เพิ่มพัฒนาการให้ลูกวัยเตาะแตะกับ 5 เทคนิค เสริมทักษะลูก
เพิ่มพัฒนาการให้ลูกสุดซนกับ 5 เทคนิค เสริมทักษะลูก
1. สมาธิดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
พญ.ดวงรัตน์ วังเกล็ดแก้ว กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ศูนย์พัฒนาการและการเรียนรู้ รพ.สมิติเวชศรีนครินทร์ ให้คำแนะนำในการฝึกสมาธิลูกวัยเตาะแตะ ดังนี้
การหมั่นฝึกสมาธิในเด็กตั้งแต่ยังเล็กนั้น จะส่งผลดีมากเมื่อลูกน้อยโตขึ้น เพราะการมีสมาธิจะช่วยให้เกิดกระบวนการทางสติปัญญาในการต่อยอด การใช้ชีวิตทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเรียน หรือการทำกิจกรรม เช่น เล่นดนตรี วาดรูป ก็ต้องใช้สมาธิในการจดจ่อสนใจ หรือแม้แต่การอยู่ในสังคมก็ต้องมีสมาธิด้วยเช่นกัน เพราะถ้าลูกไม่มีสมาธิจะรอคอยไม่ได้ ไม่รู้เวลา
เมื่อถึงวัยเข้าเรียนก็จะไม่สนใจชั้นเรียน เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ ที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าลูกน้อยยังอายุไม่เกิน 2 ขวบ ไม่ควรให้ลูก เล่นเกมไม่ว่าจะเป็นเกมจากมือถือ เกมจากคอมพิวเตอร์ หรือดูทีวี เพราะจะรบกวนการพัฒนาทางสติปัญญา การพัฒนาสติปัญญาและสมาธิที่ดีของลูก ควรจะเกิดจากการมีความรัก ความเข้าใจ การโอบกอด สัมผัสระหว่างพ่อแม่ลูก การได้ทำกิจกรรมร่วมกันจะช่วยให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีต่อไปค่ะ
ด้านการช่วยเหลือตัวเอง
2. ด้านการช่วยเหลือตัวเอง
แม้ว่าลูกจะยังอยู่ใน วัยเตาะแตะ คุณพ่อคุณแม่ก็ควรให้โอกาสให้ลูกได้ช่วยเหลือตัวเองในกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ บ้าง เช่น ตักข้าวกินเอง แต่งตัวเอง อาบน้ำเอง เป็นต้น แม้ลูกอาจจะทำได้ไม่ดีนัก คุณแม่ต้องค่อย ๆ ฝึกฝนไปทีละน้อย เพราะสิ่งเหล่านี้นอกจากจะฝึกความคิด การตัดสินใจ การลงมือทำแล้ว ยังจะช่วยพัฒนาความภาคภูมิใจในตนเองให้กับลูกเมื่อเขาทำสำเร็จ โดยพ่อแม่ควรบอกสอนหรือจับมือทำ เมื่อเด็กทำได้ควรปล่อยให้เด็กทำเองได้เพิ่มขึ้น และให้คำชมเชย เป็นกำลังใจแก่เด็ก ฝึกฝนซ้ำ ๆ จนเด็กสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ทั้งหมด
พัฒนาการทางด้านอารมณ์
3. ด้านอารมณ์
พ่อแม่ควรสอนให้เด็กรู้จักอดกลั้น รอคอย และแสดงอารมณ์ออกอย่างเหมาะสม เพื่อพัฒนาการปรับตัวในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมต่อไป โดยพ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการควบคุมอารมณ์ของตนเอง ไม่ยั่วยุเด็กให้อารมณ์เสียบ่อย ๆ พ่อแม่ควรให้ความสนใจพฤติกรรมที่ดีที่เหมาะสมของเด็ก เช่น พูดเพราะ มีน้ำใจ และชมเชย เพื่อให้ลูกรู้ว่า เขาควรมีพฤติกรรมการแสดงออกทางอารมณ์อย่างไร ส่วนพฤติกรรมที่ไม่ดี เช่น ถูกขัดใจ แล้ว ลูกร้องไห้อาละวาด พ่อแม่ไม่ควรใส่ใจ เมื่อลูกอารมณ์สงบลง พ่อแม่ควรพูดเตือนไม่ให้ทำอย่างนั้นอีก
ด้านความมั่นใจในตนเอง
4. ด้านความมั่นใจในตนเอง
การสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกนั้น แม้ว่าเขาจะอยู่ในวัยเตาะแตะ ลูกต้องรู้สึกว่าตัวเขาดีพอ เป็นที่ยอมรับของพ่อแม่ เขาจึงเรียนรู้ที่จะยอมรับตัวเขาเอง ในการสร้างความรู้สึกนี้ พ่อแม่ต้องให้สิ่งเหล่านี้กับเด็ก
– การให้ความรักและความอบอุ่นแก่ลูกอย่างที่ลูกเป็น โดยไม่มีข้อแม้ใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะจะทำให้เด็กรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า เป็นที่ต้องการสำหรับพ่อแม่ พ่อแม่ยอมรับในตัวเขา หากปฏิบัติเช่นนี้ลูกจะมีความรู้สึกดีต่อตัวเอง เขาจึงมั่นใจในตัวเอง พอใจตัวเองอย่างที่เป็น
– เมื่อลูกทำสิ่งดี ๆ หรือทำอะไรได้ สิ่งที่พ่อแม่ควรทำมากที่สุด คือ คำชมค่ะ เพราะคำชมจะทำให้ลูกรู้สึกมั่นใจในสิ่งที่เขาทำ มีความภาคภูมิใจ และอยากทำดีต่อไป ที่สำคัญควรให้คำชมในขณะที่ลูกทำพฤติกรรมนั้นหรือหลังจากนั้นไม่นาน เพื่อให้ลูกได้รู้สึกถึงความพอใจจากการทำพฤติกรรมนั้น
– อย่าตำหนิรุนแรงหรือ ลงโทษลูก เมื่อเด็กทำผิดพลาด หรือทำอะไรที่ไม่เหมาะสม ควรพูดกับเด็กดี ๆ แบบมีเหตุผล ถ้าเด็กทำผิดโดยไม่ตั้งใจ พ่อแม่ควรแนะนำ ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ช่วยเด็กทำ แก้ไขข้อผิดพลาด ถ้าเด็กทำผิดโดยตั้งใจ ควรหาสาเหตุว่าทำไมเด็กทำเช่นนั้น เช่น เด็กโกรธจึงทำลงไป การแก้ที่ต้นเหตุจะเป็นการแก้ปัญหาที่ได้ผลดีที่สุด การตำหนิเด็กอย่างรุนแรงซ้ำ ๆ บ่อยครั้ง จะให้ผลร้ายกับจิตใจเด็ก ทำให้เด็กเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีกับตัวเอง กลายเป็นคนไม่มั่นใจในตัวเอง ขาดความภาคภูมิใจในตัวเอง
– อย่าให้ลูกทำงานหรือทำสิ่งต่าง ๆ ที่ยากเกินความสามารถของเขา การทำอะไรแล้วสำเร็จจะเสริมความมั่นใจในตัวเด็กเองอย่างมาก การให้งานที่ยากเกินไป เมื่อลูกทำไม่ได้ จะรู้สึกเสียกำลังใจ และถ้าเกิดขึ้นบ่อย ๆ สุดท้ายลูกจะไม่มั่นใจในตัวเอง นอกจากนี้ การคาดหวังเด็กมากเกินความสามารถของเขา เพื่อตอบสนองความต้องการของพ่อแม่ ทำให้เด็กหมดหวังท้อแท้ใจ ฉะนั้นพ่อแม่ควรยอมรับในความสามารถของเด็กอย่างที่เขามี
– เน้นให้เด็กมีประสบการณ์ชีวิตด้วยตนเอง การให้เด็กได้ทำอะไรด้วยตัวเอง ทำให้เขาเป็นคนเรียนรู้การใช้ชีวิตโดยตรง ให้เขาลองผิดลองถูก ทดลองทำดู ผิดบ้างก็ถือเป็นการเรียนรู้ พอเด็กโตขึ้นจะเป็นคนกล้าคิดกล้าทำ มั่นใจ เวลาจะทำอะไรหรือไม่ทำอะไรให้รู้เหตุผล ไม่ใช่ทำตามคนอื่นไปเรื่อย ๆ ไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากผู้อื่น ทำให้มีความคล่องตัว มีอิสระของชีวิตสามารถดำรงชีวิตได้ด้วยตัวเอง เอาตัวรอดได้
ส่งเสริมการเล่นที่เหมาะสมกับวัย
5. ส่งเสริมการเล่นที่เหมาะสมกับวัย
– การเล่นหรือ การออกกำลังกาย กลางแจ้งเป็นสิ่งที่จำเป็น ลูกจะได้รับอากาศ แสงแดด สัมผัสกับดินฟ้าอากาศแล้ว การเล่นวิ่ง กระโดด ปีนป่าย แกว่งไกว ฯลฯ จะกระตุ้นเซลส์ประสาท กล้ามเนื้อ กระดูก การสัมผัสช่วยให้เด็กมีการทรงตัวให้ดีขึ้น มีความคล่องตัวมากขึ้น
