เมื่อลูกน้อยร้องไห้ คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่อาจคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่การร้องไห้ของลูกก็อาจหมายถึงความต้องการ อาการไม่สบาย หรือความรู้สึกกลัวได้ หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นอาการร้องไห้ผิดปกติ ไม่ว่าจะอุ้มก็แล้ว ให้นมก็แล้ว หรือเปลี่ยนผ้าอ้อมก็ยังไม่หาย อาจเป็น อาการโคลิคในทารก หรืออาการร้องไห้ไม่หยุดก็ได้ วันนี้ theAsianparent จะพาไปรู้จักกับอาการนี้พร้อมบอกวิธีรับมือกันค่ะ
โคลิคคืออะไร
โคลิค คือ อาการร้องไห้หนักของทารกที่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ ลูกจะร้องไห้ไม่ยอมหยุดและอาจมีการผายลมด้วย ลูกจะร้องในช่วงเวลาเดิมเป็นประจำ โดยเฉพาะช่วงเย็นหรือค่ำ ๆ ซึ่งจะร้องนานมากกว่าปกติ สามารถพบได้ทั้งเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิง จากข้อมูลสถิติอาการนี้มักเกิดขึ้น 20-30% ของทารกแรกเกิด ทั้งในกลุ่มเด็กที่กินนมแม่และเด็กที่กินนมผงจากขวด
คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจสับสนระหว่างอาการโคลิคและโรคท้องร่วง เพราะเวลาลูกร้องไห้ปวดท้อง อาการโคลิคจะมีการเกร็งหน้าท้องร่วมด้วย ทำให้เด็กบางคนมีอาการถ่ายบ่อย คุณพ่อคุณแม่จึงควรแยกระหว่างโคลิคและท้องร่วงให้ได้เพื่อไม่ให้สับสน
โคลิค เกิดจากอะไร
ปัจจุบันยังไม่สามารถสรุปได้ว่า จริง ๆ แล้วโคลิคเกิดจากอะไร แต่ก็มีข้อสันนิษฐานจากแพทย์ว่าสาเหตุที่ทำให้ทารกมีอาการโคลิค มีดังนี้
- การเสียดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้
- กินนมมากเกินไป จนทำให้ท้องอืด
- ทารกรับรู้ถึงความกังวลของคุณพ่อคุณแม่
- ฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลงจนทำให้เกิดอาการปวดท้อง
- ร่างกายของเด็กไวต่อสภาพแวดล้อม เช่น แสง สี เสียง หรืออากาศ เป็นต้น
- การแพ้อาหาร เช่น แพ้น้ำผลไม้ แพ้โปรตีนในนมวัว หรือมีภาวะย่อยแล็กโทสผิดปกติ
- สุขภาพของตัวลูกน้อยเอง เช่น กรดไหลย้อน จากการกินนมผิดวิธี หรือกินนมมากเกินไป
- เด็กไม่ยอมเรอ เนื่องจากคุณพ่อคุณแม่ไม่จับลูกเรอ จนทำให้เกิดอาการท้องอืด แน่นท้อง
- ระบบย่อยอาหารยังไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารย่อยไม่ดี จนเกิดอาการไม่สบายท้อง
อาการโคลิคในทารก เป็นอย่างไร
ปกติแล้วอาการร้องไห้ในทารก อาจแปลว่าลูกกำลังสื่อสารอะไรบางอย่าง เช่น อาการหิว ไม่สบาย หรือต้องการเปลี่ยนผ้าอ้อม เป็นต้น แต่อาการโคลิคในทารกจะมีความแตกต่างออกไป คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตอาการเหล่านี้
- ลูกร้องไห้ขึ้นมาเฉียบพลัน ไม่มีสาเหตุ
- ลูกร้องไห้เสียงดัง และหน้าแดงเวลาร้องไห้
- คุณพ่อคุณแม่ไม่สามารถปลอบลูกให้หยุดได้เลย ไม่ว่าจะใช้วิธีใดก็ตาม
- เวลาลูกร้องไห้จะแสดงอาการเหมือนกำลังเจ็บปวดออกมา หรือทำท่ากำหมัด แอ่นหลัง หรือยกเข่าขึ้นมาชิดหน้าท้อง
- ลูกร้องไห้นานผิดปกติ ร้องนานกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน โดยมีอาการร้องไห้มากกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ และร้องไห้ติดต่อกันมากกว่า 3 สัปดาห์
ลูกเป็นโคลิคหรือแค่ร้องไห้ แยกกันอย่างไร
