การที่ลูกน้อยเป็นเด็กคลอดก่อนกำหนด มักเป็นประเด็นที่สร้างความกังวลให้คุณพ่อคุณแม่อยู่พอสมควรค่ะ โดยเฉพาะในเรื่องของพัฒนาการ ที่อาจมีความแตกต่างจากทารกที่คลอดตามกำหนดปกติ รวมถึงความสงสัยที่เกี่ยวข้องกับ “อายุ” ของเด็กที่คลอดก่อนกำหนดด้วยว่า ลูกคลอดก่อนกำหนด ต้องปรับอายุมั้ย? แล้ว อายุจริงเด็กคลอดก่อนกำหนด นับยังไง? ซึ่งเราจะพาคุณพ่อคุณแม่ไปทำความเข้าใจเรื่อง “อายุปรับ” และ “อายุจริง” ความสำคัญของการปรับอายุในเด็กคลอดก่อนกำหนด วิธีการนับอายุที่ถูกต้อง รวมถึงข้อควรระวังต่างๆ เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลและติดตามพัฒนาการของลูกน้อยได้อย่างเหมาะสมและมั่นใจค่ะ

ทารกคลอดก่อนกำหนด หมายถึงอะไร?
การคลอดก่อนกำหนด หมายถึง การคลอดทารกก่อนอายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์ค่ะ โดยทารกกลุ่มนี้จะมีอวัยวะต่างๆ ครบถ้วน แต่พัฒนาการของอวัยวะเหล่านั้นจะยังไม่สมบูรณ์ จึงทำให้เกิดปัญหาหรือมีภาวะเจ็บป่วยภายหลังการคลอดตามมาได้ รวมถึงมีภาวะแทรกซ้อนต่างๆ มากมาย ทำให้เป็นเด็กที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ และมักต้องอยู่รักษาในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน ซึ่งขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ น้ำหนักแรกเกิด และภาวะเจ็บป่วยที่พบหลังคลอดค่ะ
|
ภาวะเจ็บป่วยที่พบบ่อยกรณี ลูกคลอดก่อนกำหนด
|
ปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ |
- การขาดสารลดแรงตึงผิว ที่จะเคลือบอยู่ในถุงลมของปอด ช่วยให้ปอดขยายตัวได้ดี ทำให้ถุงลมแฟบ ทารกหายใจหอบและอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
- การหยุดหายใจ เพราะศูนย์ควบคุมการหายใจยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ทารกจะมีการหยุดหายใจเป็นระยะๆ
- ความไม่สมบูรณ์ของปอด ทำให้ทารกต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเป็นเวลานาน รวมทั้งมีการอักเสบ ติดเชื้อได้ง่าย ทำให้มีโอกาสเป็นโรคปอดเรื้อรังตามมา
|
โรคหัวใจ |
- ปัญหาเกี่ยวกับเส้นเลือดหัวใจ (PDA) ในทารกปกติ เส้นเลือดที่เชื่อมต่อระหว่างเส้นเลือดแดงใหญ่ที่ออกจากหัวใจไปเลี้ยงร่างกาย กับเส้นเลือดที่ไปสู่ปอด จะหดตัวและตีบตันไป แต่ในทารกคลอดก่อนกำหนด เส้นเลือดนี้จะไม่หดตัว จึงมีเลือดจากหัวใจไปสู่ปอดมาก จนหายใจหอบและมีภาวะหัวใจล้มเหลว
|
ระบบทางเดินอาหาร |
