การมีเพื่อนเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเด็ก เพราะเพื่อนไม่ใช่แค่คนที่เล่นด้วย แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้และเติบโต อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกมิตรภาพจะส่งผลดี เด็ก ๆ หลายคนอาจต้องเผชิญกับ แรงกดดันจากเพื่อน (Peer Pressure) ที่ทำให้พวกเขารู้สึกว่าต้องทำตามคนอื่น เพื่อให้ได้รับการยอมรับ แม้การกระทำนั้นจะเป็นสิ่งที่ไม่ดีก็ตาม บทความนี้ ชวนพ่อแม่ร่วมกันสร้างเกราะป้องกัน พร้อมเรียนรู้ วิธีสอนลูก เรื่องการคบเพื่อน หากลูกเผชิญกับมิตรภาพที่เป็นพิษ เพราะบางครั้งการสอนลูกเลือกคบเพื่อนอาจไม่เพียงพอ หากลูกไม่มีภูมิคุ้มกันทางใจที่ดี
เพื่อน กับการสร้างตัวตนของเด็ก
นอกจากพ่อแม่ผู้เลี้ยงดูแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าเพื่อน ก็เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการสร้างตัวตนของเด็กๆ ไม่น้อย เมื่อลูกเริ่มเข้าโรงเรียน พ่อแม่อาจสังเกตว่าลูกเริ่มให้ความสนใจกับกลุ่มเพื่อนมากขึ้นเรื่อยๆ ตามวัย นั่นเป็นเพราะ การเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม เป็นเรื่องสำคัญมาก ยิ่งโตขึ้น ลูกจะยิ่งมีความต้องการที่จะได้รับการยอมรับและปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนๆ ทำให้พฤติกรรม คำพูด และแนวคิดได้รับอิทธิพลจากกลุ่มเพื่อน ซึ่งอาจส่งผลทั้งด้านบวกและด้านลบ
เมื่อลูกเริ่มสร้างตัวตนของตัวเอง มิตรภาพมีบทบาทสำคัญต่ออารมณ์และจิตใจ พวกเขาเรียนรู้ทักษะทางสังคม การสื่อสาร และวิธีการสร้างความสัมพันธ์จากเพื่อน แม้ว่าในฐานะพ่อแม่ เราอาจกังวลเกี่ยวกับเพื่อนของลูกและอยากควบคุมให้พวกเขาคบหากับคนที่คิดว่าเหมาะสม แต่การกดดันหรือห้ามปรามอาจทำให้เกิดผลตรงกันข้าม เมื่อพวกเขาต้องการเป็นที่ยอมรับของเพื่อนๆ เด็กๆ ก็อาจกลัวเพื่อนเลิกคบ มากกว่ากลัวพ่อแม่ดุ บ่อยครั้งเราจึงมักพบว่าเด็กอาจเลือกทางเดินที่ผิดพลาดเพราะการทำตามเพื่อน ซึ่งพฤติกรรมที่เกิดขึ้นนี้เรียกว่า แรงกดดันจากเพื่อน (Peer Presure) นั่นเอง

วิธีสอนลูก รับแรงกดดันจากเพื่อน
แรงกดดันจากเพื่อน (Peer Pressure) คือความต้องการที่จะ “กลมกลืน” และ “ได้รับการยอมรับ” ซึ่งอาจมาในรูปแบบของการแต่งกาย การแสดงออก หรือพฤติกรรมบางอย่าง เด็กในทุกช่วงวัยสามารถเป็นทั้งผู้กดดันหรือเป็นฝ่ายที่ได้รับแรงกดดัน บางคนต้องการทำตามเพื่อนเพื่อให้เข้ากลุ่ม บางคนอยากได้สิ่งที่เพื่อนมี ขณะที่บางคนอาจไม่รู้ตัวว่ากำลังถูกกดดัน และบางคนก็รู้สึกหนักใจกับแรงกดดันเหล่านั้น
