เมื่อลูกน้อยกำลังจะขย้อนสิ่งที่กลืนลงไปออกมา คุณแม่ก็แทบจะใจหาย การที่ทารกแหวะสิ่งที่กลืนไปแล้วออกมา เป็นได้ทั้งการอาเจียนและการแหวะนม สองอาการนี้เหมือนหรือต่างกันอย่างไร ลูกอาเจียนบ่อย เป็นสัญญาณอันตรายอะไรหรือเปล่า ติดตามได้ในบทความนี้เลยค่ะ
น้ำลายไหล แหวะนม กับอาเจียน ต่างกันอย่างไร
บ่อยครั้งที่คุณแม่เข้าใจว่าอาการน้ำลายไหล แหวะนม หรืออาเจียนเป็นอาการเดียวกัน แต่จริง ๆ แล้วอาการทั้งหมดดังกล่าวนี้มีความแตกต่างกันอยู่หลายอย่าง
การน้ำลายไหลของลูก เป็นเรื่องปกติของเด็กแรกเกิด โดยลูกจะมีน้ำลายไหลออกจากบ่อย ๆ หรือตลอดทั้งวัน มีน้ำลายเปื้อนตามมุมปาก คาง หรือริมฝีปาก จะเป็นน้ำลายใส ๆ เพียงอย่างเดียว ไม่มีเมือกหรืออาหารปนอยู่ด้วย ซึ่งอาการน้ำลายไหลของเด็กอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การงอกของฟัน การอ้าปากของลูก ลิ้นลูกมีขนาดใหญ่ หรือความผิดปกติของระบบประสาท เป็นต้น อาการนี้จะหายไปเองเมื่อลูกโตขึ้น ไม่ต้องทำการรักษาใด ๆ คุณแม่จึงไม่ต้องเป็นกังวลเลยค่ะ
คือการที่อาหารไหลจากกระเพาะอาหารออกมาทางปาก มักจะเกิดขึ้นหลังจากคุณจับลูกเรอ เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับทารกอายุต่ำกว่าหนึ่งปี ซึ่งจะเกิดวันละครั้งหรือสองครั้งหลังมื้ออาหาร โดยเกิดจากการที่ระบบย่อยอาหารของเด็กยังพัฒนาได้ไม่สมบูรณ์ ทำให้กล้ามเนื้อระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหารปิดไม่สนิท ลูกจึงแหวะของเหลวออกมานั่นเอง
คือการขย้อนอาหารขึ้นมาจากกระเพาะอาหารมากกว่า เมื่อกล้ามเนื้อหน้าท้องและกะบังลมบีบตัว ในขณะที่ กระเพาะอาหารคลายตัว ส่งผลให้อาหารถูกผลักดันออกจากปากมาเป็นอาการอาเจียนนั่นเอง โดยการอาเจียนของลูกอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น แพ้อาหาร กรดไหลย้อน หรือการไออย่างรุนแรง เป็นต้น หากลูกอาเจียนเป็นบางครั้งก็อาจไม่เป็นอะไร แต่หากลูกอาเจียนบ่อยคุณแม่ต้องหมั่นสังเกตลักษณะของคราบอ้วกด้วย
ลูกน้อยอาเจียนหรือแหวะนมกันแน่
การแหวะนม เป็นเพียงการที่อาหารไหลจากกระเพาะอาหารออกมาทางปาก ซึ่งมักจะเกิดขึ้นหลังจากคุณจับลูกเรอ และเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับทารกอายุต่ำกว่าหนึ่งปี ในขณะที่การอาเจียนใช้พลังในการขย้อนอาหารขึ้นมาจากกระเพาะอาหารมากกว่า เมื่อกล้ามเนื้อหน้าท้องและกะบังลมบีบตัว ในขณะที่ กระเพาะอาหารคลายตัว ส่งผลให้อาหารถูกผลักดันออกจากปากมาเป็นอาการอาเจียนนั่นเอง
สาเหตุของการอาเจียนในทารกแรกเกิด
