ช่วงนี้เริ่มมีฝนตกบ้างแล้วในบางพื้นที่ เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่หน้าฝนเป็นที่เรียบร้อย สิ่งที่พ่อแม่มักกังวลคงจะเป็นเรื่องสุขภาพของเด็ก ๆ เพราะน้ำฝนนำพาเชื้อโรคต่าง ๆ มาสู่เด็ก ๆ ได้ วันนี้แอด จึงขอนำ 10 โรคหน้าฝนในเด็ก มาแบ่งปันให้คุณพ่อคุณแม่ได้เตรียมตัวรับมือแล้วเฝ้าระวังเด็ก ๆ ให้ห่างไกลจากโรคกัน
อาจเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว เมื่อเด็ก ๆ กำลังวิ่งเล่นแล้วเกิดมีฝนตกลงมา ด้วยความเป็นเด็ก พวกเขามักจะสนุกกับสิ่งรอบตัวอยู่แล้ว เป็นไปได้ว่าพวกเขาก็ยังคงวิ่งเล่นท่ามกลางสายฝนอยู่โดยไม่ได้เกรงกลัวภัยต่าง ๆ ที่มากับฝนแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นฟ้าผ่า ฟ้าร้อง หรือสัตว์มีพิษทั้งหลาย ๆ
เด็ก ๆ ยังไม่มีประสบการณ์การเรียนรู้มากพอว่า ภัยอันตรายที่มากับฝนนั้นมีอะไรบ้าง การเล่นน้ำฝน หรือการกระโดดในแหล่งน้ำขังเพื่อให้น้ำแตกกระจายเป็นสิ่งที่เด็ก ๆ หลายคนชื่นชอบ อากาศที่เย็นชื้นมากขึ้น เป็นสาเหตุที่ทำให้โรคหลายชนิดแพร่ระบาดได้ง่าย โรคที่แฝงมากับหน้าฝนที่เด็กมักเป็นกัน
10 โรคหน้าฝนในเด็ก 2024 โรคหน้าฝนสุดฮิตที่เด็กมักเป็น คุณพ่อคุณแม่ต้องระวัง
1.โรคไข้เลือดออก (Dengue hemorrhagic fever)
โดยโรคไข้เลือดออกนั้นเป็นโรคอันตรายกว่าที่คิด โรคไข้เลือดออกมียุงลายเป็นพาหะนำโรค อาการระยะแรกเหมือนการติดเชื้อไวรัสทั่วไป ได้แก่ มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อาจมีอาการปวดกระดูก และมีไข้จะสูงอยู่ประมาณ 2-7 วัน หลังจากนั้นไข้จะลดลง อาจจะมีอาการเลือดออกผิดปกติและช็อกได้ ระยะที่เกิดการช็อกส่วนใหญ่จะเกิดในช่วงที่ไข้ลดลง
อาการก่อนที่จะช็อก คือ เด็กอาจจะปวดท้อง ปัสสาวะน้อยลง กระสับกระส่ายหรือซึม มือเท้าเย็น หน้ามืด เป็นลมง่าย ควรรีบนำเด็กส่งโรงพยาบาลทันที โรคไข้เลือดออกป้องกันได้โดยพยายามอย่าให้ยุงกัดและกำจัดแหล่งน้ำท่วมขังภายในบริเวณที่เป็นจุดเสี่ยงรอบ ๆ บ้านทิ้งให้หมด ฉีดยากันยุงป้องกันเพิ่มเติม หรืออาจจะทาโลชั่นป้องกันยุงให้กับเด็ก ๆ ก็ได้
บทความอื่นที่น่าสนใจ: โรคไข้เลือดออกในเด็ก อาการเป็นอย่างไร เป็นแล้วเป็นอีกได้ไหม ?