อาการโคลิคอาจสร้างความสับสนให้กับคุณพ่อคุณแม่ บางครั้งอาจไม่สามารถแยกอาการทั้งสองนี้ได้ เพราะทารกทั่วไปที่สุขภาพดีก็สามารถเป็นโคลิคได้เช่นกัน แต่โดยทั่วไปแล้วอาการร้องโคลิคของลูกมักจะเกิดในช่วงเวลาเดียวกันและเกิดช่วงค่ำ คุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตอาการเหล่านี้ร่วมด้วย
- ลูกร้องไห้เสียงดังหรือเสียงแหลม
- บางครั้งอาจมีอาการหน้าแดงหรือริมฝีปากซีด
- ลูกมีอาการเกร็งแขน กำหมัด หรือแอ่นหลังด้วย
- ไม่สามารถปลอบให้หายร้องได้ แม้จะลองวิธีใดก็ตาม
วิธีรับมือเมื่อลูกมีอาการโคลิค
อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าปัจจุบันยังไม่มีรักษาอาการโคลิคให้หายขาด แต่คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถนำวิธีบางอย่างไปปรับใช้กับลูกน้อยได้ ซึ่งบางวิธีอาจได้ผล บางวิธีอาจไม่ได้ผล ให้คุณพ่อคุณแม่ลองปรับเปลี่ยนกันไปในแต่ละวัน เพื่อช่วยให้ลูกน้อยหายร้องไห้ โดยวิธีรับมือกับอาการโคลิคในทารก มีดังนี้
1. ตรวจสอบผ้าอ้อมและที่นอนของลูก
บางครั้งผ้าอ้อมและที่นอนของลูกน้อยก็มีความสำคัญเช่นกัน หากเกิดความชื้นสะสมก็อาจทำให้ลูกรู้สึกไม่สบายตัวได้ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตความชื้นของผ้าอ้อมหรือผ้าปูบ่อย ๆ หากเกิดความชื้นขึ้นก็ควรเปลี่ยนให้เรียบร้อย
2. อุ้มลูกบ่อย ๆ
การอุ้มลูกน้อยและโยกตัวหลังกินนม จะช่วยให้ลูกหยุดร้องได้ ระหว่างที่ลูกร้องไห้อยู่ให้คุณพ่อคุณแม่อุ้มลูกให้ชิดหน้าอก เพื่อให้เขาได้ยินเสียงเต้นของหัวใจ และลองโยกตัวเบา ๆ ระหว่างอุ้มเขาได้ คุณพ่อคุณแม่สามารถพาลูกออกไปรับแสงแดด หรือธรรมชาติ ก็จะช่วยให้ลูกรู้สึกสบายใจและได้ใกล้ชิดกับคุณพ่อคุณแม่มากขึ้น
3. ใช้วิธีนวดผ่อนคลาย
เป็นที่รู้กันว่าการนวดผ่อนคลาย ช่วยให้ลูกหยุดร้องโคลิคและกระตุ้นระบบย่อยอาหารให้ดีขึ้น คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้วิธีนี้หลังจากลูกอายุ 6 เดือนขึ้นไป การนวดจะช่วยให้ลูกรู้สึกผ่อนคลายและสงบมากขึ้น โดยอาจใช้วิธีการนวดบริเวณสะดือ นวดเป็นก้นหอย หรือท่าเท้าแตะจมูก ก็จะช่วยให้ลูกสบายมากขึ้น
4. ใช้จุกหลอกให้ลูกดูด
จริงอยู่ที่ทารกร้องไห้เพราะหิวนม แต่บางครั้งการที่ลูกร้องไห้ก็ไม่แปลว่าลูกกำลังหิวเสมอไป คุณพ่อคุณแม่อาจหาจุกหลอกให้ลูกไว้ดูด เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจและไม่ให้ลูกร้องไห้ อีกทั้งยังเป็นการป้องกันไม่ให้ลูกดูดนิ้วด้วยค่ะ
5. จับลูกเรอหลังกินนม
การจับลูกเรอเป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างมาก คุณพ่อคุณแม่ควรจับลูกเรอหลังให้นมเสร็จ โดยเวลาให้นมอาจเปลี่ยนท่าให้นมด้วยการอุ้มลูกนั่ง ให้นมลูกแบบเอียง หรือตั้งลูกขึ้น ก็จะช่วยให้นมไหลลงกระเพาะได้ง่ายขึ้น และยังช่วยลดอากาศที่หลุดรอดไปในท้องจนทำให้เกิดอาการไม่สบายท้องได้
6. สร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม
อีกหนึ่งปัจจัยที่อาจทำให้ลูกร้องโคลิค คือ สภาพแวดล้อมที่ไม่ดี เช่น มีแสงจ้าเกินไป หรือมีเสียงที่ดังเกินไป เพราะฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรเปลี่ยนห้องนอนของลูกให้มีความน่าอยู่มากขึ้น เช่น รักษาอุณหภูมิในห้องให้พอเหมาะ ไม่ร้อนจนไป อาจปิดหน้าต่าง หรือหรี่ไฟไม่ให้แสงจ้าเกินไป รวมถึงห้องนอนต้องไม่มีเสียงรบกวน ก็จะช่วยลดอาการร้องไห้ของทารกได้มากขึ้น
7. ให้ลูกกินนมแม่ตลอด 6 เดือน
