ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A หนึ่งในโรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจที่พบได้บ่อย สร้างความกังวลให้กับผู้ปกครองเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน วันนี้ทาง theAsianparent จะพาคุณพ่อคุณแม่มาไขข้อสงสัย พร้อมทำความรู้จักกับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A เรียนรู้วิธีป้องกัน และเตรียมพร้อมรับมือหากเผชิญกับโรคนี้กันค่ะ
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ร้ายแรง! เด็ก 7 ขวบ ป่วยหนัก นอนหมดสติ 11 วัน
รายงานจากเพจเฟซบุ๊ก Survive – สายไหมต้องรอด ได้มีการโพสต์ภาพเด็กหญิงนอนป่วยอยู่บนเตียงคนไข้ เต็มไปด้วยอุปกรณ์แพทย์ระโยงระยาง โดยระบุข้อความว่า
“เตือนภัยไข้หวัดสายพันธุ์ A แชร์ให้ถึงคุณหมอ แอดคะ ช่วยชีวิตลูกหนูด้วยค่ะ ลูกหนู อายุ 7 ขวบ เรียนอยู่ชั้น ป.2 ลูกหนูไปโรงเรียนเมื่อวันที่ 5 มิ.ย.67 ไปได้แค่ 2 วัน
พอวันที่ 7 มิ.ย.67 อยู่ๆก็ป่วยไข้ขึ้นสูงมากแล้วน้องก็หมดสติไปเลยค่ะ ไปถึง รพ.นครปฐม คุณหมอบอกว่าเป็นไข้หวัดสายพันธุ์ A ชนิดขึ้นสมองเฉียบพลัน น้องนอนอยู่ในห้องไอซียู ตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. จนถึงวันนี้ นอนหมดสติมา 11 วันแล้ว ยังไม่รู้สึกตัวเลยค่ะ คุณหมอบอกให้หนูทำใจ เพราะโรงพยาบาลรักษาเต็มความสามารถแล้ว
คุณหมอบอกว่าเด็กที่ป่วยเป็นไข้หวัดสายพันธุ์ A แบบนี้ที่มารักษาที่นี่ ยังไม่มีใครได้กลับออกไปเลย หนูฟังแล้วทำใจไม่ได้เลยค่ะ หนูไม่อยากเสียลูกไปค่ะ หนูขอให้เพจสายไหมต้องรอด ช่วยแชร์เรื่องของลูกหนูไปให้ถึงคุณหมอ หรือโรงพยาบาลที่พอจะช่วยชีวิตลูกหนู หนูขอร้องช่วยชีวิตลูกหนูด้วยนะคะ”
ซึ่งล่าสุด ทางโรงพยาบาลนครปฐมได้ออกหนังสือชี้แจงถึงรายละเอียดการรักษา ของเด็กหญิงอายุ 7 ปี โดยระบุว่า ผู้ป่วยมีอาการไข้ ไม่รู้สึกตัว ขาทั้งสองข้างเกร็ง ตรวจพบภาวะก้านสมองบวมจากผลเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ แพทย์วินิจฉัยว่า ติดเชื้อไข้สมองอักเสบรุนแรง
ทางแพทย์ได้ให้การรักษาและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ในห้องไอซียูกุมารเวชกรรม ซึ่งประกอบด้วย ยาต้านชัก ยาลดสมองบวม ยาต้านการอักเสบ (Anti Interleukin 6 และ Methylprednisolone) ยาต้านไวรัส ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อในปอด และใช้เครื่องช่วยหายใจเพื่อควบคุมการหายใจ รอการฟื้นตัวจากภาวะสมองอักเสบรุนแรง โดยแพทย์ได้เผยว่า สาเหตุของ ไข้สมองอักเสบรุนแรง มักเกิดจากเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่ ไวรัสโควิด หรือไวรัสอื่น ๆ
ทั้งนี้ทางทีมงาน theAsianparent ขอส่งกำลังใจให้คุณแม่และลูกน้อย หวังเป็นอย่างยิ่งว่าลูกน้อยของคุณแม่จะอาการดีขึ้นและปลอดภัยในเร็ววันนี้ค่ะ
ที่มา: dailynews, Thairath
ไข้สมองอักเสบรุนแรง คืออะไร?
