คุณแม่ทราบหรือไม่ว่า คนท้องเครียดอันตราย ต่อลูก ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่า ภาวะตั้งครรภ์ส่งผลให้คุณแม่เกิดอารมณ์แปรปรวน มีความกังวลเกิดขึ้นมากมาย ทั้งทางร่างกายของตนเอง และห่วงทารกที่กำลังจะเกิดมา ซึ่งเจ้าความเครียดตัวร้ายไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อร่างกาย และจิตใจของคุณแม่เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสุขภาพของทารกน้อยอีกด้วย
คนท้องเครียดอันตราย ต่อสุขภาพคุณแม่ และทารกอย่างไร
อย่างที่ทราบกันว่า การตั้งครรภ์จะเกิดสภาวะการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ทำให้เกิดความเครียดและอ่อนไหวง่ายแล้วจะหลั่งสารคอร์ติซอล และอะดรีนาลีน ออกมาภายในร่างกาย ซึ่งฮอร์โมนทั้ง 2 ชนิดและส่งผลกระทบต่อแม่และเด็กดังนี้
- สำหรับมารดา : เมื่อคุณแม่มีความเครียด อาจทำให้เกิดภาวะเบื่ออาหาร นอนไม่หลับ มีความกังวล ร่างกายอ่อนเพลียง่าย อีกทั้งยังกระทบไปถึงการแพ้ท้องมากกว่าปกติ ทำให้คลื่นไส้ อาเจียนอย่างหนัก รวมไปถึงภูมิต้านทานในร่างกายลดลง ตรงนี้สำคัญมาก หากภูมิลดลง เสี่ยงต่อการติดเชื้อต่าง ๆ อีกทั้งความเครียดยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อร่างกาย ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงอีกด้วย
- สำหรับทารกในครรภ์ : หากคุณแม่เครียดมาก จะส่งผลให้คุณแม่มีภาวะคลอดก่อนกำหนดและแท้งบุตรได้ สาเหตุมาจากการรับประทานอาหารไม่เพียงพอมาจากการเบื่ออาหาร หรือภาวะความเครียดของคุณแม่ อารมณ์แปรปรวนก็ส่งผลให้ลูกเกิดมางอแง ไม่ใช่เด็กอารมณ์ดี เลี้ยงยาก ขี้โมโห ซึ่งอาจส่งผลไปถึงเมื่อเขาเข้าสู่สังคม สภาวะจิตใจจะมีปัญหาเรื่องการปรับตัวเข้ากับสังคมได้ยากกว่าเด็กทั่วไป
ความเครียดของแม่ท้องในระยะสั้น
หากคุณแม่ท้องเครียดเล็กน้อย และสามารถปรับตัวได้ จะไม่มีผลเสียต่อการตั้งครรภ์ แต่สำหรับคุณแม่บางคน แปรเปลี่ยนความเครียดเป็นการดูแลตัวเองระหว่างตั้งครรภ์ให้ดีขึ้น ส่งผลให้สุขภาพแม่แข็งแรง ทารกในครรภ์เติบโตได้ดี แต่ถ้าแม่ท้องเครียดมาก ๆ รู้หรือเปล่าว่า ผลเสียต่อตัวแม่ท้องและทารกในครรภ์อย่างรุนแรง สำหรับอาการเครียดในระยะสั้นของคนท้องเช่น
- คุณแม่ท้องมีอาการเหนื่อย
- บางช่วงของการตั้งครรภ์อยู่ในสภาวะนอนไม่หลับ
- อารมณ์ตื่นเต้น
- เบื่ออาหารหรือเจริญอาหารมาก
- ปวดศีรษะ และปวดหลัง
- หากเครียดต่อเนื่องอาจทำให้ภูมิต้านทานลดลง เสี่ยงความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ
บทความที่เกี่ยวข้อง: ความเครียด ทำให้มีลูกยากจริงหรือไม่ ความเครียดมีผลกับการตั้งครรภ์จริง ๆ หรือ
คนท้องเครียดอันตราย ต่อทารกในครรภ์
ภาวะเครียดของแม่ท้อง ส่งผลให้เส้นเลือดที่ไปยังมดลูก และรกเกิดการหดตัว ปริมาณออกซิเจนที่ไปยังทารกในครรภ์ลดน้อยลง จึงเกิดอันตรายและความเสี่ยงมากมาย ดังนี้
