คาร์ซีทเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นและสำคัญมากต่อความปลอดภัยของลูกน้อย ไม่ว่าระยะทางจะใกล้หรือไกลแค่ไหนก็ตามควรให้ลูกนั่งคาร์ซีทเสมอ ซึ่งในปัจจุบันกฎหมายคาร์ซีทได้กำหนดให้เด็กแรกเกิด- 6 ปี และเด็กที่มีความสูงน้อยกว่า 135 ซม.ต้องนั่งคาร์ซีท บทความนี้เราจะชวนคุณพ่อคุณแม่มาศึกษา วิธีเลือกซื้อ คาร์ซีทสำหรับเด็กแต่ละวัย และการใช้คาร์ซีทที่ถูกต้องและปลอดภัยกันค่ะ
สถานการณ์การเสียชีวิตของเด็กไทยที่ไม่นั่งคาร์ซีท
สถานการณ์การเสียชีวิตของเด็กไทยจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ในช่วงที่ผ่านมาระหว่างปี 2560-2564 มีเด็กอายุ 0-6 ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์เฉลี่ยปีละ 44 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก
สาเหตุหลัก ส่วนใหญ่เกิดจากการที่เด็กไม่ได้นั่งคาร์ซีท ทำให้เกิดการกระเด็นออกนอกรถและได้รับบาดเจ็บรุนแรง
เด็กมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากเด็กมีร่างกายที่แตกต่างจากผู้ใหญ่ ทำให้เมื่อเกิดอุบัติเหตุ เด็กจะได้รับบาดเจ็บรุนแรงกว่า เช่น สมอง ก้านคอ และม้ามแตก แต่จากข้อมูลพบว่า เด็กไทยใช้คาร์ซีทเพียง 3.46% เท่านั้น ซึ่งเป็นอัตราการใช้คาร์ซีทต่ำมากเมื่อเทียบกับความสำคัญของอุปกรณ์นี้
ทำไมพ่อแม่จำนวนมากยังไม่ให้ลูกนั่งคาร์ซีท
- ความไม่พร้อมของพ่อแม่ เนื่องจากคาร์ซีทเป็นอุปกรณ์ที่ค่อนข้างมีราคาสูง ไม่ใช่ทุกครอบครัวจะสามารถจ่ายไหว
- บางครอบครัวใช้รถกระบะแคป สำหรับขนของ ซึ่งไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับการติดตั้งคาร์ซีท
- ผู้ปกครองส่วนหนึ่งยังคงเข้าใจผิด คิดว่าการอุ้มลูกนั่งตักในเบาะหน้า ลูกจะปลอดภัยในอ้อมกอดของพ่อแม่ แต่ความเป็นจริง การอุ้มเด็กนั่งตักในเบาะหน้าอันตรายมาก เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เด็กจะใกล้กับถุงลมนิรภัย และอาจได้รับบาดเจ็บจากการระเบิดของถุงลมนิรภัย
“คาร์ซีท” ปกป้องชีวิตลูกน้อยได้มากกว่าที่คิด
ตามรายงานจากศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกา การใช้คาร์ซีทสามารถลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตของเด็กปฐมวัยได้มากกว่า 75% เมื่อเทียบกับการใช้เข็มขัดนิรภัยเพียงอย่างเดียว และยังช่วยลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตของเด็กวัยเรียนได้กว่า 40% นอกจากนี้ ยังพบว่าคาร์ซีทช่วยลดโอกาสบาดเจ็บโดยรวมได้ถึง 71-82% และลดโอกาสบาดเจ็บรุนแรงได้มากถึง 45%