โรคไข้สมองอักเสบ คือ ภาวะที่สมองเกิดการอักเสบจากสาเหตุต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อ การทำงานผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่ไปทำลายเซลล์สมอง หรือถูกแมลงบางชนิดกัดต่อย โรคนี้นับเป็นโรคร้ายแรงที่อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนหากไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือการสังเกตสัญญาณเตือนของโรคไข้สมองอักเสบ เช่น ไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง คอแข็ง อาเจียน ซึม อ่อนเพลีย ชัก ซึ่งหากพบอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์โดยทันที เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง
หากแม่ ๆ สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ไข้สมองอักเสบรุนแรง สามารถอ่านเพิ่มได้ ที่นี่ ค่ะ
ทำความรู้จักกับ โรคไข้หวัดใหญ่
ไข้หวัดใหญ่ (Influenza) คือ โรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อไวรัส โดยเชื้อไวรัสสามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ง่ายผ่านละอองฝอยที่เกิดจากการไอหรือจาม รวมไปถึงการสัมผัสกับสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส
โดยปกติแล้ว ไข้หวัดใหญ่ สามารถแบ่งได้ออกเป็น 3 สายพันธุ์หลัก คือ A B และ C โดยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A มักเป็นสาเหตุของการระบาดใหญ่ และทำให้เกิดการเจ็บป่วยและภาวะแทรกซ้อนรุนแรงกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ
ช่วงที่โรคไข้หวัดใหญ่ มักพบได้บ่อยในช่วงที่มีสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะช่วงหน้าฝนและหน้าหนาว อากาศที่เย็นและชื้นเอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตและแพร่กระจายของเชื้อไวรัสได้ง่าย
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A คืออะไร?
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A เป็นโรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อไวรัส แบ่งย่อยออก 2 ตระกูล คือ H1N1 และ H3N2 โดยเชื้อไวรัสจะอยู่ในเสมหะ น้ำมูก และน้ำลายของผู้ป่วย หากมีการไอ จาม หรือสัมผัสกับสารคัดหลั่งเหล่านี้ มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย
ไข้หวัดใหญ่ ชนิด H1N1 หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009” เป็นโรคติดต่อที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วจากประเทศเม็กซิโกไปยังทั่วโลก เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ของไวรัสจากทั้งคนและสัตว์ กลายพันธุ์จนสามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้
ในทางกลับกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ชนิด H3N2 จะเป็นเชื้อไวรัสร้ายแรงที่แพร่กระจายจากสัตว์สู่คน และจากคนสู่คนได้ง่าย โดยมีต้นกำเนิดมาจากหมู
การติดเชื้อสามารถเกิดขึ้นได้ผ่าน 2 ช่องทางหลัก
- การสัมผัส สารคัดหลั่งจากสัตว์ป่วย เช่น น้ำลาย ละอองฝอยจากการไอจาม หรือการสัมผัสเนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนเชื้อ
- การทานเนื้อหมู ที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสโดยไม่สุก
อาการของ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A
โดยปกติแล้ว อาการของโรคไข้หวัดใหญ่มักปรากฏภายใน 1-3 วันหลังจากได้รับเชื้อ โดยทั่วไปจะมีอาการดังนี้
- ไข้สูง
- ไอ
- เจ็บคอ
- น้ำมูกไหล
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
- อ่อนเพลีย
- บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย
- ในผู้ป่วยบางราย อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น ปอดอักเสบ หัวใจวาย สมองอักเสบ ซึ่งอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
กลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ได้แก่
- เด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 5 ขวบ
- คนชรา อายุ 60 ปีขึ้นไป
- หญิงตั้งครรภ์
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง หอบหืด โรคหัวใจ โรคปอด โรคไต ภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ต่างจากสายพันธุ์อื่นอย่างไร?
