คุณแม่หลายคนที่กำลังตั้งครรภ์ และกำลังวางแผนจะมีลูก อาจยังไม่รู้จักอาการ ครรภ์ไข่ปลาอุก เพราะเมื่อมองจากภายนอกแล้ว อาจดูเหมือนการตั้งครรภ์ทั่วไป แต่จริง ๆ แล้วไม่มีทารกอยู่ในครรภ์ ซึ่งหากปล่อยไว้นานก็สามารถลุกลามกลายเป็นมะเร็งได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่คุณแม่ตั้งครรภ์หลายคนต้องรู้จักกับอาการนี้ วันนี้เรามีบทความดี ๆ ที่จะช่วยให้คุณแม่เข้าใจ และพร้อมรับมือกับอาการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกค่ะ
ครรภ์ไข่ปลาอุก คืออะไร?
ครรภ์ไข่ปลาอุก คือ อาการตั้งครรภ์ผิดปกติ ที่เมื่ออสุจิผสมกับไข่แล้ว ตัวอ่อนของทารก และรกจะไม่เจริญเติบโตขึ้นอย่างปกติ ทำให้เกิดรกกับถุงน้ำลักษณะคล้ายกับไข่ปลา เรียกว่า “ครรภ์ไข่ปลาอุก” ซึ่งในครรภ์จะไม่มีทารก และไม่สามารถพัฒนาเป็นทารกได้ เนื่องจากเป็นความผิดปกติของไข่คุณแม่ที่ไม่มีสารพันธุกรรม ทำให้เมื่อสเปิร์มเข้าไปจะเกิดการแบ่งตัวที่ผิดปกตินั่นเอง แม้ว่าครรภ์ไข่ปลาอุกจะเป็นเนื้องอกในชนิดที่ไม่ร้ายแรง แต่ก็ถือเป็นภาวะที่ก่อให้เกิดมะเร็งเนื้อรกได้
ประเภทของครรภ์ไข่ปลาอุก
ครรภ์ไข่ปลาอุกสามารถแบ่งได้ 2 ประเภท ขึ้นอยู่กับความสมดุลของโครโมโซมในไข่ โดยสามารถแบ่งออกได้ ดังนี้
- ครรภ์ไข่ปลาอุกอย่างเดียว : เป็นภาวะผิดปกติของเซลล์ที่เจริญขึ้นมาโดยไม่มีการเติบโตของตัวอ่อน
- ครรภ์ไข่ปลาอุกร่วมกับการมีทารก : เป็นภาวะผิดปกติของเซลล์ที่เจริญขึ้นมาพร้อมกับตัวอ่อนทารก ทำให้ตัวอ่อนไม่สามารถเจริญเติบโตได้ นอกจากนี้แม่ท้องที่ตั้งครรภ์ฝาแฝด ยังอาจมีโอกาสในการเกิดครรภ์ไข่ปลาอุกเช่นกัน แต่ก็พบได้น้อย เพราะเมื่อตัวอ่อนตัวหนึ่งเจริญเติบโตขึ้นมา อีกตัวอ่อนก็จะกลายเป็นเนื้องอก และทำลายตัวอ่อนอีกตัวอย่างรวดเร็ว
บทความที่เกี่ยวข้อง : การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกคืออะไร อันตรายต่อแม่ท้องหรือไม่?
ครรภ์ไข่ปลาอุก เกิดจากอะไร?
อาการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก มักเกิดขึ้นกับผู้หญิงที่อายุ 35 ปีขึ้นไป รวมทั้งยังสามารถเกิดขึ้นได้กับผู้เคยมีภาวะแท้งบุตร และเคยมีอาการครรภ์ไข่ปลาอุกมาก่อน ทั้งนี้ครรภ์ไข่ปลาอุกเกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมภายในไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิ โดยสาเหตุของการตั้งครรภ์ สามารถแบ่งตามประเภทของครรภ์ไข่ปลาอุก ได้ดังนี้
- ครรภ์ไข่ปลาอุกอย่างเดียว : ไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิจะมีโครโมโซมจากพ่อเพียงผู้เดียว ทำให้ไม่มีตัวอ่อน ถุงน้ำค่ำ หรือรกที่เจริญเติบโตขึ้น มีเพียงแค่ถุงน้ำรังไข่จำนวนมาก คล้ายกับพวงองุ่นแทน
- ครรภ์ไข่ปลาอุกร่วมกับการมีทารก : เกิดจากการที่ไข่ได้รับโครโมโซมจากแม่จำนวน 23 โครโมโซม และได้รับจากพ่อสองเท่าเป็น 46 โครโมโซม ทำให้มีโครโมโซมมากถึง 69 โครโมโซม โดยภาวะนี้เป็นการที่โครโมโซมของพ่อเพิ่มซ้ำ หรือมีอสุจิสองตัวปฏิสนธิภายในไข่ใบเดียวกัน ซึ่งหากทารกเจริญเติบโตขึ้นมาก็ทำให้เกิดความผิดปกติ และไม่สามารถอยู่รอดได้
อย่างไรก็ตาม อาการครรภ์ไข่ปลาอุก เป็นภาวะที่สามารถพบได้น้อย โดยจะพบในผู้ตั้งครรภ์ประมาณ 1-3 คนจาก 1,000 คน ซึ่งผู้ที่มีอาการต้องเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด เพราะอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงถึงชีวิตได้
ครรภ์ไข่ปลาอุก อาการเป็นอย่างไร?
อาการของครรภ์ไข่ปลาอุกมักมีอาการคล้ายกับการตั้งครรภ์โดยทั่วไป เช่น แพ้ท้อง หรือประจำเดือนไม่มา อีกทั้งยังมีอาการคล้ายกับภาวะแท้ง ทำให้คุณแม่หลายคนเข้าใจว่าอาการดังกล่าวเป็นอาการแท้งนั่นเอง ทั้งนี้คุณแม่ที่มีอาการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก มักมีอาการ ดังต่อไปนี้
- อ่อนเพลีย
- ครรภ์เป็นพิษ
- ไทรอยด์เป็นพิษ
- คลื่นไส้ และอาเจียนรุนแรง
- หายใจไม่สะดวก หรือไอเป็นเลือด
- เลือดออกจากช่องคลอดในช่วงเริ่มตั้งท้อง
- กังวล เหนื่อยง่าย เหงื่อออก และหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ
- ปวดท้องกะทันหัน ท้องบวม และมดลูกขยายใหญ่ผิดปกติ
อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่มีเลือดออกจากช่องคลอด ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาการดังกล่าวอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพครรภ์ และภาวะอื่น ๆ ได้ คุณแม่จึงควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการอัลตราซาวด์ และตรวจเลือดเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุกันต่อไป
บทความที่เกี่ยวข้อง : สัญญาณอันตรายระหว่างตั้งครรภ์ อาการแบบไหนควรไปพบแพทย์?
ครรภ์ไข่ปลาอุกเสี่ยงต่อมะเร็งจริงไหม?
การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก สามารถก่อให้เกิดมะเร็งได้จริง โดยเมื่อคุณแม่ได้รับการรักษาโดยนำเนื้องอกออกไปแล้ว อาจมีเนื้องอกหลงเหลืออยู่ และเจริญขึ้นมาได้ ทำให้กลายเป็นมะเร็งไข่ปลาอุก ซึ่งคุณแม่ตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกร่วมกับการมีทารก อาจมีโอกาสในการเกิดมะเร็งได้มากกว่า ซึ่งผู้ที่เป็นมะเร็งนั้นอาจมีเนื้องอกที่ลุกลามไปยังเยื่อบุมดลูกชั้นกลาง ทำให้เกิดเลือดออกจากช่องคลอด สำหรับวิธีการรักษามะเร็งไข่ปลาอุกนั้น มักใช้วิธีการเคมีบำบัดร่วมกับยาอื่น ๆ และต้องรับยา พร้อมเข้าตรวจสุขภาพเป็นประจำจนกว่าจะกลับมาเป็นปกติ
การรักษาอาการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก
สำหรับคุณแม่ที่มีอาการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก ควรเข้ารับการรักษาทันทีเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน โดยวิธีรักษาอาการครรภ์ไข่ปลาอุกนั้น ได้แก่
- ขูดมดลูก : ในการรักษาครรภ์ไข่ปลาอุก แพทย์จะขูดมดลูกเพื่อนำเนื้องอกออกไป โดยแพทย์จะใช้ยาชาเพื่อเตรียมขูดมดลูก จากนั้นจะสอดอุปกรณ์คล้ายกับปากเป็ดเข้าไปในช่องคลอด และทำการขูดมดลูก และเนื้อเยื่อมดลูกออกไป
- ผ่าตัดมดลูก : วิธีผ่าตัดมดลูก เป็นวิธีที่ไม่ค่อยนิยมกันมาก โดยแพทย์จะใช้วิธีนี้ในกรณีที่แม่ท้องมีเนื้องอกของครรภ์ไข่ปลาอุกมาก และเสี่ยงเป็นมะเร็ง วิธีนี้ทำให้คุณแม่ไม่สามารถมีบุตรได้อีกต่อไป
- ฉายรังสี : แม่ท้องที่เนื้องอกกระจายไปยังสมอง จะได้รับการฉายรังสีแรงสูง เพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง
- ตรวจระดับฮอร์โมน : การตรวจระดับฮอร์โมน เป็นการติดตามระดับฮอร์โมน โดยแพทย์จะวัดระดับฮอร์โมนหลังจากนำเนื้องอกออกไปแล้ว โดยจะวัดระดับฮอร์โมนสัปดาห์ละครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าระดับฮอร์โมนลดลง และไม่มีเนื้องอกของครรภ์ไข่ปลาอุกหลงเหลืออยู่
- คุมกำเนิด : การคุมกำเนิด เป็นวิธีที่ใช้กับผู้ติดตรวจระดับฮอร์โมน เนื่องจากต้องรอ 1 ปี ให้ระดับฮอร์โมนเอชซีจีหายไป หากคุณแม่เกิดตั้งครรภ์ก่อนถึงเวลาที่กำหนด ก็จะส่งผลให้ระดับฮอร์โมนเพิ่มขึ้น ซึ่งยากต่อการวินิจฉัยว่าคุณแม่มีอาการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกหรือไม่
- ทำเคมีบำบัด : การทำเคมีบำบัด มักจะทำให้คุณแม่ที่เสี่ยงเป็นมะเร็ง หรือผู้ที่เคยได้รับการผ่าตัดมดลูกออกไปแล้ว แต่ปริมาณฮอร์โมนยังไม่ลดลงเป็นปกติ โดยคุณแม่จะได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดร่วมกับยาอื่น ๆ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ตกเลือดตอนท้องอ่อน เรื่องเสี่ยงแท้ง ที่แม่ท้องต้องระวัง
วิธีสังเกตอาการครรภ์ไข่ปลาอุก
หากคุณแม่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียนผิดปกติ มากกว่าการแพ้ท้องทั่วไป และมีความดันสูงตั้งอายุครรภ์เริ่มต้น อาจมีอาการเป็นครรภ์ไข่ปลาอุก จึงควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการอัลตราซาวด์ตรวจเช็กดูอาการ หากพบถุงน้ำเล็ก ๆ ในโพรงมดลูก แพทย์จะทำการดูดออกทันที เพราะอาจเป็นอันตรายต่อคุณแม่ได้ ทั้งนี้คุณแม่ที่เคยเป็นครรภ์ไข่ปลุกมาก่อน อาจมีโอกาสในการเกิดซ้ำมากกว่าคนปกติทั่วไป จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเข้าตรวจสุขภาพครรภ์เป็นประจำ และไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะอาจเป็นอันตรายได้
ครรภ์ไข่ปลาอุก เป็นอาการตั้งครรภ์ผิดปกติที่คุณแม่ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะหากปล่อยไว้ก็อาจกลายเป็นมะเร็งลุกลามต่อร่างกายได้ ดังนั้นหากคุณแม่มีอาการผิดปกติ อาเจียน คลื่นไส้ หายใจไม่สะดวก และมีภาวะไทรอยด์เป็นพิษ หรือครรภ์เป็นพิษ ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อเข้ารับการวินิจฉัยอาการดังกล่าว และเข้ารับการรักษาต่อไปค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ภาวะแท้งคุกคามมีสาเหตุจากอะไร มีปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง ?
รกเกาะต่ำ เป็นแบบไหน ทำไมใครๆก็เตือนให้คนท้องต้องระวัง
ท้องแต่มีประจำเดือน มีประจําเดือนแต่ท้อง เมนส์มาแต่ท้องอยู่ เป็นไปได้หรือ ?
ที่มา : rama.mahidol, pobpad
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!