ยาที่คนท้องห้ามกิน ยาที่ต้องหลีกเลี่ยงระหว่างตั้งครรภ์ เพื่อความเจ็บป่วย เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ยิ่งผู้หญิงที่อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์ ยิ่งเสี่ยงที่จะเจ็บป่วย หรือมีอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ง่าย ซึ่งหลายครั้งที่แม่ท้องก็มักจะซื้อยามากินเอง โดยที่หารู้ไม่ว่าในช่วงตั้งครรภ์นั้น ไม่ควรซื้อยามากินเองหากไม่ได้ปรึกษาคุณหมอโดยเด็ดขาด เพราะอาจส่งผลร้ายต่อลูกในท้องแบบคาดไม่ถึงได้ โดยนายแพทย์วรณัฐ ปกณ์รัตน์ แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป ได้แนะนำให้ความรู้เกี่ยวกับยาที่คนท้องห้ามกิน หญิงตั้งครรภ์ห้ามกินยาอะไรบ้างไว้มากมาย โดยสามารถอ่านได้ตามข้อมูลดด้านล่าง ไปติดตามกันเลย
นายแพทย์วรณัฐ ปกณ์รัตน์ แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป
ยาที่ต้องหลีกเลี่ยงระหว่างตั้งครรภ์ ยาที่คนท้องห้ามกิน
ในแต่ละปีจะมีเด็กทารก 1 ในทุก ๆ 33 คนเกิดมาพร้อมความผิดปกติ ประมาณ 2-3% จากจำนวนนี้มีสาเหตุมาจากการใช้ยาไม่ถูกต้องในระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทุกประเภทที่ไม่จำเป็นจริง ๆ การใช้ยาบางชนิดอาจทำให้อวัยวะของเด็กพัฒนาผิดปกติ ลองศึกษาข้อมูลต่อไปนี้เพื่อให้รู้ว่าคุณควรหลีกเลี่ยงยาอะไร โดยยาที่ควรหลีกเลี่ยงในหญิงตั้งครรภ์มีดังต่อไปนี้
1. ยาต้านเกล็ดเลือด
เช่น แอสไพริน (Aspirin) เป็นยาที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะการใช้ในปริมาณที่มาก หรือการใช้อย่างต่อเนื่องและเป็นเวลานาน เพราะยามีผลทำให้เกิดภาวะทารกวิรูป (Teratogenesis) มีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบเลือดในมารดาและทารกในครรภ์ และเพิ่มอัตราการเสียชีวิตของทารกในครรภ์ได้ และในช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสสุดท้าย หรือไตรมาสที่ 3 ห้ามใช้อย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้คลอดช้า และเกิดภาวะเลือดออกผิดปกติในทารกและคุณแม่ได้
2. ยาต้านลิ่มเลือด
เช่น กลุ่มยาวอร์ฟาริน (Warfarin) เป็นยาที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น โดยกลุ่มยาวอร์ฟาริน เป็นยาป้องกันและรักษาลิ่มเลือดที่จะก่อตัวในร่างกายของมนุษย์ หากมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ยาควรหลีกเลี่ยงใช้ยาในช่วงของไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ เนื่องจากอาจทำให้เกิดการก่อมะเร็ง และห้ามใช้ในช่วงประมาณ 2-4 สัปดาห์สุดท้ายก่อนที่จะคลอด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนจากการตกเลือดของคุณแม่นั่นเอง
3. ยากันชัก
อาทิ ยาวัลโพรเอต (Valproate) ยาเฟนนิบาร์บิทอล (Phenobarbital) เป็นต้น เป็นยาที่ควรหลีกเลี่ยงในการใช้กับคนท้องที่ตั้งครรภ์ในช่วงของไตรมาสแรกและไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ เพราะตัวยากนั้นจะไปเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดความผิดปกติของทารก ทำให้ทารกพิการตั้งแต่กำเนิด ภาวะเลือดไหลไม่หยุดเนื่องจากการขาดวิตามินเค และการติดยา อีกทั้งอาจนำไปสู่การทำให้เกิดภาวะขาดโฟลิคในคุณแม่ตั้งครรภ์ได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังพบว่าหากมีการใช้ยากันชักหลายตัวร่วมกันจะส่งผลทำให้ทารกในครรภ์เกิดความเสี่ยงพิการ แต่หากคุณแม่ขาดการทานยาก็จะทำให้เกิดอันตรายได้หากไม่สามารถควบคุมอาการชักได้ ทั้งนี้จะต้องพิจารณาความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นและหากจำเป็นจะต้องใช้จะต้องใช้ในปริมาณที่น้อยที่สุด และขึ้นอยู่ในดุลพินิจของแพทย์
บทความที่น่าสนใจ : โรคประจำตัวกับคนท้อง คุณแม่ควรเฝ้าระวังอาจส่งผลต่อลูกในครรภ์ได้
4. ยานอนหลับ/ยาคลายวิตกกังวล
