โรคฝีดาษ โรคไข้ฝีดาษ หรือ ไข้ทรพิษ (Smallpox) เป็นโรคที่เคยระบาดอย่างหนักในอดีต และเป็นเหตุให้ผู้คนมากมาย ต้องเสียชีวิตลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งการระบาดมีมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่สมัยอยุธยา จนพบครั้งสุดท้ายเมื่อสมัยรัชกาลที่ 9 ที่ผ่านมา เราจะพาไปดูข้อมูลที่น่าสนใจ เกี่ยวกับโรคฝีดาษกัน
โรคฝีดาษมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ?
โรคฝีดาษ พบการระบาดครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ.2301 ในประเทศไทย ซึ่งการระบาดครั้งใหญ่ที่สุด เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2 ซึ่งทำให้มีคนไทย เสียชีวิตมากกว่า 15,000 คน และเมื่อปี พ.ศ.2504 พบการระบาดครั้งสุดท้าย จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ.2523 องค์การอนามัยโลก ได้ประกาศว่าเชื้อโรคฝีดาษ ได้ถูกกำจัดไปจนหมดสิ้นแล้ว
โรคฝีดาษคืออะไร ?
โรคฝีดาษ หรือ ไข้ทรพิษ เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ที่มีชื่อว่า Variola ซึ่งปัจจุบันไม่พบการระบาดของโรคแล้ว โดยคนที่ติดเชื้อ จะสามารถพบอาการได้ คือ ตุ่มคล้ายฝี ขึ้นอยู่ทั่วร่างกาย ผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่ สามารถหายจากโรคได้ แต่มีมากกว่า 30% ที่มีโอกาสเสียชีวิต สำหรับคนที่หายจากโรค ก็มักจะมีแผลเป็นทิ้งร่องรอยไว้ โรคฝีดาษ เป็นโรคที่สามารถติดต่อได้ ผ่านทางการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย หรือ การรับเชื้อ ผ่านทางสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่น เสมหะ น้ำมูก น้ำลาย เป็นต้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : ฝีดาษลิง เสี่ยงเสียชีวิตสูงในกลุ่มเด็กเล็ก ป้องกันได้อย่างไร ?
วิดีโอจาก : ชัวร์ก่อนแชร์ Sure And Share
โรคฝีดาษมีกี่ชนิด ?
โดยปกติแล้ว โรคฝีดาษสามารถแบ่งได้เป็น 4 ชนิด แต่มี 2 ชนิดที่มักพบได้บ่อยในอดีต ดังนี้
- วาริโอลา เมเจอร์ (Variola Major) : เป็นโรคฝีดาษชนิดรุนแรง และมีความอันตรายถึงชีวิตได้ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะป่วยด้วยโรคชนิดนี้
- วาริโอลา ไมเนอร์ (Variola Minor) : เป็นโรคฝีดาษชนิดที่ไม่รุนแรง และพบได้ไม่บ่อยนัก ซึ่งจะมีอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่าชนิดแรก
สำหรับโรคฝีดาษอีก 2 ชนิด เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้น้อยในอดีต ซึ่งไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก ได้แก่
- โรคฝีดาษชนิดมีเลือดออก (Hemorrhagic Smallpox) : ซึ่งเป็นเชื้อที่ทำให้มีเลือดออกตามเนื้อเยื่อ และอวัยวะต่าง ๆ
- โรคฝีดาษชนิดผื่นไม่นูน (Malignant Smallpox) : เป็นชนิดที่ไม่มีผื่น หรือ ตุ่มน้ำ แต่มีความรุนแรงเช่นเดียวกับเชื้อชนิดอื่น ๆ
อาการของโรคฝีดาษ
- มีไข้สูง
- ครั่นเนื้อครั่นตัว
- หนาวสั่น
- ปวดศีรษะ
- อ่อนเพลียรุนแรง
- ปวดหลังรุนแรง
- คลื่นไส้ อาเจียน
เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อ เชื้อจะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 7-17 วัน และอาการต่าง ๆ จะเกิดขึ้นเพียง 2-3 วัน จากนั้นอาการจะเบาลง แล้วจะเริ่มมีผื่นสีแดงปรากฏ ที่บริเวณใบหน้า มือ และปลายแขน ตุ่มแดงจะค่อย ๆ แพร่กระจาย ลุกลามไปทั่วลำตัว ต่อมาจากผื่นสีแดง จะค่อย ๆ กลายเป็นตุ่มน้ำ และตุ่มหนอง ซึ่งจะใช้เวลาอีกประมาณ 8-9 วัน แผลจะเริ่มมีการตกสะเก็ด แล้วหลุดออก
บทความที่เกี่ยวข้อง : ปลูกฝี ป้องกันฝีดาษลิงได้จริงไหม คนรุ่นใหม่ไม่เคยปลูกฝีควรทำอย่างไร ?