- เกิดการแท้ง หรือคลอดก่อนกำหนด
- ทารกเติบโตช้าในครรภ์
- ทารกติดเชื้อในครรภ์สูงขึ้น
- ทารกที่คลอดจากมารดาที่มีภาวะเครียด อาจเป็นโรคซึมเศร้า
- เสี่ยงต่อ โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน
- ส่งผลถึงปัญหาทางจิตใจ และการปรับตัวทางสังคม
ลูกเสี่ยงโรค หากแม่ท้องเครียดหนัก
หากคุณแม่ตั้งครรภ์อยู่ในสภาวะเครียดและมีความกังวลตลอดทุกไตรมาส ย่อมส่งผลร้ายกับทารกในครรภ์มากมาย แน่นอนว่าเป็นการส่งผลแบบระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องของทัศนคติในการใช้ชีวิตของทารกในครรภ์หลังจากที่คลอดออกมา โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนความเครียดนั้นส่งผลต่อสภาพภายในร่างกายของคุณแม่และลูก เช่น
- มดลูกมีภาวะติดเชื้อขณะตั้งครรภ์
- ระบบในร่างกายมีการกระตุ้นให้ต้องคลอดก่อนกำหนด
- ลูกน้อยมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์
- ลูกน้อยจะมีปัญหาเรื่องปอด
- ลูกจะมีพัฒนาการช้ากว่าเด็กที่คุณแม่มีอารมณ์สดใส
ทำไมลูกเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า
เด็กที่เกิดมาจากคุณแม่ที่เครียดระหว่างตั้งครรภ์ มีแนวโน้มเป็นโรคหัวใจ โรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูงอีกด้วย โดยเฉพาะช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์นั้น ความเครียดของคุณแม่จะมีผลต่ออารมณ์ และพฤติกรรมของลูกในครรภ์เป็นอย่างมาก เด็กกลุ่มนี้จะมีภาวะซึมเศร้า ถูกกระตุ้นโดยสิ่งเร้าได้ง่าย ตกใจ โมโหง่าย และปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมรอบตัวได้ยาก กลายเป็นเด็กเลี้ยงยาก
บทความที่เกี่ยวข้อง: 100 สิ่งแม่ท้องต้องรู้ ตอนที่ 98 ความเครียดในช่วงแม่ท้อง ส่งผลต่อลูกในท้องอย่างไร
วิธีลดความเครียด ของแม่ท้อง ทำได้ง่าย ๆ
ว่ากันว่า สภาพจิตใจส่งผลต่อร่างกาย ฉะนั้น การห้ามให้คุณแม่ “อย่าเครียด” ดูจะเป็นคำพูดที่ง่ายเกินไป ซึ่งไม่สามารถทำได้ภายใน 1 นาทีแน่นอน ดังนั้น คุณแม่ต้องค่อย ๆ ปรับตัวเองจากชีวิตประจำวัน เริ่มจากการตื่นนอน สูดหายใจลึก ๆ มองไปนอกหน้าต่างไกล ๆ เริ่มต้นเช้าวันใหม่ด้วยอาหารอร่อย ๆ วางแผนในชีวิตประจำวันว่า วันนี้อยากทำอะไรบ้าง แล้วอย่าลืมทำตาม 13 วิธีง่าย ๆ แม้จะทำไม่ครบทุกข้อในวันเดียว ให้แบ่งกิจกรรมทำในแต่ละวัน แต่อย่าลืมว่า เรื่องรับประทานอาหารที่มีประโยชน์คือ สิ่งที่สำคัญที่สุด
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ และครบ 3 มื้อ (แบ่งอาหารว่างเพิ่มอีก 3 มื้อก็ได้)
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ลดการทำงานลง
- การพูดคุยหรือระบายความในใจหรือความเครียดกับสามี เพื่อนฝูงที่สนิทสนม หรือกับคุณพ่อคุณแม่
- ทำกิจวัตรประจำวันหรือสิ่งที่คุณชอบ อย่างน้อยวันละ 20-30 นาที