สถิติเหล่านี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า คาร์ซีทเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับความปลอดภัยของเด็กขณะเดินทางด้วยรถยนต์ โดยคาร์ซีทออกแบบมาเพื่อดูดซับแรงกระแทกและป้องกันไม่ให้เด็กกระเด็นออกจากเบาะนั่งในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ช่วยลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บที่ศีรษะ คอ และอวัยวะภายใน ซึ่งเป็นส่วนที่บอบบางที่สุดของร่างกายเด็ก
กฎหมายคาร์ซีทในประเทศไทย พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 กำหนดให้
- เด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องนั่งในที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก (คาร์ซีท) หรือที่นั่งพิเศษสำหรับเด็ก
- เด็กที่มีความสูงไม่เกิน 135 เซนติเมตร ต้องนั่งที่เบาะนั่งนิรภัยหรือคาร์ซีทเมื่อเดินทางเท่านั้น
ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท โดยมีข้อยกเว้น หากไม่มีคาร์ซีท จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ 3 ข้อ ได้แก่
- ขับรถด้วยความเร็วช้า โดยคำนึงถึงความปลอดภัย และต้องขับชิดซ้าย
- ให้เด็กนั่งในที่นั่งโดยสารตอนหลัง (เบาะหลัง) ส่วนในกรณีรถกระบะ หรือกึ่งกระบะ ให้นั่งโดยสารตอนหน้าได้ แต่ห้ามนั่งท้ายกระบะ
- จัดให้มีผู้ดูแลเด็กในขณะโดยสาร หรือให้เด็กรัดเฉพาะเข็มขัดรัดหน้าตัก (อย่างใดอย่างหนึ่ง)
วิธีเลือกซื้อคาร์ซีท ให้ปลอดภัยกับลูกน้อย
การซื้อคาร์ซีทเป็นเรื่องผู้ปกครองหลายคนคิดหนัก เนื่องจากราคาค่อนข้างสูง จะเลือกอย่างไรให้ดีที่สุด ในราคาที่เราจ่ายไหว และคาร์ซีทที่ดีที่สุด ไม่จำเป็นต้องแพงที่สุดเสมอไป มาดูกันค่ะว่า วิธีเลือกซื้อคาร์ซีทควรพิจารณาในเรื่องใดบ้าง
1. เลือกซื้อคาร์ซีทที่มีการรับรองมาตรฐาน
การดูที่ป้ายรับรองมาตรฐานเป็นสิ่งจำเป็นอันดับแรก เพราะเป็นการการันตีว่าคาร์ซีทนั้นผ่านการทดสอบตามมาตรฐานสากล และมีความปลอดภัยสูง
มาตรฐานสากลของคาร์ซีท 3 แบบที่ควรรู้
- FMVSS 213 เป็นมาตรฐานของสหรัฐอเมริกา มุ่งเน้นไปที่การทดสอบการปะทะด้านหน้าและด้านข้าง โดยจะวัดแรงกระแทกที่เกิดขึ้นกับเด็กขณะเกิดอุบัติเหตุ
- ECE R44/04 เป็นมาตรฐานของสหภาพยุโรป เป็นมาตรฐานที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั่วโลก เน้นการทดสอบการปะทะด้านหน้าและด้านข้างเช่นกัน แต่มีการพัฒนาและปรับปรุงมาตรฐานอยู่เรื่อยๆ
- ECE R129 (i-Size): เป็นมาตรฐานใหม่ล่าสุดของสหภาพยุโรป มีความเข้มงวดกว่ามาตรฐาน ECE R44/04 เน้นการติดตั้งคาร์ซีทด้วยระบบ ISOFIX เพื่อความมั่นคงและปลอดภัยมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการจำแนกกลุ่มอายุของเด็กและขนาดของคาร์ซีทให้ชัดเจนขึ้น ทำให้ผู้ปกครองเลือกคาร์ซีทที่เหมาะสมกับลูกน้อยได้ง่ายขึ้น
เลือกมาตรฐานไหนดี?
