คุณพ่อคุณแม่เคยไหมที่ได้ยินข่าวอุบัติเหตุรถยนต์แล้วใจหายวาบบ้างไหมคะ ? โดยเฉพาะเมื่อมีเด็กเล็กอยู่ในรถ! ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกิดขึ้นเพียงเสี้ยววินาทีนั้นเอง “คาร์ซีท” ไม่ได้เป็นเพียงอุปกรณ์เสริมที่ดูเท่หรือเก๋เท่านั้น แต่คือ “เกราะกำบังชีวิต” ที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บรุนแรง หรือแม้กระทั่งการเสียชีวิตของลูกน้อยได้อย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้เองที่เกิดเหตุการณ์ ลูกรอดเพราะคาร์ซีท โดย คาร์ซีทเซฟชีวิต ทารกน้อยวัย 9 เดือน เอาไว้ได้จากอุบัติเหตุรุนแรง ยิ่งตอกย้ำว่าการ หากรักและเป็นห่วงลูกน้อยในทุกการเดินทาง การติดตั้งคาร์ซีทไว้ปลอดภัยกว่าค่ะ

คาร์ซีทคืออะไร ทำไม? ลูกรอดเพราะคาร์ซีท
คาร์ซีท (Car Seat) หรือ ที่นั่งนิรภัย เป็นอุปกรณ์เสริมของที่นั่งหรือเบาะสำหรับเด็กในรถยนต์ ทำหน้าที่ยึดเหนี่ยวร่างกายของเด็กเพื่อป้องกันการเกิดความรุนแรงหรืออันตรายเมื่อเกิดอุบัติเหตุค่ะ ซึ่ง คาร์ซีทเซฟชีวิต สามารถลดโอกาสเสียชีวิตของเด็กจากการเดินทางด้วยรถยนต์อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ปกติแล้ว ระบบยึดเหนี่ยวในรถยนต์ที่เรารู้จักกันดี คือ เข็มขัดนิรภัย โดยผู้ที่ส่วนสูงเกิน 135 เซนติเมตร หรืออายุประมาณ 9 ปีขึ้นไป จะสามารถใช้เข็มขัดนิรภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่หากอายุต่ำกว่า 9 ปี หรือส่วนสูงต่ำกว่า 135 เซนติเมตร การคาดเข็มขัดนิรภัยแบบปกติจะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าเนื่องจากการคาดเข็มขัดที่ไม่พอดีกับร่างกายนั่นเอง
รักลูกต้องให้นั่งคาร์ซีท เกราะป้องกันอันดับหนึ่งบนท้องถนน
อย่างที่บอกค่ะว่า เด็กที่มีอายุเต่ากว่า 9 ปี หรือส่วนสูงต่ำกว่า 135 เซนติเมตร ไม่สามารถปลอดภัยจากอุบัติเหตุในการเดินทางได้ด้วยเข็มขัดนิรภัยปกติ โดยเฉพาะ “เด็กทารก” ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงสุดเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เพราะวัยทารกจะมีลักษณะส่วนหัวใหญ่ ลำตัวสั้น เหมือนลูกแบดมินตันที่เวลาเราโยนขึ้นไป ด้านหัวจะตกลงเสมอ เพราะมีน้ำหนักมากกว่า ดังนั้น เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ทารกจะเคลื่อนที่ไปด้วยความเร็วที่รถยนต์ใช้ขณะนั้น และไม่ว่าจะลอยไปทิศทางใด ส่วนหัวจะเป็นส่วนนําแล้วพุ่งไปกระแทกเข้ากับกระจกหรือโครงสร้างส่วนต่างๆ ของรถ ประกอบกับกระดูกกับคอที่สั้นและกล้ามเนื้อต้นคอที่อ่อนแอ ทำให้เกิดภาวะกระดูกต้นคอในระดับต้นๆ หัก และกดทับไขสันหลังทำให้หยุดหายใจได้ค่ะ