นมแม่มีความสำคัญต่อลูกน้อยเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะให้สารอาหารสำคัญแก่ทารกแล้ว นมแม่ยังมีคุณสมบัติที่ย่อยง่าย เหมาะกับระบบย่อยอาหารของทารกที่ยังไม่แข็งแรง อีกทั้งยังช่วยลดอาการไม่สบายท้องของเด็กด้วย แต่หากคุณแม่ไม่สามารถให้นมลูกได้ ก็อาจต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อการรักษาที่ถูกต้อง
อาการโคลิคในทารก แก้ได้ด้วยนมแม่
คุณแม่หลายคนอาจกังวลใจเมื่อเห็นลูกร้องโคลิค ซึ่งการที่ลูกเป็นโคลิคนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นคือ อาการไม่สบายท้อง ดังนั้น การให้ลูกกินนมแม่อาจช่วยบรรเทาอาการร้องโคลิคของลูกได้ เนื่องจากนมแม่ดีที่สุด เพราะเป็นนมย่อยง่าย เหมาะสมกับระบบลำไส้ของลูก รวมถึงยังมีสารอาหารสำคัญ เช่น โปรตีนที่ย่อยง่าย เหมาะสมกับระบบย่อยอาหารของลูก MFGM และ DHA ที่ช่วยเพิ่มการเชื่อมต่อเซลล์ประสาท ทำให้พัฒนาการสมองของลูกดียิ่งขึ้น
ลูกเป็นโคลิคควรพาไปหาหมอไหม
อาการร้องโคลิคของเด็กอาจเกิดขึ้นเป็นธรรมดาและหายไปเอง แต่หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าการร้องไห้ของลูกนั้น ส่งผลกระทบต่อการกินหรือการนอน ก็อาจทำให้สุขภาพของลูกน้อยย่ำแย่ได้ โดยหากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกน้อยมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที
- ไม่ยอมกินนม
- ถ่ายเป็นเลือด
- มีไข้สูงกว่า 38 องศา
- ตัวเขียว ผิดซีดผิดปกติ
- ลูกมีอาการชักหรือหายใจผิดปกติ
- อาเจียนออกเป็นของเหลว และมีสีเขียว
- ลูกร้องไห้นานกว่าปกติ ร้องเสียงแหลมผิดปกติ
เช็กสักนิดก่อนปักใจเชื่อว่าลูกเป็นโคลิก
เพราะกว่า 70% ของเด็กเล็กมีอาการไม่สบายท้อง และอาการที่ลูกจะแสดงออกมา คือ การร้องไห้งอแง หากคุณแม่เช็กแล้วว่าลูกไม่ได้เข้าข่ายอาการโคลิคตามที่กล่าวไปข้างต้น อาจเป็นได้ว่าลูกไม่สบายท้อง คุณแม่ควรปรึกษาคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรับคำแนะนำในการเลือกโภชนาการที่เหมาะสมกับความต้องการของลูก โดยแพทย์อาจจะแนะนำโปรตีนที่ผ่านการย่อยบางส่วนหรือ PHP (Partially Hydrolyzed Protein) ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีโมเลกุลขนาดเล็กกว่าโปรตีนปกติย่อยง่าย เหมาะกับระบบย่อยอาหารของทารกที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ไม่เหมือนผู้ใหญ่ ก็จะช่วยบรรเทาอาการไม่สบายท้อง และอาการร้องไห้งอแงของลูน้อยได้
ยิ่งลูกร้องโดยหาสาเหตุไม่ได้ ก็ยิ่งทำให้คุณพ่อคุณแม่เครียดมากขึ้น เพื่อคลายความกังวลลง ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อรับแนวทางการดูแลลูกน้อย สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องการศึกษาอาการโคลิคมากขึ้น สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ ที่นี่
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
รวม 4 สาเหตุที่ทำให้ลูกป่วยบ่อย ทำอย่างไรให้ลูกปลอดภัย
วิธีเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ทารก พ่อแม่ควรทำอย่างไรไม่ให้ลูกเป็นเด็กป่วยง่าย
5 วิธีเสริมภูมิคุ้มกันลูกให้แข็งแรง เตรียมพร้อมสำหรับการเรียนรู้ตลอดเวลา
ที่มา :nestlemomandme ,salehere ,story.motherhood ,kidshealth , rakluke
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!