การร้องไห้ของทารกเป็นเรื่องปกติ และเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารในช่วงวัยแรกเกิดค่ะ แต่คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจสงสัยว่าลูกร้องไห้บ่อยไปมั้ย? ทารกร้องไห้บ่อยแค่ไหนถือว่าปกติ เมื่อไรควรกังวลว่าลูกน้อยร้องไห้มากเกินไป มาไขรหัสเสียงร้องของลูกกันค่ะว่าร้องแบบไหน ต้องการอะไร

ทารกร้องไห้บ่อยแค่ไหนถือว่าปกติ ลูกเราร้องไห้บ่อยเกินไปมั้ย?
จริงๆ แล้วการร้องไห้เป็นเรื่องเฉพาะบุคคลมากเลยนะคะ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่และลูกน้อยแต่ละคนล้วนมีความเป็นตัวเองแตกต่างกัน ดังนั้น การจะกำหนด “ความปกติ” ที่เป็นมาตรฐานนั้นจึงเป็นเรื่องค่อนข้างยากค่ะ แล้ว ทารกร้องไห้บ่อยแค่ไหนถือว่าปกติ ? ทั้งนี้ มีการรวบรวมและวิเคราะห์จากผลงานวิจัยทั่วโลกในปี 2017 พบว่า
- โดยเฉลี่ยแล้ว ทารกจะร้องไห้วันละประมาณ 2 ชั่วโมง ในช่วง 6 สัปดาห์แรกหลังคลอด
- การร้องไห้ของทารกจะลดลงในช่วง 8-9 สัปดาห์ และเหลือประมาณ 1 ชั่วโมงในช่วง 10-12 สัปดาห์ค่ะ
- ทารกบางคนร้องไห้น้อยมากในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังคลอด เนื่องจากยังมีอาการง่วงนอนและต้องใช้เวลาปรับตัวเข้ากับชีวิตภายนอกครรภ์คุณแม่ เมื่อเริ่มตื่นและปรับตัวได้ดีขึ้นทารกอาจเริ่มร้องไห้มากขึ้นเพื่อสื่อสารบอกความต้องการของตัวเองกับคุณพ่อคุณแม่

ลูกร้องไห้นาน ปกติมั้ย? ทารกร้องไห้บ่อยแค่ไหนถือว่าปกติ
หากรู้สึกว่าลูกน้อยร้องไห้มาก ร้องไห้นาน และคุณพ่อคุณแม่ปลอบลูกให้สงบลงได้ยาก ไม่ต้องกังวลนะคะ ในความเป็นจริง ทารก “2 ใน 10 คน” ไปจนถึง “5 ใน 10 คน” ร้องไห้เป็นเวลานานโดยไม่มีสาเหตุชัดเจนในช่วงวัย 3-4 เดือน ซึ่งการร้องไห้เป็นเวลานานอาจเริ่มขึ้นตั้งแต่ลูกน้อยอายุประมาณ 2 สัปดาห์ มาจนกระทั่งอายุ 3-4 เดือน เป็นการร้องไห้ที่อาจนานถึง 5 ชั่วโมงต่อวัน อันเป็นขั้นตอนพัฒนาการปกติค่ะ เรียกว่า ช่วงเวลาของการร้องไห้ “PURPLE PURPLE” ซึ่งย่อมาจาก
- Peak of crying (ช่วงสูงสุดของการร้องไห้)
- Unexpected (คาดเดาไม่ได้)
- Resists soothing (ปลอบโยนยาก)
- Pain-like face (สีหน้าเหมือนเจ็บปวด)
- Long lasting (ร้องไห้นาน)
- Evening (ร้องไห้ช่วงเย็น)
ทั้งนี้ ไม่ว่าการร้องไห้ในรูปแบบใดๆ ก็ตามล้วนรับมือได้ยากโดยเฉพาะกับคุณแม่มือใหม่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปเชื่อเถอะค่ะว่าความมั่นใจในการเลี้ยงลูก รวมถึงการที่ลูกน้อยคุ้นเคยกับโลกรอบตัวมากขึ้นจะทำให้คุณแม่และลูกน้อบเริ่มผ่อนคลายและรู้สึกเครียดน้อยลง ลูกก็จะร้องไห้น้อยลงเมื่ออายุเข้าสู่ 8-9 สัปดาห์ค่ะ
พื้นฐานอารมณ์บอกได้ ทารกร้องไห้บ่อยแค่ไหนถือว่าปกติ
ลักษณะอาการร้องไห้มากหรือน้อยของทารกแต่ละคนนนั้น อาจมีพื้นฐานทางอารมณ์เป็นปัจจัยสำคัญด้วยนะคะ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากพันธุกรรม และสภาพแวดล้อมขณะอยู่ในครรภ์ โดยเด็กมักมีพื้นฐานทางอารมณ์ที่แตกต่างกัน ดังนี้
- กลุ่มเด็กเลี้ยงง่าย คือ เด็กอารมณ์ดี กินง่าย หลับง่าย ปรับตัวง่าย จึงเลี้ยงดูง่าย มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 40
- กลุ่มเด็กเลี้ยงยาก มีประมาณร้อยละ 10 โดยเด็กกลุ่มนี้มักตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นด้วยปฏิกิริยารุนแรง ร้องไห้มาก หงุดหงิดง่าย ปรับตัวยาก ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องมีความอดทน ยอมรับ และให้การตอบสนองอารมณ์ลูกอย่างเหมาะสมค่ะ
- เด็กกลุ่มปรับตัวช้า มักเครียดง่าย ปรับตัวช้า ขี้อาย พบประมาณร้อยละ 15 ซึ่งควรได้รับเวลาในการปรับตัวและฝึกทักษะต่างๆ เพื่อการพัฒนาต่อไป
- กลุ่มที่อยู่ในระดับเฉลี่ยปานกลาง หรือผสมหลายแบบ พบได้ร้อยละ 35