ดังนั้น การติดตั้ง คาร์ซีท ที่ได้มาตรฐาน และติดตั้งอย่างถูกต้อง จะทำหน้าที่เหมือนห้องโดยสารนิรภัยขนาดเล็ก เป็น คาร์ซีทเซฟชีวิต ที่ออกแบบมาเพื่อรองรับสรีระของเด็กในแต่ละช่วงวัย ช่วยลดแรงกระแทก กระจายแรงกด และป้องกันการเคลื่อนที่ของร่างกายที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อศีรษะ คอ และกระดูกสันหลังของลูกน้อย ช่วยลดอัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตของเด็กจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ซึ่งการละเลยการติดตั้งและใช้งานคาร์ซีทอย่างถูกต้อง จึงเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับชีวิตน้อยๆ ของลูกโดยไม่จำเป็นค่ะ

ลูกรอดเพราะคาร์ซีท คาร์ซีทเซฟชีวิต ทารกวัย 9 เดือน
ความสำคัญและประสิทธิภาพการเป็น คาร์ซีทเซฟชีวิต นั้น เพิ่งปรากฏเป็นข่าวเมื่อไม่นานมานี้ค่ะ โดยเป็นกรณีอุบัติเหตุรถกระบะชนท้ายรถสิบล้อ บริเวณริมถนนเพชรเกษม เลนคู่ขนาน (ขาเข้า กทม.) กม.ที่ 146 ม.3 ต.หนองปรง อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี ซึ่งในเหตุการณ์มีผู้เสียชีวิตทันที 3 ราย คือ คุณพ่อ คุณแม่ และคุณยาย ของ “ทารกวัย 9 เดือน” ที่ “รอดชีวิตเพราะนั่งคาร์ซีท” แต่ได้รับบาดเจ็บเพียงกระดูกขาหักเล็กน้อย ซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่าไม่ต้องผ่าตัด แค่ใส่เฝือก 3-4 สัปดาห์ก็จะหายเป็นปกติได้
ทั้งนี้ ข้อมูลจากศูนย์วิจัยเพื่อความปลอดภัยในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุว่า ในช่วงปี 2546 – 2556 เด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี มียอดเสียชีวิตสะสมจากการโดยสารรถยนต์ถึง 14,669 คน เนื่องจากเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เด็กจะมีลักษณะการเคลื่อนตัวคล้ายลูกแบดมินตัน คือ พุ่งแรง ทะลุออกนอกรถได้ง่าย ขณะที่ระบบยึดเหนี่ยวในรถ (เข็มขัดนิรภัย) ถูกออกแบบมาสำหรับผู้ใหญ่ และอาจไม่เหมาะกับเด็ก
ดังนั้น คาร์ซีท จึงเป็นอุปกรณ์เสริมที่จำเป็นในการเดินทางด้วยรถยนต์ ที่ช่วยให้ ลูกรอดเพราะคาร์ซีท สามารถลดการตายในเด็กปฐมวัยได้กว่า 75 เปอร์เซ็นต์ และสามารถลดการตายในเด็กวัยเรียนกว่า 40 เปอร์เซ็นต์
กฎหมายเกี่ยวกับ คาร์ซีท ในประเทศไทย
ในหลายประเทศที่มีกฎหมายคุ้มครองสิทธิเด็ก คาร์ซีท นับเป็นอุปกรณ์ภาคบังคับที่รถยนต์ส่วนบุคคลทุกคันต้องติดตั้ง ส่วนในประเทศไทย กฎหมายเรื่องการกำหนดที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอันตราย และวิธีการป้องกันอันตราย ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ พ.ศ. 2566 ได้มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2566 ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
- กำหนดให้เด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องมีคาร์ซีท (Car Seat) ระหว่างการโดยสารรถยนต์
- หากไม่มีคาร์ซีท จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ 3 ข้อ ได้แก่
- ขับรถด้วยความเร็วช้า โดยคำนึงถึงความปลอดภัย และต้องขับชิดซ้าย