แรงกดดันจากเพื่อน มีทั้งในแง่บวกและแง่ลบ ในวัยประถม ลูกอาจถูกเพื่อนๆ กดดันว่าใครๆ ก็มีการ์ดเกมยอดนิยม ถ้าไม่มีก็จะไม่ได้เล่นกับเพื่อน จนลูกมารบเร้าให้พ่อแม่ซื้อการ์ดให้ หรือ ในแง่บวก เพื่อนๆ อาจชวนกันอ่านหนังสือวรรณคดี ลูกคุณที่ไม่เคยสนใจ ก็เริ่มอยากอ่านบ้าง นำไปสู่นิสัยรักการอ่าน เป็นต้น
เมื่อลูกเติบโตขึ้น อิทธิพลของแรงกดดันจากเพื่อนก็ยิ่งมีมากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกเขาเริ่มมีอิสระในการใช้ชีวิตมากขึ้น ขอบเขตของประสบการณ์และโอกาสในการตัดสินใจกว้างขึ้น ซึ่งหมายความว่าพวกเขาอาจต้องเผชิญกับแรงกดดันในแง่ลบที่ซับซ้อนขึ้น เช่น การทดลองพฤติกรรมเสี่ยง การทำตามเพื่อนเพียงเพราะไม่อยากถูกมองว่าแตกต่าง หรือแม้แต่การเข้าไปอยู่ในสังคมที่อาจชักนำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่ดี
การยืนหยัดต่อแรงกดดันจากเพื่อนเป็นหนึ่งในความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เด็กๆ ต้องเผชิญ เพราะใครๆ ก็ล้วนต้องการการยอมรับ ไม่มีใครอยากถูกกีดกันหรือรู้สึกแตกต่าง ไม่มีใครอยากถูกเพื่อนเลิกคบ ดังนั้น เด็กหลายคนอาจต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกลำบากใจ ไม่ว่าจะเป็นการต้องตอบตกลงกับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง หรือการต้องปฏิเสธเพื่อน การเข้าใจและรู้วิธีรับมือกับแรงกดดันจากเพื่อนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เด็กทุกคนควรเรียนรู้ แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากเด็กๆ ไม่ได้รับการปลูกฝังให้เห็นคุณค่าในตัวเองเสียก่อน
สร้าง Self-esteem ให้เด็กรู้สึกมีค่า เพื่อกล้าปฏิเสธ
การเห็นคุณค่าในตัวเองเป็นหนึ่งในทักษะที่สำคัญที่สุดสำหรับเด็ก เพราะเป็น ภูมิคุ้มกันทางใจ ที่ช่วยให้พวกเขาไม่หวั่นไหวไปตามแรงกดดันรอบข้าง เด็กที่รู้ว่าตัวเองมีค่า จะกล้าปฏิเสธสิ่งที่ไม่ดี ไม่ทำตามเพียงเพราะเพื่อนชวน เพราะพวกเขารู้ว่าคุณค่าในตัวเองไม่ได้ขึ้นอยู่กับการยอมรับจากคนอื่น แม้จะถูกเพื่อนเลิกคบ พวกเขาก็ยังมั่นใจว่าตัวเองมีคุณค่าและไม่จำเป็นต้องฝืนใจทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
พ่อแม่จึงมีบทบาทสำคัญในการปลูกฝัง Self-esteem ตั้งแต่เล็กๆ เพื่อให้ลูกเติบโตมาอย่างมั่นใจและมีหลักยึดที่แข็งแกร่งในการใช้ชีวิต ต่อไปนี้เป็นวิธีสร้าง Self-esteem ให้ลูกแต่ละวัย
-
เด็กเล็ก: วางรากฐานแห่งความมั่นใจ
