ปัญหาผิวพรรณหลายอย่างอาจพบเจอช่วงตั้งครรภ์ คนท้องมีตุ่มใต้รักแร้ อาการนี้จะเกี่ยวกับการมีลูกน้อยไหม หรือเป็นแค่ความบังเอิญจากอาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นช่วงตั้งครรภ์พอดี เราจะเฉลยให้เอง
คนท้องมีตุ่มใต้รักแร้ อันตรายไหม
ในช่วงตั้งครรภ์ร่างกายของคุณแม่อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง โดยเฉพาะรูปลักษณ์ภายนอกที่อาจทำให้คุณแม่เป็นกังวล ปัญหาใต้วงแขนก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้คุณแม่คิดมาก นอกจากปัญหารักแร้ดำช่วงที่กำลังท้อง อาจพบว่ามีตุ่มขึ้นใต้รักแร้ด้วย ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ไม่ได้เป็นผลจากการตั้งครรภ์ แต่เป็นปัจจัยอื่นที่ทำให้เกิดตุ่มเหล่านี้ โดยมากแล้วมักไม่อันตราย หลายอาการสามารถหายได้เอง แต่ถ้าหากพบว่าตุ่มมีอาการรุนแรง ก็จำเป็นต้องให้แพทย์รักษาเช่นกัน
คนท้องมีตุ่มใต้รักแร้ เกิดได้จากหลายสาเหตุ
สาเหตุที่ทำให้รักแร้มีตุ่มขึ้นเกิดได้จากปัจจัยของภาวะความผิดปกติของร่างกาย หรือการติดเชื้อต่าง ๆ ได้แก่ ต่อมน้ำเหลืองโต, เนื้องอกไขมัน, รูขุมขนอักเสบ, ถุงน้ำในต่อมไขมันอุดตัน และแมลงกัดต่อย
1. เป็นอาการของต่อมน้ำเหลืองโต
เป็นส่วนหนึ่งของอาการ หากเกิดการอักเสบ เป็นผลมาจากการอวัยวะใกล้เคียงเกิดการติดเชื้อมาก่อนแล้ว หากคุณแม่กดตุ่มใต้รักแร้ที่เกิดจากการติดเชื้อ จะทำให้รู้สึกเจ็บ และอาจจับคลำพบก้อนในรักแร้จุดเดียว หรืออาจเจอหลายจุด โดยทั่วไปแล้ว หากสามารถวินิจฉัยอาการติดเชื้อ และรักษาตามขั้นตอนจนอาการติดเชื้อหาย จะทำให้ตุ่มใต้รักแร้ค่อย ๆ ยุบลงไปได้เองตามธรรมชาติ ดังนั้นหากเจออาการที่สุ่มเสี่ยงจึงไม่ควรปล่อยเอาไว้
บทความที่เกี่ยวข้อง : รักแร้หนังไก่ เกิดจากอะไร วิธีป้องกันและรักษารักแร้หนังไก่
2. เป็นเนื้องอกไขมัน
อาการของ “ก้อนเนื้อไขมัน” หรือ “เนื้องอกไขมัน (Lipoma)” เกิดจากเนื้องอกของเซลล์ไขมัน มักพบอยู่ระหว่างผิวหนังและชั้นกล้ามเนื้อ โดยทั่วไปลักษณะอาการจะเป็นเนื้องอกที่ไม่ร้ายแรง ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับมะเร็ง และไม่ได้แพร่กระจาย หรือเป็นเชื้อใด ๆ แม้จะไม่ใช่อาการที่น่าเป็นห่วง แต่หากลักษณะของก้อนเนื้อใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ หรือใหญ่กว่าปกติมาก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาตามขั้นตอนต่อไป
3. รูขุมขนอักเสบหรืออุดตัน
รูขุมขนอักเสบ คือ อาการของรูขุมขนที่เกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อรา ส่งผลให้เกิดตุ่มลักษณะแดง ๆ เล็ก ๆ หรือเป็นสิวหัวขาวตรงบริเวณนั้น ๆ รวมถึงใต้รักแร้ด้วย เพราะอาการเหล่านี้มักพบในจุดที่มีขนนั่นเอง โดยทั่วไปแล้ว อาการนี้จะสามารถหายได้เองภายในระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ แต่หากไม่หาย หรือมีอาการแย่ลงสามารถรักษาได้ด้วยการพบแพทย์ โดยแพทย์มักจะให้ใช้ยาฆ่าเชื้อ และยาแก้อักเสบทาเฉพาะที่บริเวณเกิดการติดเชื้อ
4. ถุงน้ำในต่อมไขมันอุดตัน
ซีสต์ไขมันใต้ผิวหนัง (Sebaceous Cyst) หรือถุงน้ำในต่อมไขมันอุดตัน โดยตุ่มจะเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ โดยทั่วไปลักษณะอาการแบบนี้มักไม่ได้สร้างอันตรายใด ๆ และมักไม่มีอาการรุนแรง รวมถึงไม่สามารถกลายเป็นเชื้อมะเร็งได้ อย่างไรก็ตามด้วยรักแร้เป็นอวัยวะที่มักมีการเคลื่อนไหว และเกิดการเสียดสีอยู่บ่อย ๆ ทำให้เสี่ยงต่ออาการอักเสบ หรือเกิดการติดเชื้อได้หากไม่ระวัง ซึ่งวิธีการรักษาก็สามารถทำได้หลายวิธี ทั้งการใช้ยา และการผ่าตัด