- ให้เด็กนั่งในที่นั่งโดยสารตอนหลัง (เบาะหลัง) ส่วนในกรณีรถกระบะ หรือกึ่งกระบะ ให้นั่งโดยสารตอนหน้าได้ แต่ห้ามนั่งท้ายกระบะ
- จัดให้มีผู้ดูแลเด็กในขณะโดยสาร หรือให้เด็กรัดเฉพาะเข็มขัดรัดหน้าตัก (อย่างใดอย่างหนึ่ง)
- หากละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อความปลอดภัยและข้อกำหนดข้างต้น จะมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

ทั้งนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ได้เสนอวิธีดูฉลากมาตรฐานยูเอ็น ซึ่งเป็นมาตรฐานที่สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) ใช้เป็นเกณฑ์ คือ UN ECC R44 เพื่อให้เกิดมาตรฐานความปลอดภัยที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ดังนั้น ก่อนคุณพ่อคุณแม่จะตัดสินใจเลือกซื้อคาร์ซีท จะต้องสังเกตป้ายหรือฉลากที่ระบุว่า “ที่นั่งนิรภัยนั้นได้รับมาตรฐาน UN ECC R44”
อย่างไรก็ตาม รูปแบบของฉลากบนคาร์ซีทอาจมีความแตกต่างกันตามแบรนด์และรุ่นสินค้า แต่การระบุข้อความสำคัญที่จำเป็นว่าเป็นไปตามมาตรฐานยูเอ็น (UN Standard) ควรมีการระบุรายละเอียด ดังนี้
- สัญลักษณ์ที่นั่งนิรภัยตามมาตรฐานยูเอ็น(UN Standard ECE R44-04) ระบุในฉลากว่า “ECC R44-04”
- ประเภทของที่นั่งนิรภัยเพื่อระบุขอบเขต เช่น ใช้งานทั่วไป ระบุว่า “UNIVERSAL”
- น้ำหนักของตัวเด็กที่เหมาะสมเช่น 0-13 kg
- หมายเลขระบุประเทศที่อนุญาตให้ใช้
- E1 = เยอรมนี
- E2 = ฝรั่งเศส
- E3 = อิตาลี
- E4 = เนเธอร์แลนด์
- หมายเลขทดสอบผลิตภัณฑ์โดยที่รหัส 2 ตัวแรกหมายถึงผ่านเกณฑ์มาตรฐานยูเอ็น ECE R44-04 เช่น 04443517

ลูกรอดเพราะคาร์ซีท 9 วิธี ฝึกลูกน้อยนั่งคาร์ซีทอย่างมีความสุข
การให้ลูกน้อยนั่งคาร์ซีทเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งเพื่อความปลอดภัยของลูกรักระหว่างการเดินทางด้วยรถยนต์ และการฝึกให้ลูกน้อยคุ้นเคยกับการนั่งคาร์ซีทตั้งแต่เนิ่นๆ ก็จะช่วยให้ทั้งคุณพ่อคุณแม่และลูกน้อยมีความสุขกับการเดินทางมากยิ่งขึ้นค่ะ มาดูกันว่ามีวิธีฝึกยังไงบ้าง
-
เริ่มต้นเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
เริ่มให้ลูกน้อยได้สัมผัสและทำความคุ้นเคยกับคาร์ซีทตั้งแต่ยังเล็ก อาจจะวางไว้ในบ้านให้เขาได้เห็น ได้เล่น หรือลองนั่งโดยที่ยังไม่ได้เดินทาง และควรให้ลูกน้อยได้นั่งคาร์ซีทสำหรับเด็กแรกเกิด (Infant Car Seat) ทุกครั้งที่เดินทางด้วยรถยนต์ การสร้างความคุ้นเคยตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยลดการต่อต้านในอนาคตค่ะ
-
สร้างบรรยากาศเชิงบวก
ทำให้คาร์ซีทเป็นเหมือนพื้นที่พิเศษและปลอดภัยของลูกน้อย อาจจะวางของเล่นนุ่มๆ หรือตุ๊กตาตัวโปรดไว้ในคาร์ซีท ทำให้การเดินทางน่าสนุก โดยชวนลูกน้อยพูดคุย ร้อง/เปิดเพลงที่ลูกชอบ หรือเล่นเกมระหว่างเดินทาง เพื่อให้ลูกรู้สึกเพลิดเพลินและลืมความรู้สึกไม่สบายตัวจากการนั่งคาร์ซีท
-
ตรวจสอบความถูกต้องของการติดตั้ง