เริ่มจากการให้ลูกรับรู้ว่าตนเองเป็นที่รักและมีคุณค่าโดยไม่ต้องเปรียบเทียบกับใคร พ่อแม่สามารถเสริมความมั่นใจให้ลูกผ่านคำพูดเชิงบวก เช่น การชื่นชมความพยายามแทนผลลัพธ์ “แม่เห็นนะว่าหนูพยายามต่อบล็อกสูงขึ้นเอง เก่งมากเลย!” รวมถึงให้โอกาสลูกได้เลือกและตัดสินใจในเรื่องเล็กๆ เช่น เลือกเสื้อผ้า หรือของเล่น การให้เด็กมีอิสระในการเลือกช่วยให้เขารู้ว่าความคิดเห็นของตนเองมีความหมาย สร้างความเชื่อมั่นในตัวเองตั้งแต่ต้น
-
วัยประถม: ฝึกความรับผิดชอบและความภาคภูมิใจในตนเอง
เด็กวัยประถม เริ่มเปรียบเทียบตัวเองกับเพื่อนมากขึ้น จึงต้องเน้นให้เด็กเห็นคุณค่าในตัวเองจากความสามารถและความรับผิดชอบของตน พ่อแม่ควรให้ลูกมีโอกาสทำงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ ที่เหมาะสมกับวัย และให้กำลังใจเมื่อลูกทำสำเร็จ นอกจากนี้ ควรสอนให้เด็กเข้าใจว่า ความผิดพลาดเป็นเรื่องปกติ และเป็นโอกาสในการเรียนรู้ เช่น ถ้าลูกสอบได้คะแนนน้อย ไม่ควรตำหนิ แต่ควรให้กำลังใจและช่วยกันหาทางพัฒนา การสอนให้ลูกเห็นคุณค่าของตัวเองจากสิ่งที่พวกเขาทำได้ดี จะช่วยให้พวกเขาไม่ต้องพึ่งพาการยอมรับจากเพื่อนเพียงอย่างเดียว
-
วัยรุ่น: สร้างความมั่นคงภายในท่ามกลางแรงกดดัน
เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น แรงกดดันจากเพื่อนจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก เด็กวัยนี้ต้องการการยอมรับจากสังคมและมักสงสัยในตัวเอง การสร้าง Self-esteem ในวัยนี้จึงต้องเน้นที่การให้พวกเขา รู้จักตัวเองและยืนหยัดในค่านิยมของตน พ่อแม่ควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ลูกพูดคุยระบายความรู้สึกโดยไม่ตัดสิน สนับสนุนให้ลูกทำกิจกรรมที่พวกเขาสนใจ เพื่อให้พวกเขาภาคภูมิใจในความสามารถของตัวเอง และที่สำคัญที่สุดคือ สอนให้พวกเขารู้ว่าคุณค่าของตัวเองไม่ได้ขึ้นอยู่กับการได้รับการยอมรับจากคนอื่น เมื่อวัยรุ่นมีความมั่นใจในตัวเอง พวกเขาจะกล้าปฏิเสธสิ่งที่ไม่ดี และไม่เฮโลทำตามเพื่อนเพียงเพราะกลัวเพื่อนเลิกคบ

วิธีสอนลูก เรื่องการคบเพื่อน เมื่อลูกคบเพื่อนไม่ดี
เมื่อลูกเริ่มมีเพื่อนที่มีพฤติกรรมไม่น่าพึงพอใจ หรือมีแนวโน้มที่จะพาเขาไปในทางที่ไม่ดี พ่อแม่ควรรับมืออย่างเหมาะสม ไม่ใช่แค่การห้ามปรามอย่างตรงไปตรงมา แต่ต้องใช้วิธีที่สร้างสรรค์และให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูก มาดูแนวทางที่ช่วยให้พ่อแม่สามารถจัดการกับสถานการณ์นี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
1. หลีกเลี่ยงการวิจารณ์เพื่อนของลูกซ้ำๆ