2. โรคมาลาเรีย (Malaria)
โรคมาลาเรียหรือที่หลาย ๆ คนรู้จักกันในชื่อไข้ป่านั้นมียุงก้นปล่องที่อยู่ในป่าเป็นพาหะนำโรค แรก ๆ จะมีอาการเหมือนเป็นหวัดธรรมดา หลังจากนั้นประมาณ 2-3 วัน ผู้ป่วยจะอยู่ในช่วงจับไข้เป็นช่วง ๆ อย่างสม่ำเสมอ แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะหนาวสั่น ระยะร้อนและระยะเหงื่อ วนอยู่อย่างนี้เรื่อย ๆ หากเป็นโรคมาลาเรียที่มีชนิดรุนแรงอาจทำให้ไตวาย ตับอักเสบ ปอดผิดปกติ และไข้มาลาเรียนั้นสามารถขึ้นสมองได้ ควรป้องกันโดยให้เด็กสวมเสื้อผ้ามิดชิด ทายาหรือพ่นยากันยุง นอนในมุ้ง เป็นต้น
บทความอื่นที่น่าสนใจ: โรคมาลาเรีย โรคหน้าฝนที่คุณแม่และน้อง ๆ ต้องระวัง อย่าตกเป็นเหยื่อของยุงร้าย
3. ไข้สมองอักเสบ (Japanese encephalitis : JE)
เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเจอีที่สมอง โดยมีพาหะสำคัญคือ ยุงรำคาญ ชนิด Culex tritaeniorrhynchus ซึ่งมักแพร่พันธุ์ในนาข้าว โรคนี้เป็นโรคสมองอักเสบ ชนิดที่พบบ่อยที่สุดในประเทศไทย ผู้ที่ได้รับเชื้ออาจมี หรือไม่มีอาการป่วยก็ได้ ผู้ป่วยมักแสดงอาการหลังได้รับเชื้อ 5-15 วัน ในระยะแรกจะมีไข้สูง อาเจียน ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ซึ่งจะกินเวลา 1-7 วัน หลังจากนั้น จะมีอาการทางสมอง เช่น คอแข็ง สติสัมปชัญญะเลวลง ซึม เพ้อคลั่ง ชักหมดสติ หรือมือสั่น อัมพาต ระยะนี้กินเวลา 3-6 วัน ผู้ที่มีอาการรุนแรงอาจถึงตายได้ในระยะนี้ หลังจากนั้นไข้จะค่อย ๆ ลดลงสู่ปกติ และอาการทางสมองจะค่อย ๆ ดีขึ้น แต่ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่รอดชีวิตจะยังมีความผิดปกติทางสมองเหลืออยู่ เช่น เกร็ง อัมพาต ชัก ปัญญาอ่อน หงุดหงิดง่าย พูดไม่ชัด เป็นต้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : เปิดเทอมหน้าฝนนี้ ลูกควรระวังอะไร และคุณแม่ควรเตรียมของใช้อะไรให้ลูกพกไปโรงเรียนบ้าง
4. โรคระบบทางเดินอาหาร (Gastrointestinal tract disease)
เช่น โรคอุจจาระร่วง โรคบิดและโรคไทฟอยด์ เกิดจากการติดเชื้อจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อปะปนอยู่ ทำให้เด็กมีอาการท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำ มีไข้ คลื่นไส้อาเจียน และหากติดเชื้อบิดอาจมีมูกหรือเลือดปนอุจจาระได้
5.โรคอุจจาระร่วง
โรคท้องเสีย เกิดขึ้นเพราะลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อโรต้าไวรัส ซึ่งมาจากของเล่น อาหาร หรือของใช้ใกล้ตัวเด็กที่ไม่สะอาด โดยเฉพาะเด็กเล็กที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ และไม่เข้าใจเรื่องของสุขอนามัย จึงมักนำของเล่น หรือของใช้ที่มีเชื้อนี้เข้าปากโดยไม่รู้ตัว จากนั้นจะถูกขับออกทางอุจจาระของผู้ป่วย ไวรัสโรต้าเป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคอุจจาระร่วงในเด็กทารก และเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 ปี อาการส่วนใหญ่จะพบว่า ท้องเสีย อาเจียน บางรายจะมีไข้สูง กินได้น้อย งอแง ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ ดังนั้นเด็กทารกควรให้กินนมแม่จะช่วยได้ระดับหนึ่ง และดูแลสุขลักษณะการกิน การเล่นให้เหมาะสม ต้องสะอาด
6. โรคไอพีดีและปอดบวม Invasive Pneumococcal Disease (IPD)