– การเล่นของเด็กวัย 3-6 ปี จะเล่นรวมกลุ่มกับเด็กอื่น มีสมาชิกของกลุ่มเป็นผู้นำและผู้ตามชั่วคราว เล่นบทบาทสมมติซึ่งเด็กมักเลียนแบบจากสิ่งที่ได้เห็น เช่น ชีวิตในบ้าน หรือโรงเรียน เด็กอาจมีอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการเล่น เช่น ใบไม้แทนเงิน ลูกปัดแทนสตางค์ ตุ๊กตาเป็นน้องหรือนักเรียน เป็นต้น
– การเลือกของเล่นให้ลูก ควรจะต้องคำนึงถึงระดับอายุและความชอบของเด็ก ของเล่นบางชนิด อาจจะเหมาะกับเด็กคนหนึ่งแต่อาจจะไม่เหมาะสำหรับเด็กอื่น เด็กส่วนใหญ่จะไม่สนใจของเล่นที่ยากเกินไป ฉะนั้นควรเริ่มต้นจากการเล่นง่าย ๆ ก่อน ค่อยเปลี่ยนเป็นยากขึ้นโดยไม่ทำให้เด็กรู้สึกขาดความมั่นใจ
– ของเล่นสำหรับเด็กวัยเตาแตะ เช่น กระบะทราย กะละมัง ถังน้ำ พลั่วตักทราย กระดาษวาดรูประบายสี ดินน้ำมัน กรรไกรตัดกระดาษ ลูกปัดสีต่าง ๆ หุ่นเชิด บ้านตุ๊กตา ดนตรี กลองตีเล็ก ๆ ชิงช้า ไม้ลื่น เป็นต้น
ฝากข้อคิด : การเล่นของลูก
การเล่นเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการในเด็ก พ่อแม่จึงควรให้ความสำคัญในเรื่องนี้อย่างมาก ด้วยการสอนให้เด็กรู้จักเล่นหลาย ๆ อย่างทั้งการเล่นกลางแจ้ง การเล่นรวมกับผู้อื่น การเล่นที่ใช้ความคิด เป็นต้น นอกจากช่วยให้เด็กสนุกสนานกับการเล่นแล้ว ยังช่วยในการพัฒนาด้านภาษา ทำให้เด็กรู้จักใช้จินตนาการ ใช้ความคิดสร้างสรรค์ คลายเครียด ตลอดจนเรียนรู้จักสร้างความสัมพันธ์กับ ผู้อื่น เพิ่มทักษะทางสังคมซึ่งเป็นหัวใจของการใช้ชีวิตร่วมกัน เป็นการป้องกันปัญหาการปรับตัวซึ่งอาจเกิดขึ้นในอนาคต
เมื่ออ่านวิธีการพัฒนาทักษะรอบด้านของวัยเตาะแตะแล้ว ไม่ยากเลยนะคะที่คุณพ่อคุณแม่จะร่วมกันพัฒนาลูกน้อยให้เติบโตสมวัย อย่างมั่นใจ มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีต่อไป
The Asianparent Thailand เว็บไซต์ข้อมูลคุณภาพและสังคมคุณแม่ ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และในเอเชีย เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารแพทย์ แหล่งความรู้แม่และเด็ก รวมถึงแอพพลิเคชั่น The Asianparent ที่ติดตามการตั้งครรภ์ ให้คุณแม่ได้ลงทะเบียนใช้งานฟรี เพื่อติดตามพัฒนาการของทารก ตั้งแต่ตั้งครรภ์ จนถึงติดตามหลังคลอดที่ครอบคลุมที่สุด และผู้ใช้งานสูงสุดในประเทศไทย นอกจากความรู้ยังมีไลฟ์สไตล์ และสื่อมัลติมีเดียหลากหลาย ไม่ว่าสุขภาพแม่และเด็ก โภชนาการแม่และเด็ก กิจกรรมสำหรับครอบครัว การวางแผนครอบครัวไปจนถึง การดูแลลูก การศึกษา และจิตวิทยาเด็ก The Asianparent เราพร้อมสนับสนุนพ่อแม่ทุกท่าน ให้มีความรู้และมีสุขภาพกายใจเข้มแข็ง เพื่อเสริมสร้างครอบครัวอย่างแข็งแรง
เพราะเราเชื่อว่า “พ่อแม่เข้มแข็ง ครอบครัวแข็งแรง”
ที่มา : s-momclub.com, rcpsycht.org, pstip.com
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง :
อาหาร 6 ชนิดที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็กสำหรับเด็กวัยเตาะแตะ
9 วิธีชวนลูกวัยเตาะแตะเข้านอน แก้ปัญหาลูกหลับยาก
เครื่องดนตรีเด็กเล่นได้ ฝึกเพิ่มทักษะ ลูกให้ลูกเป็นอัจฉริยะด้านดนตรี เริ่ด!
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!