|
หัวข้อ |
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A |
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B |
|
เชื้อไวรัส |
Influenza A virus |
Influenza B virus |
|
ความรุนแรง |
มักรุนแรงกว่าสายพันธุ์ B และ C |
มักไม่รุนแรงเท่าสายพันธุ์ A |
มักไม่รุนแรง |
อาการ |
ไข้สูง ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย |
ไข้สูง ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย |
|
การแพร่กระจาย |
แพร่กระจายได้ง่ายผ่านละอองฝอยจากการไอ จาม พูดคุยใกล้ชิด |
แพร่กระจายได้ง่ายผ่านละอองฝอยจากการไอ จาม พูดคุยใกล้ชิด |
แพร่กระจายได้ยากกว่าสายพันธุ์ A และ B
|
ระยะฟักตัว |
1-3 วัน |
1-3 วัน |
1-4 วัน |
ภาวะแทรกซ้อน |
ปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ หัวใจวาย สมองอักเสบ |
ปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ |
หายาก |
กลุ่มเสี่ยง |
เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว |
เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว |
ไม่พบกลุ่มเสี่ยงที่ชัดเจน
|
การรักษา |
พักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำสะอาดมากๆ ทานยาตามแพทย์สั่ง |
พักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำสะอาดมากๆ ทานยาตามแพทย์สั่ง |
พักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำสะอาดมากๆ
|
การป้องกัน |
ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ล้างมือบ่อยๆ สวมหน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย |
ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ล้างมือบ่อยๆ สวมหน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย |
ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ล้างมือบ่อยๆ สวมหน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย
|
บทความที่น่าสนใจ: อะดีโนไวรัส (Adenovirus) ทำลูกไข้สูง เป็นหวัด ตาแดง พ่อแม่ต้องระวัง!
วิธีการป้องกัน ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย ผลิตจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ถูกทำให้ตายแล้ว ไม่สามารถก่อให้เกิดโรคได้ ผ่านกระบวนการผลิตที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ช่วยป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ และลดความรุนแรงของโรค โดยการฉีดวัคซีนนั้นสามารถฉีดได้ตลอดทั้งปี แต่แนะนำให้ฉีดซ้ำทุกปีค่ะ ผู้ที่ควรฉีดวัคซีน ได้แก่ เด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป ผู้ใหญ่ทุกวัย หญิงตั้งครรภ์ ผู้มีโรคประจำตัว และผู้ที่ทำงานใกล้ชิดกับผู้ป่วย
ชนิดของวัคซีน
ปัจจุบันมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2 ชนิด คือ
1) วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์
สามารถป้องกันเชื้อไวรัสสายพันธุ์ A H1N1 และ H3N2 และสายพันธุ์ B ตระกูล Yamagata หรือ Victoria
2) วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์
สามารถป้องกันเชื้อไวรัสสายพันธุ์ A H1N1 และ H3N2 และสายพันธุ์ B ตระกูล Yamagata และ Victoria ได้
การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่เด็ก อายุ 6 เดือนขึ้นไป และจำเป็นต้องได้รับวัคซีนทุกปี ปีละ 1 ครั้ง อย่างไรก็ตามสายพันธุ์ของไวรัสไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงแนะนำให้ปรับส่วนประกอบของเชื้อไวรัสในวัคซีนให้ตรงกับสายพันธุ์ที่มีแนวโน้มระบาดในแต่ละปี
นอกจากการฉีดวัคซีนแล้ว ยังมีวิธีป้องกันไข้หวัดใหญ่เพิ่มเติม ดังนี้
- ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำสบู่หรือเจลล้างมือ
- สวมหน้ากากอนามัยเมื่อไอหรือจาม หรืออยู่ในสถานที่ที่แออัด
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย
- พักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A แม้จะพบได้บ่อยและมักไม่รุนแรงในบางราย แต่ก็อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้มีโรคประจำตัว หญิงตั้งครรภ์ หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง การป้องกันที่ดีที่สุดคือการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี ควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ล้างมือบ่อยๆ สวมหน้ากากอนามัยเมื่อไอหรือจาม หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย พักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เท่านี้คุณพ่อคุณแม่และลูกน้อยก็จะสามารถห่างไกลจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A และโรคร้ายอื่น ๆ ได้อย่างแน่นอนค่ะ
ที่มา: paolohospital, ch9airport, pobpad
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ไข้หวัดใหญ่ในเด็ก พ่อแม่ควรระวัง! โรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่พบบ่อย
ปอดอักเสบในเด็ก อาการป่วยอันตราย สังเกตอย่างไรได้บ้าง?
โควิดสายพันธุ์ JN.1 จ่อระบาดในไทย สายพันธุ์ใหม่ ติดง่าย อาการคล้ายหวัด
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!