ไวรัส hMPV หรือ โรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสฮิวแมนเมตานิวโมไวรัส เป็นเชื้อไวรัสเดิมที่เคยแพร่ระบาดแต่เพิ่งค้นพบได้ไม่นาน โดยโรคนี้เป็นโรคที่อันตรายแก่เด็กเล็ก เพราะอาจนำไปสู่โรคหอบหืดในอนาคต รวมถึงผู้สูงอายุที่มีโอกาสติดเชื้อชนิดนี้ได้เช่นเดียวกัน ล่าสุดหมอยงได้ออกมาชี้แจงว่า ไวรัสนี้ได้แพร่ในประเทศไทยอีกครั้ง และไม่ใช่ไวรัสตัวใหม่ เบื้องต้นเผยมีเด็กไทยป่วยร้อยละ 4-8%
ระบาดหนัก! ไวรัส hMPV ทำปอดอักเสบ เด็ก-ผู้สูงอายุต้องระวัง
เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2567 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หรือหมอยง หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ถึงไวรัส hMPV ที่แพร่ระบาดอยู่ในประเทศไทยขณะนี้ โดยได้ระบุว่า “มีการแชร์ข่าว ถึงให้ระวังไวรัสตัวใหม่ Human Mepneumovirus การที่บอกว่าเป็นไวรัสตัวใหม่ ไม่เป็นความจริง
กว่า 20 ปีก่อน ไวรัสชนิดหนึ่งถูกค้นพบครั้งแรกในเนเธอร์แลนด์ ณ มหาวิทยาลัย Erasmus นักวิจัยสันนิษฐานว่ามันเป็นไวรัสชนิดใหม่ พบในเด็กป่วยหนักที่ตรวจไม่พบไวรัสชนิดที่รู้จักทั่วไป การตรวจทางชีวโมเลกุลเผยให้เห็นสารพันธุกรรมที่บ่งชี้ถึงไวรัสใหม่ จากการวิเคราะห์เพิ่มเติมพบว่าไวรัสชนิดนี้จัดอยู่ในกลุ่มพารามิกโซไวรัส ใกล้เคียงกับไวรัสที่พบในนก สร้างสมมติฐานว่ามันติดต่อมาจากนก นักวิจัยจึงนำตัวอย่างที่มีไวรัสไปหยอดจมูกไก่งวง ผลปรากฏว่าไก่งวงไม่ป่วย แต่เมื่อทำการทดสอบกับลิง ลิงกลับป่วยเป็นหวัด สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าไวรัสไม่ได้มาจากนกอย่างที่คิดไว้ ซึ่งการค้นพบนี้สร้างคำถามมากมายเกี่ยวกับที่มาและธรรมชาติของไวรัสชนิดนี้ ยังต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อไขปริศนาเกี่ยวกับต้นตอ วิธีการแพร่กระจาย และศักยภาพในการก่อโรค
จึงตั้งชื่อว่า human metapneumovirus หรือ hMPV และเมื่อเอาเลือดของคนที่เก็บไว้เมื่อ 50 ปีมาแล้วมาตรวจปฏิกิริยาภูมิต้านทาน ก็พบว่าผู้ใหญ่หรือเด็กโตส่วนใหญ่เคยเป็นมาแล้ว ก็แสดงว่าไวรัสนี้มีมาแต่เดิมกว่า 50 ปีมาแล้ว และพึ่งมาวินิจฉัยได้ด้วยหลักการตรวจใหม่
ทางศูนย์ของเราได้ตรวจในตัวอย่างเด็กไทย เมื่อประมาณกว่า 20 ปีมาแล้วและตรวจทุกอย่างสม่ำเสมอมาตลอด พบว่าในเด็กไทยที่ป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจจะพบไวรัสนี้ได้ประมาณ 4-8% จึงไม่ได้เป็นไวรัสใหม่แต่อย่างใด โรคนี้พบได้ทุกวัย แต่จะพบมากในวัยเด็กเล็กและผู้สูงอายุ เช่นเดียวกับโรคไวรัสทางเดินหายใจอื่น
ในปัจจุบันมีการพัฒนาวิธีการตรวจได้ง่ายขึ้น จึงมีการพูดถึงกันมากขึ้น แต่ไวรัสนี้ไม่ได้เป็นไวรัสใหม่ เป็นไวรัสตัวหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจเช่นเดียวกับไวรัสอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก จึงไม่ได้มีอะไรให้ตื่นตระหนก ผลงานการศึกษาไวรัสนี้ในประเทศไทย เราเผยแพร่ในระดับสากลมาโดยตลอด โดยทำการศึกษาตั้งแต่ปี 2001 และเผยแพร่ในปี 2003”
บทความที่เกี่ยวข้อง : hMPV ไวรัสร้ายคร่าชีวิตทารก โรค hMVP คืออะไร? อันตรายมากแค่ไหน?
