สารสไตรีน ที่มาจากการระเบิดของโรงงานกิ่งแก้ว คืออะไร อันตรายต่อเด็กอย่างไรบ้าง ผู้ใหญ่ควรดูแลเด็ก ๆ อย่างไรให้ปลอดภัยจากสารเคมีชนิดนี้ เดี๋ยววันนี้ theAsianparent Thailand จะมาเล่าให้ฟัง
สารสไตรีน ที่มาจากควันไหม้ของโรงงาน
จากเหตุระเบิดของโรงงานกิ่งแก้ว ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ทำให้มีสารเคมีที่ชื่อว่าสไตรีนลอยขึ้นสู่อากาศ และกระจายไปทั่วบริเวณเกิดเหตุ รวมถึงบริเวณใกล้เคียง โดยเมื่อวานหลังจากเกิดเหตุได้สักพัก ก็มีผู้คนพบเห็นควันไหม้จากโรงงาน ลอยคละคลุ้งอยู่เหนือท้องฟ้าในบางพื้นที่ของจังหวัดกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ในการดับไฟ จำเป็นจะต้องใช้โฟมหรือน้ำยาคาร์บอนในการดับ เจ้าหน้าที่ดับเพลิงและหน่วยงานอาสา ได้ใช้เวลามากกว่า 1 วันในการดับไฟ ซึ่งการระเบิดของโรงงานในครั้งนี้ ทำให้บ้านเรือนมากกว่า 70 หลัง ได้รับผลกระทบ รวมทั้งมีผู้บาดเจ็บมากกว่า 10 คน
นักวิชาการและหลาย ๆ หน่วยงาน ได้ออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับสารสไตรีน ที่ลอยอยู่ในควันไหม้ ว่าเป็นสารเคมีที่อันตราย แม้ว่าจะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนในทันที แต่หากได้รับสารเคมีดังกล่าวเป็นเวลานานติดต่อกัน อาจทำให้ระบบทางเดินหายใจมีปัญหา และก่อให้เกิดโรคตามมาได้ ซึ่งเด็กเล็กเอง ถือเป็นวัยที่ยังมีภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรงเท่ากับผู้ใหญ่ หากสูดดมสารเคมีเพียงน้อยนิด ก็อาจป่วยได้ เราจะมาดูกันว่า สารสไตรีน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กอย่างไร คุณพ่อคุณแม่จะ สามารถป้องกันน้อง ๆ จากสารพิษชนิดนี้ได้อย่างไรบ้าง
บทความที่เกี่ยวข้อง : ลามทั่ว!! โรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้ ใกล้ถังน้ำมัน เจ้าหน้าที่เตรียมถอย
(ภาพจากเพจ Safety in Thai)
สารสไตรีนโมโนเมอร์ คืออะไร
สารสไตรีนโมโนเมอร์ หรือ สารสไตรีน ถือเป็นสารตั้งต้น ที่ทำให้โรงงานกิ่งแก้วระเบิดขึ้นในครั้งนี้ ซึ่งสารเคมีชนิดนี้ มีสถานะเป็นของเหลว ใส และมีเนื้อข้นเหนียว หากสารสไตรีนมีอุณหภูมิสูงเกินกว่า 31 องศาเซลเซียส จะทำให้ติดไฟ ระเหยได้ง่าย และเมื่อโดนเผาก็จะกลายเป็นก๊าซที่อันตรายต่อทางเดินหายใจ
สารสไตรีนพบได้จากไหนบ้าง
ความจริงแล้วสารสไตรีน เป็นสารเคมีที่พบได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน หากว่าชอบทานอาหารใส่กล่องโฟมกันอยู่แล้ว ก็เป็นไปได้ว่าร่างกายของเรานั้น ได้รับสารเหล่านี้เข้าไปบ้างแล้ว ปัจจุบัน ร้านอาหารหลาย ๆ ร้าน นำกล่องโฟมมาใส่อาหารร้อนบางชนิด ซึ่งโดยปกติกล่องโฟมจะทำจากพอลิสไตรีน แต่เมื่อใดก็ตามที่พอลิสไตรีนในกล่องโฟม โดนความร้อนจากอาหาร จะกลายเป็น สารสไตรีน ซึ่งเป็นสารชนิดเดียวกันกับที่พบในโรงงานกิ่งแก้ว นอกจากนี้ เรายังสามารถพบสารสไตรีนได้จากผลิตภัณฑ์บางชนิดที่เป็นพลาสติก เรซิ่น กระเป๋า ชิ้นส่วนจากรถยนต์ หรือบรรจุภัณฑ์บางชนิด
สารสไตรีน อันตรายต่อเด็กอย่างไรบ้าง
สารสไตรีนที่เกิดจากการระเบิดของโรงงานกิ่งแก้ว และลอยขึ้นสู่อากาศ ถือเป็นสารอันตราย เมื่อไหร่ก็ตามที่เด็ก ๆ สูดดมเข้าไปในร่างกายเป็นเวลานาน เด็กอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ รู้สึกปวดหัว มึนหัว คลื่นไส้ และอ่อนล้า รวมทั้งหากสไตรีนปนเปื้อนอยู่ในน้ำและดิน สิ่งแวดล้อมโดยรอบก็อาจได้รับผลกระทบ หรือถูกทำลายเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ หากเด็ก ๆ ได้รับสารสไตรีนเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมาก และเป็นเวลานาน เด็ก ๆ อาจสูญเสียการมองเห็น มองภาพไม่ชัด สูญเสียการได้ยิน ตอบสนองต่อสิ่งรอบตัวได้ไม่ดีเท่าที่ควร ระบบประสาททำงานได้ไม่ดี ตับและไตทำงานบกพร่อง เคืองตา มีอาการระคายเคืองที่ผิวหนัง ผิวแห้งลอก และอาจมีอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : อย่าผสมผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดต่อไปนี้เข้าด้วยกัน อันตราย !
