ลูกเป็นหวัดลงกระเพาะ
ลูกเป็นหวัดลงกระเพาะ หมอเตือน! ไวรัสลงกระเพาะ ระบาด ทารกและเด็กเล็กป่วยเป็นหวัดลงกระเพาะหรือไวรัสลงกระเพาะได้ง่าย ๆ พ่อแม่ต้องระวัง หากพบอาการผิดปกติ มีความเสี่ยงเป็นโรคไวรัสลงกระเพาะในเด็ก ให้รีบพามาหาหมอ
ไวรัสลงกระเพาะ หรือ หวัดลงกระเพาะ คืออะไร?
น้องน้ำฝน (นามสมมติ) อายุ 3 ปี มาพบคุณหมอที่โรงพยาบาลด้วยอาการมา 2 วัน มีไข้ต่ำ ๆ อาการปวดท้องอย่างรุนแรง คลื่นไส้อาเจียน จนทานอะไรไม่ได้ ไอมีน้ำมูกนิดหน่อย คุณหมอได้วินิจฉัยว่า น้ำฝนมีอาการของโรคไวรัสลงกระเพาะหรือหวัดลงกระเพาะ นั่นเองค่ะ
ในช่วงฤดูฝนเช่นนี้จะพบเด็กที่ป่วยเป็นโรคไวรัสลงกระเพาะได้บ่อย เมื่อลูกเป็นหวัดลงกระเพาะ พ่อแม่จะรู้ได้อย่างไร เรามาทำความรู้จักกับโรคนี้กันนะคะ
ไวรัสลงกระเพาะเกิดจากอะไร?
ผู้ป่วยไวรัสลงกระเพาะจะได้รับเชื้อไวรัสจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค ใช้สิ่งของส่วนตัวเช่นภาชนะอาหารแก้วน้ำผ้าเช็ดตัวร่วมกับผู้ป่วย หรือสัมผัสกับสารคัดหลั่ง หรืออุจจาระของผู้ป่วยที่มีเชื้อโรคอยู่ โดยเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของไวรัสลงกระเพาะก็คือ เชื้อไวรัสนั่นเอง ซึ่งมีได้หลายชนิด โดยชนิดที่พบบ่อยได้แก่ norovirus และ rotavirus หลังจากมีการติดเชื้อประมาณ 1 ถึง 3 วันผู้ป่วยก็จะแสดงอาการออกมา
ในเด็กเล็กจะสามารถติดเชื้อโรคไวรัสลงกระเพาะได้ง่ายเนื่องจากชอบหยิบของเอามือเข้าปาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากอยู่ร่วมกับเด็กหลายคนใน day care หรือโรงเรียนอนุบาล
เมื่อลูกเป็นหวัดลงกระเพาะไวรัสลงกระเพาะมีอาการอย่างไร?
หากลูกน้อยมีอาการเหล่านี้อาจเกิดจากไวรัสลงกระเพาะ มีอาการอะไรบ้างมาดูกันนะคะ
- ปวดท้องมาก
- คลื่นไส้ อาเจียน
- มีท้องเสียตามมาได้
- มีไข้ต่ำ ๆ ปวดศีรษะ
- ในบางครั้งอาจมีอาการเหมือนเป็นหวัดคือมีน้ำมูกใส ไอเล็กน้อยร่วมด้วย
ลูกเป็นหวัดลงกระเพาะหรือไวรัสลงกระเพาะ หมอเตือน! ทารก-เด็กเล็ก ต้องระวัง
คุณหมอจะวินิจฉัยไวรัสลงกระเพาะได้อย่างไร?
สำหรับโรคไวรัสลงกระเพาะ คุณหมอจะวินิจฉัยโรคจากประวัติอาการดังกล่าว การตรวจร่างกายที่เข้าได้กับโรค และประวัติการระบาดของโรคหรือสัมผัสคนใกล้ชิดผู้ป่วยเป็นโรคนี้
การตรวจเพิ่มเติมที่ช่วยในการวินิจฉัย สามารถทำได้โดยตรวจอุจจาระด้วย rapid test เพื่อหาเชื้อ norovirus และ rotavirus ได้ แต่ไวรัสชนิดอื่นการตรวจจะมีความยุ่งยากมากกว่า นอกจากนี้ คุณหมออาจพิจารณาส่งอุจจาระเพื่อตรวจหาการติดเชื้อชนิดอื่นที่ทำให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียนท้องเสียได้ เช่น เชื้อแบคทีเรีย หรือพยาธิบางชนิด
วิธีรักษาไวรัสลงกระเพาะทำได้อย่างไร?