โรคไอพีดี คือ โรคติดเชื้อชนิดรุนแรงที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ “นิวโมคอคคัส” ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดและที่เยื่อหุ้มสมอง ซึ่งมีความรุนแรงและอาจทำให้เด็กพิการหรือเสียชีวิตได้ ถ้าติดเชื้อที่ระบบประสาท เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เด็กจะมีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน คอแข็ง เด็กเล็กจะมีอาการงอแง ซึม และชักได้ ส่วนการติดเชื้อในกระแสเลือด เด็กจะมีไข้สูง งอแง ถ้ารุนแรงอาจทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ดีถ้ามีอาการดังกล่าวควรรีบพามาพบแพทย์ทันที
7.โรคอีสุกอีใส
หลาย ๆ คนคงงงว่าโรคอีสุกอีใสมาจากหน้าฝนจริงหรือ เพราะดูไม่ได้ร้ายแรงอะไรเท่าไหร่เมื่อเทียบกับโรคอื่น ๆ แต่โรคอีสุกอีใสนี้เมื่อเป็นแล้ว มักจะติดกันเป็นทอด ๆ โดยเฉพาะการติดต่อจากเพื่อนที่โรงเรียน กลุ่มอาการของโรค ผู้ป่วยจะมีไข้ เป็นผื่นแดง และมีตุ่มน้ำใสเกิดขึ้นตามตัว โดยเริ่มจากบริเวณท้อง ลามไปตามต้นแขน ขา และใบหน้า หลังจากนั้นจะเกิดเป็นสะเก็ด และแผลเป็นขึ้นได้ มักหายได้เองประมาณ 2 – 3 สัปดาห์ พยายามดูแลรักษาร่างกายให้แข็งแรง เพราะโรคนี้เกิดขึ้นไม่ตรงตามวัย บางรายเป็นตอนเด็ก หรือบางรายอาจเป็นตอนโต ซึ่งถ้าเป็นในตอนโต จะมีอาการ และการขึ้นตุ่มที่รุนแรงกว่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภาวะของร่างกายด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง: เมื่อลูกเป็นโรคอีสุกอีใส ทำไงดี? ต้องรักษาอย่างไร? วิธีไหนถูกต้อง
8.โรคไข้ฉี่หนู (Leptospirosis)
โรคไข้ฉี่หนู เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน มีหนูเป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ เชื้ออาศัยอยู่ในดินที่ชื้นแฉะ หรือแหล่งน้ำท่วมขังและเข้าสู่คนทางผิวหนัง อาการที่สำคัญคือ มีไข้ ปวดศีรษะ ตาแดง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อโดยเฉพาะที่น่องหรือโคนขา อาจทำให้มีอาการแทรกซ้อน เช่น ไตวาย มีอาการทางสมองและระบบประสาทจนอาจเสียชีวิตได้ วิธีป้องกัน คือ ให้เด็กสวมรองเท้าบูตหากต้องเดินลุยน้ำ ล้างตัวเด็กให้สะอาดทันทีหลังจากสัมผัสกับน้ำท่วมขัง
บทความที่เกี่ยวข้อง: ระวัง!!! โรคฉี่หนู ภัยร้ายที่มาช่วงหน้าฝน รักษาผิดวิธีเสี่ยงเสียชีวิตสูง
9.โรคเยื่อบุตาอักเสบหรือโรคตาแดง (Conjunctivitis หรือ Pink eye)
เกิดจากการสัมผัสกับเชื้อโรคโดยตรง เช่น ไอ จาม หายใจรดกันและใช้สิ่งของร่วมกัน เชื้อที่ทำให้เกิดโรคตาแดงที่พบได้บ่อย คือ เชื้อไวรัส อาการของโรคตาแดงอาจเกิดกับดวงตาข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้างก็ได้ เด็กที่ติดเชื้อไวรัสจะมีอาการตาแดงอย่างรวดเร็ว เคืองตา เจ็บตา น้ำตาไหล ไม่มีขี้ตา บางรายมีต่อมน้ำเหลืองหน้าหูโตและเจ็บ โรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ คือ ตาดำอักเสบ อาจใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะหาย เนื่องจากโรคตาแดงไม่มียารักษาโดยตรง การป้องกันไม่ให้ติดโรคจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งทำได้โดยการแยกเด็กที่ป่วย ห้ามไม่ให้ขยี้ตาและหมั่นล้างมือให้สะอาด
บทความที่เกี่ยวข้อง: เด็กตาแดง มีสาเหตุมาจากอะไร? สามารถติดจากคนอื่นได้หรือไม่?
