ทำอย่างไรดี คนท้องคิดมาก แบบนี้จะส่งผลต่อทารกในครรภ์มากแค่ไหน และจะหาวิธีจัดการกับความรู้สึกตอนนี้อย่างไร แม่ท้องคนไหนที่กำลังมีความกังวล สามารถอ่านบทความนี้ เพื่อเรียนรู้วิธีแก้ปัญหาในระดับเบื้องต้นได้
คนท้องคิดมาก จะส่งผลอย่างไรต่อทารกในครรภ์
การที่คนท้องคิดมากมักจะมีสาเหตุหลัก ๆ อยู่ 3 อย่าง คือ ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง ทำให้มีภาวะอารมณ์ไม่คงที่ หรือตอบสนองมากกว่าปกติ, เป็นความกังวลที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ และการเจอเรื่องราวที่ทำให้ต้องคิดมากระหว่างวัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้หากปล่อยไว้จะทำให้เกิดอันตรายต่อคุณแม่ และทารกในครรภ์ได้ด้วย ดังนี้
- ทำให้ทานอาหารได้น้อยลงกว่าปกติ ส่งผลให้สารอาหารในตัวของคุณแม่มีน้อย ไม่พอต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์
- เพิ่มโอกาสในการแท้งลูกได้ หรือทำให้เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด และทำให้ทารกที่คลอดออกมามีแนวโน้มที่จะเป็นเด็กเลี้ยงยาก
- ความกังวลทำให้คุณแม่มีเวลาในการพักผ่อนน้อยลง เป็นเรื่องพื้นฐานที่จะเกิดขึ้น กรณีคิดมากตอนเวลานอน เมื่อพักผ่อนน้อย สภาพร่างกายของคุณแม่จะไม่แข็งแรง ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่าย
- ความเครียดมีส่วนให้ภูมิคุ้มกันของคุณแม่ลดต่ำลง ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อโรค และการติดเชื้ออื่น ๆ ที่อาจตามมาได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : ตรวจธาลัสซีเมียก่อนตั้งครรภ์ สำคัญอย่างไร ใครอยากมีลูกต้องตรวจก่อน
วิดีโอจาก : โค้ชเลิศพร สอนแม่และเด็ก
6 วิธีคลายเครียดสำหรับคนท้องคิดมาก
เมื่อเกิดความเครียด ต้องรีบหาวิธีผ่อนคลายตนเอง จากทั้งปัญหาชีวิต หรือจากฮอร์โมน สิ่งสำคัญ คือ จะต้องเข้าใจเสมอว่า หากปล่อยไว้ทั้งคุณแม่ และทารกอาจเกิดอันตรายได้ เพราะสภาวะจิตใจสามารถส่งผลร้ายได้ไม่ต่างจากโรคร้ายเลย หากคุณแม่พบความเครียด ความกังวล เรามีวิธีรับมือมาแนะนำ ได้แก่
1. ทำกิจกรรมที่ตนเองชื่นชอบ
การผ่อนคลายตนเองให้ออกจากความคิดมากในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างง่ายที่สุด คือ การทำกิจกรรมที่ตนเองชื่นชอบมากเป็นพิเศษ เพื่อให้ลืมช่วงเวลาที่ตนเองกังวลไป หมายรวมถึงงานอดิเรกต่าง ๆ ที่คิดว่าทำแล้วมีความสุข ทั้งเล่นเกม, ดูหนัง, ฟังเพลง หรืออ่านหนังสือ เป็นต้น นอกจากกิจกรรมที่เราชอบแล้ว การทำให้ตนเองไม่คิดมาก คือ การใช้เวลาไปกับการลองทำกิจกรรมใหม่ ๆ ที่แม่ท้องยังไม่เคยลองทำ หากชอบคุณแม่ก็จะได้กิจกรรมใหม่ ๆ เอาไว้ใช้ในเวลาว่างเพิ่มขึ้นอีก 1 กิจกรรม
2. พยายามให้กำลังใจตนเอง และคิดบวก
การคิดมากทำให้เกิดความคิดด้านลบเสมอ คุณแม่จะกลัวไปว่าหากไม่ได้เป็นอย่างที่คิดจะเป็นอย่างไร เป็นการคิดในแง่ร้ายไปก่อนว่าจะโดนอะไรบ้าง ทั้ง ๆ ที่ยังไม่เกิดเหตุการณ์ใด ๆ ขึ้นเลยในตอนนี้ อีกหนทางที่ดีในการช่วยผ่อนคลายความคิด คือ การพยายามคิดบวก ว่าสิ่งที่กังวลจะไม่ได้เป็นแบบนั้นจริง ๆ หรือให้คิดว่า “ทุกปัญหามีทางออก” หรือเป็นการยอมรับกับตนเองว่า บางอย่างถ้าจะเกิดก็ต้องเกิด ทำได้แค่ยอมรับ และให้เดินหน้าต่อไปก็ได้เช่นกัน
3. คิดถึงลูกรักในครรภ์เสมอ
