ฝันไม่ดี สำหรับผู้ใหญ่เรื่องนี้อาจเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สำหรับเด็ก ๆ แล้ว เรื่องเล็กน้อยที่ว่านี้อาจส่งผลกระทบต่อจิตใจทำให้เด็ก ๆ มีปัญหาสุขภาพจิตเมื่อโตขึ้นได้ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่หลายท่านอาจกำลังอยู่ในช่วงที่ต้องตื่นนอนกลางดึกเพื่อมาปลอบขวัญเจ้าตัวเล็กเพราะลูกฝันร้าย ฝันไม่ดี ฝันน่ากลัวในขณะนอนหลับ เช่น วิ่งหนีผี ตกจากที่สูง หรือจมน้ำ เป็นต้น ดังนั้น ในฐานะผู้ปกครอง จึงควรรู้ถึงสาเหตุของความฝันเหล่านี้ และดูแลจัดการอย่างเหมาะสม เพื่อให้ลูกน้อยที่หวาดผวาจากความฝันสงบลงและนอนหลับได้อย่างมีความสุข
ประเภทของฝันร้าย ฝันไม่ดีที่พบบ่อย
ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของซิกมันด์ ฟรอยด์ พูดถึงความฝันของคนเราว่าเกิดจากการเก็บกด ปิดกั้นของจิตใต้สำนึก ดังนั้นความฝันในเชิงจิตวิทยาจะบ่งบอกถึงสภาวะอยู่ดีมีสุข หรือทุกข์ร้อนของจิตใจ ดังนั้น ลักษณะฝันไม่ดี อาจแสดงถึงภาวะจิตใจที่มีความเครียด และความวิตกกังวล จากงานวิจัยพบว่าฝันร้ายอันดับต้น ๆ ที่คนมักจะฝันกันมากที่สุด ได้แก่
- ฝันว่าตกจากที่สูง 39.5%
- ฝันว่าโดนไล่ล่า หรือฝันว่าวิ่งหนี 25.7%
- ฝันว่าเป็นอัมพาต ขยับตัวไม่ได้ 25.3%
- ฝันว่าไปถึงที่หมายสาย 24.0%
- ฝันว่าคนใกล้ชิดหายตัวไป หรือตาย 20.9%
- ฝันถึงหนังผี 18.9%
- ฝันว่าทำงานไม่เสร็จ 17.3%
บทความที่เกี่ยวข้อง : เมลาโทนิน สำหรับเด็ก ปลอดภัยจริงไหม? ผู้ปกครองควรรู้ก่อนให้ลูกกินยา
ทำไมลูกน้อยถึงฝันไม่ดี ฝันร้ายฝันน่ากลัว
ฝันไม่ดี หรือฝันร้ายนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ และทุกวัย โดยยังไม่สามารถชี้ชัดได้ถึงสาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดจากอะไร ซึ่งอาจมาจากความเหนื่อยล้า หรือการพบเจอกับสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียด วิตกกังวล หรือซึมเศร้า สำหรับเด็ก ๆ แล้วในเด็กเล็กช่วงวัย 1-2 ขวบ จะสามารถสังเกตอาการภายนอกที่บ่งบอกว่าฝันร้าย คือการสะดุ้งตื่นกลางดึกและร้องไห้ แต่เนื่องจากเด็กเล็กอาจจะยังไม่รู้ว่านั่นคือฝันร้าย แค่รับรู้ว่าไม่ใช่เรื่องที่ดี
เด็ก ๆ จะเริ่มรู้ และแยกแยะความจริง และความฝันได้ ก็เมื่ออายุประมาณ 3-4 ขวบ นั่นคือเมื่อเขาสามารถสื่อสารถึงเรื่องราวที่ฝันได้นั่นเอง อาการฝันร้ายจะเริ่มเกิดขึ้นในเด็กที่มีอายุระหว่าง 3-6 ปีเป็นต้นไป และการฝันร้ายในเด็ก ๆ กลุ่มนี้ สามารถที่จะรบกวนคุณพ่อคุณแม่ได้ในกลางดึกมากถึงร้อยละ 10-50% เลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม ดังที่กล่าวไปตอนต้นว่าสาเหตุของการฝันร้ายนั้นจะยังไม่มีความแน่นอน แต่อาการฝันร้ายของเด็ก ๆ สามารถเกิดขึ้นได้จากปัจจัยเหล่านี้