การเลือกมาตรฐานคาร์ซีทขึ้นอยู่กับความชอบและความต้องการของแต่ละบุคคล แต่โดยทั่วไปแล้ว ECE R129 (i-Size) ถือเป็นมาตรฐานที่ใหม่ที่สุดและมีความเข้มงวดสูงสุด ดังนั้นจึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด หากคุณพ่อคุณแม่ต้องการคาร์ซีทที่มีความปลอดภัยสูงสุด
ข้อดีของ ECE R129 (i-Size)
- ปลอดภัยกว่า มีการทดสอบที่เข้มงวดกว่า
- ติดตั้งง่าย ใช้ระบบ ISOFIX
- จำแนกกลุ่มอายุชัดเจน เลือกคาร์ซีทได้ง่ายขึ้น
- ครอบคลุมการป้องกัน ป้องกันการบาดเจ็บได้หลากหลายรูปแบบ
อย่างไรก็ตาม คาร์ซีทที่ได้มาตรฐาน ECE R44/04 ก็ยังคงมีความปลอดภัยสูง และเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการคาร์ซีทในราคาที่ย่อมเยากว่า
2. เลือกคาร์ซีทให้เหมาะกับช่วงอายุและส่วนสูงของเด็ก
คาร์ซีทแต่ละประเภทจะมีการออกแบบมาเพื่อรองรับความต้องการของเด็กในแต่ละช่วงวัย คาร์ซีทสำหรับเด็กแต่ละวัย มีดังนี้
-
คาร์ซีทแบบหันหน้าเข้าหาเบาะ (Rear-Facing Seat)
เหมาะสำหรับทารกแรกเกิดจนถึงอายุประมาณ 2 ขวบ หรือจนกว่าเด็กจะมีน้ำหนักและส่วนสูงตามที่ระบุไว้ในคู่มือของคาร์ซีท
เหตุผลที่ต้องหันหน้าเข้าหาเบาะ เนื่องจาก การหันหน้าเข้าหาเบาะจะช่วยรองรับศีรษะ คอ และหลังของเด็กได้ดีที่สุดในกรณีเกิดอุบัติเหตุ เพราะส่วนเหล่านี้ของเด็กเล็กยังบอบบางมาก
-
คาร์ซีทแบบหันไปข้างหน้ารถ (Forward-Facing Seat)
เหมาะสำหรับเด็กอายุประมาณ 2-5 ขวบ หรือจนกว่าเด็กจะมีน้ำหนักและส่วนสูงตามที่ระบุไว้ในคู่มือของคาร์ซีท
เมื่อเด็กโตขึ้น และคาร์ซีทแบบหันหน้าเข้าหาเบาะไม่สามารถรองรับได้อีกแล้ว ก็สามารถเปลี่ยนมาใช้คาร์ซีทแบบหันไปข้างหน้ารถได้
-
คาร์ซีทแบบที่นั่งเสริม (Booster Seat)
เหมาะสำหรับเด็กอายุประมาณ 5 ขวบขึ้นไป หรือจนกว่าเด็กจะโตพอที่สามารถคาดเข็มขัดนิรภัยของรถได้อย่างถูกต้อง
การใช้ Booster Seat ช่วยยกตัวเด็กให้สูงขึ้น ทำให้เข็มขัดนิรภัยรัดตัวได้พอดี โดยเข็มขัดควรพาดผ่านต้นขาด้านบนและหน้าอก ไม่พาดผ่านบริเวณท้องและคอ เพื่อป้องกันการบาดเจ็บ
3. เลือกคาร์ซีทที่มีการป้องกันแรงกระแทกด้านข้าง
อุบัติเหตุทางรถยนต์นั้นเกิดขึ้นได้หลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการชนด้านข้างซึ่งพบได้บ่อยถึง 25-30% ของอุบัติเหตุทั้งหมด ดังนั้น การเลือกคาร์ซีทที่มีระบบป้องกันแรงกระแทกด้านข้างจะช่วยดูดซับแรงกระแทก ช่วยลดความรุนแรงของการบาดเจ็บที่ศีรษะ คอ และลำตัว ปกป้องลูกน้อยขอจากการบาดเจ็บรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจากการชนด้านข้างได้
วิธีสังเกตคาร์ซีท ฃบางรุ่นอาจมีเทคโนโลยีเสริม เช่น SICT (Side Impact Protection) ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันแรงกระแทกด้านข้าง
4. เลือกคาร์ซีทที่มีระบบเข็มขัดรัด 5 จุด (5-points harness)
เมื่อเทียบกับเข็มขัดนิรภัยธรรมดา หรือเข็มขัด 3 จุดแล้ว เข็มขัด 5 จุดจะช่วยยึดร่างกายของเด็กให้แน่นหนาและกระจายแรงกระแทกได้ดีกว่ามาก ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ จะช่วยลดความเสี่ยงในการบาดเจ็บรุนแรง เช่น ศีรษะกระแทก หรือร่างกายกระเด็นไปชนส่วนต่างๆ ของรถได้ดีกว่า