- ลำไส้อักเสบ / ลำไส้เน่า เพราะการย่อยและการดูดซึมของลำไส้ยังไม่สมบูรณ์ดี ทารกต้องได้รับนมทีละน้อย บางคนจำเป็นต้องใส่สายเข้าสู่เส้นเลือดดำใหญ่เพื่อให้อาหาร เกิดการติดเชื้อในลำไส้อย่างรุนแรงจนทำให้ลำไส้เน่า
|
กรดไหลย้อน (GERD) |
- หูรูดของรอยต่อระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะของทารกเกิดก่อนกำหนดยังทำงานไม่สมบูรณ์ จึงมีโอกาสเกิดภาวะนมและกรดจากกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมา อาจมีอาการหยุดหายใจ เขียวคล้ำเป็นระยะๆ
|
ปัญหาเกี่ยวกับไต
|
- ทารกที่มีปัญหาโรคปอดเรื้อรัง อาจได้รับยาขับปัสสาวะเป็นเวลานาน มีผลให้เกิดการสะสมของแคลเซียม และเป็นนิ่วในไตได้
|
ด้านสมอง |
- ทารกมีความเสี่ยงที่จะมีเลือดออกในสมองได้ เพราะเส้นเลือดเปราะแตกง่าย ยิ่งอายุครรภ์และน้ำหนักแรกเกิดน้อยยิ่งมีความเสี่ยงสูง
|
ทั้งนี้ นอกจากปัญหาและโรคต่างๆ ข้างต้น เด็กที่คลอดก่อนกำหนดยังอาจพบเจอกับภาวะติดเชื้อง่ายและรุนแรง เพราะระบบภูมิคุ้มกันไม่สมบูรณ์ อาจมีภาวะตัวเหลือง ซีด มีปัญหาทางสายตาและการมองเห็น การได้ยิน และปัญหาด้านการเจริญเติบโต และพัฒนาการ
เนื่องจาก ทารกเกิดก่อนกำหนด จะมีน้ำหนักน้อยตั้งแต่แรกเกิด ทั้งยังมีภาวะเจ็บป่วยหลายอย่าง ทำให้การเจริญเติบโตและพัฒนาการอาจช้ากว่าเด็กปกติ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงต้องติดตามการเจริญเติบโต การมองเห็น การได้ยิน และพัฒนาการในทุกๆ ด้านของลูกน้อยในระยะยาวด้วย

ลูกคลอดก่อนกำหนด ต้องปรับอายุมั้ย?
เด็กที่คลอดก่อนกำหนด (Preterm) และเด็กที่คลอดตามกำหนด (Full Term) จะมีความแตกต่างกันในเรื่องพัฒนาการ โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีแรก เนื่องจากการคลอดก่อนกำหนด ทารกต้องปรับตัวกับสภาพแวดล้อมภายนอกครรภ์เร็วกว่ากำหนด ทำให้พัฒนาการบางอย่างอาจล่าช้ากว่าเด็กที่คลอดตามปกติได้ ดังนั้น การปรับอายุจึงเป็นสิ่งสำคัญและมีประโยชน์ในการประเมินพัฒนาการของทารกที่คลอดก่อนกำหนด ดังนี้ค่ะ
- ประเมินพัฒนาการอย่างแม่นยำ การใช้ “อายุจริง” อาจทำให้เข้าใจผิดว่าทารกมีพัฒนาการช้ากว่าปกติ “อายุปรับ” จึงช่วยให้ประเมินพัฒนาการได้อย่างเหมาะสม
- วางแผนการดูแลและกระตุ้นพัฒนาการ การรู้อายุที่ปรับแก้ จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สามารถวางแผนกิจกรรมที่เหมาะสมกับพัฒนาการของลูกน้อยที่คลอดก่อนกำหนดได้
- ลดความกังวล การใช้อายุปรับสามารถบรรเทาความกังวลของคุณพ่อคุณแม่เมื่อต้องเปรียบเทียบพัฒนาการของลูกกับเด็กคนอื่นๆ ได้

อายุจริงเด็กคลอดก่อนกำหนด นับยังไง?