เมื่อความเครียด การคิดมากไม่ได้เป็นผลดีต่อทารกในครรภ์ หากแม่ท้องรู้เรื่องนี้ดีอยู่แล้ว และเป็นห่วงทารกในครรภ์ การพยายามที่จะปล่อยวางมากขึ้น เพื่อไม่ให้ตนเองคิดมาก หรือเครียดจนส่งผลต่อทารก ถือเป็นเรื่องที่ดี ดังนั้นเมื่อคุณแม่ต้องกังวลมาก ๆ จนไม่เป็นอันทำอะไร ก็ลองคิดดูว่าลูกในท้องที่เรารักมากนั้น จะได้รับผลไปด้วย เพื่อให้จิตใจได้สงบลงบ้างสักช่วงเวลาหนึ่งก็ยังดี
4. พยายามอย่าอยู่คนเดียว
ยิ่งอยู่คนเดียวมาก ก็ยิ่งทำให้คิดมากตามไปด้วย การมีคนอื่นรอบ ๆ ตัวเรา คนเหล่านั้นจะชวนคุณแม่พูดคุย หรือชวนคุณแม่ทำกิจกรรมต่าง ๆ เป็นการใช้จ่ายเวลาเพื่อความผ่อนคลายแทนที่เวลาที่ใช้ในการคิดมาก ไม่ใช่แค่คุณแม่ต้องพยายามอยู่กับคนอื่นเท่านั้น หากคนที่อ่านบทความนี้อยู่เป็นคุณพ่อ ก็ให้หาเวลาชวนคุณแม่ไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด หากสังเกตเห็นว่าคุณแม่มีความกังวล หรือมีความเครียด ไม่ต้องรอให้คุณแม่เข้ามาปรึกษา แต่สามารถเข้าไปพูดคุย เป็นฝ่ายเริ่มการสนทนาได้เช่นกัน
5. พยายามนอนหลับพักผ่อนให้มาก
ความเครียดสามารถส่งผลต่อร่างกายได้มากกว่าที่คิด โดยเฉพาะทำให้เวลาในการนอนหลับพักผ่อนน้อยลงไป เพราะเอาเวลานอนมาคิดมาก หรือคิดมากก่อนนอนจนทำให้นอนไม่หลับ เพราะความกังวล แต่การนอนหลับเป็นเรื่องพื้นฐานที่แม่ท้องจะต้องให้ความสำคัญ คุณแม่อาจเลือกใช้วิธีต่าง ๆ ในการกระตุ้นการนอนหลับได้ เช่น ทำให้ห้องเหมาะกับการนอนหลับทั้งแสงของห้อง และอุณหภูมิ, เลี่ยงการเล่นมือถือ หรือดูสื่อที่ทำให้ตื่นเต้น หรือเกิดความเครียดก่อนนอน ไปจนถึงการฟังเพลงทำนองช้า ๆ สบาย ๆ เป็นต้น
6. ปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำ
หากลองทำวิธีที่เราแนะนำไปแล้ว ไม่ได้ทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์รู้สึกดีขึ้น ความกังวลยังไม่ลดลง หรือเมื่อเวลาผ่านไป ความกังวลที่คนท้องมี ยิ่งมากขึ้น หากรู้ตัวว่าแม่ท้องไม่มีความสุขเลย ปล่อยไว้จะเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าได้ หนทางสุดท้ายที่สามารถทำได้ในตอนนี้ คือ การเดินทางไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ รับคำแนะนำจากแพทย์ด้านจิตวิทยา ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าอาย แถมคำแนะนำที่ได้ยังมีประสิทธิภาพมากกว่าวิธีพื้นฐานที่เราแนะนำอย่างแน่นอน
แม่ท้องต้องพยายามสังเกตตนเองอยู่ตลอด
ความเครียดเพียงเล็กน้อยอาจไม่เป็นไร แต่ถ้าเครียดเล็กน้อยแต่บ่อยก็น่าเป็นห่วง อาจมีภาวะอื่น ๆ ตามมา การทำให้พักผ่อนน้อยลง ก็อาจเปิดโอกาสให้โรคต่าง ๆ เข้ามาหาคุณแม่ได้มากขึ้น ในช่วงตลอดการตั้งครรภ์ หากคุณแม่สังเกตความผิดปกติของตนเองอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นอาการทางจิตใจ หรือร่างกาย แม้เพียงเล็กน้อย ก็พยายามอย่าปล่อยผ่าน หรือคิดว่าไม่มีอะไร ควรพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการรักษาต่อไป เพื่อให้ตัวคุณแม่ผ่านพ้นช่วงนี้ และทารกยังคงแข็งแรงดีทั้ง 3 ไตรมาส
หากคุณแม่อยู่ในช่วงตั้งครรภ์ ทุกสิ่งจะต้องอยู่ในระดับที่ดีเสมอ ไม่ใช่แค่ทางร่างกาย แต่หมายถึงทางจิตใจด้วย อย่าปล่อยให้ตนเองอยู่ในความกังวลจนเกิดเป็นอาการซึมเศร้าโดยเด็ดขาด เพราะความปลอดภัยนี้ไม่ได้ส่งผลแค่คุณแม่เท่านั้น แต่ยังหมายถึงความปลอดภัยของทารกด้วย
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
Babymoon Trip คืออะไร พาลูกในครรภ์เที่ยว ก่อนเจ้าตัวน้อยลืมตาดูโลก
8 อาการเล็บคนท้องผิดปกติ ที่ต้องสังเกต อาจเป็นสัญญาณบอกโรค
คนท้องมีตุ่มใต้รักแร้ เกิดจากอะไร ควรกังวลมากแค่ไหน
ที่มา : phyathai, bpksamutprakan
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!