5. ถูกแมลงกัด
หลังจากเป็นอาการของภาวะต่าง ๆ ได้หลายอย่าง บางครั้งสิ่งที่ทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์เจอกับปัญหาตุ่มใต้รักแร้ อาจมาจากการถูกแมลงกัด หรือเกิดจากอาการแพ้ระคายเคืองแมลง เป็นต้น หากคุณแม่พบว่ามีอาการตุ่มใต้รักแร้ที่เกิดจากแมลงต้องระวังให้ดี ส่วนมากคุณแม่จะรู้สึกคัน อาจเผลอไปจับ ไปเกาบ่อย ๆ ซึ่งไม่ควรทำ เพราะจะยิ่งทำให้เกิดความเสี่ยงต่ออาการอักเสบตามมาได้ คุณแม่ควรรักษาความสะอาดผิวหนังจุดนั้นในเบื้องต้น หากอาการยังไม่ดีขึ้นก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรับยา และคำแนะนำในการดูแลแผลตุ่ม
บทความที่เกี่ยวข้อง : 10 โรลออน คนท้อง ใช้แล้วดี ลดเหงื่อ รักแร้ไม่ดำ ไม่ทิ้งคราบเหลือง
วิดีโอจาก : Thainakarin Hospital
คนท้องจะดูแลตุ่มใต้รักแร้ได้อย่างไร
เนื่องจากเป็นปัญหาสุขภาพเป็นส่วนใหญ่ แม่ท้องจึงต้องให้ความสำคัญกับการดูแลตนเอง ประกอบกับคอยสังเกตอาการว่ามีความผิดปกติมากน้อยแค่ไหน เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณแม่เอง เลี่ยงไม่ให้เกิดการลุกลาม หรือการติดเชื้อรุนแรง ดังนี้
- หากเกิดตุ่มใต้รักแร้ แต่ไม่ทราบสาเหตุ ไม่เจอแมลง อาจเกิดจากภาวะต่าง ๆ ในร่างกาย จึงควรหมั่นสังเกตอาการอย่างต่อเนื่อง หากลักษณะตุ่มใหญ่ขึ้น หรือลุกลามก็ให้รีบพบแพทย์ทันที
- เนื่องจากส่วนมากอาจเป็นผลมาจากปัญหาของสภาพผิวได้ด้วย โดยเฉพาะไขมัน การดูแลความสะอาดบริเวณใต้รักแร้ จึงเป็นสิ่งที่แม่ท้องไม่ควรมองข้าม
- ระวังอาการอับชื้น หรือการเสียดสีบ่อย ๆ ด้วยเมืองไทยมีอากาศร้อน อาจทำให้เกิดการอับชื้น เป็นการกระตุ้นเชื้อโรคได้หากไม่ระวัง จึงควรใส่เสื้อผ้าที่สามารถระบายอากาศได้ดีด้วย
- หมั่นทานผักผลไม้ที่มีวิตามิน C สูง เช่น เบอร์รี, ส้ม และฝรั่ง เป็นต้น เพราะนอกจากจะช่วยบำรุงผิวพรรณแล้ว ยังช่วยต้านอนุมูลอิสระเบื้องต้นได้ด้วย
- พยายามดื่มน้ำสะอาดอย่างสม่ำเสมอเพียงใน 1 วัน โดยทั่วไป แม่ท้องควรดื่มน้ำเปล่าสะอาดอย่างน้อย 8 แก้วขึ้นไป
- หากมีข้อสงสัย หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย คุณแม่สามารถแจ้งแพทย์ที่ทำการฝากครรภ์ไปก่อน เพื่อระวังอาการที่รุนแรงในอนาคต หากแพทย์สามารถวินิจฉัยสาเหตุ และรักษาได้ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี
อาการบางอย่างอาจไม่ใช่อาการที่เป็นผลมาจากการตั้งครรภ์ ดังนั้นหากคุณแม่พบอาการที่ผิดปกติ หรือเกิดข้อสงสัย อย่ารอช้า รีบปรึกษาแพทย์ทันที เพื่อให้รู้ว่าควรรับมืออย่างไร เพราะหากเป็นสัญญาณของโรคร้ายจะได้รักษาได้ทันตั้งแต่เนิ่น ๆ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
คนท้องเลือดออกใต้ผิวหนัง จุดแดง จุดม่วงใต้ผิว มาจากไหน อันตรายมากไหม ?
คนท้องกินบราวน์ชูการ์ได้ไหม กินเมนูไหนแคลอรีน้อยสุด ปลอดภัยมากกว่า
คันขา ยุบยิบขา ก้มไปดูไม่มีอะไร กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข คนท้องเสี่ยงไหม ?
ที่มา : pobpad, samitivejhospitals
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!