ไขรหัสความต้องการของลูกน้อยจากเสียงร้อง
แม้เสียงร้องไห้ของทารกตัวน้อยๆ อาจฟังดูเหมือนกัน แต่จริงๆ แล้วลูกสามารถสื่อสารความต้องการที่แตกต่างกันผ่านเสียงร้องได้นะคะ อาทิ
มักเป็นเสียงร้องสั้นๆ ที่ดังขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับท่าทางขยับปากหรือเอามือเข้าปาก ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุอันดับแรกที่คุณแม่ทุกคนนึกถึง โดยเฉพาะกรณีเป็นเด็กนมแม่ ซึ่งย่อยง่าย ทำให้หิวบ่อย ดังนั้น คุณแม่ควรให้นมลูกทุก 2-3 ชั่วโมง และสังเกตอาการหลังกินนมว่าลูกหยุดร้องหรือเปล่า
-
เสียงร้องจากความไม่สบายตัว
อาจเป็นเสียงร้องที่แหลมกว่าปกติ หรือเสียงร้องที่มาพร้อมกับการบิดตัวหรือโก่งตัว เนื่องจากผ้าอ้อมเปียกแฉะ หากได้ยินเสียงร้องแบบนี้คุณแม่ควรเช็กผ้าอ้อมก่อนค่ะว่าเปียกแฉะจนทำให้ลูกไม่สบายตัวหรือเปล่า
มักเป็นเสียงร้องงอแง พร้อมกับขยี้ตาหรือหาว เนื่องจากรู้สึกเพลีย อยากนอน ซึ่งเด็กบางคนง่วงนอนนะคะแต่ก็ไม่ยอมหลับ อาจเป็นผลจากสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย มีเสียงรบกวน อุณหภูมิที่ไม่เหมาะสม ยิ่งง่วงแล้วไม่หลับ ลูกยิ่งเหนื่อย และร้องไห้มากได้ค่ะ

