หนึ่งในความกังวลใจของคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกน้อยวัยแรกเกิด คือ เรื่องปริมาณนมที่ลูกน้อยกินได้ในแต่ละมื้อ เมื่อทารกน้อยดูเหมือนจะกินน้อยกว่าที่คิด หรือกินได้ไม่นาน คุณพ่อคุณแม่อาจเริ่มสงสัยและกังวลว่าลูกจะได้รับสารอาหารเพียงพอต่อการเจริญเติบโตหรือไม่ theAsianparent จะพาไปทำความเข้าใจถึงสาเหตุที่ ทารกแรกเกิดกินน้อย ว่ามีสัญญาณอะไรที่ควรสังเกตบ้าง คุณพ่อคุณแม่จะแนวทางการรับมืออย่างเหมาะสมยังไง

ทำไม? ทารกแรกเกิดกินน้อย
ปริมาณนมที่ทารกแรกเกิดต้องการนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละคนค่ะ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น น้ำหนักแรกเกิด อายุครรภ์ สุขภาพโดยรวม และชนิดของนมที่ได้รับ (นมแม่หรือนมผง) นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่อาจทำให้ทารกกินน้อยลงได้ เช่น
-
กระเพาะอาหารยังมีขนาดเล็ก
ทารกแรกเกิดมีกระเพาะอาหารที่เล็กมาก ในช่วงวันแรกๆ หลังคลอด กระเพาะอาหารของลูกอาจมีขนาดเท่าลูกแก้วเท่านั้น ทำให้กินนมได้ทีละน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง
ลูกน้อยวัยแรกเกิดยังอยู่ในช่วงปรับตัวกับการดูดนม ไม่ว่าจะเป็นการดูดจากเต้านมแม่หรือจากขวดนม อาจต้องใช้เวลาในการเรียนรู้และประสานงานระหว่างการดูด กลืน และหายใจค่ะ
ในช่วงแรกเกิด โดยเฉพาะใน 2-3 วันแรกหลังคลอด ทารกอาจจะยังกินนมได้ไม่มากนัก เนื่องจากทารกอาจยังมีน้ำคร่ำที่กลืนเข้าไปค้างอยู่ในกระเพาะ ทำให้รู้สึกอิ่มได้นาน
ทารกแรกเกิดกินน้อย อาจเกิดจากการที่ทารกส่วนใหญ่มักจะง่วงนอนมากและหลับบ่อย จึงอาจดูดนมได้ไม่นานก็หลับไป
หากลูกน้อยวัยแรกเกิดไม่สบาย มีอาการคัดจมูก ท้องอืด หรือมีอาการเจ็บป่วยอื่นๆ ก็อาจทำให้ไม่อยากกินนมได้
-
ได้รับนมมากเกินไปในมื้อก่อนหน้า
เป็นไปได้เช่นกันค่ะที่ ทารกแรกเกิดกินน้อย เพราะลูกน้อยได้รับนมในปริมาณมากเกินไปในมื้อก่อนหน้านั้น และอาจยังรู้สึกอิ่มจึงกินน้อยลงในมื้อถัดมาค่ะ
-
การไหลของนมแม่ไม่สม่ำเสมอ
หากน้ำนมแม่ไหลแรงเกินไป หรือไหลน้อยเกินไป อาจทำให้ลูกน้อยหงุดหงิดและไม่อยากดูดนม ทำให้กินน้อยได้ค่ะ นอกจากนี้ การให้นมลูกแบบไม่ถูกวิธีอาจทำให้ลูกดูดนมได้ไม่เต็มที่ หรือลูกดูดนมแม่น้อยลงจนส่งผลให้ต่อมน้ำนมผลิตนมน้อยลงไปด้วย
ทารกแรกเกิด ควรกินนมมากเท่าไร? ถึงจะพอดี
ปริมาณนมที่ทารกแรกเกิดต้องการนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละคน และเปลี่ยนแปลงไปตามอายุ น้ำหนักตัว และความถี่ในการกิน ซึ่งโดยทั่วไปมีแนวทางดังนี้ค่ะ
- ช่วง 1-2 วันแรก ทารกอาจกินนมเพียงครั้งละ 5-10 มิลลิลิตร (ประมาณ 1-2 ช้อนชา) บ่อยๆ ประมาณ 8-12 ครั้งต่อวัน
- ประมาณ 3-7 วัน ปริมาณนมจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเป็นครั้งละประมาณ 15-30 มิลลิลิตร (ประมาณ 0.5-1 ออนซ์) และกินบ่อยเท่าเดิม
- วัย 1 เดือน ทารกส่วนใหญ่จะกินนมครั้งละประมาณ 60-90 มิลลิลิตร (ประมาณ 2-3 ออนซ์) ทุก 3-4 ชั่วโมง หรือประมาณ 6-8 ครั้งต่อวัน

