สำหรับรายการ TAP Ambassador ของเราในสัปดาห์นี้ มาพร้อมกับประเด็นที่น่าสนใจมาก ๆ เพราะเป็นเรื่องที่คุณแม่หลาย ๆ ท่านได้โพสไว้ในแอปพลิเคชัน theAsianparent โดยหัวข้อในวันนี้คือ “ โรคไทรอยด์เป็นพิษในเด็ก และผลกระทบของโรคต่อพัฒนาการของลูก ” ซึ่งในวันนี้ theAsianparent จะพาคุณพ่อคุณแม่ทุกคนมาไขข้อข้องใจไปพร้อม ๆ กันกับคุณหมอแอม แพทย์หญิงพรนิภา ศรีประเสริฐ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของจิตวิทยาพัฒนาการ และจิตวิทยาสมองและการเรียนรู้ของเด็ก
โรคไทรอยด์เป็นพิษในเด็ก คืออะไร
สำหรับไทรอยด์ที่ส่งผลกระทบกับเด็กจะเป็นไทรอยด์สูง กับไทรอยด์ต่ำ โดยไทรอยด์สูงถ้าสูงมาก ๆ ก็จะทำให้เกิดไทรอยด์เป็นพิษได้ โดยอาการของไทรอยด์สูงคือ เด็กจะมีตาโปน คอพอก มีอาการใจสั่นและมือสั่น ชีพจรเต้นเร็ว ซึ่งถ้าปล่อยไว้ไม่ทำการรักษาจะทำให้เสียชีวิตจากอาการหัวใจวาย
โรคไทรอยด์เป็นพิษ ในเด็ก คืออะไร แล้วอันตรายแค่ไหน ( ภาพจาก shutterstock.com )
จะรู้ได้อย่างไร ว่าลูกเราเป็น โรคไทรอยด์เป็นพิษ ในเด็ก หรือไม่
สำหรับไทรอยด์สูง ไทรอยด์เป็นพิษในเด็ก จะแบ่งออกเป็น 2 อย่าง คือ เป็นตั้งแต่แรกเกิด และโตขึ้นมาแล้วเป็นทีหลัง สำหรับอาการของเด็กที่โตมาแล้วเป็นไทรอยด์ คือ กินจุแต่น้ำหนักลด น้ำหนักไม่ขึ้น จะมีอาการกระวนกระวาย อยู่ไม่นิ่ง คล้าย ๆ อาการไฮเปอร์ โดยในเด็กบางคนอาจจะมีอาการสมาธิสั้น ซึ่งไทรอยด์แบบนี้ มักจะเป็นเมื่อเด็กเริ่มโต อายุราว ๆ 10 – 15 ปี สำหรับในส่วนเด็กที่เป็นไทรอยด์ตั้งแต่เกิด ลูกจะมีโอกาสเป็นตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ โดยแม่จะส่งสารบางอย่างไปทางเลือด ทำให้ลูกมีโอกาสเป็นไทรอยด์ ซึ่งในกรณีนี้ลูกจะเป็นได้ชั่วคราว ไม่ได้เป็นถาวร ซึ่งจะค่อย ๆ ดีขึ้น
ช่วงอายุไหนที่เราต้องเฝ้าสังเกตหรือติดตามอาการลูกเป็นพิเศษ
ตรงนี้ต้องแยกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือคุณแม่ตั้งครรภ์แล้วเป็นไทรอยด์ ในส่วนนี้ต้องไปฝากครรภ์ ไปพบหมอตามนัด เพื่อเฝ้าระวังชีพจรของเด็กในท้อง ซึ่งหากเด็กในครรภ์เป็นไทรอยด์อาจจะมีปัญหาเกี่ยวกับชีพจรเต้นเร็วตั้งแต่อยู่ในท้องได้เช่นกัน แต่ในอีกกรณี หากคุณแม่คลอดลูกออกมาแล้ว แต่เป็นไทรอยด์ตั้งแต่ตอนท้อง ในส่วนนี้จะมีกุมารแพทย์คอยเช็คอาการของเด็ก โดยจะมีการวัดชีพจร วัดการเต้นของหัวใจ ดูสัญญาณชีพ เพื่อเป็นการป้องกันเบื้องต้น รวมถึงมีการเจาะเลือดเพื่อตรวจสอบ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่สามารถสบายใจได้ว่าจะมาการคัดกรองเบื้องต้นให้อยู่แล้ว แต่ในส่วนของเด็กที่โตขึ้นมาอย่างในเด็กอายุ 10 – 15 ปี แล้วอยู่ ๆ เด็กมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป หรือน้ำหนักลดโดยที่ไม่ได้ตั้งใจลดน้ำหนัก หรือมีอาการเหนื่อยง่าย กระสับกระส่าย สมาธิสั้น หรือคอเริ่มมีขนาดผิดปกติ ทั้ง ๆ ที่ตัวผอม ซึ่งหากมีอาการดังกล่าวควรพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจไทรอยด์