ในช่วง 2-3 เดือนแรก ลูกน้อยอาจมีอาการแหวะนมหรืออาเจียนหลังจากให้นมในแต่ละครั้ง เนื่องจากวาล์วที่หลอดอาหารที่เชื่อมต่อกับท้องของลูกน้อยยังพัฒนาไม่เต็มที่ จึงยังไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ วาล์วดังกล่าวจะเริ่มพัฒนาเมื่อลูกน้อยเข้าสู่เดือนที่ 4-5 และควรจะพัฒนาเต็มที่เมื่อลูกเข้าสู่วัย 1 ขวบ ฉะนั้นแล้ว หากลูกน้อยอายุราว ๆ 2 เดือน อ้วกบ่อยก็เป็นเรื่องปกติค่ะ ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดอาการอาเจียนในเด็กแรกเกิดนั้น มีดังนี้
- ไอ
- เป็นหวัด
- หูติดเชื้อ
- แพ้อาหาร
- การเมารถ
- อาหารไม่ย่อย
- ไวรัสลงกระเพาะ
- ร้องไห้มากเกินไป
- การติดเชื้อต่าง ๆ เช่น ติดเชื้อในปัสสาวะ ติดเชื้อที่หูชั้นกลาง ปอดบวม หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
หากลูกน้อยของคุณแหวะนม อาเจียน หรือคุณพ่อคุณแม่รู้สึกว่าลูกอ้วกบ่อยมากกว่าห้าครั้งต่อวัน หรือไอหลังจากกินนมเสมอ คุณหมออาจพิจารณาให้ผสมยาลดกรดลงในนม ซึ่งจะช่วยลดกรดในท้องของลูกน้อยได้
ลูกอาเจียนบ่อย ลูกแหวะนมบ่อย ป้องกันอย่างไร
หากคุณต้องการที่จะลดความถี่ของการอาเจียนหรือการแหวะนมในทารกแรกเกิด เรามีขั้นตอนง่าย ๆ ที่คุณแม่สามารถนำไปปรับใช้ได้
- หลังจากให้นมลูกแล้ว ให้จับลูกตั้งตรงประมาณ 30 นาทีเพื่อให้แรงโน้มถ่วงช่วยให้นมไหลลงด้านล่างให้เรียบร้อย
- หลังจากให้นมแล้ว ไม่ควรมีให้อะไรมากดทับบนท้องลูกน้อย ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการรัดเข็มขัดคาร์ซีต อย่าเพิ่งวางลูกนอนคว่ำเป็นเวลาประมาณ 30 นาที
- ควรจับลูกเรอทุกครั้งหลังให้นม บางครั้งอาจอุ้มลูกเรอระหว่างการให้นมด้วยก็ได้ เพื่อเป็นการขับลมในท้องของลูกน้อย
- งดเล่นกิจกรรมใด ๆ ที่ใช้พลังทันทีหลังจากการให้นม และไม่ควรให้ลูกน้อยของคุณตื่นเต้นจนเกินไป
เลือกโภชนาการย่อยง่ายให้ลูกน้อย ช่วยลดอาการแหวะนมได้
ปกติแล้วการที่ลูกอาเจียนนั้น ไม่ว่าจะกินนมแม่หรือนมผงจากขวดก็มีโอกาสอาเจียนได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการกินนมและระบบย่อยอาหารของลูกน้อยที่ยังไม่สมบูรณ์ ดังนั้น นมแม่ยังคงเป็นอาหารที่สำคัญสำหรับเด็กทารก เพราะนมแม่ดีที่สุด เป็นนมที่ย่อยง่ายและเหมาะสมกับระบบลำไส้ของลูก รวมทั้งนมแม่ยังมีสารอาหารสำคัญอย่าง MFGM และ DHA ที่ช่วยเพิ่มการเชื่อมต่อเซลล์ประสาท ทำให้พัฒนาการสมองของลูกดียิ่งขึ้น
แต่สำหรับคุณแม่ไม่สามารถให้นมแม่ได้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการเลือกโภชนาการที่เหมาะสมกับความต้องการของลูก โดยแพทย์อาจจะแนะนำโปรตีนที่ผ่านการย่อยบางส่วนหรือ PHP (Partially Hydrolyzed Protein) ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีขนาดโมเลกุลเล็กที่ย่อยง่าย เหมาะกับระบบย่อยอาหารของลูกน้อยเช่นกัน
ลูกน้อยอาเจียนบ่อยพาลูกไปหาหมอดีไหม
คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตสีของของเหลวที่ลูกอาเจียนหรือแหวะออกมา ถ้าหากลูกแหวะเป็นสีที่ผิดปกติไปจากนมแม่ เช่น ลูกแหวะเป็นสีเหลือง เขียว หรือมีเลือดเจือปน ลูกแหวะบ่อยมาก หลายครั้งใน 1 วัน รวมไปถึงหากสังเกตหรือกังวลว่ามีสิ่งผิดปกติอื่น ๆ ก็ควรพาลูกไปพบแพทย์ค่ะ
ลูกแหวะนม อาเจียนบ่อยเป็นกรดไหลย้อนหรือไม่
พ่อแม่ไม่ควรกังวลมากเกินไปเวลาที่ลูกน้อยแหวะนมบ่อย ถ้าลูกยังคงน้ำหนักขึ้นดี กินได้ นอนหลับปกติ ก็ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง แต่ถ้าลูกน้อยอาเจียนและแหวะนม ไม่ยอมกินนม หงุดหงิด และร้องไห้ไม่หยุดในระหว่างหรือทันทีหลังจากให้นม แอ่นตัวบ่อย น้ำหนักไม่ขึ้นตามเกณฑ์ อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณว่าลูกน้อยอาจเป็นโรคกรดไหลย้อน หรือ Gastroesophageal Reflux Disease (GERD) ซึ่งทารกที่เป็นโรคกรดไหลย้อนจะมีอาการต่อไปนี้
- รู้สึกไม่สบายตัวและเจ็บปวด
- มีปัญหาการหายใจ สำลัก ไอ หรือหายใจดังวี้ด
- โรคปอดบวมเกิดจากการสูดดมอาหารจากกระเพาะอาหารเข้าไปในปอด
- เติบโตช้า เนื่องจากได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ
หากคุณสังเกตเห็นว่าลูกน้อยของคุณมีอาการใด ๆ เหล่านี้ ควรพาลูกไปพบกุมารแพทย์เพื่อวินิจฉัยว่าอาการดังกล่าวเกิดจากโรคกรดไหลย้อนจริง ๆ หรือไม่ เมื่อลูกอายุครบ 1 ขวบ ลูกไม่ควรแหวะนมและอาเจียนหลังการให้นมอีกต่อไป
เมื่อไรที่ต้องกังวลเมื่อลูกน้อยอาเจียนบ่อย
แม้ว่าอาการอาเจียนจะเป็นเรื่องปกติสำหรับทารกแรกเกิด แต่หากลูกน้อยมีอาการใด ๆ ต่อไปนี้ คุณควรพาลูกไปพบแพทย์ทันที
- หายใจเร็ว
- กระหม่อมบุ๋ม
- ไม่ยอมกินนม
- ตัวเย็นหรือซีด
- อาเจียนเป็นสีเขียว
- ผิวหนัง ปาก และลิ้นแห้ง
- ร้องไห้ไม่มีน้ำตาหรือมีน้อย
- เลือดในอาเจียนหรือท้องเสีย
- ปัสสาวะน้อยกว่า 5 ครั้งต่อวัน
- ท้องเสียมากกว่าหกครั้งในหนึ่งวัน
- อาเจียนไม่หยุดมานานกว่า 4-6 ชั่วโมง
- ไข้มากกว่า 39 องศาเซลเซียสเป็นเวลามากกว่า 12 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม คุณแม่ควรเชื่อสัญชาตญาณของตัวเอง หากลูกมีอาการอาเจียนบ่อย ต้องเช็กก่อนว่าเกิดจากสาเหตุใด ลูกอาเจียนบ่อยแค่ไหน และมีอะไรออกมาด้วยไหม เพื่อที่เวลาพาลูกไปหาแพทย์จะได้แจ้งให้หมอทราบถึงอาการที่ถูกต้อง
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ทารกอ้วก อาเจียนบ่อย แต่ไม่มีไข้ ลูกเป็นอะไรกันแน่?
อาการโคลิคในทารก เป็นอย่างไร ลูกร้องไห้ไม่หยุดทำไงถึงจะหาย
ลูกแหวะบ่อย สำรอกบ่อย ทำอย่างไรดี วิธีไหนช่วยไม่ให้ลูกแหวะนม
ที่มา : sg.theasianparent, chulalongkornhospital, salehere
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!