การรักษาโรคฝีดาษ
การรักษาโรคฝีดาษ มีด้วยกันหลายวิธี ซึ่งแตกต่างกันไปตามแต่ละยุคสมัย ดังนี้
1. วิธี Variolation
วิธีนี้จะเป็นวิธีที่ใช้ในสมัยก่อน ตั้งแต่ยังไม่มีการรักษาโรคฝีดาษ ซึ่งจะเป็นการเอาสะเก็ดแผล ของผู้ป่วยที่เคยป่วยและหายจากโรคแล้ว มาทำให้ป่นเป็นผง แล้วนำมาแปะเข้ากับผิวหนังของผู้ที่ไม่เคยเป็น หรือ อาจใช้วิธีสะกิดตุ่มน้ำของผู้ป่วย แล้วนำไปสะกิดลงบนผิวหนังของผู้ที่ยังไม่ป่วย เพื่อเป็นการส่งต่อเชื้อ ให้ร่างกายของผู้รับเชื้อ ได้สร้างภูมิคุ้มกันขึ้น เมื่อติดเชื้อแล้ว อาการจะได้ไม่รุนแรง และไม่อันตรายถึงชีวิต
2. วัคซีนป้องกันโรคไข้ฝีดาษ
โรคฝีดาษ มีวัคซีนป้องกันที่ชื่อว่า Vaccinia Virus Vaccine เป็นวัคซีนที่มีผลต่อการป้องกัน ดังนี้
- ได้รับวัคซีนก่อนได้รับเชื้อ สามารถป้องกันไม่ให้ติดเชื้อได้
- ได้รับวัคซีนไม่เกิน 3 วันหลังรับเชื้อ วัคซีนจะสามารถการเกิดโรคได้ หรือ อาจเกิดโรคแต่อาการจะไม่รุนแรงเท่าผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน
- ได้รับวัคซีนหลังจากรับเชื้อ 4-7 วัน มีโอกาสที่จะเกิดโรค แต่อาการเบากว่าผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน
3. ยารักษาโรคฝีดาษ
- ยา Cidofovir เป็นยาต้านไวรัสชนิดหนึ่ง ที่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อฝีดาษ
- ยา Tecovirimat เป็นยาที่ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโต ของไข้ทรพิษ
โรคฝีดาษ แม้เป็นโรคที่ไม่ได้เกิดการระบาดแล้ว แต่ก็เป็นโรคที่เคยมีความรุนแรง และน่ากลัว ส่งผลให้สร้างความเสียหายต่อชีวิตคนเรามานับไม่ถ้วน ตั้งแต่ในอดีตกาล แม้ปัจจุบันจะไม่มีการระบาดอีกแล้ว แต่โรคนี้ก็เป็นโรคหนึ่งที่จะติดอยู่ในประวัติศาสตร์ของไทยต่อไป
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ไข้ออกผื่น คืออะไร สังเกตอาการไข้เหล่านี้ได้จากอะไร ?
ไข้ เป็นไข้อาการเป็นอย่างไร สาเหตุของไข้เกิดจากอะไร มีวิธีรักษาอาการไข้หรือไม่
ลูกมีไข้สูง ตัวร้อน จะชักหรือไม่ ทำอย่างไรดี
ที่มาข้อมูล : samitivejhospitals pptvhd36 nat
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!