ก่อนจะไปดูว่า อายุจริงเด็กคลอดก่อนกำหนด นับยังไง? มาทำความเข้าใจนิยามของ “อายุจริง” และ “อายุปรับ” กันก่อนดังนี้ค่ะ
- อายุจริง (Chronological Age) คือ อายุที่นับจากวันที่ทารกเกิด
- อายุปรับ (Corrected Age) คือ อายุที่คำนวณจากการนำอายุจริงมาปรับ โดยคำนึงถึง “จำนวนสัปดาห์” ที่ทารกคลอดก่อนกำหนด
ซึ่งวิธีการคำนวณอายุปรับ มีดังต่อไปนี้
- คำนวณจำนวนสัปดาห์ที่คลอดก่อนกำหนด โดยการนำจำนวน 40 สัปดาห์ (อายุครรภ์ตามกำหนด) ลบด้วยอายุครรภ์ของทารกขณะคลอด
- คำนวณอายุที่ปรับแก้ ด้วยการนำอายุจริงของทารก (เป็นสัปดาห์หรือเดือน) ลบด้วยจำนวนสัปดาห์ที่คลอดก่อนกำหนด
ตัวอย่างการคำนวณอายุปรับ
- ลูกน้อยที่เกิดเมื่ออายุครรภ์ 32 สัปดาห์ แสดงว่า คลอดก่อนกำหนด 8 สัปดาห์
- เมื่อ อายุจริงเด็กคลอดก่อนกำหนด คือ 4 เดือน (16 สัปดาห์) อายุปรับคือ 2 เดือน (16 – 8 = 8)
ทั้งนี้ โดยทั่วไปจะปรับอายุเด็กคลอดก่อนกำหนดจนถึงอายุ 2 ขวบ และตามธรรมชาติแล้วเด็กแต่ละคนมีพัฒนาการแตกต่างกัน การใช้อายุที่ปรับแก้เป็นเพียงแนวทางในการส่งเสริมพัฒนาการลูกน้อยอย่างเหมาะสมเท่านั้น

เตรียมพร้อมยังไงไม่ให้พลาด! อายุจริงเด็กคลอดก่อนกำหนด
ถ้ากรณีลูกน้อยของคุณแม่เป็นเด็กที่คลอดก่อนกำหนด วันสำคัญ 2 วัน ที่ต้องจดลงปฏิทินกันลืมก็คือ
- วันที่ลูกเกิดจริงๆ
- วันที่คุณหมอคาดการณ์ไว้ว่าจะครบกำหนดคลอด
ซึ่งหากต้องการเช็กพัฒนาการของลูกน้อย เช่น พัฒนาการอะไรที่ “ปกติ” สมวัยกับ “อายุ” ของลูก คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ลืมคิดถึง 2 วันข้างต้นด้วย เนื่องจากการเปรียบเทียบวันดังกล่าวจะช่วยให้สามารถปรับอายุตามจริงของลูกเพื่อให้เหมาะสมและคำนวณอายุปรับ อายุจริงเด็กคลอดก่อนกำหนด ได้
ทั้งนี้ จากตัวอย่างการคำนวณอายุปรับ แม้ว่าลูกน้อยจะมีอายุ 4 เดือนแล้ว แต่คุณแม่ควรคาดหวังพัฒนาการลูกเหมือนเด็กที่คลอดตามกำหนดที่มีอายุ 2 เดือนได้ค่ะ การคาดหวังว่าลูกจะพลิกตัวจากคว่ำเป็นหงายได้ ซึ่งเป็นพัฒนาการของเด็กปกติในวัย 4 เดือน อาจจะเร็วเกินไปค่ะ

วิธีดูแลลูกคลอดก่อนกำหนดให้แข็งแรง มีพัฒนาการที่ดี