(ภาพจากเพจ Safety in Thai)
จะดูแลป้องกันเด็กอย่างไรดี
หากตอนน้ี คุณพ่อคุณแม่และน้อง ๆ อาศัยอยู่ในระยะ 10 กิโลเมตรจากที่เกิดเหตุ แนะนำว่าให้อพยพออกมาจากที่อยู่เสียก่อน แม้ว่าไฟจะดับลงแล้ว แต่สารเคมีก็ยังลอยคละคลุ้งอยู่ในอากาศ หากสูดดมเข้าไป อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งในระหว่างนี้ คุณพ่อคุณแม่ ควรดูแลน้อง ๆ และปฏิบัติตัวตามข้อแนะนำต่อไปนี้
- ให้เด็ก ๆ ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กสูดดมสารพิษจากควันเข้าไป
- หากรู้สึกว่าเด็กระคายเคืองผิวหนัง หรือสัมผัสโดนสารเคมี ให้ล้างบริเวณที่คาดว่าปนเปื้อนสารเคมีด้วยน้ำสะอาด และเปลี่ยนเสื้อผ้าให้เด็ก
- หากเด็กมีอาการระคายเคืองที่ตา ให้เด็กล้างตาด้วยน้ำ โดยให้น้ำไหลผ่านตาเป็นเวลา 15 นาทีอย่างต่ำ และพาเด็กเข้าพบแพทย์
- หากเด็กเริ่มหายใจไม่ออก ให้พาเด็กไปอยู่ในที่ที่อากาศบริสุทธิ์ก่อน จากนั้นให้พาเด็กไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย
- ไม่ให้เด็กออกไปข้างนอกหรือกลางแจ้ง แม้ว่าเหตุจะสงบลงแล้วก็ตาม เพราะสารเคมียังลอยอยู่ในอากาศ
- หากเด็กมีอาการแสบผิวหนัง ระคายเคือง หรือมีอาการ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน มึนหัว เป็นต้น ให้พาเด็กไปพบแพทย์
- หากเด็กมีแผลไฟไหม้ แต่แผลไม่ได้รุนแรง ให้ปฐมพยาบาลเบื้องต้น และดูแลแผลเด็กทุกวัน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- ให้เด็กดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อขับสารพิษออกมาทางปัสสาวะ
เมื่อทำการปฐมพยาบาลเบี้องต้นให้น้อง ๆ เสร็จแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรพาน้อง ๆ ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เพื่อรับการตรวจร่างกายจะดีที่สุดนะคะ
วิธีปฏิบัติตัวเบื้องต้น เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้
หากเกิดเหตุเพลิงไหม้ในบริเวณที่อยู่อาศัย แนะนำให้ปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
- แจ้งเหตุไฟไหม้โดยการใช้สัญญาณเตือน
- รีบแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร็วที่สุด
- หากเหตุไฟไหม้ไม่ได้มีความรุนแรงนัก สามารถใช้ถังดับเพลิงดับไฟเองได้
- หากไม่สามารถดับไฟได้เอง ให้อพยพไปยังทางบันไดหนีไฟ และควรงดการใช้ลิฟต์
- ไม่นำสิ่งของชิ้นใหญ่ไปด้วยขณะหนีไฟ
- เคลื่อนตัวไปยังจุดรวมพลที่อยู่ใกล้ที่สุด และไม่ควรผลักกันตอนหนีไฟ
- หากมีผู้บาดเจ็บ ไม่ควรเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บด้วยตนเอง ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
- แม้เหตุการณ์ไฟไหม้จะสงบลงแล้ว ก็ไม่ควรกลับเข้าไปในพื้นที่เกิดเหตุทันที เพราะอาจมีสารเคมีที่เกิดจากการเผาไหม้หลงเหลืออยู่
- คอยติดตามข่าวสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และปฏิบัติตามคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด
ที่มา : khaosod. , bangkokbiznews , มหาวิทยาลัยมหิดลคณะเภสัชศาสตร์ , facebookสถาบันฝึกอบรมด้านความปลอดภัย – เซฟตี้อินไทย By Toppro
บทความที่เกี่ยวข้อง :
น้ำร้อนลวก ไฟไหม้อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้ง่ายสำหรับเด็กๆ ภายในบ้าน คุณแม่ควรระวัง
ไฟไหม้!!! รู้วิธีเอาตัวรอด ก่อนจะถูกไฟคลอกทั้งแม่ทั้งลูก
วินาทีระทึก แม่ยอมสละชีวิต เพื่อให้ลูกรอดจากไฟไหม้
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!