ปัญหาการมีบุตรยาก เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้หลายคู่เลิกรากัน หลายคนอาจเข้าใจว่าการที่มีลูกยากนั้นเกิดจากผู้หญิงเพียงฝ่ายเดียว แต่รู้หรือไม่ว่า ภาวะมีบุตรยากในชาย ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ฝ่ายหญิงไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ ซึ่งปัจจุบันก็มีวิธีรักษาที่ปลอดภัยที่จะช่วยเพิ่มโอกาสของการมีลูก วันนี้เราจะพาไปดูสาเหตุของการมีบุตรยากในเพศชาย พร้อมวิธีการป้องกันภาวะนี้ค่ะ
ภาวะมีบุตรยากในชาย คืออะไร
ภาวะมีบุตรยากในเพศชาย คือ การที่ผู้ชายไม่สามารถทำให้ผู้หญิงตั้งครรภ์ได้สำเร็จ หรือมีคุณภาพของสเปิร์มต่ำกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ ซึ่งงานวิจัยได้เผยว่าสาเหตุที่มีบุตรยากในเพศชายนั้นสูงถึง 20-50% โดยสาเหตุที่พบมากที่สุดคือการมีคุณภาพของสเปิร์มผิดปกติ
หลายคนมักมองว่าภาวะมีบุตรยากในเพศชายนั้นเกิดขึ้นได้ยาก และมักจะไปสนใจฝ่ายหญิงมากกว่า ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด และเกิดปัญหาการมีลูกยากรวมถึงปัญหาชีวิตคู่ตามมา ดังนั้น หากเรารู้ว่าสาเหตุของการมีบุตรยากในเพศชายเกิดจากอะไร ก็จะช่วยให้สามารถวางแผนการมีบุตรได้ถูกต้อง
สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากในชาย
การที่ผู้ชายมีลูกยากเกิดจากภาวะเจริญพันธุ์ร่างกาย และการใช้ชีวิตประจำวันที่ส่งผลกระทบต่อฮอร์โมนเพศ เรามาดูกันว่ามีสาเหตุอะไรบ้างที่ทำให้ผู้ชายเกิดภาวะนี้
1. มีความผิดปกติทางกายภาพ
ผู้ป่วยบางคนอาจมีความผิดปกติทางกายภาพ เช่น เส้นเลือดขอด อัณฑะไม่ลงถุง หรือการอุดตันที่ท่อนำอสุจิ เป็นต้น ซึ่งความผิดปกติเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้มีบุตรยาก เพราะทำให้ร่างกายผลิตอสุจิในปริมาณน้อย และไม่สามารถหลั่งอสุจิออกได้ตามปกติ
2. เกิดจากการทำงานผิดปกติของต่อมใต้สมอง
หน้าที่ของต่อมใต้สมองมีความสำคัญต่อการทำงานของฮอร์โมนเพศชายเป็นอย่างมาก เพราะจะหลั่งฮอร์โมน FSH, LH และ Prolactin ออกมา หากต่อมใต้สมองทำงานผิดปกติ ก็จะส่งผลให้การทำงานของฮอร์โมนเพศชายผิดปกติไปด้วย ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ต่อมใต้สมองทำงานผิดปกตินั้น เกิดจาก Kallmann Syndrome หรือ Hyperprolactinemia เป็นต้น อีกทั้งยังส่งผลให้ผู้ชายไม่มีอารมณ์ทางเพศ หรือเกิดภาวะนกเขาไม่ขันอีกด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง : อยากท้องทำไงดี ทำไมถึงมีลูกยาก เคลียร์ทุกปัญหาคาใจ พร้อมวิธีแก้ไข
3. การใช้ชีวิตประจำวัน
ทราบหรือไม่คะว่าการใช้ชีวิตประจำวัน ย่อมส่งผลต่อการเจริญพันธุ์ของผู้ชายด้วย เพราะพฤติกรรมบางอย่างจะส่งผลเสียต่อการเจริญพันธุ์ และทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก เช่น การสูบบุหรี่ที่ส่งผลต่อ DNA ของสเปิร์มโดยตรง การใช้สารเสพติด การรับประทานอาหารบางชนิด โดยเฉพาะอาหารในกลุ่มไขมันทรานส์ ความเครียด การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ รวมถึงความร้อนบริเวณถุงอัณฑะ
4. สภาพสิ่งแวดล้อม
อีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อภาวะมีบุตรยาก คือ สภาพสิ่งแวดล้อม เพราะสภาพแวดล้อมที่ไม่ดีย่อมส่งผลกระทบต่อการสร้างสเปิร์มและคุณภาพของสเปิร์ม เช่น สาร BPA/Phthalates ยาฆ่าแมลง รังสี และสารเคมีต่าง ๆ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลทำให้เกิดอนุมูลอิสระที่มีผลต่อการสร้างสเปิร์มและคุณภาพของสเปิร์มนั่นเอง
5. การสร้างสเปิร์ม
การสร้างสเปิร์มน้อย หรือสเปิร์มที่ไม่มีคุณภาพ มักเกิดจากสาเหตุที่ไม่แน่ชัด แต่เมื่อปริมาณของสเปิร์มหรือคุณภาพของสเปิร์มมีปัญหา ก็อาจเกี่ยวข้องกับความผิดปกติด้านอื่นด้วย เช่น ความผิดปกติของการสร้างน้ำอสุจิ ความผิดปกติของการเดินทางของน้ำอสุจิ และการทำงานของฮอร์โมนเพศผิดปกติ เป็นต้น
6. การติดเชื้อจากโรค
การติดเชื้อจากโรคบางชนิด อาจทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากในเพศชายได้ เช่น การติดเชื้อที่ถุงอัณฑะ การติดเชื้อที่ทางเดินท่ออสุจิ การติดเชื้อคางทูม และการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น
7. การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์
นอกจากการติดเชื้อจากโรคแล้ว การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ก็ส่งผลให้เกิดภาวะมีบุตรยากเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น HPV ซิฟิลิส พยาธิในช่องคลอด โรคคลามีเดีย โรคหนองใน และโรคเริม การติดเชื้อเหล่านี้อาจไม่แสดงอาการใด ๆ อาจต้องตรวจโดยแพทย์ก่อนถึงจะสามารถตรวจเจอได้
8. การได้รับเคมีบำบัด
การใช้ยาเคมีบำบัดบางชนิด ส่งผลให้เกิดภาวะมีบุตรยากในเพศชายได้เช่นกัน เช่น ยา Cisplatin, Procarbazine, Cyclophosphamide และ Ifosfamide รวมถึงยาบางชนิดที่ส่งผลเสียแก่ร่างกาย เช่น 5-fluorucil, Bleomycin และ Methorexate เป็นต้น
9. โรคประจำตัว
ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางชนิด ก็อาจมีภาวะมีบุตรยากได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคไทรอยด์ โรคเม็ดเลือดขาวรูปเคียว หรือโรคตับ เป็นต้น เพราะโรคเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อภาวะเจริญพันธุ์โดยตรง
บทความที่เกี่ยวข้อง : เส้นเลือดขอดในถุงอัณฑะ ของคุณผู้ชาย อีกปัจจัยทำให้ มีลูกยาก
การตรวจวินิจฉัย
การตรวจวินิจฉัยภาวะมีบุตรในชาย จะเริ่มด้วยการซักประวัติการรักษา และการตรวจร่างกายของผู้ป่วย อาจมีการตรวจเลือดเพื่อดูความผิดปกติของฮอร์โมนและโรคอื่น ๆ แล้วส่งตรวจทางรังสีวินิจฉัย นอกจากนี้ ยังมีการเก็บตัวอย่างน้ำอสุจิเพื่อนำมาตรวจสอบปริมาณน้ำอสุจิและความสามารถในการเคลื่อนไหวของอสุจิ วิธีการตรวจดังกล่าวนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดูแลตัวเองได้อย่างเหมาะสม
การรักษาภาวะมีบุตรยากในชาย
การรักษาภาวะมีบุตรยากในเพศชายมีอยู่หลายรูปแบบขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วคู่สามีภรรยาประมาณ 15-20% สามารถตั้งครรภ์ได้เลยโดยไม่ต้องรักษาใด ๆ แต่สำหรับผู้ชายที่มีภาวะมีบุตรยากนั้น อาจต้องเข้ารับการรักษาด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- ทำเด็กหลอดแก้วหรือ ICSI
- เข้ารับการบำบัดในด้านฮอร์โมน
- รักษาอาการเส้นเลือดของที่ลูกอัณฑะ
- ผ่าตัดการทำหมันแบบผูก ด้วยการเชื่อมท่อนำเชื้ออสุจิ
- ใช้วิตามินกลุ่มต้านอนุมูลอิสระเพื่อเพิ่มคุณภาพของสเปิร์ม
- รักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศด้วยยาหรือการผ่าตัด
บทความที่เกี่ยวข้อง : 7 อาหารบำรุงสามีสำหรับคนอยากมีลูก ให้ปึ๋งปั๋งตลอดเวลา
การป้องกันภาวะมีบุตรยากในชาย
เพื่อป้องกันภาวะมีบุตรยาก เราสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างเพื่อป้องกันภาวะนี้ โดยอาจใช้วิธีการปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้
- ตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำ
- เข้ารับการรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- รับประทานผลิตภัณฑ์อาหารเสริมไลโคปีน
- หลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อนหรือแช่น้ำร้อนนาน ๆ
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสิ่งมีพิษ เช่น ยาฆ่าแมลง
- สวมอุปกรณ์ป้องกันลูกอัณฑะขณะออกกำลังกาย
- สวมใส่กางเกงที่ไม่รัดแน่นจนเกินไป เช่น บ็อกเซอร์
- งดการสูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่จำกัด
- รับประทานอาหารที่มีกรดโฟลิกอย่างเพียงพอ และออกกำลังกายอย่างเหมาะสม
ภาวะมีบุตรยากในชาย เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เพราะฉะนั้นหากคุณมีแนวโน้มมีบุตรยาก ควรเข้ารับการตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุใด เพื่อจะได้เข้ารับการรักษาที่เหมาะสมและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ถูกต้อง ก็จะช่วยป้องกันและเพิ่มโอกาสของการมีบุตรในอนาคตได้
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
5 เคล็ดลับ เปลี่ยนฮวงจุ้ยคุณแม่มีลูกยาก เปลี่ยนปุ๊บท้องปั๊บ
10 สิ่งที่มีผลต่อการตั้งครรภ์ และ พฤติกรรมที่ทำให้มีลูกยาก
การฉีดน้ำเชื้อ เข้าสู่โพรงมดลูกโดยตรง (IUI) ทางเลือกการรักษาภาวะมีลูกยาก
ที่มา : drnoithefamily, bumrungrad, nakornthon
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!