โดยเข็มขัด 5 จุดจะรัดไหล่ทั้งสองข้าง เอว และระหว่างขาของเด็ก ทำให้ร่างกายของเด็กถูกยึดไว้กับที่อย่างมั่นคง เมื่อเกิดอุบัติเหตุ แรงกระแทกจะถูกกระจายไปตามสายรัดต่างๆ ทำให้แรงที่กระทำต่อร่างกายของเด็กน้อยลง และป้องกันไม่ให้เด็กเคลื่อนไหวไปมาภายในคาร์ซีท ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการบาดเจ็บ
ก่อนซื้อคาร์ซีท ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าคาร์ซีทนั้นมีเข็มขัด 5 จุด และปรับสายรัดให้กระชับพอดีตัวเด็กเสมอ
5. เลือกที่เหมาะสมกับรถยนต์
นอกจากจะเลือก คาร์ซีทสำหรับเด็กแต่ละวัย แล้ว เรายังต้องคำนึงถึงความเข้ากันได้กับรถของเราด้วย เพราะคาร์ซีทแต่ละรุ่นจะมีวิธีการติดตั้งที่แตกต่างกัน
- เข็มขัดนิรภัย ตรวจสอบว่าคาร์ซีทที่คุณเลือกนั้นใช้เข็มขัดนิรภัยกี่จุด และรถของคุณสามารถรองรับการติดตั้งแบบนั้นได้หรือไม่
- ระบบ ISOFIX หากคาร์ซีทมีระบบ ISOFIX ให้ตรวจสอบว่ารถของคุณมีจุดยึด ISOFIX หรือไม่ เพราะระบบนี้จะช่วยให้การติดตั้งคาร์ซีทมีความมั่นคงมากขึ้น
- ตำแหน่งที่นั่ง เลือกตำแหน่งที่นั่งที่เหมาะสมสำหรับการติดตั้งคาร์ซีท โดยทั่วไปแล้วตำแหน่งที่นั่งด้านหลังตรงกลางจะเป็นตำแหน่งที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับเด็ก
6. ซื้อคาร์ซีทจากศูนย์บริการในไทย
การเลือกซื้อคาร์ซีทใหม่จากศูนย์บริการในไทย มีข้อดีหลายประการ เช่น การรับประกันคุณภาพ คาร์ซีทใหม่มั่นใจได้ว่าได้ของใหม่ สภาพสมบูรณ์ และมีประสิทธิภาพในการป้องกันสูงสุด หากเกิดปัญหาหรือชำรุด สามารถเคลมหรือส่งซ่อมได้ตามเงื่อนไขการรับประกัน นอกจากนี้ พนักงานขายมักมีความรู้เกี่ยวกับคาร์ซีท สามารถให้คำแนะนำในการเลือกซื้อและติดตั้งให้ปลอดภัยกับลูกน้อยได้
ทำไมไม่ควรซื้อคาร์ซีทมือสอง?
เนื่องจากสภาพไม่แน่นอน ไม่รู้ว่าคาร์ซีทเคยผ่านการใช้งานมาอย่างไร อาจมีรอยร้าว หรือชำรุดภายในที่มองไม่เห็น รวมทั้งอาจใกล้หมดอายุ หรือหมดอายุการใช้งานไปแล้ว ทำให้ประสิทธิภาพในการป้องกันลดลง และหากเกิดปัญหาจะไม่ได้รับการรับประกันใดๆ อีกด้วย
จะเห็นได้ว่า การใช้คาร์ซีทเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากในการปกป้องชีวิตของเด็ก คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญกับ วิธีเลือกซื้อ คาร์ซีทสำหรับเด็กแต่ละวัย รวมถึงพิจารณาปัจจัยด้านความปลอดภัยอื่นๆ ร่วมด้วย เพื่อลดความเสี่ยงจากการเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ให้แก่ลูกน้อยของเรานะคะ
ที่มา: workpointtoday , pobpad , สภาองค์กรของผู้บริโภค , รพ.พริ้นซ์สุวรรณภูมิ
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
7 ข้อผิดพลาดในการใช้คาร์ซีท ที่พ่อแม่มักทำโดยไม่รู้ตัว
วิธีเลือกซื้อ คาร์ซีทสำหรับเด็ก คู่มือฉบับสมบูรณ์สำหรับพ่อแม่ชาวไทย
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!