เช่น ยาไดอะซีแพม (Diazepam) หากมีการใช้ในช่วงของไตรมาสที่ 1 ของการตั้งครรภ์อาจมีผลทำให้ทารกมีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ และไส้เลื่อนที่ขาหนีบ (Inguinal Hernia) การใช้ในไตรมาสที่ 2 อาจส่งผลทำให้เกิดความผิดปกติเกี่ยวกับระบบเลือดและหัวใจของทารก และหากมีการใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือใช้ในปริมาณที่เกิดขนาดในช่วงไตรมาสที่ 3 อาจมีผลทำให้เกิดทารกที่เกิดมามีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง เซื่องซึม ไม่ดูดนม (Floppy infant syndrome) และ เจริญเติบโตช้า มีอาการเกร็ง สั่น กระวนกระวาย ท้องเสีย และคลื่นไส้ (Withdrawal syndrome)
5. ยาต้านซึมเศร้า (anti-depressants)
อาทิ ยาฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) เป็นยาที่สามารถส่งข้ามผ่านรกของทารกได้ โดยการใช้ยาต้านเศร้าในช่วงของการตั้งครรภ์นั้นจะส่งผลทำให้เกิดความผิดปกติของปอดของทารก และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจนำไปสู่การคลอดก่อนกำหนด หรือการแท้งบุตร ทั้งนี้ทั้งนั้นการหยุดใช้ยาต้านซึมเศร้าอย่างเฉียบพลันอาจส่งผลถึงการควบคุมร่างกายและอารมณ์ของคุณแม่ตั้งครรภ์ได้ ดังนั้นควรมีการปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการใช้ยา และการรักษาในช่วงระหว่างตั้งครรภ์ด้วย
บทความที่น่าสนใจ : อาการโรคซึมเศร้า ในกลุ่มคนท้อง เกิดขึ้นได้อย่างไร เสี่ยงต่อเด็กในครรภ์หรือไม่
6. ยาต้านจิตเภท (anti-psychotics)
เช่น ยาฮาโลเพอริดอล (Haloperidol) มีการทดลองยาชนิดในสัตว์ พบว่าการใช้ยาดังกล่าวส่งผลต่อตัวอ่อนในครรภ์เพราะมีความเป็นพิษสูง และยังทำให้มีความเสี่ยงต่ออัตราการตายของตัวอ่อนในครรภ์ได้มากกว่าการรับประทานยาชนิดอื่น ๆ จากการศึกษาหนึ่งพบว่าการใช้ยาฮาโลเพอริดอลในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์จะส่งผลทำให้ทารกในครรภ์มีความผิดปกติของระบบหัวใจและหลอดเลือด แขน และขา นอกจากนี้หากมีการใช้ยาในช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง Extrapyramidal side effects (EPS) ในทารกได้
7. ยาต้านอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ (anti-arrhythmics)
เช่น ยาอะมิโอดาโรน (Amiodarone) เป็นยาที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยง หากมีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะยาต้านอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะนั้นส่งผลทำให้ทารกที่คลอดออกมานั้นมีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ และส่งผลกระทบต่อต่อมไทรอยด์ของทารกอีกด้วย นอกจากนี้ยังส่งผลถึงพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของทารกหลังคลอด อาทิ การเจริญเติบโตที่ช้าหรือต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด พัฒนาการด้านการสื่อสาร การพูด การเคลื่อนไหว หรือการขยับร่างกาย และการพัฒนาด้านสติปัญญา ความคิดของทารกจะบกพร่อง ทำให้พวกเขาไม่สามารถพัฒนาร่างกาย และทักษะด้าน ๆ ได้เป็นไปตามเกณฑ์ตามช่วงวัยของเขา
8. ยาปฏิชีวนะบางชนิด
อาทิ ยากลุ่มฟลูออโรควิโนโลน (Fluoroquinolone) ยาคลอแรมเฟนนิคอล (Chloramphenicol) และยากลุ่มเตตร้าไซคลิน (Tetracycline) หากมีการใช้ในช่วงของการตั้งครรภ์จะจะส่งผลทำให้ทารกมีความผิดปกติต่อพัฒนาการด้านกระดูกและฟันอย่างถาวร นอกจากนี้อาจส่งผลทำให้ทารกที่อยู่ในครรภ์นั้นมีความพิการตั้งแต่กำเนิด และส่งผลต่อตับของคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างรุนแรงหากมีการใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลานาน ทั้งนี้ยากลุ่มเตตร้าไซคลินไม่ควรใช้กับคุณแม่ตั้งครรภ์ทุกระยะการตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะกรณีใดก็ตาม
บทความที่น่าสนใจ : ยาปฏิชีวนะ ทำให้ท้องยากจริงหรือเปล่า มาอ่านดูให้รู้กัน !