การบอกลูกซ้ำๆ ว่าเพื่อนของเขาเป็นคนไม่ดี หรือชี้ให้เห็นแต่ข้อเสียของเพื่อน อาจทำให้ลูกต่อต้านและปกป้องเพื่อนของเขาโดยอัตโนมัติ แทนที่จะฟังสิ่งที่พ่อแม่พูด เด็กวัยรุ่นมักจะรู้สึกว่าการวิจารณ์เพื่อนก็เหมือนเป็นการวิจารณ์ตัวเอง ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงการใช้คำพูดที่เป็นการโจมตีเพื่อนของลูกโดยตรง แต่ให้โฟกัสที่พฤติกรรมแทน
2. พูดถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอย่างชัดเจน
แทนที่จะบอกลูกว่า “เพื่อนของลูกไม่ดี” ให้เน้นไปที่พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม โดย พูดแบบตรงไปตรงมา แต่ไม่ใช่การตัดสิน เช่น “แม่ไม่ชอบที่เพื่อนลูกโดนจับข้อหาลักขโมย แม่ไม่อยากให้ลูกตกอยู่ในสถานการณ์แบบนั้น” หรือ “พ่อรู้ว่าเพื่อนลูกอาจจะเป็นคนนิสัยดี แต่การที่พวกเขาสูบบุหรี่และโดดเรียน พ่อไม่อยากให้ลูกได้รับอิทธิพลแบบนั้น” รวมทั้งพูดด้วยการเน้นให้เห็นผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เช่น “พ่อแม่ไม่ได้ว่าเพื่อนลูกเป็นคนไม่ดี แต่พฤติกรรมของเขาทำให้เกิดปัญหา แล้วลูกเองอาจต้องรับผลกระทบไปด้วย” การใช้วิธีนี้ช่วยให้ลูกมองเห็นปัญหาเองโดยไม่รู้สึกว่าพ่อแม่กำลังบังคับให้เขาตัดเพื่อน
3. กำหนดขอบเขตและเงื่อนไขให้ชัดเจน
หากพ่อแม่รู้ว่าเพื่อนของลูกมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ควรตั้งขอบเขตที่ชัดเจน เช่น ห้ามออกไปเที่ยวกับเพื่อนกลุ่มนั้นในช่วงวันเรียน กำหนดเวลาในการออกจากบ้าน และเช็กสถานที่ที่ลูกไป ถ้าพบว่าลูกโกหกเกี่ยวกับเพื่อนหรือสถานที่ ต้องมีบทลงโทษที่เหมาะสม โดยอาจบอกว่า “ถ้าลูกบอกว่าจะไปดูฟุตบอลที่โรงเรียน แต่แม่จับได้ว่าลูกอยู่ที่ห้างกับเพื่อน แสดงว่าลูกเลือกที่จะไม่ซื่อสัตย์ นี่คือสิ่งที่เราจะไม่ยอมรับ”
4. สอนให้ลูกเลือกเพื่อนที่ดี
อธิบายให้ลูกเข้าใจว่าเพื่อนที่ดีควรมีลักษณะอย่างไร เช่น เคารพกัน ไม่กดดันให้ทำสิ่งผิดกฎหมาย หรือสิ่งที่ลูกไม่อยากทำ ถามลูกว่า “ลูกคิดว่าเพื่อนกลุ่มนี้ทำให้ลูกเป็นคนที่ดีขึ้นหรือแย่ลง?” ให้ลูกสะท้อนความคิดของตัวเอง หากลูกมีเพื่อนที่ชอบกดดัน หรือปฏิบัติต่อลูกอย่างไม่ยุติธรรม ให้ช่วยเขาคิดหาทางเลือก เช่น “ลูกไม่จำเป็นต้องเป็นเหยื่อของพวกเขา แม่สามารถช่วยหาทางออกได้นะ”

5. ตั้งกฎเรื่องพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ยาเสพติด และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
หากลูกคบเพื่อนที่ใช้ยาเสพติดหรือดื่มเหล้า ควรมีนโยบายที่ชัดเจน เช่น “แม่ไม่สนว่าเพื่อนลูกจะทำอะไร แต่สำหรับลูก ไม่มีการใช้ยาเสพติดเด็ดขาด” หรือ “บางคนอาจจะบอกว่าเด็กวัยรุ่นทุกคนลองดื่มกันหมด แต่นั่นไม่ใช่ข้ออ้าง แม่คาดหวังว่าลูกจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้”
