การโกหกนั้น เราสามารถพบได้ทุกช่วงวัย แล้วลูกของคุณแม่เป็นเด็กที่ชอบโกหกหรือเปล่านะ? เวลา ลูกชอบโกหก คุณแม่มีวิธีสอนลูกอย่างไร? ถึงแม้การโกหกจะเป็นเรื่องที่ทำให้คุณแม่หลายคนกังวลใจ แต่สำหรับในช่วงวัยเด็กเล็กนั้น เขาอาจยังไม่สามารถแยกแยะเรื่องจริงหรือจินตนาการออกจากกันได้ บางครั้งการโกหกนั้นไม่ได้เกิดจากสภาพแวดล้อมที่ลูกซึมซับมาเพียงอย่างเดียว แต่อาจเกิดจากพัฒนาการตามช่วงวัยของลูกน้อย ซึ่งหน้าที่ของคุณแม่อย่างเราคือการทำความเข้าใจและสอนลูกให้ถูกวิธี ควรหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า “เด็กโกหก” เพราะความคิด ความอ่าน หรือการสื่อสารของลูกนั้นยังพัฒนาไม่เต็มที่นั่นเอง
ทำไม ลูกชอบโกหก ?
พฤติกรรมการโกหกเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติของเด็ก บางคนโกหกเพราะอยากเป็นที่ชื่นชอบในกลุ่ม บางคนโกหกเพราะไม่อยากถูกดุหรือถูกทำโทษจากคุณพ่อคุณแม่ และคุณพ่อคุณแม่เองมักจะรู้สึกหงุดหงิดหรือหัวเสียทุกครั้งเมื่อรู้ว่าลูกโกหก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ลูกทำผิดแล้วไม่ยอมรับผิด และก็คิดว่าทำไม ลูกชอบโกหก อยู่เสมอ
การโกหกของลูกน้อยที่อยู่ในช่วงวัย 2-6 ปี การโกหกนั้น อาจเกิดจากพัฒนาการตามช่วงวัย เริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง ลูกยังไม่สามารถแยกแยะระหว่างเรื่องจริงกับจินตนาการได้ บวกกับทักษะทางการสื่อสารของลูกที่ยังไม่ได้ถูกพัฒนาอย่างเต็มที่ ทำให้บางครั้งลูกพูดไปตามจินตนาการหรือสิ่งที่พวกเขาคิด จนทำให้คุณพ่อคุณแม่อาจคิดว่าลูกกำลังโกหกอยู่ และอาจเป็นเพราะสาเหตุเหล่านี้ ที่ทำให้ ลูกชอบโกหก
- โกหกเพราะรู้สึกผิด บ่อยครั้งลูกน้อยที่ถูกเลี้ยงแบบตามใจมักจะเลือกการโกหกเพื่อหลีกเลี่ยงการทำให้คุณพ่อคุณแม่เสียใจ หรือเพื่อรักษาความคาดหวังที่มีต่อลูก หรือกรณีถ้าลูกถูกดุหรือถูกต่อว่าบ่อยครั้ง อาจหันมาโกหกเพื่อหลีกเลี่ยงการลงโทษ นอกจากนี้ เด็กบางคนอาจโกหกเพื่อรักษาภาพลักษณ์ของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณพ่อคุณแม่ที่มีความคาดหวังสูง หรือต้องการให้ลูกเป็นไปตามแบบที่ตนเองต้องการ
- โกหกเพื่อหลบหนีความผิดพลาด เมื่อลูกน้อยทำผิดพลาด เช่น ทำของเสีย หรือไม่ทำตามที่คุณพ่อคุณแม่บอก เด็กอาจจะรู้สึกกลัวที่จะถูกตำหนิหรือลงโทษ จึงเลือกที่จะโกหกเพื่อปกปิดความผิดของตัวเอง นอกจากนี้ การที่คุณพ่อคุณแม่แสดงความโกรธหรือลงโทษลูกน้อยอย่างรุนแรงเมื่อลูกทำผิด ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้ลูกโกหกมากขึ้น เพราะลูกจะเรียนรู้ว่าการโกหกเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุดในการหลีกเลี่ยงที่จะถูกทำโทษ
