ไข้เลือดออก คืออะไร หลาย ๆ คนคงสงสัยใช่ไหมว่า โรคไข้เลือดออก เป็นแล้วจะมีอาการอะไรบ้าง ไข้เลือดออกเกิดจากอะไร มีสาเหตุมาจากอะไร เป็นโรคไข้เลือดออกมีวิธีรักษาหรือไม่ วิธีป้องกันไข้เลือดออกมีอะไรบ้าง แล้วโรคไข้เลือดออกน่ากลัวไหม มาดูกัน
เรื่องน่ารู้โรคไข้เลือดออก!
ประเทศไทยมีการแพร่กระจายของยุงลายมาก เพราะเป็นประเทศที่อยู่ในเขตร้อนชื้น ซึ่งอาจพบโรคนี้ได้ตลอดปี โดยเฉพาะช่วงฤดูฝน ได้แก่ เดือนพฤษภาคม จนถึงเดือนกันยายน ซึ่งเป็นช่วงที่มีฝนตกชุก และมีแอ่งน้ำท่วมขังอยู่ทั่วไป ยุงลายจึงสามารถขยายพันธุ์ได้ดี
จากสถิติของกรมควบคุมโรค ในช่วงวันที่ 1 มกราคม 2567 ถึง 10 มิถุนายน 2567 พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ถึง 30,353 ราย และมีผู้เสียชีวิตสูงถึง 32 ราย โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ มีอายุระหว่าง 10-24 ปี
ไข้เลือดออก (Dengue Fever) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่ (Dengue) ที่ได้ทำการแพร่เข้าสู่ร่างกายของคนจากการกัดของยุงลายตัวเมีย ปัจจุบันนี้ ไข้เลือดออก สามารถแบ่งได้ออกเป็น 4 สายพันธุ์ ได้แก่ DENV-1, DENV-2, DENV-3 และ DENV-4
โดยปกติแล้ว ระยะเวลาในการฟักตัวของโรคไข้เลือดออก จะอยู่ภายใน 8-12 วัน เมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสเดงกีไปกัดคน เชื้อไวรัสในตัวยุงก็จะเข้าสู่กระแสเลือดของผู้ที่ถูกกัด ทำให้เกิดอาการติดเชื้อและป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกได้ภายใน 3 – 15 วัน ค่ะ
ผู้ป่วยจะมีไข้สูง มีอาการป่วยที่รุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดา ยุงลายที่เป็นพาหะนำโรค เป็นยุงที่ออกหากินเฉพาะในตอนกลางวัน ยุงชอบอาศัยอยู่แถวที่มีอากาศร้อนชื้น จึงพบได้มากในประเทศที่อยู่ในเขตร้อนในทวีปเอเชีย อเมริกากลางและใต้ แอฟริกา ตอนเหนือของออสเตรเลีย และตามหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก จากการที่โรคแพร่ระบาดเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็ว ทำให้ไข้เลือดออกเป็นหนึ่งในโรคที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ความสนใจ
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกที่เคยได้รับเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใด ก็จะมีภูมิคุ้มกันเฉพาะสายพันธุ์นั้นเท่านั้น แต่หากได้รับการรับเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่ต่างออกไปจากครั้งแรก ๆ ก็สามารถที่จะเป็นไข้เลือดออกได้อีกเช่นกัน โดยทั่วไปแล้วอาการของโรคไข้เลือดออกครั้งที่สองมักที่จะรุนแรงกว่าครั้งแรก
อาการของโรคไข้เลือดออก
อาการของผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเดงกีนั้น แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ตามความรุนแรง คือ โรคไข้เดงกี และ โรคไข้เลือดออก ดังนี้
โรคไข้เดงกี
โรคไข้เดงกี (dengue fever) อาการที่พบตอนเป็นไข้เดงกี ได้แก่ อาการปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยตามตัว ปวดข้อ หรือปวดกระดูก มีผื่นขึ้นคล้าย ๆ กับผื่นโรคหัด และอาจจะมีภาวะเลือดออก หรือไม่มีก็ได้เช่นกัน
โรคไข้เลือดออก
ส่วนโรคไข้เลือดออกนั้น นอกจากจะมีอาการเช่นเดียวกับโรคไข้เดงกีแล้ว ยังมีอาการอื่น ๆ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรค คือ
- ผู้ที่ป่วยจะมีไข้สูงเฉียบพลันเกิน 38 องศาเซลเซียสประมาณ 2 – 7 วัน
- มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร เวียนหัว
- หน้าแดง อาจจะพบจ้ำเลือด หรือจุดเลือดออกสีแดงเล็ก ๆ ตามผิวหนัง หรือมีเลือดออกบริเวณอื่น ๆ เช่น เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล หรืออาจจะมีอุจจาระมีเลือดปน
- มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง กดเจ็บชายโครงด้านขวา
- ในบางรายที่มีอาการรุนแรงมาก หลังจากมีไข้มาแล้วหลายวัน ผู้ป่วยอาจจะเกิดภาวะการไหลเวียนโลหิตล้มเหลว หรือภาวะช็อก และเข้าสู่ระยะที่เรียกกันว่า กลุ่มอาการไข้เลือดออกช็อก โดยผู้ป่วยจะมีอาการกระสับกระส่าย ปลายมือปลายเท้าเย็น ปัสสาวะน้อยลง ไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว ความดันโลหิตลดต่ำ วัดชีพจรไม่ได้
การรักษาผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกนั้น ยังไม่มียารักษาเฉพาะโรค เป็นเพียงการรักษาแบบประคับประคองตามอาการอย่างใกล้ชิด โดยทั่วไปผู้ป่วยที่เป็นไข้เลือดออกจะมีไข้สูงมาก และปวดหัวอย่างรุนแรง เบื้องต้นจึงให้ยาระงับอาการ คือ Acetaminophen หรือพาราเซตามอล ซึ่งเป็นยาแก้ปวด และลดไข้ ควรหลีกเลี่ยงการที่จะใช้ยาแอสไพริน ซึ่งจะมีผลต่อเซลล์เม็ดเลือด อาจจะกระทบต่อภาวะที่มีเลือดออกซึ่งทำให้อาการนั้นแย่ลง ในกรณีที่ผู้ป่วยนั้นอาเจียนออกมา และอ่อนเพลียจากไข้ แพทย์จะให้น้ำเกลือเพื่อชดเชยการเสียน้ำในร่างกาย นอกจากนี้ เป็นการรักษาตามอาการที่ป่วย และเฝ้าระวังการเกิดอาการแทรกซ้อน
ภาวะแทรกซ้อนของการเป็นไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออกอาจจะพัฒนาความรุนแรงไปสู่ภาวะโรค Dengue Hemorrhagic Fever ซึ่งจะทำให้มีไข้สูงขึ้น มีอาการปวดหัวรุนแรงขึ้น และอาจจะมีภาวะเลือดออกตามเนื้อเยื่อและอวัยวะภายใน และ Dengue Shock Syndrome ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดการเสียเลือดมาก พลาสมารั่ว ความดันโลหิตต่ำ ซึ่งจะนำไปสู่การช็อกที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
การป้องกันโรคไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออก สามารถป้องกันได้ ดังนี้
- ป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด โดยอาจสวมใส่เสื้อผ้าที่มิดชิด ใช้สิ่งช่วยไล่ยุงต่าง ๆ
- ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง โดยเฉพาะในบริเวณบ้าน และใกล้เคียง ด้วยการปิดฝา ภาชนะต่าง ๆ ที่มีน้ำขัง เพื่อไม่ให้ยุงเข้าไปวางไข่ได้ โดยควรเปลี่ยนน้ำในภาชนะต่าง ๆ ที่ไม่ได้ใช้ด้วย ปรับปรุงสภาพแวดล้อมในบ้านให้สะอาด ปราศจากน้ำขัง และไม่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุง
- ในผู้ป่วยอายุระหว่าง 9-45 ปี ที่มีประวัติเป็นไข้เลือดออกมาแล้ว แพทย์อาจพิจารณาการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก
วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก
ปัจจุบันนี้ วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกทุกสายพันธุ์ แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่
วัคซีนชนิดนี้ จะใช้สำหรับป้องกันไข้เลือดออกในผู้ที่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อนแล้ว สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 – 45 ปี โดยแนะนำให้ทำการตรวจเลือดก่อนฉีดวัคซีนในกรณีที่ไม่มีประวัติยืนยันการติดเชื้อ โดยจะฉีดทั้งหมด 3 เข็ม ห่างกันเข็มละ 6 เดือน
วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกในผู้ที่เคยและไม่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อน ซึ่งสามารถฉีดได้ตั้งแต่ อายุ 4 – 60 ปี โดยไม่จำเป็นต้องตรวจเลือด โดยจะฉีดทั้งหมด 2 เข็ม ห่างกันเข็มละ 3 เดือน ค่ะ
ผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีนไข้เลือดออก
หลังการฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดบริเวณตำแหน่งที่ฉีดวัคซีน ไปจนถึง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถหายได้เองภายใน 1 – 3 วัน
อย่างไรก็ตาม แพทย์จะไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนก่อนเวลาที่แพทย์นัดหมาย ควรมาตามนัดและฉีดให้ครบถ้วนเพื่อประสิทธิภาพของวัคซีนค่ะ
อ่านประสบการณ์จริงของคุณแม่และลูกเมื่อต้องเผชิญกับโรคไข้เลือดออก
ไข้เลือดออก โรคร้ายที่มากับฝน
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
วิธีรักษาโรควิตกกังวล และโรคเครียด ด้วยวิธีทางธรรมชาติ ทำได้ที่บ้าน ง่าย ๆ ลองทำตามดู
โรคธาลัสซีเมีย หรือ โลหิตจาง เป็นยังไง เป็นแล้วอันตราย หรือไม่ รู้ไว้ไร้กังวล
ลูกฉันเป็นไข้เลือดออก หรือชิคุนกุนยา? ดูอย่างไรว่าลูกเป็นไข้เลือดออก หรือ เป็นชิคุนกุนยา
ที่มา : pobpad , Bumrungrad , Mamastory , Bangkok Hospital
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!