ทารกแรกเกิดกินน้อย แบบไหนควรกังวล?
จะเห็นได้ว่า การที่ลูกน้อยวัยแรกเกิดกินนมทีละน้อยๆ แต่บ่อยครั้งในช่วงแรก ถือเป็นเรื่องปกตินะคะ อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตสัญญาณอื่นๆ ร่วมด้วย หากลูกน้อยมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบปรึกษาแพทย์ค่ะ
- น้ำหนักไม่ขึ้นหรือลดลง การที่น้ำหนักของลูกไม่เพิ่มขึ้นตามเกณฑ์ หรือกลับลดลง เป็นสัญญาณที่น่ากังวล
- ปัสสาวะน้อยกว่า 6 ครั้งต่อวัน (หลังสัปดาห์แรก) แสดงว่าลูกอาจได้รับน้ำนมน้อยเกินไป
- สัญญาณของภาวะขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง ผิวแห้ง ซึมลง ร้องไห้ไม่มีน้ำตา
- อาเจียนพุ่ง การอาเจียนออกมาในปริมาณมากและพุ่ง อาจบ่งบอกถึงความผิดปกติ
- ซึม ไม่ค่อยตื่นมากินนม ลูกดูไม่กระตือรือร้นและไม่แสดงอาการหิว
- มีอาการป่วยอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้ ตัวเหลือง หายใจลำบาก
ลูกกินน้อย… จะขาดสารอาหารไหม?
หาก ทารกวัยแรกเกิดกินน้อย แต่ยังมีน้ำหนักขึ้นตามเกณฑ์ ปัสสาวะปกติ ตื่นตัว และไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆ คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่จำเป็นต้องกังวลมากนักค่ะ ร่างกายของทารกแรกเกิดมีความสามารถในการปรับตัวและดูดซึมสารอาหารได้ดี อย่างไรก็ตาม หากลูกกินน้อยร่วมกับมีสัญญาณที่น่ากังวลตามที่กล่าวมาข้างต้น อาจส่งผลให้ลูกได้รับสารอาหารไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการได้ค่ะ

แนวทางการดูแลและรับมือ เมื่อ… ทารกแรกเกิดกินน้อย
- สร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย ขณะให้นม ควรอยู่ในบรรยากาศที่เงียบสงบและสบาย เพื่อให้ลูกมีสมาธิในการกิน ควรหลีกเลี่ยงสิ่งรบกวน ปิดโทรทัศน์หรือเสียงดังอื่นๆ ขณะให้นม
- จัดท่าให้นมที่ถูกต้อง ตรวจสอบให้ลูกน้อยอยู่ในท่าที่สบายและดูดนมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- กระตุ้นการดูด หากลูกดูดๆ หยุดๆ หรือหลับไป ลองกระตุ้นเบาๆ ที่แก้มหรือฝ่าเท้า
- ให้นมบ่อยขึ้น หากลูกกินได้น้อยในแต่ละมื้อ ลองให้นมบ่อยขึ้น
- ตรวจสอบการไหลของน้ำนม เนื่องจากหากน้ำนมของคุณแม่ไหลแรงหรือน้อยเกินไป อาจทำให้ลูกกินได้ไม่ดี ในกรณีลูกกินนมผงควรตรวจเช็กขนาดรูจุกนมให้เหมาะสมกับวัยของลูกด้วยค่ะ
- ให้นมตามความต้องการของลูก (On Demand Feeding) โดยสังเกตสัญญาณความหิวของลูก เช่น เอามือเข้าปาก ทำปากขมุบขมิบ หันหน้าหาเต้านม/ขวดนม และให้นมเมื่อลูกต้องการ ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับตารางเวลาเป๊ะๆ
- สังเกตสัญญาณความอิ่ม เมื่อลูกเริ่มหันหน้าหนี ปฏิเสธการดูด หรือดูดช้าลงและหลับไป แสดงว่าลูกอิ่มแล้ว ไม่ควรบังคับให้กินต่อ
- หลีกเลี่ยงการบังคับ อย่าบังคับให้ลูกกินนมจนเกินความต้องการ เพราะอาจทำให้ลูกต่อต้านและเกิดความเครียด
- อดทนและให้กำลังใจตัวเอง การเลี้ยงลูกน้อยวัยทารก ต้องใช้เวลาและความอดทน อย่าท้อแท้และให้ควรกำลังใจตัวเองนะคะ
- ติดตามน้ำหนักและพัฒนาการ จดบันทึกปริมาณนมที่ลูกกินในแต่ละมื้อ จำนวนครั้งของการปัสสาวะและอุจจาระ จะช่วยให้คุณสังเกตแนวโน้มและแจ้งข้อมูลแก่แพทย์ได้หากจำเป็น รวมถึงการชั่งน้ำหนักลูกเป็นประจำตามคำแนะนำของแพทย์ และสังเกตพัฒนาการด้านอื่นๆ จะเป็นตัวบ่งชี้สำคัญว่าลูกได้รับสารอาหารเพียงพอหรือไม่ค่ะ
ทั้งนี้ หากคุณพ่อคุณแม่มีความกังวลเกี่ยวกับปริมาณนมที่ลูกกิน หรือมีข้อสงสัยอื่นๆ เกี่ยวกับการกินและโภชนาการของทารกวัยแรกเกิด ควรรีบปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเด็กเพื่อขอคำแนะนำและการประเมินที่ถูกต้องนะคะ

การที่ ทารกแรกเกิดกินน้อย ในช่วงแรกเป็นเรื่องปกติ8jt แต่คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตสัญญาณอื่นๆ ร่วมด้วย และปรึกษาแพทย์เมื่อมีข้อสงสัย เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ลูกน้อยได้รับสารอาหารที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตอย่างแข็งแรงและสมวัย ซึ่งการเข้าใจธรรมชาติของการกินนมของทารกแรกเกิดและการรับมืออย่างถูกวิธี จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่คลายความกังวลและเลี้ยงดูลูกน้อยได้อย่างมีความสุขและมั่นใจยิ่งขึ้น
ที่มา : iel.co.th , www.samitivejhospitals.com
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
นมแม่สีเหลือง ปกติมั้ย? ลูกกินได้หรือเปล่า น้ำนมแม่มีกี่สี
นมแม่เป็นลิ่ม เพราะอาหารที่กินจริงมั้ย? เกี่ยวกับ ท่อน้ำนมอุดตัน หรือเปล่า?
ทำไม? อยู่ดีๆ ลูกไม่ยอมเข้าเต้า วิธีแก้ไขให้ลูกน้อย ยอมกลับมากินนมแม่
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!