เนื่องจากไม่มียาที่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสต้นเหตุของโรคได้ การรักษาไวรัสลงกระเพาะจึงมุ่งเน้นที่รักษาตามอาการ ป้องกันการขาดน้ำ โดยหากสามารถทานได้ก็ควรดื่มน้ำเกลือแร่เยอะ ๆ ทานอาหารอ่อน เช่น ข้าวต้ม พักผ่อนให้มาก ๆ รับประทานยาตามอาการ ได้แก่ ยาลดอาการคลื่นไส้อาเจียน
หากมีอาการต่าง ๆ เหล่านี้คือลูกเป็นหวัดลงกระเพาะ ควรรีบไปพบคุณหมอเพื่อพิจารณารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ได้แก่
- ทานน้ำหรืออาหารไม่ได้เลย
- อาเจียนมากหรืออาเจียนแล้วมีเลือดปน
- มีอาการขาดน้ำ ได้แก่ ปากแห้ง ตาโหล ไม่ปัสสาวะหรือปัสสาวะน้อย ซึมมาก อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ
- มีไข้สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งไข้มากกว่า 38.5 องศาเซลเซียส
วิธีป้องกันไม่ให้ลูกเป็นหวัดลงกระเพาะ
เราจะปกป้องลูกน้อยจากไวรัสลงกระเพาะได้อย่างไร?
การป้องกันโรคไวรัสลงกระเพาะสามารถทำได้ดังนี้
- ให้ลูกได้รับวัคซีนป้องกันเชื้อ rotavirus ตั้งแต่ช่วงทารก
- สอนให้ลูกรู้จักการดูแลสุขอนามัยและป้องกันโรค โดย
- ล้างมือให้สะอาดและถูกวิธีโดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหาร และหลังจากเข้าห้องน้ำ โดยใช้สบู่ล้างมือ และควรล้างเป็นเวลาอย่างน้อย 20 วินาที
- ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ภาชนะ แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น
- ไม่ไปเข้าใกล้ หรือคลุกคลีกับเพื่อนที่มีอาการป่วย
ข้อมูลทั้งหมดนี้คงจะทำให้คุณพ่อคุณแม่ได้รู้จักโรคไวรัสลงกระเพาะมากขึ้น เมื่อลูกเป็นหวัดลงกระเพาะก็จะทราบถึงวิธีดูแลเบื้องต้น หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับคุณพ่อคุณแม่ไม่มากก็น้อยค่ะ
รู้กันไปแล้วว่าเมื่อลูกเป็นหวัดลงกระเพาะ มีอาการอย่างไร แม่ ๆ มาโหวตกันหน่อย เมื่อพบปัญหาในการเลี้ยงลูก คุณแม่จะปรึกษาใครก่อน ถ้ากดโหวตไม่ได้ คลิกที่นี่
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
อาร์เอสวี เชื้อไวรัสร้าย ทารก เด็กเล็ก ติดเชื้อไวรัส RSV ได้ง่ายช่วงหน้าฝน
แม่ขอเตือน! ลูกน้อยปอดติดเชื้อ เพราะกลิ่นบุหรี่ที่ติดเสื้อแค่ครั้งเดียว!
หยอดวัคซีนโรต้าแล้ว ทำไมลูกยังท้องเสียจากไวรัสโรต้าอีก
โรคติดต่อในสถานศึกษา 5 โรคติดต่อในศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล มีอะไรบ้าง
*ภาพและข้อมูลมีลิขสิทธิ์เจ้าของโดย บริษัท ทิคเกิ้ลมีเดีย จำกัด ไม่อนุญาตให้คัดลอกข้อมูล และนำรูปภาพไปเผยแพร่ต่อไม่ว่าวิธีใด ๆ หากฝ่าฝืน ทางบริษัทฯจะดำเนินการตามกฎหมาย เว้นแต่ได้มีการขออนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรกับทางบริษัทฯเรียบร้อยแล้ว
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!