อะดีโนไวรัส เป็นไวรัสที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก ส่งผลให้เกิดโรคในร่างกายได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเป็นไข้หวัด คออักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ ท้องเสีย และตาแดง ซึ่งความรุนแรงจะมีตั้งแต่ระดับน้อยไปจนถึงระดับที่รุนแรงมาก เด็กเล็กที่มีความบกพร่องทางภูมิคุ้มกัน มีโรคประจำตัวในระบบทางเดินหายใจ หรือมีระบบหัวใจที่ผิดปกติ จึงมักป่วยจากการติดเชื้อไวรัสนี้ วันนี้เราจะพามาดูกันว่า ไวรัสอะดีโน อาการเป็นอย่างไร ติดต่อได้ไหม และมีวิธีป้องกันอย่างไรบ้าง อ่านได้ในบทความนี้
อะดีโนไวรัสคืออะไร
อะดีโนไวรัส (Adenovirus) คือ ไวรัสชนิดทั่วไปที่สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อได้ มีอาการคล้ายหวัดหรือไข้หวัดใหญ่ สามารถเกิดขึ้นได้ในเด็กทุกวัย แต่มักจะพบบ่อยในเด็กทารกและเด็กเล็ก เชื้อไวรัสชนิดนี้แบ่งออกเป็นหลายประเภท จึงส่งผลให้เด็กสามารถติดเชื้อได้มากกว่าหนึ่งครั้ง อีกทั้งไวรัสชนิดนี้ยังสามารถแพร่กระจายได้ทุกฤดูกาล เช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี ส่วนการติดเชื้อจะมีตั้งแต่ความรุนแรงน้อยไปจนถึงรุนแรงมาก แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ๆ
อะดีโนไวรัสติดต่อได้อย่างไร
อะดีโนไวรัสสามารถติดต่อได้หลายวิธี ทั้งการแพร่กระจายผ่านฝองละออง คือ การติดต่อในระยะใกล้ หากมีการไอหรือจามใส่กัน รวมถึงการติดต่อผ่านอาหารและน้ำที่มีเชื้อโรค และอาจติดต่อได้จากการสัมผัสโดยตรงผ่านสิ่งของที่ปนเปื้อนกับเชื้อโรค โดยไวรัสชนิดนี้จะมีชีวิตอยู่ได้นานถึง 30 วัน ตามพื้นผิวของสิ่งแวดล้อม แต่ยังถูกกำจัดได้โดยความร้อน สารฟอกขาว และสารเคมีฟอร์มาลดีไฮด์
อะดีโนไวรัสส่งผลต่อใครบ้าง
อะดิโนไวรัสสามารถส่งผลกระทบต่อคนในทุกวัย แต่มักจะเกิดขึ้นกับเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ การแพร่กระจายเชื้อไวรัสชนิดนี้จึงมักจะเกิดขึ้นกับทารกและเด็กเล็ก ในสถานรับเลี้ยงเด็ก หรือในสภาพแวดล้อมที่มีเด็กสัมผัสอย่างใกล้ชิดกัน ซึ่งมักจะติดต่อกันผ่านทางปาก แต่ยังสามารถแพร่กระจายเชื้อแก่ผู้ใหญ่ได้ โดยเฉพาะในสภาพแวดล้อมที่แออัด อาจมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อไวรัสนี้
รวมถึงคนที่มีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ มีแนวโน้มจะป่วยจากการติดเชื้ออะดีโนไวรัสมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่เคยได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ที่เป็นโรคมะเร็ง โรคเอดส์ โรคหัวใจ หรือโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ก็มีโอกาสที่จะติดเชื้อไวรัสชนิดนี้อย่างรุนแรงมากขึ้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : ระบาดหนัก! ไวรัส hMPV ทำปอดอักเสบ คล้ายไข้หวัดใหญ่ เด็ก-ผู้สูงอายุต้องระวัง
อาการติดเชื้ออะดีโนไวรัส
ปกติแล้วอาการติดเชื้ออะดีโนไวรัส มักเกิดขึ้นภายใน 2-3 วันไปจนถึง 2สัปดาห์ แต่การติดเชื้อที่แรงอาจใช้เวลามากกว่านี้ แต่โดยทั่วไปแล้วมักจะเกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งอาจมีอาการคล้ายกับไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตอาการได้ดังนี้
- ไอ
- มีไข้
- ตาแดง
- น้ำมูกไหล
- ปอดอักเสบ
- หลอดลมอักเสบ
- หูชั้นกลางอักเสบ
- เจ็บคอ คออักเสบ
- ต่อมน้ำเหลืองบวม
นอกจากนี้ อะดีโนไวรัสยังอาจส่งผลต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้ลูกมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ลำไส้อักเสบ และอาจทำให้เกิดการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้ รวมถึงยังอาจส่งผลต่อระบบประสาท ก่อให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบและเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