- ถูกสอนให้โกหก ลูกจะเลียนแบบพฤติกรรมจากคุณพ่อคุณแม่ที่อาจเคยโกหกเพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์บางอย่าง ทำให้ลูกสับสนเข้าใจผิดว่าการโกหกเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ และนำไปสู่การเลียนแบบพฤติกรรมดังกล่าว
วิธีปราบ ลูกชอบโกหก ให้อยู่หมัด
คุณพ่อคุณแม่จึงต้องทำความเข้าใจและควรชี้ให้ลูกเห็นว่าการโกหกไม่ใช่เรื่องดี ชี้ให้เห็นถึงผลเสียที่ตามมาของนิสัยช่างโกหก เมื่อโกหกแล้วได้รับผลกระทบอะไรบ้าง เช่น ไม่มีใครเชื่อถือ เป็นที่รังเกียจของสังคม ไม่มีใครอยากคบ
- สร้างความไว้ใจและรับฟังปัญหาของลูก เมื่อลูกรู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่พร้อมที่จะรับฟังและเข้าใจ ลูกจะกล้าที่จะพูดความจริงออกมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีหรือเรื่องร้าย การที่คุณพ่อคุณแม่แสดงความเข้าใจและให้กำลังใจเมื่อลูกทำผิดพลาด ทำให้เด็กรู้สึกมั่นใจและกล้าที่จะเปิดใจพูดความจริง อาจจะเปลี่ยนวิธีหรือคำพูดให้ลูกไว้ใจมากขึ้น
- เมื่อลูกทำผิดหรือจับได้ว่าลูกโกหก ไม่ควรตำหนิ หรือลงโทษอย่างรุนแรง การลงโทษที่รุนแรงจะทำให้ลูกกลัวที่จะบอกความจริง เพราะกลัวว่าจะถูกทำโทษซ้ำอีก ทำให้ลูกเลือกที่จะโกหกเพื่อหลีกเลี่ยงการลงโทษ หากเกิดสถานการณ์เช่นนี้ซ้ำๆ พฤติกรรมการโกหกจะกลายเป็นนิสัยติดตัวไป หากจำเป็นต้องลงโทษ ควรใช้การลงโทษที่ไม่รุนแรง เช่น การลดค่าขนม การงดกิจกรรมที่เด็กชอบ เป็นต้น และสอนให้ลูกเข้าใจผลของการกระทำ และเรียนรู้ที่จะรับผิดชอบต่อสิ่งที่ทำ ให้ลูกมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ทำนั้น
- ไม่ควรจับผิดลูกมากเกินไป การจับผิดลูกมากเกินไป อาจทำให้ลูกรู้สึกอึดอัดและไม่เป็นตัวของตัวเอง ซึ่งอาจนำไปสู่การโกหกได้ค่ะ เมื่อถูกจับผิดบ่อยๆ จะรู้สึกเหมือนถูกคุมเข้ม ถูกกดดัน และอาจเลือกที่จะโกหกเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกทำโทษหรือถูกตำหนิ
- ให้รางวัล พูดชมเชย ให้กำลังใจเวลาที่ลูกพูดตรงกับความจริง การให้รางวัลไม่จำเป็นต้องเป็นของขวัญเสมอไป การแสดงความชื่นชม เช่น กอด หอม หรือใช้คำพูดชมเชย ก็เพียงพอที่จะทำให้ลูกรู้สึกดีและไม่พูดโกหก เช่น แม่ชอบที่ลูกพูดความจริง หรือ ลูกเป็นเด็กดีที่พูดความจริงเสมอ
- คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก ลูกจะเรียนรู้ผ่านการสังเกตพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่ ดังนั้นเมื่อลูกเห็นว่าคุณพ่อคุณแม่โกหกบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม ลูกจะคิดว่าการโกหกเป็นเรื่องปกติและสามารถทำได้
- ห้ามเข้าข้างลูก เมื่อลูกทำผิดหรือลูกโกหก แต่ให้ยกตัวอย่างให้ลูกฟังว่า คนทำดีได้อะไร ให้ลูกมองเห็นผลลัพธ์ของทั้งความดีและไม่ดี คนทำไม่ดีจะไม่มีคนรักและไม่มีใครอยากยุ่งด้วย
ลูกชอบโกหก ปล่อยไว้จะส่งผลกับลูกแค่ไหน ?