10. โรคมือเท้าปาก (Hand-foot-mouth disease)
โรคมือเท้าปาก พบมากในช่วงหน้าฝนเข้าสู่ฤดูหนาว ติดต่อกันได้ทางไอ จาม น้ำลายหรืออุจจาระ การสัมผัสของเล่น อาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ อาการของโรคคือ มีไข้ ผื่น ตุ่มน้ำใสตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า ก้น มีแผลร้อนในหลายแผลในปาก มักหายได้เอง ในขณะมีอาการ เด็กบางรายอาจกินอาหารและน้ำไม่ค่อยได้เนื่องจากเจ็บปาก ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ ต้องระวังไม่ให้เด็กมีไข้สูงจนเกิดอาการชัก เด็กบางรายอาจมีอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ อัมพาตและอาจเสียชีวิต ป้องกันได้โดยไม่ให้เด็กคลุกคลีกับผู้ป่วยและไม่ใช้ภาชนะร่วมกับคนอื่น
บทความที่เกี่ยวข้อง: โรคมือเท้าปาก โรคใกล้ตัวเด็กวัยเรียน ทารก-เด็กเล็ก ก็มีโอกาสป่วยง่าย
การป้องกันโรคในฤดูฝนสามารถทำได้ดังนี้
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- สวมเสื้อผ้ารักษาร่างกายให้อบอุ่น เพื่อให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรค สภาพอากาศมีความชื้น-หนาวเย็น จะทำให้ร่างกายที่มีระดับภูมิต้านทานโรคต่ำลงไปอีก จึงมีโอกาสติดเชื้อโรคทางเดินหายใจได้ง่าย
- ควรดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำต้ม
- รับประทานอาหารที่สะอาดปรุงสุกใหม่ ๆ ไม่มีแมลงวันตอม
- ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง
นอกจากนี้ในช่วงฤดูฝนต้องระวังอีก 2 เรื่อง คือ ปัญหาน้ำกัดเท้าที่เกิดจากเชื้อรา สาเหตุเกิดจากการแช่น้ำสกปรกนาน ๆ ทำให้ผิวหนังเป็นผื่นแดง ถ้าเกาจะเป็นแผลมีน้ำเหลืองออก และอันตรายจากสัตว์มีพิษ เช่น งู ตะขาบ แมงป่องที่หนีน้ำมาอาศัยในบริเวณบ้าน ต้องระวังการรับประทานยาลดไข้ เช่น ยาในกลุ่มแอสไพรินเพราะมีอันตรายกับบางโรคอย่าง โรคไข้เลือดออก โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคฉี่หนู ซึ่งโรคดังกล่าวจะทำให้มีเลือดออกตามอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายอยู่แล้ว หากได้รับยาแอสไพรินซึ่งมีสารป้องกันเลือดแข็งตัวเข้าไปอีก จะทำให้เลือดออกได้และเสียชีวิตได้ง่ายขึ้น
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
โรคเฮอร์แปงไจน่า ตุ่มแผลในปากเด็ก ติดง่าย ระบาดหนักในฤดูฝน พ่อแม่ต้องระวัง!
มาดู ภาพเชื้อโรคบนมือสุดสยอง เหตุผลว่า ทำไมต้องล้างมือ เพราะมันอี๋มาก
โรคฝีดาษ หรือ ไข้ทรพิษ โรคระบาดร้ายแรงในอดีตเกิดจากอะไร รุนแรงแค่ไหน?
ที่มา : bumrungrad.com , bangkokhospital.com
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!