การวินิจฉัยการติดเชื้ออะดีโนไวรัส
หากติดเชื้อเพียงเล็กน้อย ไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ แต่ถ้าหากลูกมีอาการติดเชื้ออย่างรุนแรง แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัย โดยอาจเก็บสารคัดหลั่งจากโพรงจมูก คอ หรือขี้ตา หรือตรวจหาเชื้อทางอุจจาระ และทำการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการต่อไป
บทความที่เกี่ยวข้อง : โนโรไวรัส เชื้อไวรัสที่ทำให้เด็กท้องเสียและอาเจียนรุนแรง
การรักษาเชื้ออะดีโนไวรัส
หลังจากที่ติดเชื้ออะดีโนไวรัสแล้ว จะต้องรักษาตามอาการ คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลลูกให้พักผ่อนอย่างเพียงพอ ดื่มน้ำเยอะ ๆ ล้างจมูก และให้ยาลดไข้เมื่อมีอาการไข้สูง หากลูกมีอาการรุนแรง ต้องรีบพามาพบแพทย์เพื่อรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งการรักษาในโรงพยาบาล แพทย์จะให้น้ำเกลือ ให้ออกซิเจน และพ่นยาขยายหลอดลม ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากและมีโรคประจำตัวอื่น ๆ อาจมีความเสี่ยงสูง แพทย์อาจพิจารณาให้ใช้ยาต้านเชื้อไวรัสด้วย
ปัจจุบันมีวัคซีนอะดีโนไวรัสหรือไม่
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนชนิดใดที่สามารถป้องกันเชื้ออะดีโนไวรัสได้ เนื่องจากไวรัสชนิดนี้ สามารถหลั่งออกมาทางอุจจาระ ซึ่งแปลว่าสามารถขับออกจากร่างกายได้นั่นเอง นอกจากนี้นักวิจัยยังไม่ได้ศึกษาความปลอดภัยและประสิทธิผลของวัคซีน จึงทำให้ยังไม่มีวัคซีนที่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสชนิดนี้
การป้องกันเชื้ออะดีโนไวรัส
วิธีป้องกันการติดเชื้ออะดีโนไวรัส คุณพ่อคุณแม่สามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ด้วยวิธีดังนี้
- ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ อย่างน้อย 20 วินาที
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสปาก จมูก หรือตา หากยังไม่ได้ล้างมือ
- พยายามอยู่ให้ห่างจากผู้ป่วย
- ไม่พาลูกไปยังแหล่งชุมชนที่มีคนแออัด
- ทำความสะอาดภายในบ้าน โดยเฉพาะโต๊ะ เก้าอี้ และของเล่นของลูก
- หากมีอาการป่วยให้อยู่บ้าน งดการออกไปข้างนอก
- พยายามจามหรือไอใส่ข้อศอกและทิชชู่ อย่าจามใส่มือ
- ไม่ใช้ช้อนส้อม ถ้วย ผ้าเช็ดตัว และหมอนรวมกับผู้อื่น
บทความที่เกี่ยวข้อง : ไวรัสโคโรน่าในเด็ก อันตรายหรือไม่ ป้องกันยังไงไม่ให้ลูกติดเชื้อโควิด-19
เมื่อไหร่ที่ควรพาลูกไปพบแพทย์
หากลูกมีอาการเหล่านี้ คุณพ่อคุณแม่ต้องรีบพาไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
- มีไข้สูง หรือเป็นนานมากกว่า 2-3 วัน
- หายใจไม่สะดวก
- ตาแดง ปวดตา การมองเห็นเปลี่ยนไป
- มีอายุต่ำกว่า 3 เดือน หรือมีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
- ท้องเสียอย่างรุนแรง อาเจียน และมีอาการขาดน้ำ
อะดีโนไวรัส เป็นไวรัสที่มักเกิดขึ้นในเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กทารกที่มีอายุน้อยกว่า 3 เดือน หากติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ ก็อาจส่งผลให้เกิดอาการรุนแรงได้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรหมั่นสังเกต หากลูกมีอาการติดเชื้ออย่างรุนแรง ซึม ไม่ยอมดื่มน้ำหรือนม ต้องรีบพาไปพบแพทย์โดยเร็วสุด เพื่อให้แพทย์รักษาอย่างถูกวิธี
ที่มา : clevelandclinic.org, kidshealth.org, samitivejhospitals.com
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี ป้องกันโรคมะเร็งตับในเด็กจริงหรือ?
ไวรัส RSV เชื้อโรควัยร้ายในวัยเด็ก โรคRSV ป้องกันอย่างไร?
ลูกเป็นหวัดลงกระเพาะ ไวรัสลงกระเพาะ ระบาด ทารก-เด็กเล็ก ต้องระวังป่วย
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!