ฝันร้ายอาจเชื่อมโยงมาจากเหตุการณ์ที่โรงเรียน โดยเฉพาะกับสถานการณ์ที่ทำให้เด็ก ๆ เป็นกังวล เช่น การไปโรงเรียน การได้รับความพ่ายแพ้ การถูกบูลลี่ ถูกเพื่อนแกล้ง กระทำความผิด หรือกำลังปกปิดความลับ ฝันร้ายเพราะถูกแยกจากพ่อหรือแม่ หรือถูกแยกออกมาจากทั้งพ่อและแม่
ฝันร้ายเพราะฉากในละคร อาจเป็นฉากที่มีความน่ากลัวหรือทำให้เด็ก ๆ รู้สึกกลัวจนเก็บเอาไปฝัน เช่นเดียวกันกับที่ผู้ใหญ่หลายคนเคยมีประสบการณ์กลัวผีเพราะดูละครที่เกี่ยวกับผีเมื่อครั้งยังเป็นเด็กนั่นเอง การที่เด็ก ๆ ฝันร้ายติดกันบ่อยครั้ง อาจมีสาเหตุมาจากการนอนหลับพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ
บทความที่เกี่ยวข้อง : เด็กนอนหลับไม่สนิท ภาวะหลับยากในเด็ก เกิดจากอะไร พร้อมวิธีแก้
เทคนิคที่ช่วยให้ลูกน้อยนอนฝันร้ายฝันไม่ดี น้อยลง
คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องเป็นกังวล เพราะอาการเหล่านี้สามารถที่จะแก้ไขและรับมือได้ ด้วยเทคนิคต่าง ๆ เหล่านี้ จะช่วยให้ลูกน้อยนอนฝันร้ายฝันไม่ดีน้อยลงได้
-
คอยดูแลให้ลูกนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ
ดูแลตารางการเข้านอนของลูก เพื่อให้ลูกได้นอนหลับอย่างเต็มอิ่ม การทำเช่นนี้มีแนวโน้มที่จะช่วยลดสาเหตุของการฝันร้ายได้
-
สร้างบรรยากาศก่อนการเข้านอน
ใช้เวลาสัก 30-60 นาที ในการพาเด็กออกห่างจากรายการทีวี หรือดนตรีที่น่ากลัว และเสี่ยงที่จะทำให้เด็กเก็บเอาไปฝัน เปลี่ยนมาเป็นการเล่านิทานให้ลูกฟัง หรือเล่าเรื่องราวอื่น ๆ ที่จรรโลงใจ ให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย และสนุกสนาน พยายามหลีกเลี่ยงเรื่องราวที่น่ากลัวเพราะอาจจะทำให้ลูกเก็บเอาไปฝัน
-
ปลอบและอยู่ข้าง ๆ เมื่อลูกตกใจตื่นจากฝันร้าย
เมื่อลูกตกใจตื่น คุณพ่อคุณแม่ควรเข้าไปกอด และปลอบลูกทันที เพื่อให้ลูกรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย จนสามารถนอนหลับต่อไปได้ในที่สุด
-
ฝึกให้ลูกรู้จักผ่อนคลายตัวเอง
การสอนให้ลูกรู้จักวิธีผ่อนคลายตัวเองให้รู้สึกสบายตัวก่อนเข้านอน เช่น นอนในท่าที่สบาย ค่อย ๆ หายใจเข้าออกช้า ๆ เพื่อให้ร่างกายผ่อนคลายที่สุดก่อนหลับไป และวิธีนี้ยังใช้ได้ในเวลาที่ลูกตกใจตื่นขึ้นมากลางดึกด้วย
-
หาโอกาสพูดคุยกับลูกเรื่องความฝัน
พูดคุยถึงที่มาที่ไป รับฟังเหตุการณ์ของความฝันนั้น สอบถามเพื่อดูว่าช่วงนี้ลูกของคุณกำลังกังวลหรือเครียดกับสิ่งใดอยู่หรือไม่
-
สร้างความรู้สึกปลอดภัยในการนอน
เลือกซื้อตุ๊กตาหรือของเล่นชิ้นโปรดให้กับลูกไว้สำหรับนอนกอด เพราะการกอดจะทำให้เด็กรู้สึกผ่อนคลายและอุ่นใจ หรือหากเด็ก ๆ ต้องการที่จะเปิดไฟนอน ก็ให้เปิดไฟไว้จนกระทั่งแน่ใจว่าลูกของคุณหลับแล้วจึงปิดไฟ หรืออาจเลือกใช้ไฟที่ไม่สว่างมากจนเกินไปแต่ก็ไม่มืดสนิท อาจเป็นโคมไฟที่มีแสงนวลตา และให้แสงสว่างที่เพียงพอจะทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัย
เด็กๆ หลายคนใช้จินตนาการในการเอาชนะฝันร้าย คุณพ่อคุณแม่อาจเลือกเล่านิทานที่มีฮีโร่หรือนางฟ้าที่ออกมาช่วยเหลือเด็ก ๆ และอาจแนะนำลูกว่าถ้าเกิดฝันร้าย นางฟ้า และฮีโร่เหล่านี้จะออกมาช่วยลูก
บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูกร้องไห้ขณะนอนหลับ มีสาเหตุมาจากอะไร? ฝันร้ายหรือเปล่า
ฝันร้ายขนาดไหนที่ไม่ธรรมดา ควรพาลูกไปพบคุณหมอ
ฝันร้าย ฝันน่ากลัวทำร้ายสุขภาพลูกได้มากกว่าที่คิด เพราะสำหรับเด็ก ๆ นั้นช่วงการนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงเป็นช่วงที่ร่างกายซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ยังเป็นช่วงที่เซลล์ต่าง ๆ กำเนิดใหม่อีกด้วย ทั้งเซลล์สมอง และเซลล์ร่างกาย ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรนิ่งนอนใจหากลูกมีอาการดังต่อไปนี้
- ลูกของคุณมีปัญหาในการตื่นนอนตอนเช้า อาจเป็นการตื่นสาย หรือเหนื่อย เพลียทุกครั้งที่ตื่นนอน
- ลูกของคุณมักจะง่วงนอน และมีอาการหงุดหงิดในระหว่างวัน
- อาการฝันร้ายแย่ลง มีอาการฝันร้ายถี่มากขึ้น ติดต่อกันเป็นประจำทุกวัน
- ความฝันรบกวนชีวิตประจำวัน ทำให้ลูกกลัวมากขึ้น ไม่กล้านอน ตลอดจนมีอาการตกใจกลัวในช่วงกลางวัน จนพ่อแม่ผู้ปกครองเองไม่เป็นอันทำอะไร
- ลูกมีความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์หรือพฤติกรรม เช่น ไม่ยอมทำกิจกรรมที่เคยทำ ซึมเศร้า แสดงว่าเป็นอาการร่วมของความผิดปกติส่งผลต่อด้านอื่นๆ
- มีอาการกรีดร้องขณะหลับ หรือร้องแล้วตกใจตื่น ตาเปิดสุดขีดหายใจเร็ว แต่ไม่รู้สึกตัวชั่วขณะเมื่อหลับต่อ ตื่นเช้ามาจะจำเรื่องที่ฝันไม่ได้ ลักษณะความฝันแบบนี้เกิดจากความผิดปกติจากการนอนหรือระบบประสาทเล็กน้อย เรียกว่า “Night terror”
แม้ดูเหมือนว่าจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ หรือมีผลเสียใดที่น่ากังวล แต่สำหรับเด็ก ๆ ผู้ปกครองไม่ควรวางใจ และใช้มาตรฐานของความเป็นผู้ใหญ่ในการละเลยต่อปัญหาของเด็ก หากลูกของคุณมีอาการดังกล่าวข้างต้นนี้ก็ไม่ควรปล่อยทิ้งเอาไว้ จำเป็นต้องปรึกษาคุณหมอเพื่อรับการบำบัดรักษา
บทความที่เกี่ยวข้อง : ฝันร้ายกับละเมอฝันผวา ต่างกันอย่างไร?
ที่มา : clevelandclinic
บทความที่คุณอาจจะสนใจ :
นอนน้อย พักผ่อนไม่เพียงพอ จะมีผลเสียอะไรบ้าง และต้องนอนกี่ชั่วโมงถึงจะเพียงพอ?
วิธีการงีบหลับที่ดีที่สุด ในตอนกลางวันและไม่กระทบปัญหานอนไม่หลับช่วงกลางคืน
วิธีรักษาโรควิตกกังวล และโรคเครียด ด้วยวิธีทางธรรมชาติทำได้ที่บ้าน
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!