มีการศึกษาพบว่า ทารกคลอดก่อนกำหนดร้อยละ 15-25 เมื่อเติบโตสู่วัยเรียนจะมีปัญหาการเรียนรู้ จากภาวะสมาธิสั้น ได้แก่ขาดการควบคุมการเคลื่อนไหว ทำให้มีลักษณะอาการซุกซน วอกแวกง่าย ไม่อยู่นิ่ง เวลาที่พูดด้วยจะไม่ตั้งใจฟังและเก็บรายละเอียดไม่ค่อยได้ ขาดความรับผิดชอบ นอกจากนี้ยังอาจมีกลุ่มอาการออทิสติก คือ มีปัญหาทางระบบประสาททำงานซับซ้อน เช่น การปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในสังคม ทักษะการสื่อสารด้อยกว่าเด็กที่คลอดปกติ มีพฤติกรรมทำอะไรซ้ำๆ รวมทั้งมีภาวะทางอารมณ์ (mood disorders) เปลี่ยนแปลงไปมาง่ายด้วย ซึ่งวิธีดูแลลูกคลอดก่อนกำหนดให้แข็งแรงตั้งแต่หลังคลอด เพื่อให้ลูกมีพัฒนาการที่ดี คือ
- ควรจัดสถานที่สภาพแวดล้อมสะอาดโปร่งไม่อับ มีอากาศถ่ายเทสะดวก พ้นจากเสียงรบกวนต่างๆ
- ให้นมลูกบ่อยๆ เนื่องจากทารกคลอดก่อนกำหนดมักมีอาการอยากนอนอยู่ตลอดเวลาคุณแม่จึงควรปลุกให้ลูกดูดนมอยู่เรื่อยๆ เพื่อให้ลูกได้รับสารอาหารจากนมแม่อย่างเต็มที่
- ระบบการย่อยและการดูดซึมของทารกยังไม่สมบูรณ์ เมื่อกินนมแม่เสร็จควรดูแลลูกน้อยไม่ให้สำรอกนมหรือแหวะนมโดยการจัดท่าให้ลูกน้อยเรอออกได้ง่ายๆช่วยลดอาการท้องอืดได้ด้วย
- ดูแลให้ลูกอบอุ่นอยู่เสมอเพราะลูกจะมีภาวะตัวเย็นง่ายมีผลทำให้ไม่สบายบ่อย หากลูกน้อยมีอาการตัวร้อน มีน้ำมูก หรือเสมหะ ต้องรีบพาไปโรงพยาบาลนะคะ
- กระตุ้นพัฒนาการของลูกโดยการเปิดเพลงบรรเลงเบาๆ หรือแขวนโมบายล์ที่มีเสียงไว้ให้ลูกมองหรืออยากเอื้อมคว้า
- ไม่ควรพาลูกไปในที่ที่มีผู้คนแออัดอากาศถ่ายเทสะดวก และก่อนสัมผัสหรืออุ้มลูก คุณแม่ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง รวมทั้งรักษาความสะอาดสิ่งของต่างๆ ด้วย เพราะเชื้อโรคต่างๆ อาจแฝงมากับของเยี่ยมที่ญาตินำมาเยี่ยม ไม่ควรนำมาไว้ในห้องเดียวกับที่ลูกอยู่
- หากลูกมีอาการถ่ายเหลวถ่ายเป็นมูกหรือมีความผิดปกติทางด้านผิวหนัง ลูกไม่ยอมดูดนม ควรพาไปโรงพยาบาลเพื่อให้กุมารแพทย์ตรวจวินิจฉัยอีกครั้ง และเมื่อครบกำหนดตรวจสุขภาพควรพาลูกไปพบแพทย์ให้ตรงเวลาและสม่ำเสมอ
- คุณพ่อคุณแม่ควรบอกกล่าวกับญาติหรือคนที่จะมาเยี่ยมลูกหรืออยากอุ้มลูก ว่าลูกของคุณแม่ไม่เหมือนกับเด็กที่คลอดตามกำหนด อาจได้รับเชื้อจากผู้ที่มาเยี่ยมได้ง่ายเพราะยังไม่มีภูมิต้านทานที่ดีค่ะ
ที่มา : www.healthychildren.org , www.phyathai.com
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
นมสำหรับเด็กเป็น G6PD เลือกยังไง ปลอดภัยกับลูกที่มีภาวะพร่องเอนไซม์
ลูกนอนผวา ร้องไห้ เรื่องที่คุณแม่ต้องเข้าใจ และรับมืออย่างเหมาะสม
ฝึกลูกกล่อมตัวเอง หลับง่ายใน 5 ขั้นตอน วิธีฝึกลูกนอนยาวอย่างได้ผล
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!