บทความที่น่าสนใจ : 8 ช่วงอายุสำคัญของลูก ที่พอแม่ควรที่จะรู้ รู้ไว้จะได้ทำตัวถูก
โรคไทรอยด์เป็นพิษในเด็ก ส่งผลต่อพัฒนาการของลูกอย่างไร
ถ้าเป็นในเด็กเล็กจะส่งผลทำให้มีพัฒนาการที่ช้า และมีอาการเหนื่อยง่ายร่วมด้วย ซึ่งการที่เด็กเหนื่อยง่าย จะทำให้เด็กเล่นได้ไม่นาน ซึ่งส่งผลให้เด็กเรียนรู้ได้น้อย หากเป็นในเด็กโตก็จะมีอาการกระสับกระส่าย ไม่มีสมาธิ ถึงขั้นที่ไม่มีสมาธิที่จะอ่านหนังสือ หรือนั่งเรียนได้ และจะมีผลต่อเรื่องอารมณ์และการเรียนรู้ได้เช่นกัน
โรคไทรอยด์เป็นพิษ จะส่งผลต่อพัฒนการของเด็กในด้านใดบ้าง ( ภาพจาก shutterstock.com )
หากแม่ไม่ได้เป็นไทรอยด์สูง แต่ลูกคลอดออกมาแล้วเป็น สาเหตุมาจากอะไร
ไทรอยด์สูงไม่จำเป็นต้องเป็นกรรมพันธุ์ ผ่านทางแม่สู่ลูก แต่จะเป็นในครอบครัว เช่น ปู่ ย่า ตา ยายเคยเป็น ก็สามารถส่งผลต่อมายังรุ่นหลานได้ หรือในเด็กบางคนที่มีความผิดปกติของยีนส์ หรือได้รับสารบางอย่างที่มากเกินไป ก็สามารถทำให้ลูกเป็นไทรอยด์สูงได้เช่นกัน
บทความที่เกี่ยวข้อง : แม่เป็น ไทรอยด์ตอนท้อง อาจทำให้ลูกเป็นโรคเอ๋อได้ เช็คอาการลูกด่วน !
หากลูกเป็นไทรอยด์สูงตั้งแต่เกิด มีสิทธิ์ที่จะหายหรือไม่
ต้องดูจากสาเหตุว่าเป็นไทรอยด์สูงเพราะอะไร หากเป็นไทรอยด์สูงจากตัวเด็กเอง อาจจะมีโอกาสที่จะหายได้ แต่ก็มีโอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำได้ หากเป็นจากฮอร์โมนส์ของแม่ก็มีโอกาสที่จะหายได้สูง
และสำหรับหัวข้อ ” โรคไทรอยด์เป็นพิษในเด็ก และผลกระทบของโรคต่อพัฒนาการของลูก ” นั้น สำหรับอาการทั้งหลาย ขึ้นอยู่กับการสังเกตของคุณพ่อและคุณแม่ โดยไทรอยด์สูงคือมีชีพจรเต้นเร็ว น้ำหนักตัวขึ้นช้า เลี้ยงไม่โต เหนื่อยง่าย หรือมีอาการใจสั่น หากลูกมีอาการดังต่อไปนี้ ก็สามารถที่จะพาไปตรวจได้เลย โดยสิ่งที่สำคัญคือการสังเกตอาการ และการหาความรู้จากแหล่งที่เชื่อถือได้ เพื่อไม่ทำให้เด็ก ๆ พลาดการรักษาในช่วงที่สำคัญที่สุดไปได้ รวมถึงกระทบกับพัฒนาการของลูกได้
คุณหมอแอม แพทย์หญิงพรนิภา ศรีประเสริฐ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของจิตวิทยาพัฒนาการ และจิตวิทยาสมองและการเรียนรู้ของเด็ก
บทความที่เกี่ยวข้อง :
จะรู้ได้อย่างไรว่า ลูกน้อยสายตาสั้นและหูหนวก หรือลูกพัฒนาการช้า กันแน่
สังเกตอย่างไร? ว่า ลูกเป็นออทิสติก พฤติกรรมแบบไหนเสี่ยงต่อโรคนี้
ป้องกันลูกรัก จากโควิด-19 หากลูกติดโควิด-19 ต้องทำอย่างไร
ที่มา : คุณหมอแอม แพทย์หญิงพรนิภา ศรีประเสริฐ
เจ้าของเพจ เรื่องเด็ก ๆ by หมอแอม
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!