สิ่งสำคัญอย่างยิ่งคือการติดตั้งคาร์ซีทให้ถูกต้องตามคู่มือการใช้งาน หากไม่แน่ใจ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือร้านค้าที่จำหน่ายคาร์ซีท นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องเลือกคาร์ซีทที่เหมาะสมกับวัยและน้ำหนักของลูกน้อยด้วย
-
เริ่มจากระยะเวลาสั้นๆ
ในช่วงแรก อาจจะลองให้ลูกน้อยนั่งคาร์ซีทขณะรถจอดอยู่เฉยๆ หรือเดินทางในระยะทางใกล้ๆ เพื่อให้ลูกได้ทำความคุ้นเคยกับความรู้สึกในการถูกรัดด้วยเข็มขัดนิรภัย จากนั้นจึงค่อยๆ เพิ่มระยะเวลาการเดินทางขึ้นทีละนิด
-
มีวิธีเบี่ยงเบนความสนใจ
หากลูกน้อยเริ่มร้องไห้งอแงในขณะนั่งคาร์ซีท ซึ่งไม่ใช่จากการอึ ฉี่ หรือความหิว คุณพ่อคุณแม่ยังไม่ต้องอุ้มลูกออกจากคาร์ซีททุกครั้งที่ร้องไห้นะคะ แต่ให้ใช้วิธีปลอบใจ นั่งข้างๆ จับมือลูก เพื่อให้ลูกค่อยๆ เรียนรู้ว่าร้องแล้วไม่มีคนอุ้มออกก็จะหยุดร้องไปเองค่ะ หรือหาสิ่งที่ลูกชอบทำ เพลง/นิทานที่ลูกชอบฟังมาเบี่ยงเบนความสนใจก็ได้ค่ะ

-
สร้างกฎให้ชัดเจนร่วมกันทั้งบ้าน
ทำให้เป็นเรื่องปกติ โดยทุกครั้งที่จะเดินทาง ก่อนล้อหมุนทุกคนจะต้องไปนั่งประจำที่เท่านั้น คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องคาดเข็มขัดนิรภัยเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็นด้วยค่ะ
-
ให้รางวัลและคำชมเชย
เมื่อลูกน้อยให้ความร่วมมือในการนั่งคาร์ซีท ควรมอบคำชมเชยหรือรางวัลเล็กๆ น้อยๆ เพื่อเป็นการเสริมแรงบวก
-
อดทนและสม่ำเสมอ
การฝึกฝนต้องใช้เวลาและความอดทน แม้ในช่วงแรกลูกอาจจะมีการต่อต้านบ้าง คุณพ่อคุณแม่ต้องใจเย็นและทำอย่างสม่ำเสมอค่ะ
-
กรณีต้องเดินทางยาวไกล
แนะนำว่าก่อนออกจากบ้านให้พาลูกเล่นให้เหนื่อย ใช้พลังเยอะๆ ค่ะ รับรองว่าพอขึ้นรถนั่งคาร์ซีท เปิดแอร์ให้เย็นสบาย นอนดื่มนม ลูกหลับปุ๋ยยาวๆ แน่นอน
การให้ความรักลูกไม่ได้หมายถึงเพียงการเลี้ยงดูเอาใจใส่ในด้านอื่นๆ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการมอบความปลอดภัยสูงสุดในทุกสถานการณ์ การเลือกใช้คาร์ซีทที่มีคุณภาพและการฝึกฝนให้ลูกน้อยนั่งคาร์ซีทอย่างถูกต้อง คือการแสดงความรักและความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่คุณพ่อคุณแม่สามารถมอบให้กับลูกรักได้ ลูกรอดเพราะคาร์ซีท สามารถเริ่มฝึกเริ่มนั่งตั้งแต่วันนี้ เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อยบนทุกเส้นทางนะคะ
ที่มา : คลินิกเฉพาะทางกระดูกและข้อหมอยิ่งยศ , www.tcc.or.th , workpointtoday.com , mahidol.ac.th
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ทารกแรกเกิดกินน้อย จะขาดสารอาหารไหม? ลูกควรกินมากเท่าไรถึงพอดี
ทารกร้องไห้บ่อยแค่ไหนถือว่าปกติ ไขรหัสเสียงร้องลูก ร้องแบบไหน ต้องการอะไร
9 ข้อควรทำ! การสร้างวินัยในตนเองให้ลูก เริ่มได้ตั้งแต่วัยเยาว์
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!