- พักผ่อนมาก ๆ การนอนหลับช่วงกลางวันจะช่วยให้รู้สึกสดชื่นขึ้น
- หาเวลานั่งสมาธิก่อนนอนหรือ ตอนเช้า
- ฝึกโยคะสำหรับสตรีตั้งครรภ์ เพื่อคลายเครียด
- ฝึกจินตนาการ แต่เรื่องที่ดีหรือทำให้เรามี
- หาความรู้ถึงอาการที่พบบ่อยระหว่างการตั้งครรภ์และวิธีการแก้ไข
- หลีกเลี่ยงการพึ่งสารเสพติด เช่น บุหรี่ แอลกอฮอล์ หรือยาระงับประสาท
- หาโอกาสอบรมการตั้งครรภ์คุณภาพ เพื่อให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ การคลอดและการดูแลบุตรหลังคลอด
บทความที่เกี่ยวข้อง: เตรียมพร้อมรับมือกับความเครียด สาเหตุของการแท้งไม่รู้ตัว
การใช้ดนตรีบำบัดอารมณ์คุณแม่ตั้งครรภ์
จากการศึกษาเรื่องดนตรีบำบัดช่วยลดความเครียดคนท้อง โดยนักวิจัยจากสถาบัน Max Planck ประเทศเยอรมนีพบว่า การเปิดดนตรีที่มีความยาว 10-30 วินาทีให้คุณแม่ท้องที่เป็นอาสาสมัครฟัง จากนั้นเปลี่ยนเป็นเล่นถอยหลังและเสียงขาด ๆ หาย ๆ ดนตรีที่ไม่น่าฟังนั้นจะน่ารำคาญเป็นพิเศษสำหรับคนท้อง ส่วนดนตรีที่น่าฟังก็จะเพราะเป็นพิเศษเช่นกัน
- ดนตรีที่ไพเราะเสนาะหูยังช่วยให้ความดันโลหิตลดลงอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่การฟังดนตรีน่ารำคาญเพียง 10 วินาทีก็สามารถทำให้ความดันโลหิตพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจาก 30 วินาทีความดันโลหิตจึงลดลง จึงสรุปได้ว่า คนท้องมีปฏิกิริยาทางร่างกายต่อดนตรีอย่างชัดเจน
- เพลงอะคูสติกมีผลต่อความดันโลหิตในแม่ตั้งครรภ์มากกว่าในผู้หญิงที่ไม่ตั้งครรภ์ แม้ว่าจะยังไม่สามารถระบุเหตุผลที่แน่ชัดได้ว่า ผลที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพราะฮอร์โมนเอสโตรเจนหรือเปล่า แต่ไม่ว่าจะเกิดจากอะไร เพลงเพราะ ๆ ก็ช่วยลดความเครียดได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในระหว่างตั้งครรภ์
- ทารกน้อยในครรภ์ยังสามารถได้ยินเสียงและมีปฏิกิริยาตอบสนองด้วยการดิ้น
ทั้งนี้พบว่า ภายในสัปดาห์ที่ 28 ของการตั้งครรภ์ อัตราการเต้นของหัวใจลูกน้อยมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อได้ยินเสียงเพลงที่คุ้นเคย ดังนั้น หากคุณเปิดเพลงโมสาร์ทให้ลูกฟังเป็นประจำ ถือว่าคุณมาถูกทางแล้ว แต่เราก็ไม่อาจการันตีได้ว่า สิ่งเหล่านี้จะทำให้ลูกของคุณเป็นอัจฉริยะได้
หากคุณแม่มีอาการเครียดมาก ๆ ให้พยายามนึกถึงลูกในท้องนะคะ และควรดูแลตัวเองให้ดี รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ทำกิจกรรมผ่อนคลาย และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ นอกจากนี้ คุณแม่ควรไปพบแพทย์หากมีอาการเครียดมาก ๆ รวมถึงประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ เพียงเท่านี้ก็จะช่วยลดความเครียด และป้องกันอาการวิตกกังวลของคุณแม่ได้ค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!