทำอะไรบางอย่าง เพื่อป้องกันผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ สิ่งนี้จะช่วยให้ลูก ๆ รู้สึกมีพลัง และควบคุมสถานการณ์ได้มากขึ้น
5) สอนให้ลูกเรียนรู้จากทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว
ผลการศึกษาล่าสุดจากนักวิจัยชาวฝรั่งเศสเผยว่าเด็ก ๆ ที่ได้รับการบอกกล่าวว่า การเรียนรู้ย่อมมีอุปสรรค และความล้มเหลวเป็นส่วนหนึ่งตามธรรมชาติของกระบวนการเรียนรู้ กลับมีผลการเรียนที่ดีกว่าเด็กที่ไม่ได้รับคำแนะนำเหล่านี้ การพูดคุยกับลูกเรื่องความล้มเหลว ก็เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จได้ จริงอยู่ ที่เวลาเราเจอกับความผิดพลาด เราอาจจะรู้สึกท้อแท้ เสียใจ แต่สิ่งสำคัญที่ลูกควรรู้คือ ความล้มเหลว เป็นบทเรียนอันล้ำค่า ที่สอนให้เรารู้จักตัวเอง เรียนรู้สิ่งที่ ได้ผลและไม่ได้ผล
การเลี้ยงดูลูกในยุคสมัยที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลง การแข่งขัน และความท้าทาย สิ่งสำคัญคือ พ่อแม่ควรปรับเปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนความกดดันเป็นกำลังใจ สนับสนุนให้เด็ก ๆ กล้าที่จะลอง กล้าที่จะผิดพลาด กล้าที่จะเรียนรู้ และมอง ความล้มเหลว เป็นบทเรียนอันล้ำค่า เพื่อนำไปสู่การเติบโต พัฒนาการ และความสำเร็จในชีวิตค่ะ
ที่มา: Big Life Journal
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
พ่อแม่กดดันลูก คาดหวังลูกมากเกินไป ระวังลูกป่วยเป็นจิตเวช
เลี้ยงลูกเชิงบวก วิธีพูดกับลูกเชิงบวก เลี้ยงลูก สอนลูกยังไงให้ลูกคิดบวก
90 ประโยคที่ควรพูดกับลูก ประโยคให้กำลังใจ เสริมสร้างพัฒนาการทางบวก
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!