9. ยาคุมกำเนิดที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen)
เช่น ยากลุ่มเอสตร้าไดออล (Estradiol) ห้ามใช้กับคุณแม่ตั้งครรภ์ในทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น เพราะยากลุ่มเอสตร้าไดออลนั้นส่งผลต่อทารกอย่างรุนแรง อาทิ อาจส่งผลต่อความผิดปกติของหัวใจ โดยที่เลือดที่ไหลเวียนภายในอาจมีการลัดหรือข้ามไม่เป็นไปตามกระบวนการ (Cardiovascular Defect) ทารกมีความผิดปกติในพัฒนาการของดวงตาและหู (Eye and Ear Anomalies) และอาจทำให้เกิดกลุ่มอาการดาวน์ หรือ ดาวน์ซินโดรม ( Down syndrome)
10. ยาแก้ไมเกรน ในกลุ่มเออร์กอตทามีน (Ergotamine)
ยาในกลุ่มเออร์กอตทามีนยังไม่มีผลสรุปแน่ชัดว่าปลอดภัยสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์หรือไม่ในการใช้ในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ในปริมาณยาปกติ แต่ด้วยฤทธิ์ของยากอาจส่งผลทำให้มดลูกมีการหดตัว และอาจส่งผลทำให้เกิดความเสี่ยงในการแท้งบุตร หรือมีการคลอดก่อนกำหนดได้ และถ้าหากมีการใช้ในปริมาณที่มากกว่าปกติ หรือมากกว่าที่แพทย์สั่งจ่าย จะส่งผลทำให้ไปขัดขวางการไหลเวียนเลือดจากคุณแม่ไปสู่ทารกในครรภ์ และทำเกิดเป็นอันตรายได้ อาทิ ภาวะลำไส้เล็กตีบตันในทารกแรกเกิด (Intestinal Atresia) เป็นต้น
ยาที่กล่าวมานั้นมีหลักฐานว่าส่งผลทำให้เกิดผลข้างเคียงกับเด็กในครรภ์ได้หลายอย่าง เช่น ทำให้เกิดความผิดปกติในการสร้างอวัยวะของทารก เป็นต้น โดยทั่วไป ในช่วงตั้งครรภ์นั้น แพทย์จะไม่นิยมจ่ายยาใดๆ โดยไม่จำเป็นจะมีก็เพียงแต่ยาบำรุงครรภ์ ซึ่งมักเป็นสารอาหารที่ร่างกายมารดาต้องการ เช่น วิตามินรวม ธาตุเหล็ก โฟเลต เป็นต้น เพื่อจะได้เสริมสร้างร่างกายของทารกให้ปกติดีตามอายุครรภ์
อย่างไรก็ดี ในกรณีที่หญิงตั้งครรภ์รู้สึกมีไข้ หรือ ปวดเล็กน้อย สามารถรับประทานยาพาราเซตามอลลดไข้ แก้ปวดได้ หากไข้ไม่ลด หรือ มีอาการเพลียมากก็ควรพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาเพิ่มเติมจะดีที่สุดในกรณีที่ผู้ป่วยมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือโรคหัวใจ แพทย์มักจะหยุดยาต้องห้าม และเปลี่ยนมาใช้ยาอื่นที่ใช้แทนกันได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์
บทความที่น่าสนใจ :
แม่ตั้งครรภ์กินยา ได้ไหม? ยาที่ใช้ได้ตอนตั้งครรภ์มีอะไรบ้างนะ
ยาต้องห้ามสำหรับแม่ให้นมลูก ให้นมลูกอยู่ต้องงดทานยาอะไร
คนท้องกินพาราได้ไหม กินอย่างไรให้ปลอดภัยกับลูกในท้อง
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!