การตั้งขอบเขตชัดเจนช่วยให้ลูกเข้าใจว่าอะไรที่พ่อแม่รับได้และรับไม่ได้ และเขาต้องรับผิดชอบต่อการตัดสินใจของตัวเอง
6. สังเกตพฤติกรรมของลูก และให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ในครอบครัว
หากพ่อแม่สังเกตเห็นว่าลูกเปลี่ยนไป เช่น มีพฤติกรรมก้าวร้าวขึ้น ไม่สนใจการเรียน โกหกหรือกลับบ้านดึกโดยไม่มีเหตุผล ให้เริ่มต้นพูดคุยและหาสาเหตุโดยไม่ใช้อารมณ์ การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเมื่อเด็กมีที่พึ่งทางอารมณ์ที่มั่นคง พวกเขาจะสามารถตัดสินใจได้ดีขึ้น และไม่ถูกเพื่อนชักจูงไปในทางที่ผิดง่ายๆ
7. เข้าใจว่าการต่อต้านของวัยรุ่นเป็นเรื่องปกติ
วัยรุ่นมักต้องการแยกตัวออกจากพ่อแม่และสร้างอัตลักษณ์ของตนเอง พวกเขาอาจไม่เชื่อฟัง หรือมีช่วงเวลาที่ท้าทายกฎของพ่อแม่ แต่สิ่งสำคัญคือพ่อแม่ต้อง ยึดมั่นในขอบเขตที่ตั้งไว้ และสื่อสารด้วยความเข้าใจ
8. สอนลูกให้รับผิดชอบต่อการตัดสินใจของตัวเอง
สุดท้ายแล้ว เด็กต้องเรียนรู้ว่าการเลือกคบเพื่อนมีผลต่อชีวิตของเขาเอง พ่อแม่สามารถชี้แนะและตั้งกฎได้ แต่ลูกต้องเป็นคนเลือกเองว่าอยากเป็นแบบไหน หากเขาตัดสินใจผิดพลาด ก็ควรต้องรับผลของการกระทำนั้น เช่น หากลูกละเมิดข้อตกลงเรื่องการออกไปเที่ยว ก็ควรถูกจำกัดสิทธิ์การออกไปข้างนอก หากมีปัญหาเรื่องเกรดตกจากการใช้เวลากับเพื่อนมากเกินไป ก็ควรมีการปรับเปลี่ยนตารางเวลา การให้ลูกเรียนรู้จากผลของการกระทำเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการสอนให้เขาเติบโตขึ้นอย่างรับผิดชอบ
การที่ลูกมีเพื่อนที่ไม่ดี ไม่ได้หมายความว่าพ่อแม่ต้องเข้าไปควบคุมทุกอย่างจนลูกต่อต้าน สิ่งสำคัญของ วิธีสอนลูก เรื่องการคบเพื่อน คือ สร้างความสัมพันธ์ที่ดี พูดคุยด้วยเหตุผล ตั้งขอบเขตที่ชัดเจน และให้ลูกเรียนรู้จากผลของการตัดสินใจของตัวเอง เมื่อลูกมีความมั่นคงทางอารมณ์และมี Self-esteem ที่ดี เขาจะสามารถตัดสินใจเลือกเพื่อนและแนวทางชีวิตของตัวเองได้อย่างเหมาะสม
ที่มา: Cook Center, Empowering Parents, You can do it education
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ลูกไม่คุยกับพ่อแม่ แก้ยังไง? เป็นพัฒนาการตามวัย หรือความไม่เข้าใจกัน
ลูกชอบเถียง วัย 5 ขวบ ทำไม? ลูกเถียงเก่ง พัฒนาการที่ต้องเข้าใจและพร้อมรับมือ
6 เรื่องต้องห้าม! หยอกล้อเด็ก กระทบ Self-Esteem แหย่เด็กเล่น ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!