การที่ลูกชอบโกหกเล็กๆ น้อยๆ อาจดูเหมือนเป็นเรื่องไม่สำคัญ แต่หากปล่อยไว้โดยไม่แก้ไข พฤติกรรมนี้ก็จะค่อยๆ กลายเป็นนิสัยที่ฝังรากลึก และอาจลุกลามไปสู่การโกหกในเรื่องที่ใหญ่ขึ้นได้ เมื่อลูกโตขึ้นและต้องเข้าสังคมกับคนอื่นมากขึ้น การที่ลูกชอบโกหก ก็อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับเพื่อน ครู หรือคนรอบข้าง ทำให้ลูกเราขาดความเชื่อถือและยากที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น
ปัญหาการโกหกจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น เพราะในช่วงวัยนี้ เด็กมักต้องการแสดงออกและพิสูจน์ตัวเอง การโกหกจึงกลายเป็นเครื่องมือที่ใช้หลีกเลี่ยงความผิดพลาดหรือสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับตนเอง แต่หากการโกหกถูกจับได้บ่อยครั้ง ก็จะยิ่งทำให้ความสัมพันธ์กับผู้ปกครอง ครู และเพื่อนๆ เสียไป และอาจส่งผลต่อสุขภาพจิตของเด็กด้วย
การโกหกในที่ทำงานอาจนำไปสู่ปัญหาที่ร้ายแรงมากขึ้น เช่น การสูญเสียงาน การถูกดำเนินคดี หรือความเสียหายต่อชื่อเสียงขององค์กร การโกหกเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวอาจทำให้เด็กต้องเผชิญกับผลกระทบที่ร้ายแรงในชีวิตการทำงาน
ดังนั้นการปล่อยปะละเลยพฤติกรรมการโกหกของลูกตั้งแต่ยังเล็ก อาจนำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่ขึ้นในอนาคต การแก้ไขปัญหาตั้งแต่เนิ่นๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญ คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญกับการสอนให้ลูกพูดความจริง และสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยให้ลูกกล้าที่จะพูดความจริงโดยไม่ต้องกลัวการลงโทษ
ลูกโกหกบ่อย ถึงขั้นไหนจึงควรพาไปพบแพทย์ ?
การพบแพทย์ไม่ได้หมายความว่าลูกเป็นเด็กผิดปกติ แต่ในบางพฤติกรรมอาจต้องแก้ไขด้วยวิธีของแพทย์ ซึ่งอาจจะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าจากวิธีที่กล่าวมาข้างต้น แพทย์สามารถให้คำแนะนำและแนวทางในการแก้ไขพฤติกรรมของลูกได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะในกรณีที่พฤติกรรมการโกหกส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อบุคคลอื่น เช่น โกหกจนทะเลาะกับเพื่อน หรือโกหกว่าไม่ได้ขโมยของ
สุดท้ายพฤติกรรมหลายอย่างอาจเริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ ก่อนเสมอ จนคุณพ่อคุณแม่อาจมองว่าไม่ใช่ปัญหาใหญ่อะไร สิ่งสำคัญที่สุดในการสอนลูกไม่ให้โกหก เริ่มต้นง่าย ๆ จากความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคุณแม่กับลูกน้อย การเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด รวมถึงการสร้างความไว้วางใจต่อกัน เพราะเด็กเป็นช่วงวัยที่จะเรียนรู้จากสิ่งที่เจอหรือเคยทำ การปฏิบัติหรือฝึกฝนให้ลูกเข้าใจถึงสาเหตุและผลเสียที่เกิดขึ้นเมื่อลูกโกหกและยอมรับที่จะพูดความจริง สิ่งนี้จะกลายเป็นนิสัยดี ๆ ที่ติดตัวพวกเขาไป เมื่อลูกเติบโตขึ้นก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ดีค่ะ
ที่มา : โครงรักษาศีล 5 , ทรูปลูกปัญญา , johnsonsbaby
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ มีอะไรบ้าง? เช็กเลย! แบบนี้โตตามเกณฑ์ชัวร์
อ่านนิทานให้ลูกฟัง ยิ่งบ่อย ยิ่งดี กิจกรรมก่อนนอน เสริมความสุขในครอบครัว
มารยาททางสังคมที่ควรสอนลูก ปลูกฝังลูกให้เป็นเด็กดี
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!