เช่น ปวดท้อง ซึ่งพบได้บ่อย เนื่องจากระบบย่อยอาหารของทารกยังทำงานได้ไม่ดี จึงมีอาการท้องอืด ดังนั้น หลังกินนมควรอุ้มลูกพาดบ่า ลูบหลังเบาๆ เพื่อให้เรอทุกครั้ง จะทำให้สบายตัวขึ้นค่ะ แต่หากร้องกวนมาก ปวดท้องตัวงอ อุจจาระเป็นเลือด คลำพบมีก้อนที่ท้อง อาจเป็นอาการของลำไส้กลืนกัน หรือมีอาการแหวะนมมาก อาเจียนพุ่ง ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน นอกจากนี้ บางกรณีลูกอาจร้องไห้เพราะมดหรือแมลงกัด หรือมีอาการปวดหู จากหูอักเสบ ซึ่งต้องพบแพทย์เช่นกันค่ะ
-
มีไข้ จากการเจ็บป่วย จึงร้องไห้งอแง
ในกรณีนี้คุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตได้จากการที่ลูกน้อยมีอาการตัวร้อน วัดไข้ด้วยปรอทวัดไข้พบว่ามีไข้
- ทารกแรกเกิดถึง 1 เดือน อุณหภูมิมากกว่าหรือเท่ากับ 37.5 องศาเซลเซียส ถือว่ามีไข้
- ลูกน้อยอายุมากกว่า 1 เดือน อุณหภูมิมากกว่าหรือเท่ากับ 37.8 องศาเซลเซียส ถือว่ามีไข้
หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ซึม กินได้น้อย อาเจียน ท้องเสีย ไอ น้ำมูก ให้รีบพบแพทย์ค่ะ
หากลูกมีอาการโคลิค คุณพ่อคุณแม่อาจได้ยินเสียงร้องที่ดังมาก และร้องอย่างยาวนาน โดยมักเกิดขึ้นในช่วงเย็นหรือค่ำ และไม่สามารถปลอบโยนให้สงบลงได้ง่ายๆ

ทำยังไงดีเมื่อลูกน้อยร้องไห้ ปลอบแบบไหนลูกสงบเร็ว
ก่อนอื่นคุณพ่อคุณแม่ควรตรวจสอบสาเหตุการร้องไห้ของลูกค่ะว่า ร้องเพราะอะไร หิวหรือเปล่า ผ้าอ้อมเปียกมั้ย หรือลูกกำลังง่วงและเหนื่อยล้า จึงจะสามารถตอบสนองความต้องการของลูกน้อยได้อย่างตรงจุดค่ะ แล้วลองวิธีการต่อไปนี้
- ตอบสนองอย่างเหมาะสม คุณพ่อคุณแม่ควรตอบสนองความต้องการของลูกในช่วง 6 เดือนแรกโดยทันทีตามที่ลูกต้องการ เพื่อให้ทารกเกิดการเรียนรู้ที่จะไว้ใจพ่อแม่ เป็นความรู้สึกผูกพันที่มั่นคง เชื่อมั่นว่าพ่อแม่จะสามารถช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาได้ ผ่านการอุ้มและสัมผัสทารกอย่างสม่ำเสมอระหว่างวัน จะช่วยให้การร้องไห้ลดลงได้ค่ะ
- สร้างบรรยากาศการเลี้ยงดูที่ผ่อนคลายในการเลี้ยงดูลูกน้อยโดยเฉพาะทารกแรกเกิดนั้น เต็มไปด้วยความตึงเครียดและวิตกกังวลก็จริงค่ะ แต่ก็อยากให้คุณพ่อคุณแม่ผ่อนคลาย ไม่วิตกเกินไป อาจใช้วิธีผลัดกันดูแล อุ้ม ปลอบโยนลูก สร้างบรรยากาศดีๆ ด้วยการเปิดเพลงเบาๆ หรือถ้าลูกร้องนานจนมีเหงื่อออกมาก ลองเช็ดตัวหรือเอาน้ำลูกตัวให้สดชื่นขึ้นก็ได้ค่ะ
การเข้าใจภาษาเสียงร้องของลูกน้อยและการตอบสนองต่อความต้องการของลูกอย่างเหมาะสมจะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลลูกน้อยได้อย่างมีความสุขและมั่นใจยิ่งขึ้นนะคะ สิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดคือ คุณพ่อคุณแม่ควรเข้าใจว่าการร้องไห้ของลูกเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่หากสงสัยว่าการร้องของลูกน้อยเกิดขึ้นเพราะมีความผิดปกติของร่างกาย ควรรีบปรึกษาแพทย์ค่ะ
ที่มา : www.nct.org.uk , www.samitivejhospitals.com
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
อายุจริงเด็กคลอดก่อนกำหนด นับยังไง? ลูกคลอดก่อนกำหนด ต้องปรับอายุมั้ย
ลูกดูดเต้า เป็นแผล ดูแลยังไง? 5 วิธีรักษา หัวนมแตก ขณะให้นมลูก
นมสำหรับเด็กเป็น G6PD เลือกยังไง ปลอดภัยกับลูกที่มีภาวะพร่องเอนไซม์
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!