ไวรัส hMPV คืออะไร
ไวรัส hMPV หรือเชื้อฮิวแมนเมตานิวโมไวรัส hMPV ย่อมาจาก Human metapneumovirus เป็นไวรัส RNA สายเดี่ยวเซนส์ลบ อยู่ในวงศ์ pneumoviridae คือ ไวรัสชนิดหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับ RSV ทำให้เกิดอาการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน ซึ่งมักจะแพร่ระบาดในช่วงปลายฤดูฝนถึงต้นฤดูหนาว (ต้นเดือนสิงหาคม-เดือนตุลาคม) โดยส่วนใหญ่จะพบในกลุ่มเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุ สำหรับผู้ใหญ่และเด็กโตที่มีภูมิต้านทานดี เมื่อติดเชื้อนี้ก็อาจเป็นแค่หวัดธรรมดาหรือไม่มีอาการใด ๆ สำหรับเชื้อไวรัส hMPV สามารถติดต่อผ่านทางน้ำลาย น้ำมูก ไอ และจาม ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน hMPV การป้องกันที่ดีที่สุดคือ รักษาสุขอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ
โรค hMPV อาการเป็นอย่างไร
อาการโรค hMPV จะคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ โควิด-19 และโรค RSV คือมีไข้ ไอ มีเสมหะ มีน้ำมูก ปวดเมื่อย หายใจไม่สะดวก และอาจแยกจากไวรัสตัวอื่น ๆ ยาก ต้องนำผลตรวจไปตรวจในห้องปฏิบัติการถึงจะบอกได้ โดยระยะฟักตัวของโรคนี้จะอยู่ประมาณ 3-5 วัน ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อนี้ได้นาน 1-2 สัปดาห์หลังจากมีอาการ
ซึ่งเชื้อ hMPV จะมีการเพิ่มจำนวนได้ดีในเยื่อบุทางเดินหายใจ คล้ายกับการติดเชื้อ RSV ผู้ป่วยอาจไม่แสดงอาการ หรืออาจเป็นไข้หวัดธรรมดา ไปจนถึงขั้นรุนแรง คือปอดบวม หรือหลอดลมฝอยอักเสบแบบเฉียบพลัน โดยเชื้อไวรัสนี้จะอยู่ในปอดได้นานหลายสัปดาห์ แม้จะมีการสร้างภูมิคุ้มกันแล้วก็ตาม
ผู้ป่วยจำนวนมาก จะมีอาการป่วยในระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น ไอ มีไข้ น้ำมูกไหล รวมถึงยังมีอาการอาเจียน มีผื่น ท้องเสีย และชัก หากตรวจร่างกายก็อาจเกิดเสียงผิดปกติขณะหายใจ เช่น หายใจมีเสียงหวีด อย่างไรก็ตาม เชื้อไวรัส hMPV มักเข้าไปทำลายระบบทางเดินหายใจส่วนล่างหลอดลมและปอด สำหรับผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดัน หัวใจ หอบหืด และโรคไต อาจทำให้เกิดอาการเหนื่อย จนต้องใช้ออกซิเจน บางรายอาจถึงขั้นระบบหายใจล้มเหลว
การรักษาโรค hMPV
การตรวจหาเชื้อไวรัส hMPV จะทำได้โดยวิธี swab ป้ายจมูกแล้วส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่นเดียวกับการตรวจหาเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ และโรค RSV ซึ่งจะทำได้ผลที่เร็ว ทำให้สามารถพบเชื้อนี้ได้มากกว่าเมื่อก่อน ส่วนวิธีการรักษาไวรัสนี้ ปัจจุบันยังไม่มียารักษา หรือมีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ hMPV เป็นการรักษาตามอาการผู้ป่วยเป็นหลัก โดยในประเทศไทยจะพบมากในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบหรืออาการหอบอย่างรุนแรง จำเป็นต้องรักษาในโรงพยาบาลเพื่อพ่นยา เคาะปอด ดูดเสมหะ และให้สารน้ำทางหลอดเลือด เป็นต้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : ปอดอักเสบในเด็ก อาการป่วยอันตราย สังเกตอย่างไรได้บ้าง?
วิธีป้องกันเชื้อไวรัส hMPV
ปัจจุบันมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอย่างต่อเนื่อง คุณพ่อคุณแม่จึงต้องระมัดระวังตัวและหมั่นดูแลลูก โดยเฉพาะครอบครัวที่มีเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยอยู่ในบ้าน อาจมีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป ซึ่งวิธีการป้องกันเชื้อไวรัสนี้ สามารถทำได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- ไม่เอามือเข้าปากหรือแคะจมูก
- พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่อดนอน
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
- ล้างมือบ่อย ๆ เพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อ
- ออกกำลังกายและดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ
- ไม่อยู่ในสถานที่ที่แออัด หรือมีคนเยอะ หากจำเป็นต้องออกควรสวมหน้ากากอนามัย
- หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีโรคระบบทางเดินหายใจ หรือมีอาการไอและจาม
- รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ เพราะเชื้อ hMPV สามารถทำลายด้วยความร้อน 55 องศาเซลเซียสขึ้นไป
ปัจจุบันเชื้อไวรัส hMPV ยังคงแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเชื้อไข้หวัดใหญ่ โควิด-19 RSV และโรคไข้เลือดออก คุณพ่อคุณแม่จึงควรเฝ้าระวังและหมั่นดูแลสุขภาพลูกน้อย หากพบว่าลูกมีอาการไข้ขึ้นให้รอสังเกตอาการผิดปกติ อย่าคิดว่าเป็นไข้หวัดธรรมดา เพราะบางครั้งลูกอาจติดเชื้อจากโรคติดต่อโดยที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ทันสังเกตได้
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
เช็กอาการไวรัส RSV โรคติดต่อที่ต้องระวังในช่วงปลายฝนต้นหนาว
จับตา 5 โรคติดต่อ ที่มีแนวโน้มระบาดปี 2567 เด็กเล็ก-คนท้องต้องระวัง!
โควิดสายพันธุ์ JN.1 จ่อระบาดในไทย สายพันธุ์ใหม่ ติดง่าย อาการคล้ายหวัด
ที่มา : thaipbs.or.th, thaipbs.or.th, nakornthon.com, theworldmedicalhospital.com
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!